Sponsor

31 มกราคม 2566

Cigar box guitar - กีต้าร์กล่องซิก้าร์

https://www.flickr.com/photos/dhilowitz/27394152624/in/photostream/

Cigar box guitar - ซิก้าร์บ๊อซกีต้าร์ หรือ กีต้าร์กล่องซิก้าร์ หรือจะเรียกสั้นๆว่า กีต้าร์กล่อง หรือ กีต้าร์บ๊อซ ก็ได้ เป็นกีต้าร์ชนิดหนึ่งที่มักจะทำขึ้นเองจากกล่องซิก้าร์(หรือกล่องไม้หรือกระป๋องอะไรก็ได้) เอาไว้สำหรับเล่นตีคอร์ดร้องเพลงแบบชิวๆ โดยมาตราฐานจะมี 3 สาย อยู่ในหมวดเครื่องดนตรีนอกสารบบเหมือนกับเบสกะละมังอะไรทำนองนั้น คือเป็นเครื่องดนตรีประเภททำกันเองในบ้าน แต่เล่นได้จริง แต่อันนี้ต้องใช้อุปกรณ์ช่างและฝีมือทางช่างสูงอยู่พอสมควร และมันยุ่งยากก็ตรงการใส่เฟร็ต(Fret หรือเหล็กกั้นช่อง)นี่แหละ ที่ต้องวัดระยะกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ต้องมีความรู้ทางดนตรีพอสมควรด้วย แต่จะทำแบบไม่ใส่เฟร็ตก็มี ก็เป็นแบบ Fretless คือไร้เฟร็ต แบบนี้ก็จะทำง่ายขึ้น เวลาเล่นก็ใช้นิ้วกดลงไปตรงตำแหน่งเฟร็ตแทน แต่ Fretless จะได้เสียงสั้นๆตุ่ยๆไม่กังวาล ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นแบบ Fretless มักใช้อุปกรณ์เสริมคือ แท่งสไลด์ Slide guitar tube เดี๋ยวจะพูดถึงเรื่องนี้อีกทีในส่วนแถมท้ายบทความ
กีต้าร์กล่อง เครื่องดนตรีนอกสารบบนี้ไม่มีขนาดที่แน่นอน สายที่ใช้ก็แล้วแต่ บางคนใช้สายอูคูเลเล่ บ้างก็ใช้สายไวโอลิน บ้างก็ใช้สายกีต้าร์ บ้างก็ใช้เอ็นตกปลา บ้างก็ใช้สายลวดเบรกจักรยาน ฯลฯ แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของ หาอะไรได้ก็ใส่อันนั้น


ที่ว่ามันเล่นง่าย คือมันเล่นง่ายมากจริงๆ ด้วยการตั้งเสียงมาตราฐาน Open G แบบ 3 สาย จากสายเสียงต่ำไปเสียงสูง คือ G-D-G' (G3 D4 G4)เวลาเล่นคอร์ด G ก็ไม่ต้องจับอะไร เปิดสายเปล่า แล้วดีดทั้งหมด ก็ได้คอร์ด G แล้ว และรูปแบบคอร์ดนี้โดยพื้นฐานคือไม่ว่าจะเป็น G, G7, GM7, Gm, Gsus ฯลฯ ก็ใช้คอร์ด G สายเปล่านี้แทนได้หมด(อันนี้คือโดยพื้นฐานนะครับ ถ้าอยากได้เสียงคอร์ดที่ซับซ้อนขึ้น ก็ต้องศึกษาทฤษฎีดนตรีว่าควรเติม/ตัดโน้ตอะไรอย่างไร) เพราะ 3 โน้ตในสายเปล่านั้นเป็น Power chord (คู่ 5)โดยตัวมันเองอยู่แล้ว ทำให้ใช้เล่นได้ทั้งคอร์ดตระกูล Major และ minor โดยไม่ต้องเปลี่ยนฟอร์มอะไรเลย(ยกเว้นตระกูล dim ที่ต้องเปลี่ยนฟอร์มนิดหน่อย) และใช่ครับ คอร์ดอื่นๆก็เหมือนกัน ถ้าจะจับคอร์ด C ไม่ว่า C อะไรก็ตาม ทาบนิ้วชี้ช่องที่ 5 ทาบไปเลยทุกสายก็เรียบร้อย และแน่นอนว่า ถ้าคอร์ด D ก็แค่ทาบช่องที่ 7 และคอร์ดอื่นๆก็แค่ทาบให้ถูกช่อง ก็เป็นอันเรียบร้อย แค่นิ้วเดียวทาบลงไป เล่นได้ทุกคอร์ดทุกเพลง!

มาดูตารางคอร์ดพื้นฐานกันครับ (Cigar box guitar basic chords)
Cigar Box Guitar 3-String, Opne G Tuning Chords Tuned G-D-G'

คอร์ดพื้นฐานคือแค่นี้เลยจริงๆ ทาบด้วยนิ้วเดียว แล้วเปลี่ยนช่องเอาก็ได้คอร์ดครบทุกคอร์ด แต่บางคนอาจสงสัยว่าแล้วคอร์ด G# เล่นช่องไหน ไม่มีในตาราง คือ G# เป็นอีกชื่อหนึ่งของ Ab ครับ ถ้าเจอ G# ก็ให้เล่น Ab ได้เลย คือพวก #,b เป็นพวกครึ่งเสียง(หรือกึ่งกลาง) ซึ่งการใช้ # หรือ b จะอิงตามหลักทฤษฎีดนตรีเกี่ยวกับคีย์ โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ชื่อตามในตาราง แต่ถ้าเจอชื่ออื่นๆ เช่น C# ก็ให้เล่น Db (คือ อยู่กึ่งกลางระหว่าง C และ D นั่นเอง) เป็นต้น (และแน่นอน F# = Gb) ที่เหลือก็ทำการทดชื่อคอร์ดเอาเองตามนี้ได้เลยครับ ส่วนช่อง 12 ก็กลับมาครบรอบเป็นคอร์ด G อีกครั้ง และช่องสูงกว่านั้น เช่น ช่องที่ 13 ได้คอร์ดเหมือนช่องที่ 1, ช่องที่ 14 ได้คอร์ดเหมือนช่องที่ 2, ฯลฯ เรื่อยไปเป็นวงรอบเดิม

โน้ตบนคอร์ดกีต้าร์กล่อง (Cigar box guitar note chart)

เริ่มจากทางซ้ายเป็นหัวกีต้าร์

เทียบเป็นโน้ตตัวอักษรต่างๆ
ด=โด=C=1, ร=เร=D=2, ม=มี=E=3, ฟ=ฟา=F=4, ซ=โซ=G=5, ล=ลา=A=6, ท=ที=B=7.

เป็นโน้ตทั้งแต่สายเปล่าจนถึงช่องที่ 12 ก็กลับมาครบรอบที่โน้ตเดิมเหมือนโน้ตสายเปล่า ที่เหลือจากนั้นช่องที่ 13 ก็เป็นโน้ตเหมือนช่องที่ 1, ช่องที่ 14 โน้ตเหมือนช่องที่ 2, ฯลฯ เรื่อยไปเป็นวงรอบเดิม แล้วแต่เลยว่ามีกี่ช่อง ก็ไล่ลำดับโน้ตไปตามนั้น เท่าที่เห็นนี้ก็มีโน้ตมากพอที่จะเอาไว้โซโล่ทำนองเพลงทั่วๆไปได้สบายๆแล้วล่ะครับ

t.ly/bMQH
สำหรับคนที่เคยเล่นกีต้าร์หรือเบสมาก่อน ถ้าตั้งเสียงแบบ Open E คือ E-B-E' จะเล่นได้เลยโดยไม่ต้องปรับตัว เพราะตำแหน่งคอร์ดจะเหมือนกับตำแหน่งสายบนของเบสเลย แค่ก็ทาบช่องเดียวทุกสายไปตามตำแหน่งเหมือนเบสสายบน ก็จะได้คอร์ดนั้นๆเหมือนที่เคยเล่นกับเบสแล้วละครับ มือเบสก็มาเล่นตีคอร์ดกีต้าร์กล่องได้โดยไม่ต้องฝึกฟอร์มจับคอร์ดอะไรให้ยุ่งยาก

จะเห็นว่ากีต้าร์กล่องเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นง่าย โดยเฉพาะสำหรับการตีคอร์ดสำหรับมือใหม่ เล่นง่ายกว่าอูคูเลเล่กับกีต้าร์แน่นอน หยิบมาถึงก็เล่นคอร์ดได้แล้ว และสำหรับคนที่อยากเล่นแบบซับซ้อน กีต้าร์กล่องก็มีโน้ตมากพอให้เล่นโซโล่ได้เต็มที่ อาจจะลองทำเล่นเองกันดูได้นะครับถ้าอุปกรณ์พร้อม เพราะต้องใช้อุปกรณ์และฝีมืออยู่มากพอสมควรเลยทีเดียว

