Sponsor

29 กันยายน 2566

การสร้างไฟล์ Image .iso จากแผ่น CD ง่ายๆบน Linux ด้วย Brasero

พอดีว่าเมื่อวาน ไปรื้อเจอแผ่น VCD การเรียนการสอนเก่าๆ เอาแล้วสิ จะเปิดดูได้อีกมั้ยเนี่ย โชคดีว่ามีคอมฯที่มียังมีเครื่องอ่าน CD/DVD อยู่ ก็เลยลองเปิดดู โอเคเลย ช่องอ่านยังไม่พัง แต่อย่างที่ทุกคนรู้ดี ช่องอ่าน CD มันพังง่ายขนาดไหน เรียกได้ว่าจากนี้ไป ถ้าช่องอ่านหรือแผ่นพังไปเสียก่อนไฟล์ก็คงสูญหายไปตลอดกาล ก็เลยต้องนำลงเครื่องให้ได้แล้วล่ะครับ
วิธีการนำไฟล์จาก CD/DVD ลงเครื่องมีหลายวิธี เช่น การก๊อปปี้ไฟล์ลงมาโดยตรง วิธีนี้ใช้ได้กับแผ่นข้อมูลทั่วๆไป แต่แผ่นบางชนิดอาจไม่สามารถทำแบบนั้นได้(ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ไม่ข้อกล่าวไว้ ณ ที่นี้) จึงมีอีกวิธีหนึ่งคือการสร้างไฟล์ Image เป็นการจำลองแผ่น CD เสมือนเป็นแผ่น CD ทั้งแผ่นให้อยู่ในไฟล์เดียว ใช้สำหรับบางแผ่นที่ไม่สามารถก๊อปปี้ไฟล์ลงมาได้โดยตรง ซึ่งการทำไฟล์ Image ใน Linux นั้นทำได้หลายวิธี แต่บทความนี้จะมาแนะนำวิธีง่ายๆด้วยการใช้โปรแกรม Brasero
งั้นมาเริ่มกันเลยครับ!

วิธีสร้างไฟล์ Image ISO

  • อันดับแรกให้ติดตั้งโปรแกรม Brasero ก่อน
  • จากนั้นใส่แผ่น CD/DVD ที่ต้องการทำไฟล์ Image ลงในเครื่อง แล้วเปิดโปรแกรม Brasero ขึ้นมา


  • เลือกที่ Disk copy
  • จากนั้นที่ Select a disk to write to ให้เลือกเป็น Image File
  • แล้วกดที่ Property เพื่อเลือกตำแหน่งสำหรับเซฟไฟล์ และแนะนำให้เลือกนามสกุลไฟล์เป็น ISO9660 image ซึ่งจะได้ไฟล์ .iso เป็นนามสกุลไฟล์ Image มาตราฐาน ที่สามารถเอาไปเปิดได้หลายโปรแกรม(หรือหากชอบนามสกุลอื่นๆก็เลือกได้ตามต้องการ)
  • เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนก็กด Create image 
  • แล้วรอ...
จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ว่าช่องอ่านไหวแค่ไหนหรือแผ่นนั้นต้องใช้กำลังภายในมากน้อยขนาดไหน และในที่สุด เราก็จะได้แผ่นเสมือน CD/DVD แผ่นนั้น อยู่ในเครื่องของเราแล้วล่ะครับ

วิธีเปิดไฟล์ Image .iso
ให้เรา คลิกขวาที่ไฟล์ ISO จากนั้นคลิกที่ Open With Disk Image Mounter เครื่องก็จะทำการจำลองไฟล์ ISO นั้นให้เป็นเสมือนเราใส่แผ่น CD ลงในเครื่องเป็นที่เรียบร้อย สามารถใช้งานได้เหมือนเป็นแผ่น CD แผ่นนั้นได้เลยครับ

นี่ก็เป็นการอนุรักษ์ข้อมูลยุค CD ให้อยู่ในรูปไฟล์บนเครื่องคอมฯได้อย่างสมูบรณ์แบบในอีกรูปแบบหนึ่งครับ

แถม
สำหรับคนที่ใช้ Linux Zorin OS ในตัวระบบมีโปรแกรมสำหรับทำ Image อยู่แล้วใน Settings คือ Disks เมื่อเข้าโปรแกรมแล้วให้เลือกที่ CD แล้วคลิกที่ปุ่ม 3 จุดแถวๆด้านขวาบน แล้วเลือกที่ Create Disk Image และทำตามระบบ

