Sponsor

18 กันยายน 2555

How to play Minesweeper - มาเล่นเกมกู้ระเบิดกันเถอะ

สวัสดีครับ ครั้งก่อนได้ทำบทความเกี่ยวกับเกมกู้ระเบิด หรือ Minesweeper ครับ มีคนถามสอบถามเป็นการส่วนตัวว่า เกมนี้เล่นยังไง เล่นไม่เป็น ผมก็ตั้งใจว่าจะทำบทความวิธีเล่น Minesweeper เท่าที่ผมจะอธิบายได้ก็แล้วกันนะครับ หากผิดพลาดอย่างไรหรือมีอะไรเพิ่มเติมก็ช่วยแนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ^v^

โปรแกรมที่ผมใช้คือ Minesweeper - Arbiter เป็นโปรแกรมมาตราฐานแข่งขันโปรแกรมหนึ่งครับ โหลดมาเล่นได้ฟรีครับ (มาตราฐานของ Beginner คือ 8x8มีระเบิด10ลูก แต่ตัวที่มากับวินโดส์เป็น 9x9มีระเบิด10ลูก จึงถูกตัดสิทธิ์จากโปรแกรมแข่งขันไปครับ)


 ตัวเลขเป็นการบอกว่า 8 ทิศ รอบๆตัวเลขจะมีระเบิดอยู่ตามตัวเลขครับ เช่น ถ้ากดมาแล้วเป็นเลข 1 แสดงว่า 1ใน8ช่อง รอบๆตัวเลขนั้นจะมีระเบิดอยู่ 1 ลูก (เลขอื่นก็เป็นไปแบบเดียวกัน ถ้าเป็นเลข 8 แปลว่ารอบๆทั้งหมดคือระเบิด)

  ทีนี่มาดูวิธีหาระเบิดกันดีกว่า ก็ใช้ตัวเลขบริเวณนั้นเป็นตัวช่วยคิดในการตัดสินใจครับ ดูอย่างรูปตัวอย่างทางซ้าย เลข 1 ทั้งสองตัวชี้ไปที่ตำแหน่งเดียวกัน และรอบๆตัวของเลข 1 ทั้งสองนั้นไม่มีระเบิด แล้วยังมีเลข 2 ชี้ด้วยอีก จึงสรุปได้ว่าช่องที่ถูกรุมชี้เป็นระเบิด คลิกขวาปักธงไว้เลยครับ
 ปักธงเสร็จแล้วก็ไปดูจุดอื่นต่อ ตรงเลข 2 นั้นชี้ไปแล้วหนึ่งตำแหน่งยังเหลืออีกหนึ่งตำแหน่ง และก็ดูเลขรอบๆนั้นด้วยนะครับ เห็นมั้ยว่าเลข 1 บริเวณนั้นก็ชี้กันไปที่จุดๆเดียว ดั้งนั้นจึงสรุปได้ว่าช่องนั้นคือระเบิดครับ ปักธงเลยครับ
 ทีนี้เลข 2 ก็ชี้เป้าครบสองตำแหน่งแล้ว ทิศที่เหลือของเลข 2 จึงถึงว่าไม่มีระเบิด ก็คลิกตำแหน่งนั้นได้เลยครับ ในทีนี้คือตรงสีเขียวอ่อนครับ(เพราะรอบๆเลข 2 นั้นถูกเปิดหมดแล้ว)
และเลข 1 ที่ชี้เป้าแล้ว รอบๆนั้นก็แสดงว่าไม่มีระเบิดที่ผมทำเป็นสีเขียวเข้มไว้ คลิกเปิดได้เลยเช่นกันครับ
 เปิดสีเขียวอ่อนได้เลข 3 เลย แสดงว่ารอบๆเลข 3 มีระเบิดอยู่ 3 ลูก ซึ่งโดนปักธงไปแล้ว 2
 เปิดที่เป็นสีเขียวเข้มซะให้หมด ทีนี้รอบๆเลข 3 ก็เหลือตำแหน่งเดียวที่ยังไม่ได้เปิด ซึ่งเป็นตำแหน่งระเบิดที่เหลือแน่นอน ปักธงเลยครับ
ทีนี้เลข 3 ก็ถูกปักธงครบหมดแล้ว
 ดูเลข 2 อีกอันนึงที่เพิ่งเปิดได้ ซึ่งรอบๆนั้นปักธงไปแล้วสองตำแหน่ง แสดงว่าเลข 2 นี้ชี้ครบแล้วดังนั้นทิศทีเหลือจึงไม่มีระเบิดแน่นอน คลิกเปิดได้เลยครับ(สีเขียวอ่อน)
และเลข 1 ข้างล่างก็ชี้เป้าแล้วเหมือนกัน ดังนั้นทิศที่เหลือจึงไม่มีระเบิดแน่นอน คลิกเปิดเลยครับ(สีเขียวเข้ม)
 คลิกเปิดแล้วก็ปลอดภัยอย่างที่คาดไว้ แสดงว่าที่ปักธงไว้คำนวณได้ถูกต้องครับ
ยังเหลือสีเขียวอ่อนอีกอัน คลิกเปิดเลย
คลิกเปิดมาได้เลข 2 ก็ใช้วิธีการคำนวณเหมือนเดิมครับ เลข 2 ที่เพิ่งเปิดได้มีธงปักอยู่แล้วทางซ้าย และเหลือปุ่มเดียวทางขวา แถมยังมีเลข 1 อีกสามตัว และเลข 2 ข้างล่างชี้ไปที่จุดนี้ด้วย สรุปได้ว่า ทางขวานั่นแหละคือระเบิด ปักธงเลยครับ





แล้วก็คำนวณแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนจบเกมครับ อย่างที่ได้แนะนำไว้นะครับ ทีนี้ก็จะเล่น Minesweeper ได้แล้ว และสนุกด้วยครับ
หวังว่าคำแนะนำของผมคงจะพอช่วยให้เล่นเป็นได้บ้างนะครับ แต่จะพัฒนาขึ้นก็ต้องฝึกเล่นฝึกคิดไปเรื่อยๆครับ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นแชมป์คนต่อไปก็ได้
แต่เหนืออื่นใด ขอให้เล่นให้สนุกและได้พัฒนาตัวเองนะครับ