แถม
แท่งสไลด์ อุปกรณ์เสริมสำหรับกีต้าร์กล่อง

แท่งสไลด์ Slide guitar

แท่งสไลด์มักทำจากแก้ว, โลหะ, หรือเซรามิก เป็นท่อสวมนิ้ว จะสวมนิ้วไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด ส่วนใหญ่จะสวมไว้ที่นิ้วนางหรือไม่ก็นิ้วก้อย(หรือถือไว้ก็ได้) โดยหลักการแล้วจะสวมลงไปแค่ 2 ข้อบนของนิ้ว เวลาใช้ก็แค่เอาแท่งสไลด์นาบลงไปบนสายกีต้าร์ แค่ให้แท่งสไลด์สัมผัสกับสาย ไม่ต้องกดลงไปแค่แตะโดนสายก็พอ เลื่อนให้ตรงกับตำแหน่งของเฟร็ต(จริงๆต้องฟังเสียงเอาว่าโน้ตตรงมั้ย หรือใช้แอพ Tuner ช่วยในตอนเริ่มต้น ตำแหน่งเฟร็ตเป็นแค่ค่าประมาณเท่านั้นสำหรับการใช้แท่งสไลด์) แล้วดีดก็จะได้โน้ตของเฟร็ตนั้นๆ
สำหรับกีต้าร์กล่องไร้เฟร็ตก็มักจะใช่แท่งสไลด์นี่แหละครับนาบไปเลยทั้ง 3 สาย ให้ตรงกับตำแหน่งของโน้ตที่ต้องการ(อาจจะขีดรอยมาร์คของเฟร็ตต่างๆไว้บนคอก็ได้ อาจทำโดยการหาฮาร์โมนิคของสายทั้งหมดทั่วคอ แล้วมาร์คตำแหน่งฮาร์โมนิคนั้นๆไว้ โดยเริ่มจากฮาร์โมนิคกึ่งกลางสายก่อนและขยับหาตำแหน่งใดๆต่อไป หรือใช้วิธีอื่นๆแล้วแต่สะดวก) แล้วตีคอร์ดหรือโซโล่ เสียงที่ได้จะกังวาลไม่ต่างจากแบบมีเฟร็ตเลย อาจจะกังวาลกว่าด้วยซ้ำ และถ้าขยับไปมาก็ยังได้เสียงสไลด์แบบสมูธๆอีกด้วยนะ เล่นแบบนี้ก็ไม่เจ็บนิ้วดีเหมือนกันนะ กีต้าร์กล่องมีเฟร็ตก็ใช้แท่งสไลด์ได้ เดิมเป็นอุปกรณ์ของกีต้าร์แนวบูลส์ หาซื้อได้ทั่วไปเรียกว่า แท่งสไลด์ หรือ Slide guitar tube หรือจะทำเองแบบดั้งเดิมก็ได้จากคอขวดแก้วเอามาตัด หรือใช้ขวดแก้วเครื่องดื่มขนาดเล็กทรงท่อขนาดพอเหมาะก็ได้


อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

22 มกราคม 2566

Sibyl mini speaker E-1052


Sibyl mini speaker ลำโพง USB เล็กๆราคาไม่ถึงร้อย เสียงดีอยู่นะ คุณภาพเสียอาจพอเทียบชั้นกับ X-mini II ได้อยู่(เบสอาจไม่ลึกเท่าแต่พอได้ แต่ต้องบอกก่อนว่า X-mini II มีแบตในตัวด้วยและเล็กมาก ราคาจึงสูงกว่า) ฟังเพลงแล้วไม่อึดอัด นับว่าเป็นลำโพงที่คุณภาพเสียงดีเลย ส่วนความทนทานต้องดูกันต่อไปครับ
เท่าที่ทดลองมันเป็น Mono นะ ซึ่งก็ดีสำหรับลำโพงเล็กๆ(ตรงกับความต้องการพอดี) จะได้ไม่ต้องจัดมิติมาก และอีกอย่าง สายสัญญาณมันสั้นไปหน่อย จัดตำแหน่งอะไรมากไม่ค่อยได้อยู่แล้วครับ

ลำโพงพกพาที่ใช้อยู่กับโน้ตบุ๊คตอนนี้เริ่มจะร่อแร่แล้ว แบตและวงจรของมันเริ่มเสื่อม เสียงจะเบาๆซ่าๆแล้ว เพราะเก่ามาหลาย 10 ปี ก็เลยมองหาลำโพงใหม่ราคาเบาๆสักอัน ก็มาเจออันนี้แหละครับน่าสนใจ สเป็คข้างกล่องบอกว่า ให้เสียงที่ 100-20kHz กำลังขยาย 3W*2 นับว่ากำลังดี เป็นลำโพง USB ไม่มีแบตฯในตัวนะ มันจะมีสาย USB ไว้เสียบเป็นแหล่งพลังงาน จะต่อกับคอมฯหรือต่อหัวหม้อแปลงชาร์จมือถือก็ได้ และมีสายแจ๊ค 3.5mm ไว้เสียบเข้าช่องลำโพง/หูฟังเพื่อรับเสียงออกมา มีที่ปรับโวลลุ่มอยู่ด้านหลังลำโพง ไม่มีสวิตช์เปิด/ปิด เสียบ USB คือไฟเข้า เปิดทันที

ไหนๆก็ไหนๆ ให้คะแนนหน่อยละกัน เดี๋ยวไม่ครบสูตร
ในการดูหนังก็ต้องการเสียงที่กระหึ่ม และเสียงนักแสดงที่คมชัด ถือว่าตอบโจทย์อยู่นะ แน่นอนว่ามันไม่มีซับวูฟเฟอร์ ก็อาจจะไม่กระหึ่มนัก แต่โดยรวมถือว่าดีมากสำหรับลำโพงลูกเล็กๆแบบนี้
สำหรับการดูภาพยนตร์ 9/10 คะแนน

ในการฟังเพลง ต้องฟังแล้วไม่อึดอัด เสียงไม่บี้เป็นก้อนๆ ฟังแล้วชัดเจนในหลายๆย่าน ไม่จำเป็นต้องปรับ EQ อะไรเลยก็ได้สำหรับคนที่ชอบฟังแบบเดิมๆ ถือว่าตอบโจทย์ อันที่จริงอยากให้คะแนนเท่ากัน แต่เนื่องจากไม่ใช่สเตอริโอ ก็ขอตัดคะแนนสักหน่อย
สำหรับการฟังเพลง 8/10

คุณภาพโดยรวมกับราคาคือคุ้มค่ามากๆครับ ไม่ถึงร้อยบาท แต่เสียงมาเต็มย่านแบบนี้ เป็นลำโพง 2 ลูก รวมกันก็ 6W ให้เสียงที่ดังกว่าลูกเดียวแน่นอนอยู่แล้ว ตัดคะแนนนิดหน่อยที่สายสัญญาณสั้นไปนิดนึง
สำหรับความคุ้มค่า 9/10

นี่เป็นการลงคะแนนแบบส่วนตัวนะครับ ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใดครับ
แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องผ่านมาอ่านแล้วจะเลี้ยงข้าวสักมื้อผมก็ไม่ขัดศัทธานะครับ อิอิ

แถม
สำหรับชาว Linux ถ้าลำโพงที่มีอยู่ดังไม่พอ สามารถตั้งค่าปรับความดังเกิน 100% ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ให้ตั้งค่าตามลิงค์นี้ได้เลย(อยู่ในส่วนแถมของบทความ) เสียงดังสะใจโจ๋แน่นอนงานนี้ https://jazzylj.blogspot.com/2021/06/linux.html

13 มกราคม 2566

คติในการเล่นดนตรีมี 3 เคารพ

https://www.pexels.com/photo/printed-musical-note-page-164821/

คติในการเล่นดนตรีมี 3 เคารพ
1. เคารพตัวเอง : ให้เล่นดนตรีอย่างมีความสุข อย่าดูถูกฝีมือตัวเอง
2. เคารพดนตรี : ศาสตร์ในทางดนตรีทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง อย่าดูถูกความรู้ทางดนตรี
3. เคารพผู้อื่น : แต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง อย่าดูถูกฝีมือคนอื่น

10 มกราคม 2566

ทฤษฎีดนตรีคืออะไร?

Circle of fifths
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:CircleOfKeys.svg

โดยเบื้องต้นแล้วทฤษฎีดนตรีไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิธีเล่นดนตรีนะครับ วิธีเล่นดนตรีก็ต้องฝึกเอาที่เครื่องดนตรี ไม่รู้ทฤษฎีดนตรีก็เล่นดนตรีได้ ไม่รู้โน้ตสากลก็เล่นดนตรีได้ อ่านหนังสือไม่ออกก็ร้องเพลงได้ ถูกต้องครับ ก็เพราะมันไม่เกี่ยวกับการเล่น มันเกี่ยวกับการอธิบายทางดนตรีครับ หมายความว่า ไม่ว่าจะเล่นดนตรีออกมายังไหน ใช้โน้ตอะไร พิศดารแค่ไหน ก็ไม่มีผิดในทางทฤษฎีดนตรีครับ เพราะทฤษฎีดนตรีเอาไว้ใช้ในการตั้งชื่อเพื่อเรียกสิ่งที่เล่นออกมา เช่น เล่นโน้ตพวกนี้เรียกว่า Major, Major7, Minor, ฯลฯ ไม่ว่าจะเล่นมั่วโน้ตยังไง ก็ไม่มีผิดครับ มันเอามาตั้งชื่อได้หมดในทางทฤษฎีดนตรี เป็นมาตราฐาน เพื่อสื่อสารได้ตรงกัน เท่านั้นเองครับ
นักดนตรีที่ต้องร่วมเล่นกับคนหลายคน หรือต้องคุมวงหลายคน พวกเขาจำเป็นต้องรู้ทฤษฎีดนตรี ไม่ใช่เพื่อให้เล่นได้เก่ง จะเล่นเก่งไม่เก่งอยู่ที่ฝีมือ แต่เพื่อให้สื่อสารได้ตรงกันครับ อันนี้สำคัญเลย เพราะทฤษฎีดนตรีมีไว้สื่อสารครับ เพื่อบอกชื่อให้ทุกคนเล่นตรงกันได้ เท่านั้นแหละครับ(ย้ำอีกที อันนี้คือโดยเบื้องต้นนะครับ โดยลึกๆยังมีอะไรอีกมาก)