อ้างอิง

08 กันยายน 2566

การตีความสัญลักษณ์เหยาของอี้จิงเบื้องต้น


คัมภีร์อี้จิง เป็นคัมภีร์ที่แนะนำยากที่สุดและอ่านยากที่สุด จนผมเองก็ไม่รู้จะเริ่มแนะนำอะไรยังไง ด้วยความเป็นศาสตร์ที่กว้างขวางและลึกซึ้งซับซ้อน และคิดว่าด้วยความรู้ที่ครูพักลักจำเก็บเล็กผสมน้อยอ่านตำรับตำราด้วยตนเองย่อมมีแค่หางอึ่งเท่านั้น ไม่อาจหาญจะมาแนะนำอะไรในเรื่องนี้ได้ เพราะจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเสียมากกว่า แต่ก็ขอให้ถือว่าเป็นบันทึกการศึกษาอี้จิงของผมเองก็แล้วกันนะครับ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยผู้รู้ และขอความกรุณาช่วยคอมเม้นต์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พวกเราทุกคนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

คัมภีร์อี้จิงในปัจจุบันเป็นคัมภีร์ของโจวอี้เนื่องจากโจวเหวินหวางเขียนคำอธิบายเป็นอักษรจีนเอาไว้ จะมีอธิบายความแต่ละเหยาแต่ละเส้นอย่างที่เราได้เห็นกันทั่วไป แม้จะมีการเขียนอธิบายแล้ว แต่ด้วยความเป็นภาษาจีนโบราณและศาสตร์ที่ลึกซึ้งก็ยากที่จะเข้าใจได้ในปัจจุบันอยู่ดี งั้นบทความนี้เราจะย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดคัมภีร์อี้จิงขึ้น ในตอนเริ่มต้นที่มีสัญญลักษณ์ทั้งหกเส้น(เหยา) และมาดูกันว่าเขาให้ความหมายและการตีความกันอย่างไร
ให้มองว่ามันเป็นเสมือนตัวอักขระแทนความหมายอย่างหนึ่ง พวกขีดและกลุ่มขีดเหล่านี้ ให้คิดว่าเป็นภาษาเขียนสมัยโบราณของจีนไปพลางๆก่อนก็ได้

ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าคัมภีร์อี้จิงใช้เป็นคู่มือในการเสี่ยงทาย ซึ่งบรรพบุรุษชาวจีนโบราณได้คิดค้นขึ้นจากลายต่างๆบนกระดองเต่าที่ใช้โยนเสี่ยงทาย โดยเริ่มต้นจากขีด 2 แบบ คือ

⚋ หยิน ใช้แทน ดิน, เพศหญิง, มืด, อ่อนโยน, ฯลฯ
⚊ หยาง ใช้แทน ฟ้า, เพศชาย, สว่าง, เข้มแข็ง, ฯลฯ

จากนั้นก็นำมาเรียงจากล่างขึ้นบนเป็น 2 ขีด เป็นความเข้มของหยินหยางสี่ระดับ คือ

⚎ 少陽 เสี่ยวหยาง หยางอ่อน ใช้แทน ฤดูใบไม้ผลิ, มังกรคราม, ธาตุไม้, ฯลฯ
⚌ 太陽 ไท่หยาง หยางเข้ม ใช้แทน ฤดูร้อน, นกกระจิบแดง, ธาตุไฟ, ฯลฯ
⚍ 少陰 เสี่ยวหยิน หยินอ่อน ใช้แทน ฤดูใบไม้ร่วง, เสือขาว, ธาตุทอง, ฯลฯ
⚏ 太陰 ไท่หยิน หยินเข้ม ใช้แทน ฤดูหนาว, เต่าดำ, ธาตุน้ำ, ฯลฯ