บทความนี้เท่านี้ครับ
สวัสดีครับ ^v^


ศึกษาเพิ่มเติม
http://www.minesweeper.info/wiki/Windows_Minesweeper

16 กันยายน 2555

My Portable Kitchenware - ห้องครัวพกพาของผม

สวัสดีครับ วันนี้มาพูดถึงห้องครัวพกพาของผมซะหน่อยครับ แนวคิดห้องครัวพกพานี้เกิดขึ้นตอนสมัยตอนที่ผมพักอยู่หอพักตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นพักหอพักเล็กๆไม่มีพื้นที่ครัว มีแต่ห้องน้ำกับห้องนอนเลยครับ และตอนนั้นต้องการจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักกระถางทำกับข้าวกินเอง แต่ขาดห้องครัวจะใช้เตาปิกนิกยังใหญ่ใบสำหรับหอที่ผมอยู่ ก็เลยได้ไอเดียห้องครัวพกพาไว้ทำอาหารเช้าอาหารเย็นกินเองประหยัดไปเยอะครับ แล้วตอนนี้ผมคิดว่าทุกๆคนน่าจะมีไว้สักชุดน่ะครับ เผื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือใช้ทำอาหารร้อนๆช่วงเกิดภัยพิบัติก็สะดวกดี เพราะตอนนั้นวันที่ห้างของหมดผมก็ผ่านน้ำท่วมมาด้วยผักกระถางและครัวพกพานี่แหละครับ มาดูกันเลยดีกว่าครับ

นี่คืออุปกรณ์หลัก ผมเรียกมันว่าครัวหม้อไตครับ

 
หม้อไตเขียวๆแบบนี้น่าจะเคยเห็นและคุ้นตากันเป็นอย่างดีนะครับ หาได้ตามร้านอุปกรณ์เดินป่าตั้งแคมป์ นอกจากจะใช้เข้าค่ายตั้งแคมป์แล้วก็เอามาเป็นชุดครัวพกพาสำหรับชาวหอห้องเล็กๆได้เป็นอย่างดีครับ(เตรียมผ้าหนาๆไว้ด้วยครับ ไว้จับฝาจับหม้อตอนร้อนๆครับ)

อีกชิ้นคือเตาแอกอฮอล์ทำเองจากกระป๋องน้ำอัดลม เป็นไอเดียเดียวกับตะเกียงแอกอฮอล์ตอนเรียนสมัย ม.ต้น ครับ แต่คราวนี้เอามาทำให้เป็นเตาซะเลย หน้าตาแบบนี้เลยครับ เชื้อเพลิงที่ใช้ก็เป็นแอกอฮอล์ล้างแผลปลอดภัยแน่นอนครับ(ต้องใช้เอทิลแอกอฮอล์คือแอกอฮอล์ล้างแผล ห้ามใช้เมทิลแอกอฮอล์ที่เป็นแอกอฮอล์ก่อสร้างนะครับมันไอละเหยเป็นพิษครับ)

วิธีทำดูจากคลิปนี้ครับ แกนข้างในก็สำคัญนะครับช่วยให้ไฟกระจายออกรูข้างๆได้และไฟจะแรงขึ้นด้วย(เหมือนมีแรงอัด) แต่เอาเข้าจริงๆตัดก้นกระป๋องอย่างเดียวก็ใช้ได้แล้วครับ แต่การกระจายความร้อนอาจไม่ทั่วเท่าไหร่แค่นั้นเองครับ

 
การจุดไฟก็ง่ายๆแบบเดียวกับตะเกียงแอกอฮอล์สมัย ม.ต้น คือ รินแอกอฮอล์ล้างแผลลงไปพอประมาณ แล้วจุดไม้ขีดก็แหย่ไฟลงไป ไปก็จะพรึบขึ้นมาเลยครับ ตรงไฟพรึบนี่แหละครับต้องระวังหน่อยเพราะมันเร็วมากและไฟของแอกอฮอล์นี่มันจะใสนะครับในที่สว่างมองไม่ค่อยเห็นครับ ใช้อย่างระวังด้วยนะครับ
ไฟที่ได้จะเป็นไฟอ่อนครับไม่แรงมาก เวลาจะดับไฟก็แค่เอาก้นกะทะวางทับลงไปให้อากาศเข้าไม่ได้ไฟก็ดับแล้วครับ(เหมือนครอบฝาของตะเกียงแฮกอฮอล์นั่นแหละครับ) แต่ระวังเตายังร้อนนะครับ

อันนี้เป็นเมนูแรกๆ ตอนนั้นลองซื้อแอกอฮอล์อุ่นอาหารมาลองทำไข่ดาว ไข่ผัดผัก ก็ทำได้เหมือนกันครับแต่ทุนสูงเกินไป ทำเตาเองคุ้มกว่าเยอะ
ใช้ฝาหม้อไตเป็นกะทะเลยครับ ตั้งน้ำมันให้ร้อนแล้วตอกไข่ลงไป ที่เห็นเนี่ยผมทำในห้องน้ำนะครับ ไม่มีลมไฟจะได้ไม่โบกไปมา และเป็นการเซฟไปในตัวครับ ยังไงก็มีน้ำให้ดับไฟทันที่ที่เกิดเหตุไม่คาดคิด ปลอดภัยไว้ก่อนครับ

เตาแอกอฮอล์ดีกว่าเตาถ่ายตรงที่ว่ามันไม่มีควันครับ
จึงไม่จำเป็นว่าต้องทำในที่โล่งกว้าง เพียงแค่เป็นที่อากาศถ่ายเถก็ทำได้แล้วครับ
ไม่ต้องกลัวเรื่องเขม่าหรือควันรบกวนแต่อย่างใด


รินน้ำมันส่วนเกินออก ใส่ข้าว เยาะซีอิ๋วขาว เป็นเมนูเบาๆยามเช้าด้วยครัวพกพาครับ อาห์...อร่อย

หรือจะเป็นทูน่าผัดผัก(ในรูปใช้ใบปูเล่)ก็ใช่ย่อยนะครับ

 
ตั้งไฟใส่เครื่องปรุงตามใจชอบผัดทูน่าและใส่ผักปิดท้ายผัดให้สุกเป็นอันเสร็จพิธี


เมนูง่ายๆอร่อยๆของชาวหอด้วยครัวพกพาครับ

ผัดผักบุ้งแบบเยอะๆก็ได้นะครับ ใช้ตัวหม้อเลยงานนี้จะได้ใส่ได้เยอะๆหน่อย ใส่เครื่องปรุงแล้วก็ยำกันตามมีตามเกิดด้วยพื้นที่อันน้อยนิดครับ(ฮา) ในการทำนี่สูตรใครสูตรมันครับ ชอบแบบไหน จัดเต็มเลยครับ 

