Sponsor

09 กุมภาพันธ์ 2556

Basic Bending & Overblow Harmonica - พื้นฐานการเบนดิ้งและโอเวอร์โบล์วฮาร์โมนิก้า

สวัสดีครับเพื่อนๆชาวฮาร์โมนิก้า ช่วงที่ผ่านมามีเพื่อนๆถามถึงการเล่น Bending กับการเล่น Overblow กันมามาก
ซึ่งก็บอกยากอยู่พอสมควรครับว่าจะเล่นยังไงเป็นเรื่องที่ทำได้แต่อธิบายยาก เพราะมันมองไม่เห็น จะพิมพ์บอกหรือนัดเจอกันก็ยังบอกยากพอๆกันเลยครับ ฮา

แต่เนื่องจากเพื่อนๆถามถึงกันมาก ผมก็จะพยายามแนะนำเท่าที่จะแนะนำได้นะครับ(สู้เว้ยครับ!)

ฮาร์โมนิก้าที่ใช้ในการเล่นคือ Diatonic 10 ช่อง
จะต้องเป็นรุ่นมาตราฐานขึ้นไปนะครับ อย่างเช่นพวก Hohner Marine Band, Hohner Special 20, Hohner Crossover, Suzuki Promaster, Suzuki Manji, ฯลฯ , เป็นต้น ราคาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ประมาณหลัก 1,000 บาท+ ครับ แต่นักเล่นมืออาชีพส่วนใหญ่มักนำไปปรับแต่งอีกทีโดยช่างมืออาชีพเพื่อดึงประสิทธิภาพให้ทำเทคนิคได้ง่ายกว่าเดิม
ฮาร์โมนิก้ารุ่นเริ่มต้นบางรุ่นก็พอเอามาเล่น Bending ได้ครับ แต่ถ้าจะเล่น Overblow นี่ยากมากครับ เป่าจนหน้าเขียวครับกว่าจะออก แล้วมักจะไม่ออกตามต้องการอีก(ส่วนใหญ่ไม่ออกเลย) ลิ้นเสียงไม่เหมาะครับ การฝึก Overblow ควรใช้รุ่นมืออาชีพเป็นหลัก

ฮาร์โมนิก้าที่ใช้จึงสำคัญมากครับ เริ่มต้นฝึกไปด้วยกัน แนะนำเป็นคีย์ C นะครับ
และก่อนจะฝึกเราจะต้องเล่นแบบ Single Note หรือเล่นโน้ตเดี่ยวให้คล่องซะก่อนครับ(ถ้ายังไม่คล่องต้องฝึกไล่เสกลให้คล่องก่อนครับ Harmonica for Beginer - วิธีเล่น ฮาร์โมนิก้า สำหรับผู้เริ่มต้น )

C=โด, D=เร, E=มี, F=ฟา, G=โซ, A=ลา, B=ที


ถ้าได้แล้วงั้นเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

====================

Bending

การ Bending หรือ เบนดิ้ง เป็นเทคนิคที่ทำให้เล่นโน้ตนอกเหนือจากที่มีได้ครับ ด้วยเทคนิคที่ทำให้เสียงในช่องนั้นๆ ต่ำลง

มาลองดูโน้ตกันก่อน

C=โด, D=เร, E=มี, F=ฟา, G=โซ, A=ลา, B=ที
b = อ่านว่าเฟล็ต ต่ำลงครึ่งเสียง
# = อ่านว่า ชาร์ป สูงขึ้นครึ่งเสียง


เบื้องต้นให้ฝึกเบนดิ้งช่องที่ 4 กันก่อนครับ ด้วยการดูดโน้ต D ให้ต่ำลงครึ่งเสียงเป็นโน้ต Db (หรืออีกชื่อนึงคือ C# เป็นเสียงเดียวกัน) เป็นโน้ตที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างโดและเร Db  D