จากที่เห็นมีเส้นทึบหรือเส้นตัดสองเส้นย่อมมีความเข้มสูงสุด ส่วนที่มีเส้นตัดกับเส้นทึบปนกันย่อมมีความเข้มอ่อนลง วิธีสังเกตว่าอยู่ในหมวดหยินหรือหยางให้ดูที่เส้นบน
แถมอีกนิดนึง จะเห็นว่าที่ความเข้มนี้มีเพียง 4 ธาตุ แต่ธาตุจีนจะมี 5 ธาตุ ขาดธาตุดินไปธาตุนึง ถามว่าธาตุดินอยู่ไหน? ตอบว่า ธาตุดินอยู่ตรงกลางระหว่างเปลี่ยนความเข้มหนึ่งไปสู่อีกความเข้มหนึ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่าอยู่ตรงรอยต่อระหว่างฤดูกาล(ช่วง 18 วันก่อนเปลี่ยนฤดู) ซึ่งไม่สามารถเขียนออกมาได้ในความเข้มทั้งสี่นี้ แต่มีอยู่ มันคือการคิดแบบเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง คือคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลง(易)อยู่ตลอดเวลาเหมือนการเปลี่ยนฤดูกาล เพราะในธรรมชาติไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งตายตัว แต่การเขียนเพื่ออธิบายจะดูเหมือนตายตัว ซึ่งถ้าไม่เขียนให้ตายตัวก็จะอธิบายไม่ได้ นี่คือความย้อนแย้งของการศึกษาทุกชนิด ไม่ว่าจะอ่านหนังสืออะไรก็ตาม ตรงจุดนี้ต้องตระหนักไว้ให้ดีครับ และการอธิบาย 5 ธาตุแบบนี้เป็นการอธิบายอีกแบบหนึ่งของการกำเนิด 5 ธาตุตามปกติที่ ไฟกำเนิดดิน ดินกำเนิดทอง ฯลฯ ซึ่งต้องทำความเข้าใจบริบทใหม่กันพอสมควร และจะมีธาตุดินหยิน ธาตุดินหยาง อีก แต่จะไม่กล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ เพราะไม่เกี่ยวข้องโดยเบื้องต้น

โอเค จากนั้นก็นำอีกเส้นมาเรียงจากล่างขึ้นบน 3 ขีด หรือ ปากว้า(八卦) หรือ 8 กว้า คือ

☰ 乾 เฉียน ใช้แทน พ่อ, ฟ้า, ธาตุทอง,ฯลฯ
☷ 坤 คุน ใช้แทน แม่, ดิน, ธาตุดิน, ฯลฯ
☳ 震 เจิ้น ใช้แทน ลูกชายคนโต, ฟ้าร้อง, ธาตุไม้, ฯลฯ
☵ 坎 ขั่น ใช้แทน ลูกชายคนกลาง, น้ำ, ธาตุน้ำ, ฯลฯ
☶ 艮 เกิ้น ใช้แทน ลูกชายคนเล็ก, ภูเขา, ธาตุดิน, ฯลฯ
☴ 巽 ซวิ่น ใช้แทน ลูกสาวคนโต, ลม, ไม้, ธาตุไม้, ฯลฯ
☲ 離 หลี ใช้แทน ลูกสาวคนกลาง, ไฟ, ธาตุไฟ, ฯลฯ
☱ 兌 ตุ้ย ใช้แทน ลูกสาวคนเล็ก, บึง, ทะเลสาบ, ธาตุทอง, ฯลฯ

จุดสังเกตในการจำระบบครอบครัวพ่อแม่ลูก คือ เพศชายให้สังเกตที่เส้นหยาง ⚊ ถ้าอยู่ข้างล่างก็คนโต อยู่ตรงกลางก็คนกลาง และอยู่ข้างบนก็คนเล็ก(เนื่องจากเส้นเรียงจากล่างทับซ้อนขึ้นบน ดังนั้นเส้นล่างจะเกิดก่อน) เพศหญิงก็เช่นกัน ให้ดูจาก ตำแหน่งของเส้นหยิน ⚋ ในแบบเดียวกัน ส่วนพ่อแม่นั้นจำง่ายอยู่แล้ว มีหยินหยางเต็มทั้งสามเส้น ส่วนตัวอักษรจีนที่กำกับนั้นเป็นชื่อเรียกในภาษาจีนของกว้าทั้งแปดนั้น

จากปากว้า 3 เส้น เมื่อนำกว้า 2 อันมาซ้อนกัน ก็จะเป็น 6 เส้น เรียกว่าเหยา(爻) จึงกำเนิดอี้จิงทั้ง 64 เหยา ขึ้นมา การตีความเบื้องต้นก็คือการแบ่งเหยาออกเป็นกว้าบนกับกว้าล่าง เช่น

䷞ แบ่งเป็น ☱ อยู่บน และ ☶ อยู่ล่าง เมื่อดูและเปรียบความหมาย จะได้ว่า ข้างบนคือลูกสาวคนเล็ก ข้างล่างคือลูกชายคนเล็ก ในที่นี้คนเล็กที่ว่าก็เปรียบได้กับวัยหนุ่มสาวหรืออ่อนวัยก็ได้ จาก ䷞ ทำให้เห็นว่า ชายหนุ่มติดตามหญิงสาวขึ้นไป ดังนั้นเหยานี้เกี่ยวกับการจีบกันของชายจีบหญิงหรือเกี่ยวกับความรัก อาจเป็นการแต่งงานก็ได้ ซึ่งหากไปเปิดคัมภีร์อี้จิงก็จะได้คำอธิบายภาษาจีนโบราณว่า 咸 แปลว่า ดึงดูด หรือ รวมตัว ซึ่งเป็นการตีความเหยานี้โดยโจวเหวินหวางนั่นเอง
หากเทียบกับลักษณะธรรมชาติก็จะได้ ทะเลสาบอยู่บนภูเขา ถ้าว่าตามหลักฮวงจุ้ยเรียกว่าทะเลสาบสวรรค์ ทำเลแบบนี้ถือว่ายอดเยี่ยมเพราะเป็นแหล่งรวมตัวของพลังชี่และเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเป็นได้อย่างดีเลยทีเดียว เป็นตำแหน่งชี่มังกรระดับประเทศ ต้องรักษาไว้ห้ามทำลายโดยเด็ดขาด หากบ้านไหนมีอะไรคล้ายๆแบบนี้อยู่หน้าบ้านถือว่าได้ครอบครอบทำเลที่ดีเยี่ยม บ้านหลังนั้นจะให้กำเนิดวีรบุรุษ