ถ้าบอกว่า ทฤษฎีดนตรีปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ หรืออะไรอย่างนี้ อย่างที่เคยได้ยินกันมาบ้าง คือผิดประเด็นเลยครับ เป็นมายาคติ คนที่พูดน่าจะไม่เคยศึกษาทฤษฎีดนตรีจริงๆ เพราะถ้าเคยศึกษาจะรู้ว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับความคิดสร้างสรรค์ หรืออารมณ์ หรือฝีมือ หรือ ฯลฯ หรืออะไรในการเล่นเลยครับ มันเกี่ยวกับการสื่อสารล้วนๆ เหมือนทฤษฎีทางศิลปะในการวาดรูป ที่สื่อสารให้ตรงกันว่าสีแบบไหนเรียกว่า แดง เหลือง น้ำเงิน ฯลฯ รวมไปถึง RGB code สำหรับวาดภาพสีในคอมฯด้วย มันก็ไม่ได้ไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการวาดรูปอะไรตรงไหน แค่ไว้สื่อสารกันเท่านั้นเองว่าต้องการโทนอะไร ดนตรีก็เหมือนกันครับ
บางทีถ้าตั้งชื่อ "ทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น" ใหม่เป็น "หลักการตั้งชื่อทางดนตรี" ก็อาจจะตรงตัวกว่า แต่ในเชิงลึกแล้ว ทฤษฎีดนตรีก็มีส่วนช่วยเสริมความเข้าใจในเรื่องอื่นๆได้ด้วยเหมือนกัน สำรับคนที่ต้องการศึกษาดนตรีในเชิงลึกไปจนถึงเชิงเทคนิคก็จำเป็นครับ เพราะเครื่องดนตรีย่อมถูกช่างสร้างมาอย่างถูกต้องตามหลักทฤษฎีดนตรี จึงทำให้เล่นได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะใครเล่นยังไงก็ออกมาถูกต้อง
ทฤษฎีดนตรีบางมุมก็เหมือนวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่สามารถทำให้ทุกคนเล่นกีฬาได้เต็มศักยภาพ สามารถทำให้คนทั่วไปที่มีใจรัก ทำได้ดีที่สุดจนก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง แน่นอน เขาอาจจะแพ้คนมีพรสวรรค์ที่ไม่เคยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเลย แต่วิทยาศาสตร์การกีฬาก็ปั้นคนเก่งๆขึ้นมาได้โดยไม่ต้องรอคนที่มีพรสวรรค์ที่ร้อยปีจะมีสักคนที่เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์ นั่นเป็นกรณีพิเศษ และทฤษฎีดนตรีเองก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจดนตรีได้ในแบบเดียวกันครับ
ทฤษฎีดนตรีทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะมีพรสวรรค์หรือไม่มีพรสวรรค์ทางดนตรี ก็สามารถเล่นดนตรีได้เท่าเทียมกันในแบบของตนเอง

สรุป
โดยเบื้องต้น ถ้าต้องสื่อสารกับนักดนตรีคนอื่นๆ ทฤษฎีดนตรีจำเป็น แต่ถ้าไม่ต้องสื่อสารกับใครเลย หรือมีวิธีสื่อสารที่เข้าใจกันเองในวงอยู่แล้ว ทฤษฎีดนตรีก็ไม่จำเป็น(อาจเรียกว่าทฤษฎีดนตรีประจำวงก็ได้ ซึ่งเป็นทฤษฎีดนตรีแบบหนึ่งที่ตั้งขึ้นเอง และใช้ในการสื่อสารเช่นกัน เห็นมั้ย มันไม่เกี่ยวอะไรกับฝีมือการเล่นเลย ใช้สื่อสารล้วนๆ)

ดนตรีก็คือดนตรี ไม่ว่าจะสื่อสารแบบไหนหรืออธิบายแบบไหน ต่างคนต่างก็หาวิธีที่เหมาะสมได้ทั้งสิ้น และเราทุกคนก็มีความสุขกับดนตรีได้ในแบบเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเลย
ท้ายที่สุดแล้ว ก็มีเพียงเสียงดนตรี ที่บรรเลงร่วมกัน

Circles of color

If you learn music, you'll learn most all there is to know. - Edgar Cayce

09 มกราคม 2566

Just intonation tuning - การตั้งเสียงแบบ Just intonation

ระยะห่างของโน้ตในคีย์ C แบบคร่าวๆระหว่าง Just และ Equal (Well)

บทความก่อนได้พูดถึงระบบการตั้งเสียงไป 2 ระบบ คือ Just intonation และ Equal temperament ซึ่งแต่ละระบบก็มีข้อได้เปรียบแตกต่างกันไป สรุปความเดิมคือ Just intonation จะเป็นการตั้งเสียงจากความเข้ากันได้กับความถี่ธรรมชาติ เป็นการตั้งเสียงแบบบริสุทธิ์(Pure tuning) ทำให้การประสานเสียงมีความกลมกลืน และสมบูรณ์ที่สุด แต่ว่าถ้าตั้งเสียงที่คีย์ไหน มันจะกลมกลืนอยู่แค่คีย์นั้น ทำให้เล่นได้แค่คีย์เดียว ถ้าจะเปลี่ยนไปเล่นคีย์อื่นต่อตั้งเสียงใหม่ทั้งหมดให้ความถี่กลมกลืนในคีย์นั้นๆ เป็นการตั้งเสียงแบบดั้งเดิม ส่วน Equal temperament จะเป็นการแบ่งความถี่โน้ตออกเป็นเท่าๆกัน 12 ส่วนอย่างตายตัว โดยไม่สนใจความเข้ากันได้ของความถี่ธรรมชาติ เหมาะสำหรับเครื่องดนตรี Chromatic เช่น เปียโน้ต ทำให้เปลี่ยนคีย์เล่นได้ทุกคีย์ แต่ข้อเสียคือเสียงจะแปร่ง(เมื่อเล่นประสานเสียงยาวๆจะมีเสียง แง่งๆๆๆ ลอยๆให้ได้ยิน) ซึ่ง Equal temperament เป็นการตั้งเสียงแบบมาตราฐานในปัจจุบัน เพราะการแบ่งความถี่เท่าๆกันจะง่ายในการตั้งเสียงและเปลี่ยนคีย์ได้โดยไม่ต้องตั้งเสียงใหม่ แต่ก็ต้องยอมแลกด้วยเสียงที่ไม่กลมกลืนเล็กน้อย แอปตั้งเสียงในปัจจุบันค่าเริ่มต้นจะเป็นแบบ Equal temperament ครับ
แต่ก็ยังมีเครื่องดนตรีที่ตั้งเสียงระบบ Just intonation ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ Harmonica เพราะว่า Diatonic harmonica หนึ่งอันมีคีย์เดียว จึงตั้งเสียงแบบคีย์ต่อคีย์ได้ เพราะเปลี่ยนคีย์ก็เปลี่ยนอันอยู่แล้ว รวมไปถึงเครื่อง Diatonic (พวกเครื่องที่ไม่มีโน้ตครึ่งเสียงนอกคีย์) ก็สามารถตั้งเสียงระบบ Just intonation ได้ เช่น Kalimba 8 keys และ 17 keys ซึ่งปกติก็ตั้งเสียงเป็นคีย์ C คีย์เดียวอยู่แล้ว ถ้าได้ตั้งเสียงแบบ Just intonation ในคีย์ C จะได้เสียงที่กลมกล่อมสมบูรณ์แบบ เพราะความถี่เสียงตรงกับความถี่ธรรมชาติของคีย์ C อย่างสมบูรณ์ (เครื่อง Chromatic ก็ตั้งแบบ Just ได้ แต่ว่าจะเล่นได้แค่คีย์นั้นๆคีย์เดียว จึงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่)

มาลองฟังดูว่าเสียงของ Just กับ Equal ต่างกันอย่างไร

บทความนี้จะมาแนะนำวิธีการตั้งค่าแอปตั้งเสียงให้สามารถตั้งเสียงแบบ Just intonation

ในการตั้งเสียงแบบ Just intonation แต่ละโน้ตจะมีระยะห่างของเสียงตาที่คำนวณมาแล้ว(ในที่นี้ใช้ทศนิยม 2 ตัว) เมื่อเทียบกับ Equal temperament ตามนี้ครับ
เมื่อเขียนเป็นแบบสูตรด้วยเลขโรมัน(สามารถเอาไว้เทียบเป็นคีย์อื่นๆได้)

I = 0
I# = 11.73
II = 3.91
II# = 15.64
III = -13.69
IV = -1.96
IV# = -17.49
V = 1.96
V# = 13.69
VI = -15.64
VI# = -3.91
VII = -11.73

ถ้าต้องการตั้งเสียง Just intonation คีย์อื่นๆก็เทียบโน้ตตามสูตรโรมันได้เลย ถ้าเป็น คีย์ B ก็เอา B ไปเทียบกับ I หรือ ถ้าเป็นคีย์ G ก็เอา G ไปเทียบกับ I ฯลฯ และไล่โน้ตที่เหลือไปตามลำดับของคีย์นั้นๆ
ดูตัวอย่างได้จากการตั้งค่าของคีย์ C ข้างล่าง

แอปที่สามารถตั้งค่ารายละเอียดการตั้งเสียงได้เองที่ผมใช้คือ Tuner-gStrings ให้ติดตั้งแอปตัวนี้ก่อน หรือแอปอื่นๆที่ตั้งค่าเองได้ แล้วมาเริ่มกันเลย
ในการตั้งค่าแอป ให้เข้าแอป แล้วกดแถบล่างสุดเพื่อเข้าไปที่การตั้งค่า เลือก Temperament จากนั้นกดที่สัญลักษณ์ + มุมล่างแอป เพื่อกำหนดค่าเอง แล้วตั้งค่าตามนี้
ตั้งชื่อว่า C just intonation
เมื่อเอาสูตรเลขโรมันมาเทียบกับคีย์ C จะได้ค่าตามนี้ และให้ใส่ค่าเหล่านี้ลงไป
C = 0
C# = 11.73
D = 3.91
D# = 15.64
E = -13.69
F = -1.96
F# = -17.49
G = 1.96
G# = 13.69
A = -15.64
A# = -3.91
B = -11.73

แล้วติ๊กเลือกใช้การตั้งค่านี้ จากนั้นถอยออกมาในหน้าตั้งค่าเพื่อตั้งค่าความถี่ของคีย์หลักที่จะใช้ตั้งเสียง ในที่นี้คือคีย์ C ให้ไปที่ Orchestra tuning แล้วตั้งค่าเป็น C4 และ set custom [Hz] = 262.81 หรือตั้งค่าที่ Distance [cents] = 7.82

