Sponsor

08 กันยายน 2566

การตีความสัญลักษณ์เหยาของอี้จิงเบื้องต้น


คัมภีร์อี้จิง เป็นคัมภีร์ที่แนะนำยากที่สุดและอ่านยากที่สุด จนผมเองก็ไม่รู้จะเริ่มแนะนำอะไรยังไง ด้วยความเป็นศาสตร์ที่กว้างขวางและลึกซึ้งซับซ้อน และคิดว่าด้วยความรู้ที่ครูพักลักจำเก็บเล็กผสมน้อยอ่านตำรับตำราด้วยตนเองย่อมมีแค่หางอึ่งเท่านั้น ไม่อาจหาญจะมาแนะนำอะไรในเรื่องนี้ได้ เพราะจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเสียมากกว่า แต่ก็ขอให้ถือว่าเป็นบันทึกการศึกษาอี้จิงของผมเองก็แล้วกันนะครับ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยผู้รู้ และขอความกรุณาช่วยคอมเม้นต์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พวกเราทุกคนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

คัมภีร์อี้จิงในปัจจุบันเป็นคัมภีร์ของโจวอี้เนื่องจากโจวเหวินหวางเขียนคำอธิบายเป็นอักษรจีนเอาไว้ จะมีอธิบายความแต่ละเหยาแต่ละเส้นอย่างที่เราได้เห็นกันทั่วไป แม้จะมีการเขียนอธิบายแล้ว แต่ด้วยความเป็นภาษาจีนโบราณและศาสตร์ที่ลึกซึ้งก็ยากที่จะเข้าใจได้ในปัจจุบันอยู่ดี งั้นบทความนี้เราจะย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดคัมภีร์อี้จิงขึ้น ในตอนเริ่มต้นที่มีสัญญลักษณ์ทั้งหกเส้น(เหยา) และมาดูกันว่าเขาให้ความหมายและการตีความกันอย่างไร
ให้มองว่ามันเป็นเสมือนตัวอักขระแทนความหมายอย่างหนึ่ง พวกขีดและกลุ่มขีดเหล่านี้ ให้คิดว่าเป็นภาษาเขียนสมัยโบราณของจีนไปพลางๆก่อนก็ได้

ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าคัมภีร์อี้จิงใช้เป็นคู่มือในการเสี่ยงทาย ซึ่งบรรพบุรุษชาวจีนโบราณได้คิดค้นขึ้นจากลายต่างๆบนกระดองเต่าที่ใช้โยนเสี่ยงทาย โดยเริ่มต้นจากขีด 2 แบบ คือ

⚋ หยิน ใช้แทน ดิน, เพศหญิง, มืด, อ่อนโยน, ฯลฯ
⚊ หยาง ใช้แทน ฟ้า, เพศชาย, สว่าง, เข้มแข็ง, ฯลฯ

จากนั้นก็นำมาเรียงจากล่างขึ้นบนเป็น 2 ขีด เป็นความเข้มของหยินหยางสี่ระดับ คือ

⚎ 少陽 เสี่ยวหยาง หยางอ่อน ใช้แทน ฤดูใบไม้ผลิ, มังกรคราม, ธาตุไม้, ฯลฯ
⚌ 太陽 ไท่หยาง หยางเข้ม ใช้แทน ฤดูร้อน, นกกระจิบแดง, ธาตุไฟ, ฯลฯ
⚍ 少陰 เสี่ยวหยิน หยินอ่อน ใช้แทน ฤดูใบไม้ร่วง, เสือขาว, ธาตุทอง, ฯลฯ
⚏ 太陰 ไท่หยิน หยินเข้ม ใช้แทน ฤดูหนาว, เต่าดำ, ธาตุน้ำ, ฯลฯ