นอกเรื่องไปไกลแล้ว กลับมาก่อน ๕๕๕
งั้น ตัวอย่างสุดท้าย

䷱ แบ่งเป็น ☲ อยู่บน และ ☴ อยู่ล่าง จะเห็นว่า ไม้อยู่ใต้ไฟ ดังนั้นเหยานี้ ภาพค่อนข้างชัด ถ้าเป็นการกระทำก็คือการหุงต้ม ถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นภาชนะหุงต้ม เมื่อไปเปิดคัมภีร์อี้จิงก็จะได้คำอธิบายภาษาจีนโบราณว่า 鼎 แปลว่า หม้อสามขา ซึ่งเป็นหม้อที่ใช้ทำอาหารกินกันในสมัยก่อน หากถือเป็นเชิงสัญลักษณ์ของการทำอาหารก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่สามขาเสมอไป การที่ไม้อยู่ใต้ไฟหรือสาวคนเล็กตามสาวคนกลางก็อาจตีความได้มากกว่านี้อีก

อี้จิงจึงเป็นตำราในการเสี่ยงทายที่เริ่มต้นมาจาก 2 ขีด หยินหยาง และซ้อนทับกันเข้าจนกลายเป็นกว้าและเหยาเพื่อสะท้อนแนวคิดทางปรัญชาธรรมชาติของจีนโบราณสมัยดึกดำบรรพ ซึ่งบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับธรรมชาติของสิ่งตรงข้ามว่าทุกสรรพสิ่งย่อมมีของคู่เป็นทวิภาวะเสมอ มีหยินก็มีหยาง มีฟ้าก็มีดิน มีชายก็มีหญิง มีสว่างก็มีมืด มีบนก็มีล่าง เป็นต้น ทั้งสองสิ่งนี้เหมือนจะขัดแย้งกันแต่แท้จริงแล้วอยู่ร่วมกันอย่างขาดกันไม่ได้ เหมือนเหรียญที่มีหัวก็ต้องมีก้อย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็อาจหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน หรือเกิดสิ่งใหม่ขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็มาจากคำว่าอี้จิง 易經 โดย อี้ 易 แปลว่า เปลี่ยนแปลง หรือ ง่าย; จิง 經 แปลว่า คัมภีร์ จึงแปลตรงตัวได้ว่า คัมภร์แห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรูปลักษณ์ของคำว่า อี้ 易 ว่ากันว่ามาจากรูปลักษณ์ของกิ้งก่า และเพราะกิ้งก่าเปลี่ยนสีได้ จึงมีความหมายว่า เปลี่ยน และบางสำนักก็บอกว่ามาจากรูปลักษณ์ของพระอาทิตย์ 日 กับพระจันทร์ 月 ที่เอามาเขียนต่อกัน ซึ่งทั้งคู่ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งและผันเปลี่ยนเรื่อยไป ซึ่งทั้งหมดก็ชี้ความหมายไปที่การเปลี่ยนแปลง
ในอี้จิงมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 64 เหยา ทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดแน่นิ่ง ทุกสิ่งเป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงเสมอไป การเข้าใจถึงสิ่งนี้ได้ก็ย่อมเข้าใจธรรมชาติได้ เข้าใจธรรมชาติได้ก็ย่อมเข้าใจฟ้าดินได้ เข้าในฟ้าดินได้ก็ย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ เข้าใจสรรพสิ่งได้จึงย่อมทำนายการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นจึงทำให้อี้จิงถูกกล่าวถึงในฐานะของคัมภีร์เสี่ยงทายทำนายโชคชะตา ซึ่งการตีความก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของจีนในสมัยโบราณก่อน จึงจะเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงตีความและเขียนคำอธิบายออกมาเช่นนั้น และในคัมภีร์อี้จิงที่โจวเหวินหวางได้ใช้ความอัจฉริยะภาพของท่านอธิบายความไว้ก็มีคุณค่าทั้งทางปรัชญา คุณธรรม ประวัติศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมาย จึงควรค่าแก่การศึกษา สะสม และอนุรักษ์ไว้ แม้จะเป็นภาษาโบราณที่เข้าใจได้ยากมากในปัจจุบันก็ตาม(ก็ต้องตีความคำอธิบายกันอีกหลายตลบ)