วิธีการก็คือ

ลองโดยไม่ใช้ Harp ก่อนด้วยการดูดลมเข้าค้างไว้ "ซู้ด" แล้วให้เสียงซู้ดต่ำลงแบบต่อเนื่องเลยครับ "ซู้ด สูด" เหมือนพูด "อี อยู่" ครับ แต่เป็นการดูดลมเข้า สังเกตุว่าพอเสียงต่ำ(พูดว่า 'อยู่') ขากรรไกรจะกดต่ำลง แบบนั้นแหละครับ

แล้วทีนี้ก็ลองกับฮาร์ปครับ ดูดช่องที่ 4 จาก D ให้เป็น Db ลองดูครับ พยายามดึงเสียงให้ต่ำลง "ซู้ด สูด"

ไม่ต้องแรงมากนะครับ ใช่ลมพอดีพอดีนะครับ

แรกๆฝึกเบนดิ้งมันก็ไม่ง่ายครับ ผมเองฝึกตั้งเดือนเต็มๆ(แต่ก็มีบางคนที่จับหลักได้ทำได้แต่ครั้งแรกเลยก็มี ฮา) ก็ต้องฝึกกันครับ ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เองครับ แล้วหลังจากนั้นค่อยฝึกให้โน้ตเบนดิ้งเสียงนิ่งๆกันต่อไป

ลำดับการฝึกดูดช่อง 4, 1, 2, 3, 6

ยากที่สุดคือช่องที่ 3 เพราะเบนได้หลายโน้ตมาก ต้องฝึกฟังและคุมให้อยู่นะครับว่าโน้ตอะไร เบนครึ่งเสียง เบนหนึ่งเสียง เบนหนึ่งเสียงครึ่ง ลงไปได้ลึกมากๆเลยครับ

และต่อไปก็ฝึกเบนดิ้งด้วยการเป่าช่อง 10, 8, 9
ถ้าเบนดิ้งด้วยการดูดได้แล้วการเป่าก็ง่ายขึ้นหน่อย เพราะเราพอจับหลักได้บ้าง เปลี่ยนจากดูดเป็นเป่าก็กลับกันนิดนึงคือให้เสียงเป่าเป็น "ซู้ด สูด" เหมือนกัน แต่เวลาเป่าให้ดันโคนลิ้นขึ้น(ดันโคนลิ้นขึ้นให้เสียงต่ำลง)

ฟังเสียงได้จากลิ้งค์นี้เลยครับ
http://www.harmonicaclub.com/common/note_bending_for_harmonica.htm

การเบนดิ้งนั้นสำคัญ โดยเฉพาะช่องที่ 2, 3, และ 10 ควรทำให้ได้ เพื่อให้หลักโน้ตที่หายไปกลับคืนมาครับ
ลองฝึกกันดูนะครับ สู้ๆ

====================

Overblow

เมื่อผ่านด่านเบนดิ้งมาได้ก็มาถึงการ Overblow หรือ โอเว่อร์โบล์ว เป็นเทคนิคกลับกันจากเบนดิ้งที่ทำให้เสียงต่ำลง แต่โอเวอร์โบล์วเป็นการทำให้เสียงสูงขึ้น!
จะเห็นว่าเมื่อเราเล่นเบนดิ้งได้แล้ว ก็แทบจะทำให้ฮาร์ป 10 ช่อง เป็นโครมาติกได้แล้ว ยังขาดอยู่บางโน้ตเท่านั้นเอง เช่น โน้ต Eb เป็นต้น ที่ไม่สามารถเล่นได้จากการเบนดิ้ง ก็ต้องใช้เทคนิคโอเวอร์โบล์วครับ

*หมายเหตุ จริงๆที่ถูกต้องควรเรียกเทคนิคนี้ว่า Overbend เพราะเป็นการเบนให้เสียงสูงขึ้น แต่เรามักติดปากว่า Overblow เพราะมักใช้กับโน้ตเป่า แต่ก็มีใช้กับโน้ตดูดด้วยซึ่งจะเรียกว่า Overdraw เอาเป็นว่าเราเรียกว่า Overblow แทนทั้งหมดไปเลยก็ล่ะกันนะครับ