เห็นหน้าตาแบบนี้แต่อร่อยนะครับ

ตอนหลังไปเจอแอกอฮอล์แข็งของสวนจิตรลดากระป๋องละ 25฿ ใช้ดีมากครับ พกพาสะดวก ควรมีไว้ในเป้ฉุกเฉินเลยครับ ใช้เป็นตัวจุดฟืนอีกทีก็ได้

ไฟที่ได้จะเป็นไฟแรงครับ เอาไว้ต้มซุปได้เร็วดีครับ แต่ทำพวกผัดหรือทอดไข่ดาวไข่เจียวไม่เวิร์คเพราะจะไหม้เอาง่ายๆได้ครับ
ไฟแรงมากมายครับ


ต้มยำปลากระป๋องหม้อไตครับ

 
นี่เป็นซุปเต้าเจี้ยวเห็ดหอมทำง่ายๆ ซดซุปร้อนๆยามเช้า

นี่คือผักกระถางส่วนนึงที่ปลูกไว้ ทางซ้ายคือ ต้นปูเล่(30฿จากจตุจักร)เก็บ ใบแก่มากินได้ ทางขวาผักบุ้งจีน(มีอีกชื่อคือผักบุ้งใบไผ่ หรือผักบุ้งบก)เพาะจากเมล็ดครับ ซอง10฿ ดินก็ซื้อมาถุงไม่กี่บาท ปลูกผักกินได้เป็นปีๆครับ อ๋อ ผักกระถางอย่าลืมเรื่องปุ๋ยนะครับ ธรรมชาติมีวัฏจักรครับ ฉี่ของเรานี่แหละปุ๋ยอย่างดีเลยครับ งอกงามเลยทีเดียว พืชผักนี่ตัวรีไซเคิลแบบฟรีอย่างดีจากธรรมชาติเลยครับ

ต้นปูเล่นี่มีประวัติน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ ต้นปูเล่เข้ามาในไทยโดยชาวจีนที่เดินทางมากับเรือครับ เขาเล่าว่า บนเรือจะมีกระถางต้นปูเล่หลายกระถาง และเมล็ดถั่วเขียว(เผื่อไว้ทำถั่วงอกกินบนเรือ) และใช้เป็นผักไว้กินได้บนเรือยามเดินทางไปทั่วโลก(คงมีการตกปลามากินด้วย) ที่เราเคยเรียนมาว่าชาวเรือของฝรั่งมักจะเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันเพราะขาดวิตามินเนื่องจากผักที่แช่เย็นไว้ถูกกินจนหมด(หรือไม่ก็เน่าไปบ้าง) แต่ชาวจีนเหนือชั้นกว่าโดยการเอาขึ้นไปตั้งต้นและปลูกบนเรือเลยทีเดียว จึงมีผักวิตามินไว้กินได้แม้เดินทางรอบโลกครับ
แล้วถ้าเปรียบบ้านของเราเป็นเหมือนเรือ แล้วมีน้ำล้อมรอบ ตอนนี้บ้านเราเป็นเหมือนเรือฝรั่ง หรือเรือจีน ละครับ ผมว่ามีผักกระถางและครัวพกพาไว้ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยนะครับ

ก็จบลงเท่านี้ครับ ห้องครัวพกพา หรือครัวหม้อไตนี้เหมาะกับเพื่อนๆที่อยู่หอเล็กๆไม่ค่อยมีพื้นที่แต่อยากทำอาหารฝึมือตัวเองปลูกผักกินเองเพื่อช่วยประหยัดค่ากิน(ประหยัดได้เยอะนะครับ) หรือจะเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและลองทำดูเผื่อจะใช้ในยามฉุกเฉิน
หวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่สนใจนะครับ
ไว้เจอกันใหม่
ขอบคุณที่ติดตามครับ ^v^


ปล.ผมไม่ใช้มือเซียนแต่อย่างใดครับ ผมเพียงต้องการนำเสนอการประยุกต์อุปกรณ์ในการทำอาหาร อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยในยามที่ต้องทำอาหารโดยไม่มีไฟฟ้า และแก๊ส

12 กันยายน 2555

Chess & Minesweeper - หมากรุก กับ ไมน์สวีปเปอร์เกมส์กู้ระเบิด

หมากรุกเป็นการคิดหาข้อสรุปจากข้อมูลที่สมบูรณ์บนกระดาน หมากกระดานไม่มีความลับใดๆไม่มีการเดา คิดด้วยตรรกะตรงไปตรงมา(โดยห้ามพลาดแม้ข้อมูลเดียว) แต่เกม Minesweeper ต่างออกไปหน่อยตรงที่เราจะได้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์แต่ต้องตัดสินใจจากข้อ จำกัดนั้น ซึ่งอาจจจะต้องมีการเดาบ้างในบางกรณี(เดาอย่างมีหลักการ)
ทั้งวิธีคิดของหมากรุก และ Minesweeper เป็นการคิดที่เสริมกันและกัน ในชีวิตจริงบางครั้งเราต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ไม่พอก็ต้องยอมรับความ เสี่ยง แต่ต้องเป็นการยอมรับความเสี่ยงเพื่อเรียนรู้ และเราก็จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นเพื่อตัดสินใจในอนาคต
ไม่ต้องกลัวผิด จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด มันเป็นการฝึกคิด หากมันผิด เราก็จะได้รู้ว่าอะไรที่เราขาดไป และนั้นคือเป้าหมายให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติม

ปล. นี่เป็นบทสรุปจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดของมือใหม่คนหนึ่งเท่านั้น หากมีอะไรผิดพลาดขออภัยและโปรดให้คำแนะนำเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยครับ ขอบคุณครับ :)

พอเล่นเป็นแล้วมันก็สนุกตื่นเต้นเร้าใจดีเหมือนกันนะ

โชกิ หรือ หมากรุกญี่ปุ่น ผมชอบเล่นมาก เล่นแล้วมันส์จริงๆ
หมากที่เราจับกินจะเป็นพวกเราวางกลับลงไปได้ด้วย