ขีดของเหยาทั้ง 64 นั้นมีมานานมากแล้วก่อนจะมีคัมภีร์อี้จิงเสียอีก ทั้งยังมีการเขียนเหยาหลายแบบ เช่น ︿ แทนหยิน และ ⚊ แทนหยาง ก็มี หรือในยุคนี้เราจะเขียนเป็น 0 แทนหยิน และ 1 แทนหยาง โดยให้หลักใหญ่แทนเส้นล่างก็ได้ เพราะไม่ว่ายังไงการแปรเปลี่ยนของเหยาก็ยังคงเรียงลำดับเหมือนกันทั้ง 64 แบบ ที่เกิดจาก 2 กว้าซ้อนกันเป็นเบื้องต้น สมัยก่อนนั้นมีหลายสำนักที่ได้เขียนคัมภีร์อธิบายความอี้จิงในแบบของตนเองเอาไว้หลากหลายเล่ม แต่ได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว หลงเหลือเพียงอี้จิงโจวอี้เล่มเดียวเท่านั้นที่เป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่เก่าแก่ที่สุดที่มีในตอนนี้ ยุคนั้นเป็นช่วงปลายของยุคหินใหม่ นับว่าเก่าแก่มากทีเดียว น่าจะเริ่มมีการเอาทองแดงมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังถลุงโลหะไม่ได้ แล้วคัมภีร์ที่เขียนขึ้นก่อนยุคหินใหม่นั้นอีกเล่า ก็น่าจะแทบไม่หลงเหลือมาเท่าไหร่นัก จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าคัมภีร์ของสำนักอื่นๆนั้นได้ตั้งชื่อและตีความแต่ละเหยาว่าอย่างไรกันบ้าง แต่ที่แน่ๆ(น่าจะนะ)ว่ากว้าทั้ง 8 ยังคงความหมายเดียวกันที่ใช้ในการตีความ แต่ความหมายของกว้ายังมีมากกว่าแค่ระบบพ่อแม่ลูกหรือลักษณะธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักเท่านั้น ยังมีแทนทิศทั้งแปด, สัตว์, อวัยวะของร่างกาย, ฯลฯ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่าแทนได้ทุกสิ่งในธรรมชาติตามระดับความเป็นหยินหยางของมัน ตรงนี้ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเอาครับ

ก็ลองนำหลักการข้างต้นไปตีความเหยาของอี้จิงกันสนุกๆในแบบของตัวเองนะครับ แน่นอนว่าการมีแบบมาตราฐานไว้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรปิดกั้นการตีความในทัศนะอื่นๆด้วย ไม้อยู่ใต้ไฟ นอกจากการหุงต้มแล้วอาจเป็นอย่างอื่นได้อีกมั้ย? ก็ต้องลองไปขบคิดกันดูนะครับ ยิ่งมีแนวคิดที่หลากหลายก็ยิ่งดีไม่ใช่หรือ การแลกเปลี่ยนแนวคิดที่หลากหลายแบบบัณฑิตที่ยอมรับความคิดเห็นอาจเจอมุมที่อาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้ แต่ถ้าอยากเข้าใจความคิดดั้งเดิมของชาวจีนโบราณ ก็ต้องศึกษาสิ่งที่ชาวจีนโบราณเขาศึกษาด้วย บริบทแวดล้อมและวัฒธรรมจึงสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจความคิดของชนชาตินั้นๆหรือยุคสมัยนั้นๆ