มาเริ่มกันเลย

วิธี Overblow แบบที่ผมทำได้ก็คือ ให้เป่าช่องที่ 4 ก็จะเป็นโน้ต C เป่าแช่ไว้เลยครับ แล้วลองปรับเปลี่ยนลม ปรับเปลี่ยนช่องภายในปาก ยกปลายลิ้นขึ้น เพื่อบีบทางลมให้แคบ(ทางลมภายในปาก) หรือ ดูดเบนดิ้งก่อนแล้วให้ค้างโครงสร้างในปากเอาไว้แล้วเปลี่ยนมาเป็นเป่าแทน
ผลที่ได้ก็คือเสียงโน้ตโดที่ชัดๆ จะอู้อี้ครับ

ทำยังไงก็ได้ให้โน้ตที่เป่าเสียงอู้อี้ แล้วก็เป่าแช่ไปแบบนั้นแหละครับ พอมันพ้นจุดที่เสียงอู้อี้ไปแล้ว มันจะดัง แปร้น! แสดงว่ามาได้ครึ่งทางแล้วครับ ไอ้เสียงแปร้นนั้นเป็นเสียง Overblow ที่คุณภาพเสียงยังแย่อยู่ครับ ให้ฝึกให้ได้ลมที่นิ่งจับหลักให้ได้

ช่องที่ 4 โน้ต C เสียงก็จะสูงขึ้นกลายเป็น Eb
C=โด, D=เร, E=มี, F=ฟา, G=โซ, A=ลา, B=ที
b = อ่านว่าเฟล็ต ต่ำลงครึ่งเสียง
# = อ่านว่า ชาร์ป สูงขึ้นครึ่งเสียง


ลำดับการฝึกช่องเป่า 4, 6, 1, 5
ลำดับการฝึกช่องดูด 7, 9, 10, 8


ต้องฝึกคุมให้เสียงโน้ตชัดและนิ่ง ทีนี้เราก็สามารถเล่นโน้ตที่หายไปได้ครบแล้ว แถมยังจะเล่นโน้ตสูงได้มากกว่าที่ฮาร์ปมีให้ตั้งแต่แรกซะอีก

====================

เมื่อเราสามารถฝึกเบนดิ้งและโอเวอร์โบลได้จนคล่องแล้ว Diatonic Harmonica ก็สามารถเล่นโน้ตชาร์ป,เฟล็ต(#,b) ได้ไม่ต่างจาก Chromatic Harmonica แล้วล่ะครับ

แบบฝึกสุดท้ายฝึกไล่เสียงโครมาติกครับใช้เทคนิคเบนดิ้งผสมโอเวอร์โบล์ว ไล่ที่ละครึ่งเสียงจากโน้ตโด-โด้ ครับ (ช่องไหนเป่ายังไง เบนหรือโอเวอร์ได้โน้ตอะไรต้องจำให้ได้แล้วนะครับ)

C | Db | D | Eb | E | F | F# | G | Ab | A | Bb | B | C

การ Bending หรือ Overblow ให้คล่องได้นั้นอยู่ที่การฝึกฝนครับ ฝึกให้คล่องให้โน้ตนิ่งๆ แต่อันที่จริงน้ำเสียงจะออกมาไม่เหมือนเป่าจากช่องนั้นซะทีเดียว อาจมีสำเนียงเอื้อนหน่อย กระด้างๆ หรืออื้อๆไม่ชัดสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดาของการทำเทคนิคเหล่านี้อยู่แล้ว ขอแค่ให้ความถี่ของโน้ตได้ตามต้องการก็พอ