หากตั้งการตั้งเสียงในคีย์อื่นๆสามารถดูค่าคีย์หลักได้ในเว็บนี้ https://pages.mtu.edu/~suits/notefreq442.html (แนะนำที่ความถี่กลางๆในช่วง G3 - F#4 เป็นหลัก) ที่ใช้นี้เป็นของชุด A442 หากต้องการของชุดอื่นๆ ก็เลือกดูได้ในเว็บนั้นเช่นกัน

เป็นอันเสร็จ เอามาใช้ตั้งเสียงเป็นคีย์ C ระบบ Just intonation ได้แล้วครับ ทีนี้ก็หมดปัญหาเสียงแปร่งดังแง่งๆๆๆแล้วล่ะครับ

อย่าลืมว่าการตั้งเสียงแบบ Just นั้นเป็นการตั้งเสียงแบบคีย์ต่อคีย์ ถ้าเล่นคีย์เดียวอยู่แล้วอย่างคาลิมบามาตราฐาน การตั้งเสียงแบบ Just จะเหมาะมาก จะให้เสียงที่กลมกล่อมสมบูรณ์ที่สุดในคีย์นั้นๆอย่างสมบูรณ์ ผมก็เก็บแอปที่ตั้งค่านี้เอาไว้ตั้งระบบ Just คีย์ C อย่างเดียว ถ้าจะตั้งเครื่องดนตรีอื่นเช่น Guitar ก็จะใช้อีกแอปนึง Universal Tuner จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนการตั้งค่าไปมาครับ

ระบบการตั้งเสียงก็อยู่ที่ความชอบนะครับ ชอบแบบไหนก็ตั้งแบบนั้น ไม่ว่าจะตั้งเสียงแบบ Just หรือ Equal ถ้าเล่นในคีย์เดียวกันก็สามารถเล่นด้วยกันได้ครับ ไม่มีปัญหาอะไร แต่เสียงของ Just จะกลมกล่มกว่า เล่นคอร์ดก็ได้ โซโล่ก็ดี

ไว้เจอกันบทความหน้า
สวัสดีครับ ^_^


แถม
ถ้าอยากตั้งเสียงจากความถี่โดยตรง สามารถตั้งได้ตาม Just intonation chart ของ คีย์ C ที่ A442 ดังนี้
โดยเริ่มจาก C4 เฉพาะ Diatonic สำหรับ Kalimba 8 และ 17 keys

C = 262.8
D = 295.7
E = 328.5
F = 350.4
G = 394.2
A = 438
B = 492.8
C' = 525.6
D' = 591.3
E' = 657
F' = 700.8
G' = 788.4
A' = 876
B' = 985.5
C'' = 1051
D'' = 1182
E'' = 1314

สูตรการหาความถี่มาจากสัดส่วน
กำหนดให้ X เป็นความถี่ที่ใช้เป็นคีย์หลัก อยากตั้งเสียงระบบ Just คีย์อะไรก็ใช้ความถี่นั้น ดูได้จาก https://pages.mtu.edu/~suits/notefreq442.html

I = X
I# = X*(16/15)
II = X*(9/8)
II# = X*(6/5)
III = X*(5/4)
IV = X*(4/3)
IV# = X*(7/5)
V = X*(3/2)
V# = X*(8/5)
VI = X*(5/3)
VI# = X*(16/9)
VII = X*(15/8)

ส่วนโน้ตเสียงสูง/ต่ำกว่านี้ก็เอาสูตรมาคูณ2/หาร2ตามสัดส่วนของโน้ตนั้นๆได้เลยครับ จากสูตรนี้เมื่อคำนวณตามนี้ก็จะได้ค่าความถี่ของโน้ตในคีย์นั้นๆระบบ Just ออกมา


สูตรการหาความต่างของ Cent ระหว่าง Just และ Equal
สำหรับคนที่อยากรู้วิธีคำนวณหาตัวเลขที่ใช้ตั้งค่าในแอปแบบเจาะลึก มันคือวิธีหาความต่างของ Cent ระหว่าง Just และ Equal สามารถคำนวณได้ตามสูตรนี้ครับ

n = 1200(log2(a/b))

เมื่อ a/b = สัดสวนจากสูตรหาความถี่

จากนั้น

n - ค่า Cent ของโน้ต Equal = ความต่างของ Cent

ค่า Cent ของโน้ต Equal มีสัดส่วนเท่าๆกัน คือ I=0, I#=100, II=200, II#=300, III=400, IV=500, IV#=600, V=700, V#=800, VI=900 VI#=1,000, VII=1,100 (และ I'=1200)

เอาสูตรเข้าไปคำนวณในเว็บนี้ได้ครับ https://www.wolframalpha.com/

ตัวอย่าง
ต้องการหาค่าความต่างของ Just โดยเทียบกับ Equal ของโน้ต III
สัดส่วนของ III = 5/4
เอามาแทนค่า a/b

n = 1200(log2(5/4))
n = 386.3137

จากนั้น
n - ค่า Cent ของโน้ต Equal III = ความต่างของ Cent

ค่า Cent ของโน้ต Equal III = 400
แทนค่า

386.3137-400 = ความต่างของ Cent
-13.6863 = ความต่างของ Cent

ดังนั้น
ความต่างของ Just โดยเทียบกับ Equal ของโน้ต III = -13.6863

นี่เป็นที่มาของตัวเลขที่ใส่ตั้งค่าแอปนั่นเองครับ เพราะเครื่องตั้งเสียงค่าเริ่มต้นเป็น Equal เราจึงต้องกำหนดค่าส่วนต่างลงไปเพื่อตั้งเสียง Just นั่นเองครับ ในการหาค่า n จะเอาแบบทศนิยมหรือหรือไม่ทศนิยมก็ได้ครับแล้วแต่ชอบ มันต่างกันนิดเดียว (ชักจะปวดหัวแล้ว ขอตัวไปกินพาราฯก่อนนะครับ ฮา)

ในแอป gString ในหน้าตั้งค่า Temperament จะเห็นว่ามีระบบที่ชื่อว่า Just-Schugk และ Just-Barbour อยู่ด้วย ใน 2 ระบบนี้ระยะห่างจะเหมือนกันแต่ต่างกันตรงที่โน้ต VII  ตัวเดียว และกำหนดค่าไว้สำหรับคีย์ A ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้เป็นคนละระยะห่างกับระบบ Just intonation ที่พูดถึงในบทความนี้

ภาพข้างล่างนี้เป็นการเทียบระบบตั้งเสียงของฮาร์โมนิก้า 3 แบบ ล่างสุดเป็นแบบ Just ซึ่งเป็นการตั้งเสียงของฮาร์โมนิก้ามาตราฐานทั่วไป แบบเดียวกับที่เราตั้งเสียงกันในบทความนี้ แต่มีความต่างอยู่ เช่น ตรงช่องสีแดง เป็นโน้ต IV ระยะห่างตั้ง -27 ลงไปมากพอสมควรเลย
ระยะห่างระบบตั้งเสียงของ Harmonica แบบคร่าวๆ

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

08 มกราคม 2566

Shape note - โน้ตรูปทรงที่ช่วยให้อ่านโน้ตสากลและเปลี่ยนคีย์ได้ง่าย


โน้ตสากลคือตัวอักษรของดนตรี เป็นการบันทึกเสียงและทำนองในรูปแบบของการเขียน สิ่งที่โน้ตสากลบอกกับผู้อ่านมี 2 ส่วนหลักๆ คือ
  1. ตัวโน้ตที่ใช้ โดยดูจากตำแหน่งที่อยู่บรรทัด 5 เส้น
  2. ทำนองเพลง โดยดูจากรูปลักษณ์ของตัวโน้ต
โน้ตสากลจึงมีประโยชน์มากเมื่อต้องเล่นเพลงที่ไม่เคยฟัง แม้ไม่เคยฟังเพลงนั้นมาก่อน แต่ถ้าอ่านโน้ตสากลเป็นก็สามารถรู้โน้ตและทำนองได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ โน้ตสากลแบบบรรทัด 5 เส้นจึงถูกใช้เป็นมาตราฐานสากลในการจดบันทึกเพลง
นอกจากโน๊ตสากลแล้ว ถ้าให้ดี พวกโน้ตตัวอักษร(และตัวเลข)แบบต่างๆก็ควรอ่านเป็นด้วย แม้โน้ตตัวอักษรจะบอกแค่โน้ตที่เล่นแต่ไม่บอกทำนอง แต่สมัยนี้ก็พอจะหาเพลงฟังทำนองได้ไม่ยาก(อาจจะแกะเพลงเองเลยก็ได้) โน้ตตัวอักษรจึงเป็นโน้ตที่สะดวกในการบันทึกอีกแบบหนึ่ง การอ่านโน้ตได้หลายแบบก็เหมือนอ่านเป็นหลายภาษา ย่อมสะดวกในการหาโน้ตเพลงมาเล่นเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครแปล

เกริ่นมายาวละ เอาล่ะเข้าเรื่องกันครับ(ฮา)
คือมันมีโน้ตสากลอีกแบบนึงครับ ที่หัวของตัวโน้ตเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม, ครึ่งวงกลม, ข้าวหลามตัด, ฯลฯ หัวโน้ตพวกนี้เรียกว่า Shape note เป็นโน้ตที่แต่เดิมออกแบบมาเพื่อใช้อ่านโน้ตสำหรับการร้องเพลง ช่วยให้นักร้องหาระดับเสียงได้ง่าย ผมไปเจอมาแล้วเห็นว่าโน้ตแบบนี้มันก็ช่วยให้นักดนตรีเปลี่ยนคีย์ได้ง่ายด้วย เพราะรูปทรงของมันบอกระดับดีกรีของตัวโน้ต ไม่ว่าจะอยู่ในคีย์อะไรก็ตาม ตัว Root ของคีย์นั้นจะเป็นรูปทรงเดียวกันเสมอ รวมถึงโน้ตตัวอื่นๆด้วย ดังนั้นในโน้ตบรรทัด 5 เส้นที่ใช้โน้ตรูปทรง เราจะสามารถอ่านโน้ตของคีย์ต้นฉบับได้ และแปลงโน้ตเป็นคีย์อื่นได้ทุกคีย์ในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการแปลงโน้ตเป็นคีย์ C ซึ่งเป็นคีย์ที่ควรต้องแปลงสำหรับ Harmonica และ Kalimba เพราะจะสามารถช่วยให้เล่นได้ง่ายเมื่อใช้คีย์อื่นๆ(เนื่องจากรูปแบบการเรียงโน้ตของมัน) หรือสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นคีย์ C ก็สามารถอ่านและเล่นคีย์ C ได้เลยโดยไม่ต้องเขียนโน้ตขึ้นมาใหม่หรือต้องมานั่งทดโน้ตในหัว ผมคิดว่า Shape note เป็นประโยชน์ตรงนี้ด้วยอย่างมากตั้งแต่แรกเห็นเลยครับ งั้นเรามาดูกันว่าหน้าตามันเป็นยังไง

โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด๊

นี่คือ Shape note หรือโน้ตรูปทรง ที่ใช้กันเป็นสากล ให้จำหัวโน้ตทั้ง 7 หัวเหล่านี้ และไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นคีย์อะไร ถ้าเห็นโน้ต หัวสามเหลี่ยมตั้ง เป็นอันว่านั่นคือ Root ของคีย์ ถ้าจะให้เป็นคีย์ C โน้ตหัวสามเหลี่ยมตั้ง ก็คือ โด เสมอ เป็นต้น และรูปทรงอื่นๆก็แทนโน้ตตามภาพข้างต้น แล้วลองอ่านโน้ตเพลงนี้ดูครับ


โน้ตนี้เป็นคีย์ Bb ถ้าอ่านจากบรรทัด 5 เส้นตามปกติ 2 ห้องแรกจะได้โน้ต
เทียบเป็นโน้ตตัวอักษรต่างๆ
ด=โด=C=1, ร=เร=D=2, ม=มี=E=3, ฟ=ฟา=F=4, ซ=โซ=G=5, ล=ลา=A=6, ท=ที=B=7.

| Bb BbBb Bb Bb | Bb BbBb F |~

แต่ถ้าอ่านจากโน้ตสัญลักษณ์จะได้โน้ต
โดยแปลงเป็นคีย์ C

| C CC C C | C CC G |~

เห็นมั้ย!
ถ้าดูเฉพาะหัวโน้ตรูปทรงในโน้ตสากล จะเห็นว่ามันเป็นคีย์ C โดยไม่ต้องนับบรรทัดเลย เหมือนกับว่ามันเขียนไว้ที่หัวโน้ตว่าตัวนี้เป็น โดเรมีฯลฯ ไว้แล้วด้วยรูปทรงของมันนั่นเองครับ และในขณะเดียวกันเราก็อ่านให้เป็นคีย์ต้นฉบับได้ด้วยจากการนับบรรทัดตามปกติ
Shape note มีประโยชน์มากมายทีเดียว และยังสามารถแปลงไปเป็นคีย์อื่นๆได้ด้วย เพียงแค่มองโน้ตสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นระบบ Move Do (โดเคลื่อนที่) ก็จะง่ายในการแปลงเป็นคีย์อื่นๆทุกคีย์ได้ในทันที
แต่น่าเสียดายที่โน้ตรูปทรงไม่ค่อยใช้กันแล้วในปัจจุบัน ส่วนนึงอาจเพราะตาลายสำหรับคนที่ต้องการอ่านโน้ตคีย์ต้นฉบับ ยุ่งยากในการทำ หาโปรแกรมทำยาก และไม่ได้รับความนิยม แต่ก็มีบางเว็บที่ทำโน้ตที่มีทั้งแบบโน้ตสากลแบบปกติและโน้ตรูปทรง เช่นเว็บ https://www.pdhymns.com/ ซึ่งแจกโน้ตเพลงแนว Hymn สามารถดาวโหลดโน้ตเพลงมาเล่นได้ฟรี

เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากจะให้โน้ตรูปทรงกับมานิยมอีกครั้งจังเลยนะครับ มันสะดวกสำหรับเครื่องดนตรีประเภท Diatonic ครับ

บทความนี้ก็เท่านี้ก่อนครับ
ไว้เจอกันใหม่
ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ
สวัสดีครับ ^_^

อ้างอิง

05 มกราคม 2566

A432 vs A440 เทียบเสียงแบบไหนดีที่สุด?


เคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมโน้ตดนตรีแต่ละโน้ตถึงมีเสียงที่ตรงกันในทุกๆเครื่องดนตรีจนสามารถนำมาเล่นประสานเสียงร่วมกันได้? มันเกิดจากการตั้งเสียงที่มาตรฐานเดียวกับนั่นเองครับ ด้วยการกำหนดโน้ตสักตัวนึงเป็นหลักให้ความถี่ตรงกันก่อน แล้วจึงตั้งเสียงโน้ตที่เหลือต่อไปโดยเทียบกับโน้ตหลักตัวนั้น
สมัยก่อนนั้นการตั้งเสียงไม่มีความถี่หลักที่แน่นอน(เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องความถี่) แต่ละท้องถิ่น แต่ละวงดนตรีก็เทียบเสียงกันเองในวง โน้ตก็ตรงกันในวงตัวเอง แต่ไม่สามารถเล่นร่วมกับวงจากที่อื่นได้ ภายหลังเมื่อโลกมีความเข้าใจเรื่องความถี่เกิดขึ้น เราจึงได้รู้ว่า ในยุคนั้นมีการตั้งเสียงกันอยู่ระหว่าง A400 - A480 ซึ่งตัวเลขหมายถึงความถี่ Hz และตัว A คือ A4 ที่อยู่สูงกว่า C กลาง คือใช้โน้ต A หรือ ลา เป็นโน้ตหลักในการเทียบเสียงนั่นเอง
ทีนี้ก็ยังมีปัญหาในการเล่นร่วมกันอยู่ดีเพราะใช้ความถี่ต่างกันในการตั้งเสียงต่างกัน จึงมีการกำหนดความถี่มาตรฐานขึ้นมาในปี 1975 โดย ISO 16 กำหนดไว้ที่ A440 ก็คือ โน้ต A4 ที่ความถี่ 440 Hz ตั้งแต่นั้นมาการผลิตเครื่องดนตรีก็ออกแบบมาสำหรับ A440 เป็นมาตรฐาน ทำให้ทั่วโลกสามารถเล่นดนตรีร่วมกันได้ ไม่ว่าจะซื้อเครื่องดนตรีมาจากที่ไหนก็ตาม
แต่ในขณะเดียวกันนั้นเองก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เสนอ A432 โดยบอกว่ามันให้เสียงที่นุ่มลึกกว่า ผ่อนคลายกว่า แต่ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นมาตราฐาน และยังคงเสนอเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันคำกล่าวอ้างก็กลายเป็นว่า A432 นั้นเป็นความถี่ธรรมชาติที่ดีต่อร่างกาย ช่วยให้สุขภาพดี ช่วยเยียวยาจิตวิญญาณได้ ฯลฯ เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้นความถี่ธรรมชาติจึงดีกว่า จนกลายเป็นดราม่าทฤษฎีสมคบคิดตบตีกันระหว่าง A432 กับ A440 กันในปัจจุบันนี้แหละครับ

ซึ่งไม่ว่าจะตั้งเสียง A4 ไว้ที่ว่าถี่ไหน เมื่อบรรเลงดนตรีเราก็ต้องเปลี่ยนโน้ตไปมาอยู่แล้ว ตัวความถี่ต่างๆนั้นก็เปลี่ยนเป็นความถี่อื่นอยู่ดี ที่บอกว่า 432 Hz ช่วยเรื่องต่างๆ ก็ไม่อาจส่งผลได้ถ้าเล่นในคีย์ที่เปลี่ยนไป แต่การตั้งเสียงที่ A432 ซึ่งเป็นความถี่ที่ต่ำกว่า A440 ทำให้เสียงมีความทุ้มกว่าและผ่อนคลายกว่า ก็เป็นไปตามลักษณะของเสียงต่ำอยู่แล้วครับ หากต้องการแบบนี้ แม้จะตั้งเสียง A440 ก็เปลี่ยนคีย์ให้ต่ำลงก็จะได้ผลที่ผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกันครับ มันเป็นเรื่องเชิงสัมพัทธ์ ทดเสียงกันไปมาไม่รู้จบ ส่วนตัวผมจึงมองว่า การกำหนดความถี่หลักของ A4 ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับสุขภาพหรือเรื่องจากจิตวิญญาณแต่อย่างใด เพราะแต่เดิมก่อนจะมีมาตราฐานก็กำหนดกันตามความชอบของแต่ละคณะอยู่แล้ว

แต่ว่าหากจะเล่นเรื่องจิตวิญญาณและสุขภาพจากเสียงดนตรีกันจริงๆแล้วล่ะก็ ผมเห็นว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่เข้าเค้ามากกว่าแต่ไม่มีใครพูดถึงในแนวทางนี้ ก็คือ ระบบการตั้งเสียงแบบ Just Intonation และ Equal Temperament