นั่นละครับ การจะทำความเข้าใจอี้จิงนั้นไม่ง่าย(易)เหมือนชื่อเลย


07 กันยายน 2566

ซานไห่เจิ้น 山海鎮 - ยันต์น้ำภูเขา(มหามงคล) ยันต์ชั้นสูงของฮวงจุ้ย


ซานไห่เจิ้น 山海鎮 ยันต์นี้มีชื่อเรียกในภาษาไทยหลายแบบ เช่น ยันต์น้ำภูเขา, ยันต์คุ้มภูเขาทะเล, ยันต์ภูเขามหาสมุทร, ยันต์ภูผาสมุทร, ยันต์กระจกน้ำภูเขา(เนื่องจากบางแบบจะมีกระจกนูนติดมาแทนหยินหยาง จึงเพิ่มคำว่ากระจก หรือบางแบบวาดยันต์บนพื้นผิวกระจกเงาเลยก็มี), ฯลฯ คำว่า 山海鎮 อาจแปลตรงตัวได้ว่า ปราการภูเขาสมุทร ว่ากันว่าเป็นยันต์ชั้นสูงในทางฮวงจุ้ยช่วยปกป้องคุ้มครองจากพลังชั่วร้ายได้สารพัด เพียงนำไปแขวนไว้ตรงจุดที่ต้องการแก้เคล็ด ไม่ว่าจะเป็น ช่องลมพิฆาต, จั่วแหลม, มุมอาคาร, แสงสะท้อนพิฆาต, ถนนพุ่งตรงปะทะ, บ้านตรงข้ามติดตั้งยันต์กระจกเงาแปดเหลี่ยมปะทะ, ประตูบ้านตรงกับประตูบ้านของบ้านตรงข้าม, ช่องว่างระหว่างหลังห้องครัวกับบ้านข้างหลังใกล้กันเกินไป, บ้านอยู่ใกล้สุสาน; สถานที่ทางศาสนา; สถานที่ราชการ; เมรุ; ที่รกร้าง; บ้านร้าง; กองขยะ; ทางสามแพร่ง; สะพานยกระดับ; หม้อแปลงไฟที่เสาไฟฟ้า; เสาสัญญาณ, ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในบ้านเจ็บป่วย โชคร้าย ไม่ราบรื่น เกิดความเครียดในครอบครัว อยู่บ้านไม่สงบ นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ทั้งเสียสุขภาพกายและใจ ฯลฯ
เรียกว่าได้ทุกอย่างที่ผิดหลักฮวงจุ้ยประเภทที่เข้ามาปะทะ ใช้ยันต์ซานไห่เจิ้นเพื่อยับยั้งสิ่งชั่วร้ายได้ พลิกกลับหยินหยาง เปลี่ยนร้ายกลายดี ปรับสมดุลบ้าน นอกจากจะขจัดสิ่งชั่วร้ายแล้วยังนำมงคลมาสู่ตัวบ้านอีกด้วย ที่สำคัญยันต์ซานไห่เจิ้นนี้ไม่ทำร้ายเพื่อนบ้าน (แต่ถ้าเป็นยันต์กระจกเงาแปดเหลี่ยมแบบเรียบที่เห็นกันทั่วไป ใช้สะท้อนสิ่งปะทะและดูดมาสะกดไว้ในกระจก ต้องใช้อย่างระวัง ไม่ควรติดตั้งปะทะบ้านคนอื่น อาจทำให้บาดหมาดกันได้ บางสำนักบอกว่าไม่ควรติดตั้งเลยเพราะมันเอาไว้ถือใช้สำหรับส่องเข้าที่มืดขจัดสิ่งชั่วร้าย, กระจกนูนใช้สะท้อนและสลายสิ่งปะทะ ไม่ทำร้ายบ้านตรงข้าม, กระจกเว้าใช้บิดเบือนสิ่งปะทะ ไว้แก้ตึกสูงบดบัง) บางคนถึงกับบอกว่า ถ้าไม่รู้จะแก้ฮวงจุ้ยบ้านตรงไหนก็ให้ติดซานไห่เจิ้นไว้ก่อน (แต่ผมว่าทางที่ดีควรศึกษาก่อนจะดีกว่านะครับ จะได้ตรงจุด)

