Sponsor

01 มิถุนายน 2558

อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา(ย่อความจากพระไตรปิฎก)


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

"พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น เจ้าลัทธิทั้งหกที่มีชื่อเสียงนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"

เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์! มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะหากแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป หรือถากเปลือก หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จะพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้น
อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ด้วยรู้จักแก่นไม้ จะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้น
อุปไมยก็เช่นเดียวกัน คือบางคนในศาสนานี้ เมื่อได้มีลาภสักการะและชื่อเสียง จึงยกตนข่มผู้อื่น บุคคลนี้เปรียบเสมือนว่าต้องการแก่น แต่ตัดเอากิ่งและใบไม้ โดยที่สำคัญว่าเป็นแก่น
บางคนเมื่อบรรลุลาภสักการะ กระทั่งสมบูรณ์ด้วยศีล ก็ยกตนข่มผู้อื่นว่ามีศีลครบ บุคคลนี้ได้สะเก็ดไป
บางคนเมื่อบรรลุลาภสักการะ และศีล กระทั่งสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็ยกตนข่มผู้อื่น บุคคลนี้ได้เปลือกไป
บางคนเมื่อบรรลุลาภสักการะ ศีล และสมาธิ กระทั่งสมบูรณ์ด้วยปัญญา ก็ยกตนข่มผู้อื่น บุคคนนี้ได้กะพี้ไป
บางคนเมื่อบรรลุทั้งหมดนั้นแล้ว กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดเดียว กระทั่งหลุดพ้นจากใจอันไม่กลับกำเริบ เรากล่าวบุคคลนี้ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นและได้ตัดแก่นไป
ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุด"

จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔



------------------------------

ย่อความจากส่วนหนึ่งของ พระไตรปิฎก(ฉบับสำหรับประชาชน)
ของ สุชีพ ปุญญานุภาพ

โดย นายกนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา
เพื่อเป็นพุทธบูชา
บทย่อนี้ย่อมมีความผิดพลาดและไม่ครอบคลุมอยู่เป็นธรรมดา หากสนใจบทความที่สมบูรณ์กว่านี้ โปรดเข้าไปอ่านต้นฉบับของบทย่อนี้ได้จากลิงค์ข้างล่าง เพื่อความเข้าใจที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น

บทความเต็มของบทย่อนี้ จาก พระไตรปิฎก(ฉบับสำหรับประชาชน)
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/interest/part1.html


พระไตรปิฎก(ฉบับสำหรับประชาชน) อ่านออนไลน์หน้าเว็บ
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/

พระไตรปิฎก(ฉบับสำหรับประชาชน) โหลดฟรี pdf
http://www.ebooks.in.th/615/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%81%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99/

หนังสือพระไตรปิฎก(ฉบับสำหรับประชาชน)
http://www.trilakbooks.com/product/296538/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%81%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%81%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B545%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%8F%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2.html