Just Intonation เป็นระบบการตั้งเสียงแบบที่เน้นความกลมกลืนของความถี่ธรรมชาติในคีย์นั้นๆ ถ้าตั้งเสียงในคีย์ C โน้ตที่เหลือทั้งหมดจะหาความถี่ธรรมชาติที่กลมกลืนกันที่สุดในการประสานเสียงของคีย์ C อย่างสมบูรณ์ ฟังแล้วกลมกล่อม นุ่มนวล เข้ากันเป็นอย่างดี แต่ถ้าจะเปลี่ยนคีย์ก็ต้องตั้งเสียงใหม่ทั้งหมดทุกโน้ต เป็นการตั้งเสียงแบบโบราณแบบคีย์ต่อคีย์ ความไม่สะดวกนี้ทำให้เกิดระบบการตั้งเสียงอีกแบบคือ
Equal Temperament เป็นระบบการตั้งเสียงจากความถี่ที่กำหนดไว้ตายตัว โดยการแบ่งความถี่ออกเป็นสัดส่วนเท่าๆกัน ซึ่งยอมให้มีความคลาดเคลื่อนในความเข้ากันได้ของความถี่ เพื่อแลกกับการเปลี่ยนคีย์ได้ทุกคีย์โดยไม่ต้องตั้งเสียงใหม่ แม้ว่าการประสานเสียงจะมีความแปร่งเล็กน้อย (ถ้าเล่นคอร์ดลากเสียงยาวๆจะมีเสียง แง่งๆๆๆ ลอยๆให้ได้ยิน) ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้ระบบนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะเปียโน หรือเครื่องดนตรีที่เล่นโน้ต Chromatic #,b ได้


ความเข้ากันได้ของความถี่นี่แหละครับที่ดูเข้าเค้ากว่า ไม่ว่าจะกำหนด A432 หรือ A440 ระบบการตั้งเสียงจึงส่งผลมากกว่า ซึ่งหากจะมองเรื่องสุขภาพและจิตวิญญานจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าการตั้งเสียงด้วย Just Intonation ให้เสียงที่กลมกลืนอย่างสมบูรณ์ในความถี่ธรรมชาติจริงๆ เพราะกำหนดโดยธรรมชาติของความถี่นั้นๆจากความเป็นจริง ไม่ใช่จากการแบ่งความถี่ที่กำหนดขึ้นมาเองแบบ Equal Temperament ซึ่งมีความแปร่งขัดแย้งกับธรรมชาติ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากใช้ระบบความถี่แบบธรรมชาติก็ย่อมดีต่อสุขภาพและจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วยเช่นกัน อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ อันนี้คือผมพยายามอธิบายในแนวทางเดียวกับที่ชาว A432 ใช้ครับ ดังนั้น ถ้าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและจิตวิญญาณ มันก็ต้องเป็นเรื่องระบบการตั้งเสียงนี่แหละครับ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เชิงสัมพัทธ์ของเสียงต่ำหรือสูง
แต่ก็อย่างที่เห็นครับว่า แต่ละระบบก็มีข้อดีข้อเสียในแบบของมัน แต่เดิมดนตรีเคยใช้แบบ Just Intonation แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น Equal Temperament เนื่องจากความสะดวกในการเปลี่ยนคีย์ แม้จะสูญเสียความเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ของเสียงตามธรรมชาติไปก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกคนเข้าใจตรงกันตามนี้ และก็มีการถกเถียงอยู่เหมือนกันว่าควรใช้แบบไหนดี(แต่ยังไม่มีการถกเถียงในเชิงสุขภาพและจิตวิญญาณ)

แม้ว่าจะมีมาตราฐานที่ A440 แต่วงดนตรีต่างๆก็ใช่ว่าจะใช้ความถี่นี้ตั้งเสียงกันทั้งหมดนะครับ ปัจจุบันนี้วงออเคสตร้าจะตั้งเสียงอยู่ระหว่าง A440 - A444 โดย วงออเคสรตร้า 99% ทั่วโลกนิยมตั้งเสียงที่ A442 ส่วนเยอรมันที่ A443 อเมริกาที่ A440 และเท่าที่เห็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงตายตัว เช่น Vibraphone (ระนาดเหล็กฝรั่ง), Electric piano, Flute, หรือแม้แต่ Harmonica ที่ผลิตในปัจจุบันก็ตั้งเสียงไว้ที่ A442 ดูเหมือนว่า A442 จะเป็นมาตราฐานปัจจุบันแล้วล่ะครับ
กลายเป็นว่า A432 กับ A440 รบกัน A442 ชนะเฉย(ฮา)

จะเห็นว่า สุดท้ายก็ไม่มีอะไรตายตัว แล้วแต่ว่าจะนัดแนะกันในวงว่าจะเทียบเสียงแบบไหนครับ สำหรับเครื่องดนตรีที่ตั้งเสียงเองได้ เช่น Guitar ก็สามารถลองใช้ A432 ดูได้หรืออื่นๆก็ได้ (ปรับค่าที่เครื่องตั้งเสียงหรือแอปตั้งเสียงได้) อาจจะใช้เล่นในวงดนตรีของตัวเองก็ได้เพื่อความแปลกใหม่ของโทนเสียง แต่อย่าลืมให้เพื่อนๆในวงตั้งเสียงด้วยความถี่เดียวกันด้วย เพื่อจะได้เล่นประสานกันได้ แต่ถ้าต้องเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีที่เสียงตายตัว ก็จำเป็นต้องตั้งเสียงให้ตรงกับเครื่องนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันคือ A442 นั่นเอง ถ้าเอามาเล่นกับ A440 - A444 คือมันต่างกันนิดเดียว เอาจริงๆมันก็เล่นร่วมกันได้หมด อาจจะแปร่งไปนิดๆหน่อยๆจนไม่อาจสังเกต แต่ถ้าเป็นไปได้ ตั้งเสียงให้ตรงกันทั้งวงจะดีกว่าครับ

Diatonic harmonica key of C
และแม้ว่าการตั้งเสียงในปัจจุบันจะใช้ระบบ Equal Temperament กันเป็นหลัก แต่ก็ยังมีเครื่องดนตรีที่ตั้งเสียงด้วยระบบ Just Intonation หนึ่งในนั้นก็คือ Harmonica เนื่องจาก Harmonica แบบ Diatonic แต่ละอันจะมีแค่คีย์เดียว ดังนั้นจึงสามารถตั้งเสียงแบบ Just Intonation ได้โดยไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเปลี่ยนคีย์ก็ต้องเปลี่ยนอันใหม่อยู่แล้ว การตั้งเสียงให้ความถี่กลมกลืนอย่างสมบูรณ์ในคีย์นั้นๆจึงสามารถทำได้กับเครื่องดนตรีประเภทที่เปลี่ยนคีย์ก็เปลี่ยนเครื่อง แต่ก็ไม่ใช่ Harmonica ทุกรุ่นจะเป็น Just Intonation นะครับ จะมีบางรุ่นตั้งเสียงเป็น Equal Temperament ก็มี เช่น Hohoner Golden Melody ซึ่งสำหรับ Harmonica แล้ว การตั้งเสียงระบบ Equal Temperament เป็นการตั้งเสียงที่พิเศษออกไป เพราะโดยทั่วไปแล้ว Harmonica จะตั้งเสียงแบบ Just Intonation เป็นมาตราฐานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่ได้ซื้อรุ่นที่ใช้ระบบอะไรเป็นพิเศษ ก็จะได้ Just Intonation แน่นอน
ใครที่เล่นเครื่องดนตรี Diatonic (ที่ไม่มีโน้ตครึ่งเสียงนอกคีย์) เช่น Kalimba แบบปกติ ก็อาจลองตั้งเสียงระบบ Just intonationดูก็ได้นะครับ

สรุป
เรื่องความถี่เทียบเสียงความสำคัญของมันคือการนัดแนะเพื่อให้ตรงกันซะมากกว่าครับ จะใช้ความถี่ที่เท่าไหร่ก็ตามชอบใจ แต่ในวงเดียวกันควรเทียบเสียงแบบเดียวกัน และถ้าในวงมีเครื่องที่ปรับจูนเสียงไม่ได้ ก็ควรเทียบเสียงตามมาตราฐานของเครื่องที่ปรับจูนไม่ได้ครับ
และจากทั้งหมดบางทีเรื่องเหล่านี้ที่พูดกันมายืดยาวอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวอะไรกับสุขภาพหรือจิตวิญาณเลยก็ได้? และถ้าจะเกี่ยวกับสุขภาพและจิตวิญญาณจริงๆละก็ น่าจะเป็นที่ตัวเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมา เพราะเพลงจะแต่งให้หดหู่หรือร่าเริงก็ได้ มากกว่าที่จะเป็นเพราะเรื่องพวกนี้? หรือจริงๆมันเกี่ยวข้องกันหมด? ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูนจ์กันต่อไป ให้เป็นปลายเปิดแบบนี้แหละครับดีแล้ว ใครคิดเห็นยังไงก็เอาไปถกเถียงกันได้ครับ สนุกๆ


อ้างอิง
https://crumplepop.com/a432-vs-a440-which-tuning-standard-is-better/

03 มกราคม 2566

เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับ Mode - การเรียกตำแหน่ง Position ของ Harmonica


ฮาร์โมนิก้าโดยทั่วไปจะเรียงโน้ตเป็น Major scale ซึ่งเป็นบันไดเสียงหลักของดนตรีสากลในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นบันไดเสียงที่เรียกว่า Mode ได้ทั้งหมด 7 Mode 7 คีย์ โดยการเปลี่ยน Root ในโน้ตไดอะโทนิค(Diatonic)ของบันไดเสียง ซึ่ง Mode ทั้ง 7 นั้น โดยปกติจะเรียงกันตามลำดับ 1-7 ดังนี้
เมื่อเทียบโดยการเปลี่ยน Root ในโน้ตไดอะโทนิคของคีย์ C
  1. C Ionian (ซี ไอโอเนียน)
  2. D Dorian (ดี ดอเรียน)
  3. E Phrygian (อี ฟรีเจี้ยน)
  4. F Lydian (เอฟ ลีเดี้ยน)
  5. G Mixolydian (จี มิกโซลีเดี้ยน)
  6. A Aeolian (เอ เอโอเนียน)
  7. B Locrian (บี โลเครียน)
ส่วนการเรียกลำดับตำแหน่งของฮาร์โมนิก้านั้นจะเรียงลำดับไม่เหมือนกันครับ ซึ่งจะมีการเรียกดังนี้
เมื่อเทียบโดยใช้ฮาร์โมนิก้าคีย์ C