Minesweeper ที่ International Minesweeper Committee รับรองให้ใช้ในการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการมี 3 โปรแกรมคือ
  • Minesweeper Clone 0.96, 0.97, 2006, 2007
  • Minesweeper Arbiter 0.45, 0.46
  • Minesweeper X 1.13.1
ส่วนตัวผมชอบของ Minesweeper Arbiter มากที่สุด ลองโหลดมาเล่นกันดูครับ
Minesweeper มีจัดการแข่งขันด้วยก็เลยมีโปรแกรมมาตราฐานในการแข่งขันนั่นเองครับ

วันนี้เท่านี้ครับ
สวัสดีครับ ^v^

05 กันยายน 2555

DIY Easy PVC Nunchaku - กระบองสองท่อน PVC ทำเองง่ายๆราคาถูก

วันนี้อัดคลิปวิธีทำกระบองสองท่อนแบบง่ายๆมาให้ได้ลองทำกันดูครับ เอาไว้ออกกำลังกาย ฝึกควงสนุกๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ครับ แต่ที่สำคัญที่สุดคือขอให้สนุกกับการฝึกกระบองสองท่อนนะครับ ^-^



วิธีทำกระบองสองท่อนง่ายๆราคาถูก ด้วย PVC ธรรมดา

อุปกรณ์
1. ท่อ PVC ความยามมาตราฐานจะยาว 30cm หรือตามต้องการ (ที่เคยเห็นทั่วไปมี 3 ขนาดคือ 20cm, 30cm, 35cm)
2. เชือกไนล่อน 2m เผื่อเหลือแล้ว

เพลงตอนต้นกับตอนท้ายคลิป Melodix NoisE - Carnival 'Big Band'

ขอบคุณที่รับชม ^-^

==========================

คลิปพื้นฐานกระบองสองท่อน


(ขอขอบคุณเจ้าของคลิปทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ)

เบสิคภาษาสก๊อยใน 1 นาที


15 กรกฎาคม 2555

FishEye Lens DIY - เลนส์ตาปลาทำเองได้ง่ายจัง

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาแนะนำ Fisheye Lens หรือ เลนส์ตาปลา ที่หลายๆคนน่าจะเคยเห็นกันมาบ้างที่ภาพจะกลมๆบวมๆเบี้ยวๆ นั่นแหละครับเสน่ห์ Fisheye เขาล่ะ
ภาพแนวบวมๆนี้น่าจะได้รับความนิยมจาก Fisheye No.2 ของ Lomo ซึ่งภาพออกมาได้อาร์ทโดนใจหลายๆคน

เจ้า Fisheye Lens หรือเลนส์ตาปลาเนี่ยก็มีมานานแล้วละครับ แต่ไม่ได้เป็นเอ็ฟเฟ็คให้ภาพมันบวมอย่างเดียวหรอกนะ แต่มันจะเก็บภาพได้กว้างกว่าเลนส์ธรรมดาด้วย เจ้าตาปลาเนี่ยก็มีอยู่หลายแบบตั้งแต่ 170° ไปจนถึง 220° กันเลยทีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปนิยมที่ 180°(Fisheye No.2 ของ Lomo ก็อยู่ที่ 180°) ภาพที่อยู่ข้างๆเลนส์ก็รับเข้ามาได้(ใช้องศาเยอะๆ ถ่ายติดเท้าตัวเองประจำครับ ๕๕๕บวก) เจ้าองศานี่แหละเป็นการบอกถึงความกว้างของภาพที่เลนส์รับได้ จนมีมุขแซวกันเลยว่า ถ้าทำให้มันรับภาพกว้างได้อีกนะ คงเห็นหูคนถ่ายด้วยแน่ๆ (ฮา)

กล้องใหญ่ที่เปลี่ยนเลนส์ได้ก็จะมีเลนส์ตาปลาให้เลือกซื้อด้วย แต่กล้องเล็กอย่างกล้อง Digital Compact หรือกล้องดิจิตอลเล็กๆที่เห็นกันทั่วไปนี่แหละครับ ปกติจะไม่ค่อยมีเลนส์แบบตาปลาให้ได้เสริมเล่นกันน่ะซี่ ฮือๆ... แต่ไม่ต้องเศร้าใจไปผมไปเจอคลิปสอนทำ Fisheye Lens ใน youtube มา และวันนี้เราจะมาทำ FishEye Lens ใช้เองเองไม่แบบไม่ต้องง้อใคร พล่ามเยอะเกินไปแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่า

อุปกรณ์
1. Door viewer หรือที่บ้านเราเรียกว่า ตาแมว ที่ช่องมองประตูนั่นแหละครับ หาซื้อได้ตามร้านฮาร์ดแวร์ มีหลายราคามาก และมีหลายองศาให้เลือก ผมแนะนำที่ 180° ขึ้นไปนะครับ(กว้างสะใจดี ๕๕๕)
2. โฟมหุ้มท่อแอร์ เอาเบอร์ใหญ่ๆหน่อยละกันครับ จะได้เอามาแต่งเพื่อสวมเลนส์กล้องได้ง่ายหน่อยครับ หรือโฟมแผ่นของงานประดิษฐ์ก็ได้ครับ
3. จิปาถะ กรรไกร และสก๊อตเทป 

วิธีทำดูจากคลิปนี้เลยนะครับ


และวิธีห่อโฟมของคลิปนี้โอเคเลยครับ

คลิปทั้งสองนี้เป็นผลงานของเจ้าของคลิป
ผมขอขอบคุณไว้ ฌ ที่นี้ด้วยครับ


หลังจากทำเสร็จแล้ว เลนส์ผมก็มีหน้าตาแบบนี้ครับ



และนี่เป็นผลงานจากการใช้ FishEye Lens 200° DIYตัวนี้ครับ

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่
 Fisheye 200°
(ตาปลาของจริง ๕๕๕)


Puppy Dog

 กล้องเดิมแต่เห็นโลกกว้างขึ้นเยอะ
(ติดขอบสะพานด้วยเลย) 

เลนส์ตาปลาเป็นเสมือนโปรแกรม Winzip, Winrar
ที่ใช้บีบอัดภาพทั้งหมดมารวมอยู่ในเลนส์นี้

ภาพที่ได้อาจจะไม่คมมาก แต่ก็ถือว่าโอเคเลยทีเดียวครับสำหรับแนวอาร์ทๆหน่อย
นอกจากจะสวมปลอกใช้กับกล้องคอมแพ็คแล้ว ยังสามารถถอดปลอกเพื่อใช้กับกล้อมมือถือได้ด้วยนะ(ประคองให้ดีครับ ฮา) คราวนี้ก็มีเลนส์ตาปลาราคาถูกพกพาไปใช้ถ่ายภาพอาร์ทๆได้ทุกเวลาแล้วล่ะครับ