จากที่เห็นมีเส้นทึบหรือเส้นตัดสองเส้นย่อมมีความเข้มสูงสุด ส่วนที่มีเส้นตัดกับเส้นทึบปนกันย่อมมีความเข้มอ่อนลง วิธีสังเกตว่าอยู่ในหมวดหยินหรือหยางให้ดูที่เส้นบน
แถมอีกนิดนึง จะเห็นว่าที่ความเข้มนี้มีเพียง 4 ธาตุ แต่ธาตุจีนจะมี 5 ธาตุ ขาดธาตุดินไปธาตุนึง ถามว่าธาตุดินอยู่ไหน? ตอบว่า ธาตุดินอยู่ตรงกลางระหว่างเปลี่ยนความเข้มหนึ่งไปสู่อีกความเข้มหนึ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่าอยู่ตรงรอยต่อระหว่างฤดูกาล(ช่วง 18 วันก่อนเปลี่ยนฤดู) ซึ่งไม่สามารถเขียนออกมาได้ในความเข้มทั้งสี่นี้ แต่มีอยู่ มันคือการคิดแบบเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง คือคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลง(易)อยู่ตลอดเวลาเหมือนการเปลี่ยนฤดูกาล เพราะในธรรมชาติไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งตายตัว แต่การเขียนเพื่ออธิบายจะดูเหมือนตายตัว ซึ่งถ้าไม่เขียนให้ตายตัวก็จะอธิบายไม่ได้ นี่คือความย้อนแย้งของการศึกษาทุกชนิด ไม่ว่าจะอ่านหนังสืออะไรก็ตาม ตรงจุดนี้ต้องตระหนักไว้ให้ดีครับ และการอธิบาย 5 ธาตุแบบนี้เป็นการอธิบายอีกแบบหนึ่งของการกำเนิด 5 ธาตุตามปกติที่ ไฟกำเนิดดิน ดินกำเนิดทอง ฯลฯ ซึ่งต้องทำความเข้าใจบริบทใหม่กันพอสมควร และจะมีธาตุดินหยิน ธาตุดินหยาง อีก แต่จะไม่กล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ เพราะไม่เกี่ยวข้องโดยเบื้องต้น

โอเค จากนั้นก็นำอีกเส้นมาเรียงจากล่างขึ้นบน 3 ขีด หรือ ปากว้า(八卦) หรือ 8 กว้า คือ

☰ 乾 เฉียน ใช้แทน พ่อ, ฟ้า, ธาตุทอง,ฯลฯ
☷ 坤 คุน ใช้แทน แม่, ดิน, ธาตุดิน, ฯลฯ
☳ 震 เจิ้น ใช้แทน ลูกชายคนโต, ฟ้าร้อง, ธาตุไม้, ฯลฯ
☵ 坎 ขั่น ใช้แทน ลูกชายคนกลาง, น้ำ, ธาตุน้ำ, ฯลฯ
☶ 艮 เกิ้น ใช้แทน ลูกชายคนเล็ก, ภูเขา, ธาตุดิน, ฯลฯ
☴ 巽 ซวิ่น ใช้แทน ลูกสาวคนโต, ลม, ไม้, ธาตุไม้, ฯลฯ
☲ 離 หลี ใช้แทน ลูกสาวคนกลาง, ไฟ, ธาตุไฟ, ฯลฯ
☱ 兌 ตุ้ย ใช้แทน ลูกสาวคนเล็ก, บึง, ทะเลสาบ, ธาตุทอง, ฯลฯ

จุดสังเกตในการจำระบบครอบครัวพ่อแม่ลูก คือ เพศชายให้สังเกตที่เส้นหยาง ⚊ ถ้าอยู่ข้างล่างก็คนโต อยู่ตรงกลางก็คนกลาง และอยู่ข้างบนก็คนเล็ก(เนื่องจากเส้นเรียงจากล่างทับซ้อนขึ้นบน ดังนั้นเส้นล่างจะเกิดก่อน) เพศหญิงก็เช่นกัน ให้ดูจาก ตำแหน่งของเส้นหยิน ⚋ ในแบบเดียวกัน ส่วนพ่อแม่นั้นจำง่ายอยู่แล้ว มีหยินหยางเต็มทั้งสามเส้น ส่วนตัวอักษรจีนที่กำกับนั้นเป็นชื่อเรียกในภาษาจีนของกว้าทั้งแปดนั้น

จากปากว้า 3 เส้น เมื่อนำกว้า 2 อันมาซ้อนกัน ก็จะเป็น 6 เส้น เรียกว่าเหยา(爻) จึงกำเนิดอี้จิงทั้ง 64 เหยา ขึ้นมา การตีความเบื้องต้นก็คือการแบ่งเหยาออกเป็นกว้าบนกับกว้าล่าง เช่น