1st position = C Ionian (หรือ C Major หรือ C straight harp นิยมใช้เล่นกันโดยทั่วไป)
2nd position = G Mixolydian (หรือ G cross harp เป็น G Major ประเภทหนึ่ง นิยมใช้สูงสุดในแนวฮาร์โมนิก้า Blues)
3rd position = D Dorian (หรือ D minor Blues เป็น D minor ประเภทหนึ่ง)
4th position = A Aeolian (หรือ A minor)
5th position = E Phrygian (เป็น E minor ประเภทหนึ่ง)
6th position = B Locrian (เป็น B minor ประเภทหนึ่ง)
12th position = F Lydian (เป็น F Major ประเภทหนึ่ง)

เป็นการเรียงลำดับที่แตกต่างกันจากเครื่องดนตรีอื่นทั้งหมด และ Position สุดท้ายที่เรียกว่า ตำแหน่งที่ 12 ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด เขาเรียกกันอย่างนี้จริงๆครับ ดูๆแล้วทั้งหมดนี้น่าจะใช้ลำดับตำแหน่งจาก Circle of fifth ครับ

ฮาร์ป 1 คีย์ สามารถใช้โน้ตหลักที่มีเล่นได้ 7 คีย์ในแบบของ Mode ทีนี้เวลาเราได้ยินนักฮาร์ปมืออาชีพพูดถึง Position ต่างๆ ก็จะเข้าใจตรงกันได้ว่าหมายถึง Mode อะไร ซึ่งที่ฮาร์ปใช้กันบ่อยๆและคุ้ยเคยคือ 1st position, 2nd position, และ 4th position โดยฮาร์ปแนวบูลส์จะเล่น 2nd position เป็นหลักซึ่งก็คือ Mixolydian นั่นเอง

ลำดับก็จะงงๆหน่อยเพราะไม่เรียงลำดับ Mode อย่างที่คุ้นเคยกันในทฤษฎีดนตรี ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ถ้าเรียกด้วยชื่อ Mode ไปเลยน่าจะเข้าใจง่ายกว่าครับ แต่อันนี้ก็รู้ไว้ใช่ว่าฯครับ ซึ่งเป็นการเรียกในระบบของฮาร์โมนิก้านั่นเอง


แถม
พื้นอารมณ์(Mood)ของแต่ละ Mode จาก C diatonic
เอาไว้เป็นแนวคิดเบื้องต้นในการทำความเข้าใจคาแร็กเตอร์ของแต่ละ Mode แบบทั่วไป (ในวงเล็บคือคอร์ด Root และคอร์ด Dominant (คอร์ดที่นิยมใช้ก่อนกลับไปหา Root) ของ Mode นั้นๆ)

Ionian สดใส แบบมีความสุข, ร่าเริง (C / G)
Dorian หม่น แบบมีความหวาน, ไม่แน่นอน (Dm6 / Am)
Phrygian หม่น แบบมีความคาดหวัง, แปลกใหม่ (Em / Bdim)
Lydian สดใส แบบมีความลึกลับ, เคลิ้มฝัน (Fmaj7#11 / C)
Mixolydian สดใส แบบมีความขรึม, ค้นหา (G / Dm)
Aeolian หม่น แบบมีความเศร้าซึ้ง, โรแมนติก (Am / Em)
Locrian หม่น แบบมีความบาดหมาง, ตึงเครียด (Bdim / F)

เป็นพื้นอารมณ์ของ Mode แบบทั่วๆไป แต่ไม่ตายตัว เอาไว้เป็นไอเดียคร่าวๆ เพราะการเล่นแบบช้าเร็ว ดังเบา ฯลฯ ก็สามารถสร้างอารมณ์ให้แตกต่างออกไปได้อีกมากมายไม่รู้จบ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ปัจจุบันนี้ Mode ต่างๆไม่ค่อยได้ใช้เป็นหลักกันสักเท่าไหร่ครับ มันเป็นบันไดเสียงแบบโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีคอร์ดและการเปลี่ยนคีย์ต่างๆแบบในปัจจุบัน เขาจึงใช้วิธีการเปลี่ยนลำดับของโน้ตแทน แต่เดิมชื่อ Mode มีมากกว่า 7 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 7 ที่ยังคงใช้เรียกกันอยู่ ปัจจุบันนี้ Mode ที่นิยมใช้มากที่สุดมีอยู่ 2 Mode ก็คือ Ionian mode หรือ Major scale และ Aeolian mode หรือ Minor scale เป็นหลัก แต่ก็มีนักดนตรีมืออาชีพหลายคนที่เอา Mode ต่างๆมาใช้เพื่อสร้างโทนให้แปลกใหม่และมีสีสรรมากขึ้น สำหรับนักฮาร์โมนิก้าที่ชอบใช้ฮาร์ปคีย์เดียวและเล่นเพลงแต่งเองตามใจ หากต้องการสร้างอารมณ์ที่หลากหลาย การเลือกใช้ Mode ก็ตอบโจทย์ตรงตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ Mode

สำหรับคนที่อยากศึกษาเจาะลึกเรื่อง Mode ลองดูคลิปชุดนี้ครับ เขาทำออกมาได้ละเอียดดีมากๆครับ ขอพระขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
https://en.wikibooks.org/wiki/Harmonica/Positions

Washtub bass - เบสกะละมัง


คราวก่อนหาเครื่องเคาะจังหวะประยุกต์ที่จะใช้ในวงก็เจอการการใช้ช้อนเคาะ ค้นไปค้นมาไปสะดุดตากับเครื่องดนตรีอีกชิ้นนึง มันเด่นมาก เป็นแท่งไม้ยาวๆที่มีสายเดียวตั้งไว้บนกะละมัง ท่าดีดเมามันส์อย่างกับดับเบิลเบส มันคือ Washtub bass (วอชทับเบส อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Gutbucket) เบสที่ทำจากกะละมังซักผ้าและด้ามไม้ถูพื้นเอามาขึงเชือก เป็นการประยุกต์ทำเครื่องดนตรีเองจากของที่มีในบ้านสไตล์อเมริกันโฟล์ค บางทีผมก็เรียกเครื่องดนตรีแนวนี้ว่า เครื่องดนตรีนอกสารบบ มันมีเสน่ห์ให้น่าค้นหามากเลยทีเดียว และเป็นเครื่องดนตรีที่ถูกนำมาใช้จริงๆในการแสดงดนตรีอีกด้วย

ส่วนประกอบ แบบดั้งเดิม คือ กะละมังสังกะสี, ไม้ยาวๆสักท่อน, และเชือกอะไรก็ได้

http://washuu.net/Musical/simple.htm
วิธีทำ แบบดั้งเดิมก็ง่ายๆอย่างที่เห็นเลย คือ เจาะรูตรงกลางกะละมัง ร้อยเชือกลงไปมัดปมขัดไว้ ปลายไม้ข้างล่างให้ปากร่องตรงกลางขนาดพอๆกับขอบกะละมังจะได้วางค้ำบนขอบได้พอดี เจาะรูหรือบากร่องที่หัวไม้เอาไว้ขึงเชือก แล้วใช้ปลายเชือกอีกด้านร้อยเข้าไปที่หัวไม้แล้วทำปมขัดไว้ ปรับเชือกให้มีความตึงกำลังดี เป็นอันเรียบร้อย

ถ้ามีกะละมังเก่าๆรั่วๆที่บ้านจะเอามาทำเล่นๆดูก็ได้ ถ้าไม่มีกะละมัง จะใช้ถังสีแทนก็ไม่ใช่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสังกะสี, พลาสติก, กล่องไม้, ฯลฯ คือได้หมด ขอให้เป็นอะไรที่เป็นถังๆทึบๆ สะท้อนเสียงได้เป็นใช้ได้
แต่ว่ากันว่าการทำแบบดั้งเดิมอาจจะไม่ค่อยทนทานต่อแรงดึงสักเท่าไหร่ มันอาจจะพังได้ง่าย บางทีขอบรูที่เจาะก็อาจบาดเชือกขาดเอาบ่อยๆเหมือนกัน สมัยนี้จึงมีการใช้น็อตยึด, ทำห่วงเหล็กไว้ร้อยเชือก, ทำบานพับที่ด้ามไม้, ฯลฯ ซึ่งก็เป็นการพัฒนาต่อยอดต่อไปสำหรับคนที่ต้องการเล่นจริงจัง


วิธีเล่น ให้เอาไม้ค้ำกับขอบกะละมัง ใช้มือซ้ายจับไม้เอาไว้ เท้าข้างนึงเหยียบกะละมังกันพลิก แล้วใช้มือขวาดีดสาย โยกไม้ให้สายตึง/หย่อนเพื่อปรับโน้ตตามต้องการ ทีนี้เราก็ได้เบสทำเองไว้เล่นสนุกๆแล้ว
เดี๋ยวนี้การเล่นก็มีหลากหลายวิธีแล้วแต่จะสร้างสรรค์ บางคนก็ใช้วิธีกดสายหรือเอาขวดแก้วมารูดที่สายเพื่อเปลี่ยนโน้ตก็มี ใช้นิ้วดีดหรือใส่ถุงมือดีด(จะได้ไม่เจ็บนิ้ว)หรือใช้ไม้เคาะสายแทนการดีดก็มี ไม่มีอะไรตายตัวสำหรับเครื่องดนตรีประยุกต์นี้ สร้างสรรค์วิธีเล่นได้ตามใจชอบเลยครับ

การเล่นเบสกะละมังนี้ เอาจริงๆไม่ง่ายเลย คือเราไม่มีทางรู้เลยว่าต้องดึงตึงเท่าไหร่เพื่อให้ได้โน้ตที่ต้องการ ต้องดีดแล้วฟังอย่างเดียวล้วนๆ ต้องหูเทพขนาดไหน! มีเคล็ดลับที่คนเก่งๆบอกไว้ก็คือ ถ้าจะเล่นโน้ตเสียงต่ำๆให้ทำสายหย่อนไว้ก่อน พอดีดแล้วแล้วค่อยดึงให้ตึงขึ้นมาหาโน้ตที่ต้องการ ถ้าจะเล่นโน้ตเสียงสูงให้ดึงให้ตึงไว้ก่อน พอดีดแล้วค่อยหย่อนสายลงไปหาโน้ตที่ต้องการ หรือไม่ก็โยกขึ้นโยกลงให้เสียงวิ่งผ่านแถวๆโน้ตที่ต้องการ มันจะฟังเหมือนตรงโน้ตเองแหละ!?