ผมมองว่าถ้าภาพที่ถ่ายแบบทั่วไปบุคลิกเป็นทางการและเนี๊ยบหน่อยๆ ภาพแนวตาปลาก็เป็นลักษณะบุคลิกที่มีอารมณ์ขันและออกเซอร์ๆสักหน่อยละครับ

มาทำให้กล้องของเรามองโลกกว้างขึ้นด้วย FishEye Lens DIY - เลนส์ตาปลาทำเองได้ง่ายจัง กันเถอะครับ ^w^
สวัสดีครับ

13 มิถุนายน 2555

Basic Blues Harmonica - บูลส์ฮาร์โมนิก้าเบื้องต้น

สวัสดีครับเพื่อนๆที่ติดตามอ่านบล๊อค Jazzylj บทความฮาร์โมนิก้าหายหน้าหายตาไปนานพอสมควร(จริงๆแล้วนานมาก ฮา)  กลับมาตามที่สัญญาไว้แล้วคร้าบ ฮิ้วๆ
ครั้งนี้จะเหมือนกับเริ่มฝึกฮาร์โมนิก้าใหม่อีกครั้ง เพราะการเล่น Blues Harmonica จะเล่นแบบ Cross Harp หรือ ไขว้คีย์ ........ อย่าเพิ่งงงครับ คือว่าจากที่เคยไล่บันไดเสียง "โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด้" คราวนี้ต้องมาฝึกไล่เสียงแบบ Cross Harp กันใหม่เท่านั้นเอง ฮ่าๆๆ จะฮาหรือจะเศร้าดี ไม่ต้องตกใจครับ ไม่ยากเกินฝึกหรอกครับ อยู่ใน 10 ช่องเดิมนี้แหละครับไม่ไปไหนไกล

มาทำความรู้จักศัพท์ทางเทคนิคให้ปวดหัวเล่นๆกันก่อนดีกว่า
การไล่เสียงแบบเดิมที่เราเคยเล่น เรียกว่า Straight Harp เป็นการเล่นแบบทั่วๆไป
แต่ครั้งนี้ที่เราจะเรียนรู้กันคือการเล่นที่เรียกว่า Cross Harp เป็นการเอาฮาร์ปคีย์ C มาเล่นให้เป็นคีย์ G ใน Mixolidian Mode (โหมดเสียงมิกโซลีเดี้ยน) อืม.......พาราสักเม็ดก่อนดีกว่าครับ (ฮา)
ซึ่งพูดง่ายๆก็คือเช่น เอาฮาร์ปคีย C มาเล่นเป็นคีย์ G นั่นแหละ และเน้นที่โน้ตดูด ถึงได้เรียกว่าไขว้คีย์
ทำไมถึงเน้นที่โน้ตดูด? อาจจะเป็นเพราะว่าสไตล์บูลส์จะชอบเล่นเสียง Bending และการเล่นโน้ตดูดจะทำสไตล์ของเสียงได้อย่างมีเอกลักษณ์ ลองดูดๆกระชากเสียง หรือทำเสียงปึ๋ยๆ แกว่งเสียงโน้ต Bending นิดๆ โน้ตดูดจะทำได้ง่าย และนี่แหละเป็นเอกลักษณ์เสียง

เวลาบอกว่าจะเล่นเพลงคีย์ G ชาว Blues Harp ก็จะหยิบฮาร์ปคีย์ C ไปเล่นครับ เพราะเขาจะเล่นแบบ Cross Harp นั่นเอง

ปวดหัวพอประมาณเรามาเริ่มเข้าแบบฝึกหัดกันเลยดีกว่าครับ
อันดับแรกฝึกเล่นคีย์ G Mixolidian ด้วยฮาร์ปคีย์ C กันก่อนเลย
โน้ตแรกจะเริ่มที่โน้ต G ดูดช่องที่ 2 (Cross Harp เน้นที่โน้ตดูดครับ)
(ที่บรรทัด 5 เส้น จะมี #(อ่านว่า ชาร์ป) อยู่ 1 ตัว เป็นการบอกว่าเป็นคีย์ G)

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่


สังเกตุว่าจะมีโน้ตที่ต้องเบนด์อยู่โน้ตนึง ก็คือโน้ตตัวลาที่หายไปนั่นเอง (ถ้าอยากเข้าใจเรื่องโหมดมากขึ้นแนะนำให้ศึกษาจากหนังสือทฤษฏีดนตรีครับ)
ทีนี้มาลองเล่นเป็นเพลงกันดูบ้าง อย่างที่บอกว่ามันก็เหมือนกับการเปลี่ยนคีย์นั่นแหละครับ ทีนี้เรากลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการเล่น Jingel Bell แต่คราวนี้เล่นแบบ Cross Harp กันดีกว่า(เล่นให้ได้สำเนียงบูลส์ๆด้วยการกระชากเสียงนิดๆ แอบเบนด์หน่อยๆด้วยนะ จะได้อารมณ์มาก)

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

ทีนี้น่าจะพอเข้าใจความแต่ต่างของการเล่น Straight Harp และ Cross Harp โดนใช้ฮาร์โมนิก้าอันเดียวกันแล้วนะครับ

และแบบฝึกหัดสุดท้ายนี้ เป็นฟอร์มมาตราฐานของบูลส์ที่เรียกกันว่า 12 Bar Blues เพราะเพลงบลูส์ 90กว่า% จะใช้ทางคอร์ดแบบนี้ตลอดเพลงครับ บางครั้งอาจจะเอาแค่ฟอร์ม 8 ห้องบ้าง หรือสลับสับเปลี่ยนบ้าง แต่ก็จะอยู่ในรูปแบบนี้แน่นอน ดังนั้นตัวนี้สำคัญครับในการฝึกบลูส์เพราะจะเจอบ่อยมาก
ก็ทิ้งท้ายไว้ให้ได้ฝึกจำทางคอร์ดกันนะครับ  บทความนี้ครั้งนี้คงเท่านี้ก่อน หาสงสัยหรืออยากศึกษาเพิ่มเติมอยากแนะนำเหมือนทุกๆครั้งนะครับว่า ให้หาหนังสือทฤษฏีดนตรีมาศึกษานะครับจะต่อยอดได้อีกมากมาย แล้วไว้ค่อยเจอกันใหม่บทความหน้า
ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีนะครับ ^w^