䷞ แบ่งเป็น ☱ อยู่บน และ ☶ อยู่ล่าง เมื่อดูและเปรียบความหมาย จะได้ว่า ข้างบนคือลูกสาวคนเล็ก ข้างล่างคือลูกชายคนเล็ก ในที่นี้คนเล็กที่ว่าก็เปรียบได้กับวัยหนุ่มสาวหรืออ่อนวัยก็ได้ จาก ䷞ ทำให้เห็นว่า ชายหนุ่มติดตามหญิงสาวขึ้นไป ดังนั้นเหยานี้เกี่ยวกับการจีบกันของชายจีบหญิงหรือเกี่ยวกับความรัก อาจเป็นการแต่งงานก็ได้ ซึ่งหากไปเปิดคัมภีร์อี้จิงก็จะได้คำอธิบายภาษาจีนโบราณว่า 咸 แปลว่า ดึงดูด หรือ รวมตัว ซึ่งเป็นการตีความเหยานี้โดยโจวเหวินหวางนั่นเอง
หากเทียบกับลักษณะธรรมชาติก็จะได้ ทะเลสาบอยู่บนภูเขา ถ้าว่าตามหลักฮวงจุ้ยเรียกว่าทะเลสาบสวรรค์ ทำเลแบบนี้ถือว่ายอดเยี่ยมเพราะเป็นแหล่งรวมตัวของพลังชี่และเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเป็นได้อย่างดีเลยทีเดียว เป็นตำแหน่งชี่มังกรระดับประเทศ ต้องรักษาไว้ห้ามทำลายโดยเด็ดขาด หากบ้านไหนมีอะไรคล้ายๆแบบนี้อยู่หน้าบ้านถือว่าได้ครอบครอบทำเลที่ดีเยี่ยม บ้านหลังนั้นจะให้กำเนิดวีรบุรุษ

นอกเรื่องไปไกลแล้ว กลับมาก่อน ๕๕๕
งั้น ตัวอย่างสุดท้าย

䷱ แบ่งเป็น ☲ อยู่บน และ ☴ อยู่ล่าง จะเห็นว่า ไม้อยู่ใต้ไฟ ดังนั้นเหยานี้ ภาพค่อนข้างชัด ถ้าเป็นการกระทำก็คือการหุงต้ม ถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นภาชนะหุงต้ม เมื่อไปเปิดคัมภีร์อี้จิงก็จะได้คำอธิบายภาษาจีนโบราณว่า 鼎 แปลว่า หม้อสามขา ซึ่งเป็นหม้อที่ใช้ทำอาหารกินกันในสมัยก่อน หากถือเป็นเชิงสัญลักษณ์ของการทำอาหารก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่สามขาเสมอไป การที่ไม้อยู่ใต้ไฟหรือสาวคนเล็กตามสาวคนกลางก็อาจตีความได้มากกว่านี้อีก

อี้จิงจึงเป็นตำราในการเสี่ยงทายที่เริ่มต้นมาจาก 2 ขีด หยินหยาง และซ้อนทับกันเข้าจนกลายเป็นกว้าและเหยาเพื่อสะท้อนแนวคิดทางปรัญชาธรรมชาติของจีนโบราณสมัยดึกดำบรรพ ซึ่งบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับธรรมชาติของสิ่งตรงข้ามว่าทุกสรรพสิ่งย่อมมีของคู่เป็นทวิภาวะเสมอ มีหยินก็มีหยาง มีฟ้าก็มีดิน มีชายก็มีหญิง มีสว่างก็มีมืด มีบนก็มีล่าง เป็นต้น ทั้งสองสิ่งนี้เหมือนจะขัดแย้งกันแต่แท้จริงแล้วอยู่ร่วมกันอย่างขาดกันไม่ได้ เหมือนเหรียญที่มีหัวก็ต้องมีก้อย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็อาจหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน หรือเกิดสิ่งใหม่ขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็มาจากคำว่าอี้จิง 易經 โดย อี้ 易 แปลว่า เปลี่ยนแปลง หรือ ง่าย; จิง 經 แปลว่า คัมภีร์ จึงแปลตรงตัวได้ว่า คัมภร์แห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรูปลักษณ์ของคำว่า อี้ 易 ว่ากันว่ามาจากรูปลักษณ์ของกิ้งก่า และเพราะกิ้งก่าเปลี่ยนสีได้ จึงมีความหมายว่า เปลี่ยน และบางสำนักก็บอกว่ามาจากรูปลักษณ์ของพระอาทิตย์ 日 กับพระจันทร์ 月 ที่เอามาเขียนต่อกัน ซึ่งทั้งคู่ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งและผันเปลี่ยนเรื่อยไป ซึ่งทั้งหมดก็ชี้ความหมายไปที่การเปลี่ยนแปลง
ในอี้จิงมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 64 เหยา ทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดแน่นิ่ง ทุกสิ่งเป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงเสมอไป การเข้าใจถึงสิ่งนี้ได้ก็ย่อมเข้าใจธรรมชาติได้ เข้าใจธรรมชาติได้ก็ย่อมเข้าใจฟ้าดินได้ เข้าในฟ้าดินได้ก็ย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ เข้าใจสรรพสิ่งได้จึงย่อมทำนายการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นจึงทำให้อี้จิงถูกกล่าวถึงในฐานะของคัมภีร์เสี่ยงทายทำนายโชคชะตา ซึ่งการตีความก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของจีนในสมัยโบราณก่อน จึงจะเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงตีความและเขียนคำอธิบายออกมาเช่นนั้น และในคัมภีร์อี้จิงที่โจวเหวินหวางได้ใช้ความอัจฉริยะภาพของท่านอธิบายความไว้ก็มีคุณค่าทั้งทางปรัชญา คุณธรรม ประวัติศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมาย จึงควรค่าแก่การศึกษา สะสม และอนุรักษ์ไว้ แม้จะเป็นภาษาโบราณที่เข้าใจได้ยากมากในปัจจุบันก็ตาม(ก็ต้องตีความคำอธิบายกันอีกหลายตลบ)