แต่ไม่ต้องซีเรียสหากจะเล่นกันเองสนุกๆ แค่ดีดให้เป็นเสียงกระทุ้งกระแทกประกอบจังหวะได้ตามใจ เอาที่คิดว่าเล่นแล้วเข้ากับเพลงเป็นอันใช้ได้ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ ขอแค่เล่นแล้วสนุกก็พอ
คนที่เล่นเทพๆเขาแนะนำว่าให้ลองเปิดเพลงแล้วก็เล่นประกอบไปตามเสียงที่ได้ยิน พยายามเล่นให้เข้ากับเพลง ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะทำได้ดีเองครับ


ยังไม่เคยเห็นวงในบ้านเราเล่น Washtub bass เลยนะ ถ้ามีคนทำเล่นเป็นวงดนตรีจริงๆ น่าจะแปลกหูแปลกตาไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว ลองดูนะครับ เป็นกิจกรรมในครอบครัวที่ดีอีกอย่างหนึ่ง ที่จะได้ร้องเพลงด้วยกัน แต่คราวนี้เล่นเครื่องประกอบจังหวะที่ทำเองด้วย น่าสนุกไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว

แถม
พูดถึงเรื่องเครื่องดนตรีทำเอง ก็ชวนให้นึกถึงสมัยเด็กๆ หลายคนก็น่าจะเคยเอากระป๋องนมผงมาเคาะเป็นกลอง บางทีผมก็เอากล่องรองเท้ามาตัดให้เป็นช่องกลมแล้วเอาหนังยางเส้นใหญ่ๆหลายๆเส้นมารัดกล่องนั้นพาดหนังยางผ่านรูที่ตัดไว้แล้วดีดสนุกๆเหมือนเป็นกีต้าร์ ยังมีการเอาแกนกระดาษทิชชูมาทำเป็นไมค์ร้องเพลงด้วย โดยการเอาทิชชูห่อปิดไว้ด้านนึงใช้เอายางรัดไว้ แล้วร้องเพลงเข้าไปจากอีกด้านนึง เสียงจะก้องขึ้นเล็กน้อย เป็นการเล่นสนุกๆกับครอบครัวที่บ้านในสมัยก่อนครับ

ถ้าจะวางไมค์เพื่อรับเสียงเจ้าเบสกะละมังควรว่าตรงไหนดี?
ให้จ่อไมค์รับเสียงตรงกะละมังเลย บางทีหาอะไรมาค้ำเพื่อแงมปากกะละมังขึ้นนิดนึง อาจช่วยให้เสียงดังขึ้นได้

Washtub (กะละมังซักผ้า) มักจะมาพร้อม Washboard (กระดานซักผ้า) ที่เอาไว้ขยี้ผ้า และเมื่อเอามาทำเป็นเครื่องดนตรี Washboard จะถูกเอามาเล่นเป็นเครื่องเคาะจังหวะเหมือนกลองครับ แต่เดิมก็มักจะมาคู่กันกับ Washtub bass ในวงดนตรี


Washtub & Washboard

อ้างอิง

02 มกราคม 2566

How to play the spoons - การเคาะช้อนประกอบจังหวะ


คิดจะทำวงดนตรีอะคูสติกกันสนุกๆ ซึ่งเครื่องดนตรีพกพาก็มีส่วนตัวกันอยู่แล้วที่จะมาเล่นประสานเสียงกัน จะขาดก็แต่เครื่องเคาะจังหวะ ก็คิดว่าจะเอาอะไรมาเล่นดี เอาแบบง่ายๆหาได้ทั่วๆไป ตอนแรกว่าจะใช้ตะเกียบเคาะแบบที่เคยเห็นในวงดนตรีจีน แต่หาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้ จึงลองหาเกี่ยวกับการเคาะช้อน ปรากฏว่ามีแฮะ ไม่ใช่แค่การเคาะธรรมดาๆ แต่มีการพัฒนาเทคนิคการเล่นอย่างเป็นระบบมาแล้วด้วยครับ ซึ่งเป็นแนวทางของดนตรีอเมริกันโฟล์ค ก็เลยลองศึกษาดู และมันน่าสนใจมาก สามารถเคาะจังหวะเลียนจังหวะกลองมาตราฐานได้ด้วย เรียกได้ว่าใช้ร่วมวงได้เลยโดยไม่ต้องปรับอะไรมาก

อุปกรณ์ที่ใช้คือ ใช้ช้อน 2 คัน แค่นั้นเลย แต่ให้ดีต้องเป็นช้อนที่หนาหน่อย เสียงจะหนา และปลายด้ามบานออกจะถือได้ถนัดกว่า

ให้ถือไว้ตามรูป โดยวางด้ามช้อนไว้ที่ข้อกลางของนิ้วทั้งนิ้วชี้และนิ้วกลาง แล้วกำไว้ให้มั่น เหลือช่องว่างระหว่างหัวช้อนไว้
เคาะบนต้นขาเป็นจังหวะตก(เหมือนตบมือ) เคาะลงตามจังหวะ 1 2 3 4 ไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นพื้นฐาน ฝึกให้เกิดเสียงก่อน

จากนั้นเอามืออีกข้างมาแบไว้ข้างบนตามรูป ใช้กระทบที่อุ้มมือเป็นจังหวะยกตอนตีขึ้น ก็จะเป็น 1 ยก 2 ยก 3 ยก 4 ยก จังหวะยกเป็นจังหวะที่ขั้นอยู่ระหว่างจังหวะตบมือ

มุมในการเคาะจะทำให้เกิดเสียงพื้นฐาน 2 เสียง คือ ใช้ปลายช้อนเคาะจะได้เสียงแหลมสูง(ฉึก) ใช้หัวช้อนเคาะทั้งหัวแบบลงไปเต็มๆจะได้เสียงที่แน่นขึ้น(โป๊ะ)
เราก็เอา 2 เสียงนี่แหละมาเป็นจังหวะมาตราฐานเลียนแบบกลองได้เลย โดยให้เสียง ฉึก แทนเสียงไฮ-เฮท และเสียง โป๊ะ แทนเสียงสแนร์ โดยเคาะแบบ 1 ยก 2 ยก 3 ยก 4 ยก ก็จะได้จังหวะตามนี้

||: ฉึก ฉึก โป๊ะ ฉึก ฉึก ฉึก โป๊ะ ฉึก :||

แล้วก็วนไปตลอดทั้งเพลง

ยังมีอีกเทคนิคนึงเรียกว่า Roll คือ ใช้มือที่แบอยู่หงายขึ้นแล้วกางนิ้วออกให้กว้างที่สุด แล้วใช้ช้อนปาดเร็วๆผ่านตั้งแต่บนนิ้วชี้ลงมาถึงนิ้วก้อย ก็จะได้เสียง แกร๊กๆๆๆ เทคนิคนี้ผมคิดว่าเอามาประยุกต์ใช้เป็นช่วงท่อนส่งได้ดี อารมณ์แบบใช้แทนการรัวกลองสแนร์จังหวะส่งก่อนเข้าห้องหลักถัดไปนั่นเอง หรือจะประยุกต์ใช้แบบอื่นๆก็ได้แล้วแต่สไตล์

|| ฉึก ฉึก โป๊ะ ฉึก ฉึก ฉึก โป๊ะ แกร๊กๆๆๆ ||

โดยพื้นฐานก็ประมาณนี้ แค่จังหวะพื้นฐานเหล่านี้ก็น่าจะเอามาเล่นประกอบเพลงทั่วๆไปได้มากมายแล้วล่ะครับ

โอเค งั้น มาดูคลิปสาธิตกันดีกว่า จะได้เข้าใจมากขึ้นครับ

ในบ้านเรายังไม่เห็นมีวงดนตรีไหนใช้ช้อนเคาะประกอบจังหวะกันจริงๆจังๆแบบนี้เลยนะครับ ถ้าลองทำเป็นวงดูก็น่าจะแปลกหูแปลกตาไม่น้อยเลยทีเดียว
ในเมื่อเจออะไรดีๆน่าสนใจก็อยากจะเอามาแนะนำให้เพื่อนๆได้รู้จักกันด้วยครับ ใครเห็นแล้วชอบจะเอาไปเล่นแบบตั้งวงก็ลองดูครับ น่าสนุกอยู่นะ หรือจะเอามาเล่นเป็นกิจกรรมในครอบครัวร่วมร้องเพลงกันก็ได้ หรือจะเป็นเครื่องเคาะพื้นฐานสำหรับสอนเด็กๆในโรงเรียนก็ได้เหมือนกัน

แถม
ยืนก็เคาะช้อนได้
บางทีก็ต้องมีการปรับแต่งช้อนบ้างนิดหน่อย ถ้ามันเล่นแล้วเจ็บมือ ก็อาจต้องเอาเทปมาพันที่ด้าม หรือไม่ก็อาจต้องขัดเพื่อลบคม อะไรประมาณนี้
โดยทั่วไปนักเคาะช้อนจะนั่งเล่น ซึ่งสะดวกกว่า แล้วถ้ายืนเล่นล่ะจะเคาะแบบไหนดี? ก็เคาะแบบเดิมนั่นแหละครับ เปลี่ยนมุมเคาะหน่อยจากที่เคาะลงล่าง ก็เป็นเคาะเข้าตัว แต่ก็เคาะที่ต้นขาและใช้มือบังเหมือนเดิมครับ หรืออาจเปลี่ยนจากฝ่ามือเป็นศอกก็ได้ หรือแล้วแต่สะดวกเลยครับ

การเคาะช้อนมีการเล่นกันจริงๆจังๆด้วยนะ มาดูคลิปการดวลกันของนักเคาะช้อนขั้นเทพกันครับ

อ้างอิง