ในทางปฏิบัติ สำหรับการเล่น Overblow เพื่อให้ Diatonic คีย์เดียวเล่นได้ทุกคีย์นั้นไม่นิยมทำกันครับ มี แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนคีย์ฮาร์ปให้เหมาะสมกับโน้ตที่ใช้มากกว่า(นั่นคือเหตุผลที่ Diatonic harmonica มีหลายคีย์) แต่ถ้าต้องเจอโน้ตนอกคีย์บ่อยๆ ถ้าไม่ถือ Diatonic 2 อันพร้อมกัน(คีย์ C กับ Db) ส่วนใหญ่ก็จะใช้ Chromatic harmonica ไปเลยมากกว่าครับ
ขอย้ำไว้ตรงนี้ว่าการฝึกโอเวอร์โบล์วนั้นขึ้นอยู่กับตัวฮาร์ปเป็นหลัก บางทีการที่ทำไม่ได้ หรือทำแล้วเสียงแย่ อาจไม่ใช่เพราะคุณทำไม่ได้ แต่อาจเป็นเพราะฮาร์ปไม่เหมาะสม และมืออาชีพส่วนใหญ่ที่ใช้เทคนิคโอเวอร์โบว์ลก็มักจะนำฮาร์ปไปปรับแต่งกับช่างมืออาชีพก่อนเพื่อดึงประสิทธิภาพให้โอเวอร์โบว์ลได้ง่ายกว่าเดิม ดังนั้นถ้าเราใช้ฮาร์ปเดิมๆแบบแกะกล่อง ก็อาจจะไม่ง่าย แต่ก็พอทำได้อยู่ครับถ้าฝึกจนคล่องและได้ใช้บ่อยๆ ยังไงก็อย่าโทษตัวเองถ้ายังทำไม่ได้ ใจดีกับตัวเองเข้าไว้นะครับ มันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวคุณเป็นหลักนะ ผมขอให้กำลังใจครับ (มีวิธีเลี่ยงการใช้เทคนิคเหล่านี้อยู่ ดูที่ส่วนแถมท้ายบทความ)


====================

ก็ต้องพยายามฝึกไปเรื่อยๆครับเพื่อนๆ ฝึกให้รู้ไว้ ให้พอทำได้ ไม่ต้องรีบไม่ต้องเร่งครับ ว่างจากการเล่นฮาร์ปก็ค่อยฝึกเบนฝึกโอเวอร์โบล์ว พอฝึกเบื่อก็พักครับ แล้วค่อยฝึกต่อ เรื่อยๆชิวๆเดี๋ยวก็ได้เองครับ

ผมก็พยายามถ่ายทอดออกมาให้เพื่อนๆที่หัดเล่นฮาร์ปเป็นอีกแนวทางหนึ่งนะครับเท่าที่ผมจะอธิบายได้ มีอะไรไม่เข้าใจสงสัยก็ถามกันมาได้ครับ หรือพบกันที่ Facebook Harmonica Club Thailand-คลับคนรักฮาร์โมนิก้า

รวมตาราง Bending & Overblow
นี่คือเทคนิคโน้ตทั้งหมดที่มืออาชีพทำได้

หากได้ประโยชน์จากบทความนี้
แล้วอยากจะเลี้ยงน้ำชา ข้าวผัด หรือมอบสินน้ำใจเป็นค่าครู
สามารถสนับสนุนได้ที่

ธนาคารกรุงไทย
9090619704
กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจนะครับ
ขอบคุณครับ🙏😇

แถม
ในการเล่นโน้ตเบนดิ้งและโอเวอร์โบว์ลนั้น บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องเล่นก็ได้ บางทีอาจใช้โน้ตอื่นที่ไม่ต้องเบนดิ้งหรือโอเวอร์โบว์ลเล่นแทนไปเลย เราจะเรียกโน้ตนั้นว่า โน้ตแทน ซึ่งโน้ตแทนนั้นโดยพื้นฐานก็คือการเปลี่ยนไปใช้โน้ตอะไรก็ได้ที่เราคิดว่าฟังแล้วเข้า ก็ใช้โน้ตนั้นเล่นแทนไปเลย หรือถ้าต้องการให้แม่นยำยิ่งขึ้นก็ต้องศึกษาทฤษฎีดนตรีเรื่องโน้ตที่เป็นเสียงฮาร์โมนิกของโน้ตนั้น หรือโน้ตในคอร์ดของท่อนนั้นเพื่อหาโน้ตแทนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้โน้ตแทนจะสะดวกและง่ายกว่าการเล่นเทคนิคอย่างมาก แม้เสียงจะไม่ตรงต้นฉบับ แต่ก็ใช้ได้