ขีดของเหยาทั้ง 64 นั้นมีมานานมากแล้วก่อนจะมีคัมภีร์อี้จิงเสียอีก ทั้งยังมีการเขียนเหยาหลายแบบ เช่น ︿ แทนหยิน และ ⚊ แทนหยาง ก็มี หรือในยุคนี้เราจะเขียนเป็น 0 แทนหยิน และ 1 แทนหยาง โดยให้หลักใหญ่แทนเส้นล่างก็ได้ เพราะไม่ว่ายังไงการแปรเปลี่ยนของเหยาก็ยังคงเรียงลำดับเหมือนกันทั้ง 64 แบบ ที่เกิดจาก 2 กว้าซ้อนกันเป็นเบื้องต้น สมัยก่อนนั้นมีหลายสำนักที่ได้เขียนคัมภีร์อธิบายความอี้จิงในแบบของตนเองเอาไว้หลากหลายเล่ม แต่ได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว หลงเหลือเพียงอี้จิงโจวอี้เล่มเดียวเท่านั้นที่เป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดที่มีในตอนนี้ ยุคนั้นเป็นช่วงปลายของยุคหินใหม่ นับว่าเก่าแก่มากทีเดียว น่าจะเริ่มมีการเอาทองแดงมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังถลุงโลหะไม่ได้ แล้วคัมภีร์ที่เขียนขึ้นก่อนยุคหินใหม่นั้นอีกเล่า ก็น่าจะแทบไม่หลงเหลือมาเท่าไหร่นัก จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าคัมภีร์ของสำนักอื่นๆนั้นได้ตั้งชื่อและตีความแต่ละเหยาว่าอย่างไรกันบ้าง แต่ที่แน่ๆ(น่าจะนะ)ว่ากว้าทั้ง 8 ยังคงความหมายเดียวกันที่ใช้ในการตีความ แต่ความหมายของกว้ายังมีมากกว่าแค่ระบบพ่อแม่ลูกหรือลักษณะธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักเท่านั้น ยังมีแทนทิศทั้งแปด, สัตว์, อวัยวะของร่างกาย, ฯลฯ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่าแทนได้ทุกสิ่งในธรรมชาติตามระดับความเป็นหยินหยางของมัน ตรงนี้ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเอาครับ

ก็ลองนำหลักการข้างต้นไปตีความเหยาของอี้จิงกันสนุกๆในแบบของตัวเองนะครับ แน่นอนว่าการมีแบบมาตราฐานไว้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรปิดกั้นการตีความในทัศนะอื่นๆด้วย ไม้อยู่ใต้ไฟ นอกจากการหุงต้มแล้วอาจเป็นอย่างอื่นได้อีกมั้ย? ก็ต้องลองไปขบคิดกันดูนะครับ ยิ่งมีแนวคิดที่หลากหลายก็ยิ่งดีไม่ใช่หรือ การแลกเปลี่ยนแนวคิดที่หลากหลายแบบบัณฑิตที่ยอมรับความคิดเห็นอาจเจอมุมที่อาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้ แต่ถ้าอยากเข้าใจความคิดดั้งเดิมของชาวจีนโบราณ ก็ต้องศึกษาสิ่งที่ชาวจีนโบราณเขาศึกษาด้วย บริบทแวดล้อมและวัฒธรรมจึงสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจความคิดของชนชาตินั้นๆหรือยุคสมัยนั้นๆ

นั่นละครับ การจะทำความเข้าใจอี้จิงนั้นไม่ง่าย(易)เหมือนชื่อเลย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น