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

แถม
นอกจากฝึกตามตัวอย่างข้างต้นแล้ว ก็สามารถฝึกเป่าเป็นคอร์ดเลยก็ได้ ดูที่บทความ แนะนำการเล่นคอร์ดเบื้องต้นของฮาร์โมนิก้า และจังหวะการเป่าคอร์ดลองดูได้ที่ แบบฝึกจังหวะ Rhythm Harmonica ได้เลย

โครงสร้างของ 12 Bar Blues สามารถสร้างเองได้จากสูตรนี้(ซึ่งต้องรู้โน้ตในคีย์ก่อน ดูจากตารางของบทความนี้ได้ การเปลี่ยนคีย์เพลงอย่างง่าย) โดย I = ตัวที่ 1 ของคีย์ (ถ้าคีย์ C ก็ตัว C นั่นแหละ), IV = ตัวที่ 4 ของคีย์ (ถ้าคีย์ C ก็นับไป C D E F ก็ตัว F ไงล่ะ), V = ตัวที่ 5 ของคีย์ (ถ้าคีย์ C ก็นับไป C D E F G ก็ตัว G นี่เอง) ดังนั้นใน 12 Bar Blues ของคีย์ C ก็จะใช้แค่ 3 คอร์ด(เป็นเบื้องต้น) คือ C F และ G โดยมีลำดับการเล่นตามสูตรข้างล่างนี้เลย

สูตรโครงสร้างของ 12 Bar Blues เมื่อเข้าใจแล้วสามารถแทนคอร์ดได้ตามต้องการ
Pic via t.ly/KTKw

ตัวอย่าง 12 Bar Blues สำหรับคีย์ C
Pic via t.ly/L_1H

8 bar blues
Pic via t.ly/X_uA

08 มิถุนายน 2555

Shortwave radio - เปิดโลกไปด้วยกันกับวิทยุคลื่นสั้น - ประตูสู่การเรียนรู้ สาระ และบันเทิง

https://www.universal-radio.com/etow.html

วิทยุมีบทมากมากต่อโลกและประเทศไทย จากการค้นคว้าย้อนกลับไปประมาณ 40 ปีก่อน วิทยุนอกจากจะใช้ในข่าวสารทางการเมืองและบันเทิงแล้ว วิทยุยังเป็นสื่อหลักอีกอย่างของการเรียนการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งภาครัฐต้องการยกระดับความรู้ของประชาชนทุกคนให้มีการศึกษาอย่างทั่วถึง ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็เหมือนกับการเรียนผ่านดาวเทียม หรือเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นแหละครับ โดยเป็นสื่อเสียงผ่านทางวิทยุและเรียนได้ทุกที่ที่พกวิทยุไปด้วย(อย่าลืมแบตฯก็แล้วกัน ฮา)
(วิทยุแร่ วิทยุที่ไม่ต้องใช้แบตฯ ฟังฟรีตลอดไป ดูวงจรการทำได้ที่ https://jazzylj.blogspot.com/2013/12/crystal-receiver-jazzycr-v099beta_6520.html)

การเรียนทางไกลเป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในบ้านเรา
แถมเรียนฟรีไม่ต้องเสียงตังค์อีกต่างหาก(ไม่นับค่าซื้อวิทยุและแบตฯนะ ฮา)


และการยกระดับความรู้ภายในประเทศผ่านทางวิทยุก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนะครับ ซึ่งก็คือ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีทั้งการนำความรู้มาเล่าสู่กันฟัง บ้างก็สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ฯลฯ และมีสาระที่น่าสนใจอีกเยอะเลย ฟังไปทำงานอย่างอื่นไปด้วยก็ยังได้(อารมณ์แบบฟังเพลงไปทำงานไป แต่ทีนี้ได้สาระไปด้วย)เป็นทั้งสาระที่มาพร้อมความบันเทิง ผมไม่รู้ว่าที่ กทม. คลื่น FM ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นคลื่นอะไร แต่ที่ทราบคือมีการกระจายเสียงทางคลื่น AM ไปทั่วประเทศครับและหมุนหาง่ายกว่า(เพราะ AM มีสถานีน้อย)

แสดงให้เห็นว่าความตั้งใจที่จะยกระดับความรู้ให้แก่ประชาชนยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในยุคนี้


เมื่อเราต้องการรับข่าวสารภายนอกโดยตรง อาจต้องติดตั้งอินเตอร์เน็ต รายการทีวีผ่านดาวเทียม จึงจะรับรู้ข่าวสารจากทั่วโลกได้ฉับไว ทั้งสาระ และบันเทิง แต่มีอยู่ช่องทางหนึ่งในการรับข่าวสารที่หลายคนเกือบจะลืมไปแล้ว(บางคนอาจไม่รู้จักมาก่อน)คือ "วิทยุคลื่นสั้น"


ในเวลาที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมจะใช้วิทยุเล็กๆของผมเพื่อรับฟังข่าวสารทั่วโลก โดยใช้ระบบ SW ที่มีบนวิทยุครับ
SW ก็คือ วิทยุคลื่นสั้น ที่ส่งสัญญาณได้ไกลทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 1927 โดยไม่ต้องใช้จานดาวเทียม แต่เป็นการสะท้อนสัญญาณวิทยุกับชั้นบรรยากาศโลก หน้าปัทม์เครื่องรับวิทยุจะมี FM, AM(MW) และบางเครื่องก็จะมี SW ด้วย ทำให้สามารถรับฟังสถานีวิทยุของทั่วโลกได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกล
แค่มีวิทยุเล็กๆ ก็เสมือนมีจานรับสัญญาณดาวเทียมที่สามารถรับฟังข่าวสารได้จากทั่วโลกแบบฟรีๆ เพียงนั่งริมหน้าต่างหรือที่โล่งๆ ดึงเสาอากาศให้สุด ตั้งตรง แล้วปรับสวิตซ์ไปที่ SW จะมีสถานีวิทยุให้รับฟังเป็นร้อยๆสถานีจากประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่ อเมริกา, อังกฤษ, ออสเตเรีย, ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, อินเดีย, เวียดนาม และอีกเพียบให้ได้หมุนฟังกัน

นอกจากรับฟังสาระ และบันเทิงแล้ว ยังช่วยฝึกภาษาได้ดีมาก


และไม่ใช่ว่าจะมีแต่ภาษาต่างประเทศเท่านั้นนะครับ อย่างสถานีของ จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย ฯลฯ จะมีบางช่วงเป็นภาคภาษาไทยด้วย ซึ่งเราจะได้ฟังภาษาไทยสำเนียงอินเดียอะไรอย่างนี้เป็นต้น(จริงๆนะเออ)
ข่าวสารทาง SW เป็นการรับฟังข่าวสารที่ฉับไวและราคาถูกที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด เพราะส่งตรงจากทั่วโลกกันเลยทีเดียว ไม่ว่าในไทยจะปิดข่าวหรือเซ็นเซอร์ข่าวที่นำเสนอ เราก็มีช่องทางรับฟังเนื้อข่าวแท้ๆได้จากคลื่นสั้นนี่แล

ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเรามีกลุ่มคนที่ชื่นชอบการฟังวิทยุคลื่นสั้น หรือเรียนกันสั้นๆว่า SWL (Shortwave listening) จะรับข่าวสารจากวิทยุคลื่นสั้นเหมือนกับที่นักวิทุยสมัครเล่นฟังข่าวสาร ติดตามสถานการณ์ต่างๆจาก ว. (SWL ก็จัดเป็นนักวิทยุกลุ่มนึงเหมือนกันนะ)

ถ้าระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบันล่ม ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ มือถือ ดาวเทียม ฯลฯ ทางเดียวที่เราสามารถรับข่าวสารจากภายนอกได้โดยตรงก็ด้วยวิทยุเครื่องเล็กๆนี่แหละครับ และคุณยังสามารถสื่อสารโดยตรงกับภายนอกได้ด้วยหากมีเครื่องส่งวิทยุ(แต่ต้องสอบรับใบอนุณาติก่อนนะสำหรับการซื้อเครื่องส่ง) พูดถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงแฮกเกอร์ร่างท้วมในเรื่อง Die Hard 4.0 ที่ห้ามไม่ให้พวกไปยุ่งกับวิทยุสื่อสาร "ถ้าทุกอย่างล่มหมด วิทยุนั่นเป็นทางเดียวที่ฉันจะสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้"

บทความนี้เพียงต้องการกล่าวถึงประโยชน์ของวิทยุที่เริ่มจะถูกลืมเลือนไปแล้วสำหรับยุคนี้ที่มีสื่อที่ทันสมัยกว่าอยู่มากมาย แต่กระนั้นวิทยุก็ได้ถูกผนวกอยู่ในหลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่น MP3 ทั่วไป ซึ่งยังคงแสดงให้เห็นว่าวิทยุยังมีความสำคัญ และเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
การมีวิทยุเล็กๆไว้สักเครื่อง(รับ SW ได้ด้วยยิ่งดี)นอกจากจะเป็นเพื่อนยามว่างได้ทุกที่แล้ว
ยังสามารถรับฟังข่าวสารเพื่อเตรียมตัวและใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินใจในยามฉุกเฉินได้

ครับผม เนื้อหาหลักๆที่ต้องการนำเสนอก็จบลงตรงนี้
บทความต่อจากนี้เป็นการแนะนำวิธีการรับคลื่นสั้น
สามารถข้ามลงไปดูลิ้งค์แนะนำเพิ่มเติมย่อหน้าสุดท้ายได้เลยครับ

:)

-------------------------
-------------------------

มาดูวิธีใช้วิทยุฟังคลื่นสั้นคร่าวๆสักหน่อยสำหรับเพื่อนๆที่สนใจแต่ยังไม่เคยลองเล่น


นี่คือสถานีรับวิทยุหลักของผมเป็น Panosonic RX-FS70 ใช้มาก็นานพอสมควรตอนนี้รุ่นนี้ไม่มีขายในไทยแล้วครับ แต่ว่าอุปกรณ์ในการหมุนรับ SW ไม่แตกต่างกับเครื่องวิทยุมาตราฐานทั่วไปครับ


หน้าปัทม์ Panosonic RX-FS70

เครื่องนี้รับ SW ได้ตั้งแต่ 2.3MHz-22MHz(ความยาวคลื่น120m-13m) แบ่งเป็น SW1 กับ SW2 บางเครื่องก็มีถึง SW10 แต่ไม่ว่าจะมีกี่แบรนด์ก็รับสถานี้ได้เหมือนๆกันครับให้ดูที่ความถี่เอา ที่แบ่งเป็นหลายแบรนด์เพื่อความถี่จะได้ไม่เบียดกันมาก
เครื่องใหม่ๆสมัยนี้มักจะเป็นแบบดิจิตอลบอกความถี่เป็นตัวเลขสะดวก แต่แบบเครื่องอนาล๊อคอย่างที่เห็นจะบอกความถี่ที่รับฟังเป็นตัวเลขยาก คลื่นมันละเอียดเป็นทศนิยมเลย ถ้าเป็นเครื่องเข็มแบบนี้นิยมบอกกันเป็นความยาวคลื่น ดูได้จากหน้าปัทม์เช่นกัน(สีส้มๆหน่วยเป็น m หรือ เมตร)




แผงควบคุม Band, Tuning, Fine Tuning

หมุนสวิตซ์ Band ไปที่ SW เลยครับ แล้วทีนี้ก็หมุนหาคลื่นด้วย Tuning แบบปกติ แต่ความถี่ของคลื่นสั้นนั่นแคบมากครับ หนักมือไปนิดคลื่นหายเลย มือต้องนิ่งๆ
ลองหมุนไปเรื่อยๆครับ พอเจอสัญญาณให้ปรับละเอียดอีกทีด้วย Fine Tuning (เรียกสั้นๆว่า Fine) ปุ่มหมุนได้รอบ แต่ว่าบางเครื่องไม่มี ก็ไม่เป็นไร อาศัยมือนิ่งเข้าว่า (ฮา)
ทีนี้พอเจอสักสถานีก็ลองฟังดูครับ เพราะตอนนี้เรารับติดตามความเคลื่นไหวจากทั่วโลกด้วยวิทยุได้แล้วละครับ(เดี๋ยวเราจะพูดถึงสถานีที่น่าสนใจในตอนท้ายนะครับ)