การอ่าน/เขียน TAB ของการเบนดิ้งใช้สัญลักษณ์ขีดบน [ ' ] ปกติ TAB จะเขียนเป็น -3 คือดูดช่องที่ 3 (จะได้โน้ต B) แต่ถ้าเขียนว่า -3' คือดูดช่องที่ 3 พร้อมเบนดิ้งครึ่งเสียง(จะได้โน้ต Bb) ถ้า -3'' คือดูดช่องที่ 3 พร้อมเบนดิ้งหนึ่งเสียง(ครึ่ง+ครึ่ง=หนึ่ง)(จะได้โน้ต A) ถ้า -3''' คือดูช่องที่ 3 พร้อมเบนดิ้งหนึ่งเสียงครึ่ง(จะได้โน้ต Ab) การเขียน TAB ของเบนดิ้งจะใช้ขีดบนหนึ่งขีดสำหรับการเบนดิ้งลงมาทีละครึ่งเสียงนั่นเอง ซึ่งจะเบนดิ้งแล้วได้โน้ตอะไรก็ต้องไปเทียบตามทฤษฎีดนตรี
ส่วนการอ่าน/เขียน TAB สำหรับโอเว่อร์เบนด์นั้นผมไม่เคยเห็น จึงไม่แน่ใจว่าใช้สัญลักษณ์อะไรในการเขียน TAB แต่ถ้าให้ผมคิดขึ้นเอง ผมจะใช้ตัวโอพิมพ์เล็ก [ o ] เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นโอเว่อร์เบนด์ เช่น 4o คือเป่าโอเวอร์เบนด์ช่องที่ 4 (จะได้โน้ต Eb) เป็นต้น
การใช้โน้ตนอกเหนือจากคีย์หลักจะเริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอ่าน/เขียนเป็นชื่อโน้ตได้โดยตรงจะสะดวกกว่าและไม่สับสนครับ

ฮาร์ปบางรุ่นจะมี Valved bend (วาล์วด์เบนด์) หรือ Half-valved (ฮาล์ฟ-วาล์วด์) คือ ระบบวาล์วลมที่ทำให้สามารถเบนด์เสียงแบบที่ฮาร์ปปกติทำไม่ได้ เช่น เป่าเบนด์ช่องที่ 4 จาก C เป็น B, เป่าเบนด์ช่องที่ 5 จาก E เป็น Eb เป็นต้น
Suzuki Promaster Valved
คือทุกช่องที่ฮาร์ปปกติเบนด์ให้เสียงต่ำลงไม่ได้ ฮาร์ปที่มีระบบ Valved bend จะทำได้ ทำให้เอื้อนเสียงได้หลากหลายกว่า และเล่นโน๊ต Chromatic ที่มี #,b ได้ครบโดยไม่ต้องฝึก Overblow (เพราะฮาร์ประบบ Valved bend จะ Overblow ไม่ได้) แต่การ Valved bend ก็ต้องทำความคุ้นเคยกันใหม่ด้วย จะไม่เหมือนกับฮาร์ปปกติ
Valve บน Reed plate
ฮาร์ประบบนี้เป็นรุ่นพิเศษจะมีขายเป็นรุ่นๆไป เช่น Suzuki Promaster Valved, Seydel 1847 Silver half-valved, Harmo Polar Half valved, ฯลฯ, เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่นักฮาร์ปมักจะปรับแต่งฮาร์ปปกติให้เป็น Valved เอง

https://harp.andrewzajac.ca/ChromaticOnDiatonic
โน้ตในแถบสีน้ำตาลคือ Valved bend แต่ในรูปแสดงโน๊ตไม่ครบ จุดที่ไม่แสดงก็สามารถวาล์วเบนด์ให้ต่ำลงได้ครึ่งเสียงเช่นกัน