ต้นแบบยันต์ซานไห่เจิ้นมาจากคัมภีร์หลู่ปานจิง 魯班經 ซึ่งเป็นตำราฮวงจุ้ยโบราณหายากเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่ตรงตามหลักฮวงจุ้ยและการแก้เคล็ดต่างๆ(ในคัมภีร์เล่มนี้ยังพูดถึง ยันต์กระจกแปดเปลี่ยม, สิงห์คาบดาบ, ฯลฯ และอื่นๆอีกด้วย ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นการรวบรวมมากจากวิธีการโบราณอีกที) รูปแบบในการวาดซานไห่เจิ้นมักจะประกอบด้วยภูเขา 3 หรือ 5 ลูก และมีทะเลอยู่ข้างล่าง อาจจะมีหรือไม่มีเรือขนทองก็ได้(ส่วนใหญ่ไม่มี) โดยข้างบนจะมีพระอาทิตย์อยู่ขวากับพระจันทร์อยู่ซ้าย และหยินหยางหรือปากว้าอยู่ตรงกลาง(บางแบบใช้กระจกนูนแทนหยินหยาง) และคำอักขระยันต์ตามแต่ละสำนักจะเขียนลงไป ยันต์นี้สำหรับติดไว้หน้าบ้านมักจะมีคำว่า 我家如山海 對我正生財 (หรือ 他作我無妨) อยู่ด้วย ซึ่งแปลว่า "บ้านข้าพเจ้าเปรียบดั่งภูผาและมหาสมุทร ซึ่งนำความมั่งคั่งมาสู่ข้าพเจ้า (ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าไร้ภยันตราย)" โดยภูเขาแทนความมั่งคงสงบสุขของครอบครัว ซึ่งสิ่งชั่วร้ายไม่อาจข้ามเขาเข้ามาในตัวบ้านได้ มหาสมุทรแทนการพัดพาทรัพย์สินต่างๆเข้ามาเกยที่บ้าน และพระจัทร์พระอาทิตย์และหยินหยางขับไล่วิญญาณร้าย ทำให้วิญญานร้ายสับสนและต่อสู้กันเอง นี่คือความคาดหวังในการรับธรรมคุณแห่งยันต์ซานไห่เจิ้น ปัดเป่าความชั่วร้าย หนุนเสริมความมั่งคั่ง ถือเป็นเครื่องรางมหามงคล
  • ก่อนติดตั้งยันต์ที่บ้านแนะนำว่าควรบอกเจ้าที่เจ้าทางก่อน ด้วยการจุดธูป 5 ดอก หันหน้าเข้าหาบ้าน และกล่าวว่า "ข้าแต่เจ้าที่เจ้าทาง บ้านเลขที่......(ที่อยู่ของบ้านหลังนั้น) วันนี้วันดี ข้าพเจ้า......(ชื่อ-นามสกุล) ขออนุญาตติดตั้งยันต์ซานไห่เจิ้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัว ......(และขอพรตามใจปราถนา)" แล้วปักธูปลงในกระถางธูปที่เตรียมไว้
  • มักนิยมติดตั้งยันต์ไว้ภายนอก เหนือกรอบประตูทางเข้าของตัวบ้าน จริงๆสามารถติดตั้งที่ผนังของตัวบ้านด้านไหนก็ได้ที่โดนปะทะ คุ้มครองได้ 180 องศาจากด้านที่ติดตั้ง หรือจะวางไว้หลังกระจกใสเหนือประตูหรือหน้าต่างก็ได้ ส่องผ่านเหล็กดัดออกไปก็ได้ไม่เป็นปัญหา โดยให้ติดตั้งอย่างมั่นคง หันรูปออกข้างนอก
  • หากอยู่คอนโดหรือห้องพัก ไม่สะดวกติดตั้งไว้นอกห้อง ให้ติดตั้งไว้ภายใน โดยวางไว้บนตู้สูง หันรูปไปทางนอกห้อง
  • ควรเลือกขนาดยันต์ให้เหมาะกับขนาดบ้านหรือเหมาะกับปริมาณของสิ่งที่ปะทะ บ้านพักอาศัยมักใช้ขนาดเล็ก(5"); บ้านขนาดกลางขึ้นไป, ร้านค้า, สำนักงาน, ร้านอาหาร มักใช้ขนาดกลาง(7")ถึงขนาดใหญ่(12")ขึ้นไป ขนาดยิ่งใหญ่ประสิทธิภาพยิ่งมาก
  • ควรติดตั้งในวันธงไชยและเลือกเวลาฤกษ์ยามมงคล(ดูได้จากปฏิทินจีน) นิยมติดตั้งช่วงกลางวันก่อนบ่ายโมง บางสำนักบอกว่าเวลาดีที่สุดคือเที่ยงวัน
  • ปกติประตูบ้านควรเป็นแบบเปิดเข้า(ดี) เพื่อดึงพลังชี่เข้ามาภายในตัวบ้าน แต่ถ้าประตูบ้านเป็นแบบบานเลื่อนจะไม่ช่วยดึงชี่เข้าบ้าน(กลางๆ ไม่ดีไม่ร้าย ไม่ช่วยอะไร) หรือแบบเปิดออกจะผลักชี่ออกไปจากบ้าน(ไม่ดี) ทำให้ไม่ได้รับพลังชี่ที่ควรจะได้(พลังชี่มากักรออยู่หน้าประตูทั้งคืน พอตื่นเช้าประตูเปิดออก ก็ผลักชี่ไปหมด) การติดตั้งซานไห่เจิ้นไว้เหนือกรอบประตูจะช่วยกระตุ้นชี่ให้เข้ามาไหลเวียนภายในบ้านได้ดีขึ้น บางแหล่งจึงบอกว่าใช้แก้เคล็ดประตูบ้านแบบเปิดออกและแบบบานเลื่อนได้
  • บางแหล่งบอกว่าสามารถติดตั้งภายในเพื่อแก้เคล็ดในบ้านได้ด้วย เช่น ประตูตรงกัน, ประตูตรงเตา, ฯลฯ ให้ติดตั้งซานไห่เจิ้นอันเล็กๆไว้เหนือกรอบประตู แต่บางแหล่งบอกว่าควรใช้ภายนอกเท่านั้น (การแก้ประตูตรงกันนิยมใช้น้ำเต้าเล็กติดเหนือกรอบประตูมากกว่า)
  • เนื่องจากพลังของธรรมชาติมีไม่สิ้นสุด ทำให้บางสำนักเชื่อว่าของแก้เคล็ดต่างๆควรเปลี่ยนทุกๆ 1-3 ปี เพื่อคงประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ ดังนั้น ถ้าแก้ที่ต้นเหตุได้จึงดีกว่าแก้เคล็ด แต่สำนักส่วนใหญ่บอกว่าซานไห่เจิ้นมีฤทธิ์ถาวร แม้ซีดจางก็ใช้ต่อได้ ไม่มีเสื่อม ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ เว้นแต่แผ่นยันต์จะฉีกขาดแตกหัก
  • บางสำนักบอกว่า หากหายันต์ซานไห่เจิ้นไม่ได้ แค่เขียน 山海鎮 สามอักขระนี้ลงบนกระดาษสีแดง และติดตั้งไว้ในวันมงคล ก็ใช้ได้เช่นกัน
  • แต่เชื่อกันว่ายันต์ซานไห่เจิ้นต้องผ่านพิธีปลุกเสกและเจิมชาดจูซา(珠砂)ก่อนจึงจะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น (ชาด มีสีแดงสด เชื่อกันว่าเป็นแร่ที่กักเก็บพลังของฟ้าดินและตะวันจันทราไว้ ใช้ขจัดภูติผีวิญญาณร้าย เป็นหนึ่งในสมุนไพรจีนชั้นสูงใช้ระงับประสาท)
ฮวงจุ้ยที่ดีจะช่วยเกื้อหนุนผู้อาศัยได้อย่างแน่นอน เสมือนมีชัยภูมิดีในการรบย่อมได้ประโยชน์ แต่จะรบได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความอุตสาหะของแม่ทัพหรือเจ้าบ้านเอง