ทีนี้มาดูวิทยุคลื่นสั้นพกพากันบ้าง ซึ่งเป็นที่นิยมมากเพราะกระทัดรัด อารมณ์เหมือนเป็นแท็บเล็ตยุควิทยุเลยทีเดียว
ของผมใช้ Soya SY-251C ซื้อมาจากตลาดนัด เครื่องร้อยกว่าบาท เป็นอนาล๊อคล้วนๆ แต่ถือว่าคุ้มราคาครับ ใช้แบตเตอรี่ AA 2ก้อน ใช้นาน เสียงดังดี เสียบหูฟังได้ด้วย พอใจเลยทีเดียวกับเครื่องเล็กเท่าฝ่ามือราคาถูกใช้สบายใจพกได้ทุกที่(แต่ก็แน่นอนว่าความละเอียดในการรับสัญญาณสู้เครื่องราคาเป็นพันไม่ได้)


World Band Receiver เท่าฝ่ามือ กระทัดรัด พกสะดวก ประหยัดแบตฯ

เครื่องนี้รับ FM 64MHz-108MHz เครื่องทั่วไปจะรับ FM ได้ตั้งแต่ 88MHz แต่เครื่องนี้รับได้ต่ำถึง 64MHz ทำให้สามารถฟังทีวีผ่านวิทยุได้ด้วยครับ (แต่ไม่ทุกช่องนะครับ)
รู้สึกจะเริ่มเป็นมาตราฐานใหม่ของวิทยุแล้วนะครับ
AM(MW) ก็มาตราฐานทั่วไป
ส่วน SW เครื่องนี้รับได้ตั้งแต่ 5.95MHz-18MHz(ความยาวคลื่น49m-16m) น้อยกว่าเครื่องใหญ่แต่ก็รับได้ในย่านหลักๆครบถ้วนครับ ตัวนี้จะแบ่งถึง SW7 คลื่นที่รับได้ทั้งหมดถูกแบ่งเป็น 7 ส่วน ทำให้แต่ละสถานีไม่เบียดกันมาก แม้เครื่องนี้ไม่มีปุ่ม Fine แต่ก็จูนได้ไม่ยากเลย
มาดูที่หน้าปัทม์กันหน่อย

หน้าปัทม์ Soya SY-251C

เครื่องเล็กนี้รับสัญญาณสู้เครื่องใหญ่ไม่ได้ละคับ ต้องนั่งฟังริมหน้าต่างถึงจะรับสัญญาณ SW ได้ดี
ในตอนกลางวันรู้สึกจะมี SW น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นสถานีของจีน หรือไม่ก็อินเดีย แต่พอหลังพระอาทิตย์ตกนี่จะรับได้เยอะ และชัดครับ

สถานี้ที่ฟังเป็นประจำ(และเป็นสถานีแนะนำ)

BBC (British Broadcasting Corporation)
มีให้ฟังตลอดวันครับ ตอนเช้าๆมักจะอยู่ที่ความถี่สูง พอตอนเย็นก็จะต่ำลงมา ลงจูนหาไปเรื่อยๆ ภาษาอังกฤษข่าวสั้นฟังง่าย

NHK (Radio Japan)
เป็นสถานีจากญี่ปุ่น มีสอนภาษาญี่ปุ่นด้วย บางช่วงออกอากาศเป็นภาษาไทย

VOA (Voice of America)
ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ บางช่วงออกอากาศเป็นภาษาลาว ก็ฟังรู้เรื่องนะครับสำเนียงนุ่มมากๆ

RTI (Radio Taiwan International)
จีนไต้หวันเลยครับ บางช่วงมีออกอากาศเป็นภาษาไทยด้วย

CRI (China Radio International)
จากจีนครับ บางช่วงออกอากาศภาษาไทยด้วยครับ มีรายการสอนภาษาจีนด้วยนะ

AIR (All India Radio)
สถานีจากอินเดีย มีช่วงออกอากาศเป็นภาษาไทยด้วยครับ

VOV (Voice of Vietnam)
สถานีจากเวียดนาม มีช่วงออกอากาศเป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน

และสถานีอีกมากมายให้ได้เลือกฟังกันล่ะครับ สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้จากเว็บนี้ http://short-wave.info/

วิทยุคลื่นสั้นเนี่ยไม่ใช่แค่ต้องการให้เรารับฟังเพียงอย่างเดียวนะครับ ทางผู้จัดก็อยากรู้เหมือนกันว่ามีใครฟังอยู่ส่วนไหนของโลกบ้าง ชัดไม่ชัดยังไงก็ส่ง จ.ม. หรือเมลไปหากันได้ครับ ซึ่งจะมีของที่ละลึกด้วยไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด, หนังสือ, ลายเซ็นพร้อมรู้ถ่ายของผู้จัดรายกาย ฯลฯ
มีท่านนึงเขียนไปที่ NHK ได้รับของที่ละลึกมากมายลองดูได้จากลิ้งแนะนำย่อหน้าสุดท้ายนะครับ

-------------------------
-------------------------

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต
 
commando listens to the news on the BBC World Service at Camp Fairburn, Oman Photo: GETTY

BBC World Sevice

ลิ้งแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ






ขอให้มีความสุขกับการรับฟังวิทยุครับ :D

แถม
สำหรับนักวิทยุคลื่นสั้นมือใหม่ที่ยังไม่รู้จะหาซื้อแบบไหนดีกับวิทยุคลื่นสั้น(SW)ขนาดพกพาที่คุณภาพดีคุ้มราคา ขอแนะนำ 2 ยี่ห้อ คือ Tecsun กับ Degen เป็นของจีนผลิตจากบริษัทเดียวกัน ให้ดูรุ่นที่รับ FM/MW(AM)/SW ได้ แบบหน้าปัทม์เข็มจะราคาถูก อยู่ที่ราวๆ 400-600 บาท 2 ยี่ห้อนี้เชื่อถือคุณภาพได้ ชิปรับสัญญานความไวสูงราคาย่อมเยาว์ หาซื้อได้ไม่ยาก
เพื่อนๆท่านใดมียี่ห้อและรุ่นที่ชื่นชอบอยากแนะนำเพิ่มเติม เม้นแนะนำได้เลย

ชี้เป้า Tecsun R-911 https://shope.ee/4AYNi4f1Np วิทยุคลื่นสั้นราคาถูกที่รับคลื่นได้แม่นยำและชัดเจนที่สุดในราคาหลักร้อย ที่นักวิทยุคลิปสั้นหลายท่านให้ความยอมรับ

Tecsun R 911