02 กุมภาพันธ์ 2556

My first Closed Terrarium - มาทำสวนขวดแบบปิดกันเถอะ




  

My first Closed Terrarium
"Watercress Pocket"
:3

"วอเตอร์เครสพ๊อกเก็ต" ผักกินได้ในสวนขวดปิด พกพาเป็นอาหารสำรองงอกได้

ครั้งนี้มาดูวิธีการทำสวนขวดแบบปิดที่ผมได้ลองทำดูนะครับ
ในการทำสวนขวดแบบปิดทุกอย่างต้องสะอาดพอสมควรครับ ขวดแก้วก็ต้องล้างหรือต้มให้สะอาด หินก็ต้ม ถ่านไม้และอื่นๆก็ตากแดดฆ่าเชื้อ(ต้นไม้ไม่ต้องนะครับ ฮา) เพราะถ้าไม่สะอาดพืชอาจจะเป็นโรคได้ครับ

วิธีทำก็ง่ายๆครับจะแบ่งดินเป็นชั้นๆครับจากล่างขึ้นบนคือ
  • หินกรวด เป็นชั้นเก็บน้ำใต้ดิน
  • ถ่านไม้ชิ้นเล็กๆ โรยๆไว้ดูดกลิ่นที่อาจเกิดขึ้น
  • ชั้นเก็บความชื้น ในที่นี้ใช้ข้าวตอกฤๅษีแห้ง จริงๆเป็นพวกขี้เลื่อยก็ได้ครับ
  • ดินปลูก
  • ลงต้นไม้ที่ต้องการปลูกพร้อมราก ควรเป็นพืชที่ชอบความชื้นนะครับ
ใครที่กลัวว่าแต่ละชั้นจะลงมาปนกันก็ให้เอาผ้าขาวบางรองไว้ในแต่ละชั้นก็ได้ครับเมื่อแบ่งชั้นทุกอย่างเสร็จและลงต้นไม้แล้ว ทีนี้ก็ใช้หลอดจุ่มน้ำมาหยอดๆ แล้วดูที่ชั้นหิน ให้น้ำเต็มประมาณในระดับชั้นหินเป็นใช้ได้แล้วครับ ทีนี้ก็ปิดฝาได้เลย

ที่ต้องทำหลังจากนี้ในสัปดาห์แรกก็ต้องคอยดูกันหน่อยครับ ถ้าดินแฉะไปก็เปิดฝาลดความชื้นหน่อย ถ้าดินยังแห้งไปก็เพิ่มน้ำครับ เมื่อทุกอย่างสมดุลก็ไม่ต้องลดน้ำได้อีกเป็นเดือน เป็นปี หรือไม่ก็อีกหลายสิบๆปีเลยล่ะครับ แต่ถ้าวันนึงความชื้นรั่วไหลแล้วน้ำในชั้นหินแห้งไปแสดงว่าถึงเวลาต้องเติมน้ำแล้วนะครับ

หากทำให้ปริมาณน้ำและความชื้นภายในขวดพอดีพอดี มันจะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลขึ้น มีทั้งการระเหย กลั่นตัว และหยดลงสู่ดิน(ฝนในขวด)
ต้นไม้จะเติบโตได้โดยไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องพรวนดิน และไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลยเป็นดีที่สุดครับ :3
แค่วางไว้ที่มีความสว่างจากแสงอาทิตย์แต่อย่าให้แสงส่องตรงๆนานเกินไปก็พอแล้ว

เมื่อต้องการตัดมากินก็ค่อยเปิด ที่นี้ก็มีผักปลอดสารพิษที่ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมากมายไว้กินเอง และเป็นแหล่งอาหารสำรองที่ยอดเยี่ยมและยั่งยืน ตอนนี้ NASA ก็กำลังทดลองเพื่อเอาไปใช้เป็นแหล่งอาหารในยานอวกาศด้วยล่ะ



ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสวนขวด  http://terrariumthailand.blogspot.com/