แรกเห็นภาพซานไห่เจิ้นบอกเลยว่ารู้สึกชอบมากๆ เป็นการออกแบบที่สวยงาม ยิ่งพอได้อ่านเรื่องราวของมันก็ยิ่งชอบ มีความหมาย น่าอนุรักษ์เอาไว้อย่างมาก แม้คนที่ไม่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ยถ้าได้เห็นก็น่าจะชอบและอาจอยากจะมีไว้ประดับบ้านแน่ๆเลย
เรื่องราวของยันต์ซานไห่จิงนี้ยังมีข้อมูลน้อยมากในภาษาไทย ผมก็เลยหยิบยกมานำเสนอพอสังเขปสำหรับผู้ที่สนใจได้อ่านประดับความรู้กันสนุกๆ ก็ต้องยอมรับเลยว่า ศาสตร์ทางนี้ลึกลับและซับซ้อนมาก หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

ภูเขาบริหารคน, น้ำบริหารทรัพย์;
ถ้าคนและทรัพย์เจริญรุ่งเรือง, ยศฐาบรรดาศักดิ์ย่อมมาเอง.
-สุภาษิตจีน
山管人丁,水管財;
丁財兩旺,貴自來。
俗話

ภาพ 山海鎮 จากคัมภีร์ 魯班經

山海鎮 แบบมีกระจกนูน
มักเรียกในภาษาไทยว่า ยันต์กระจกน้ำภูเขา

สำหรับผู้ที่สนใจ ยันต์ซานไห่เจิ้น มีจำหน่ายใน Shopee ด้วยครับ https://shope.ee/3VHtv403Vl

หากท่านได้ประโยชน์และต้องการตอบแทนความรู้นี้ ก็ขอให้ท่านนำเงินหรือของบริจาคไปบริจาคที่ไหนก็ได้ตามแต่ท่านศัทธา ขออนุโมทนาสาธุไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ขอให้ท่านและครอบครัวพบกับสิ่งดีๆครับ

แถม
บทความร่วมฮู้ยันต์อื่นๆที่น่าสนใจอ่านได้ที่ ฮู้ ยันต์จีน - อักขระปัดเป่าเภทภัย เสริมดวงชะตา

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม