Sponsor

08 มกราคม 2566

Shape note - โน้ตรูปทรงที่ช่วยให้อ่านโน้ตสากลและเปลี่ยนคีย์ได้ง่าย


โน้ตสากลคือตัวอักษรของดนตรี เป็นการบันทึกเสียงและทำนองในรูปแบบของการเขียน สิ่งที่โน้ตสากลบอกกับผู้อ่านมี 2 ส่วนหลักๆ คือ
  1. ตัวโน้ตที่ใช้ โดยดูจากตำแหน่งที่อยู่บรรทัด 5 เส้น
  2. ทำนองเพลง โดยดูจากรูปลักษณ์ของตัวโน้ต
โน้ตสากลจึงมีประโยชน์มากเมื่อต้องเล่นเพลงที่ไม่เคยฟัง แม้ไม่เคยฟังเพลงนั้นมาก่อน แต่ถ้าอ่านโน้ตสากลเป็นก็สามารถรู้โน้ตและทำนองได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ โน้ตสากลแบบบรรทัด 5 เส้นจึงถูกใช้เป็นมาตราฐานสากลในการจดบันทึกเพลง
นอกจากโน๊ตสากลแล้ว ถ้าให้ดี พวกโน้ตตัวอักษร(และตัวเลข)แบบต่างๆก็ควรอ่านเป็นด้วย แม้โน้ตตัวอักษรจะบอกแค่โน้ตที่เล่นแต่ไม่บอกทำนอง แต่สมัยนี้ก็พอจะหาเพลงฟังทำนองได้ไม่ยาก(อาจจะแกะเพลงเองเลยก็ได้) โน้ตตัวอักษรจึงเป็นโน้ตที่สะดวกในการบันทึกอีกแบบหนึ่ง การอ่านโน้ตได้หลายแบบก็เหมือนอ่านเป็นหลายภาษา ย่อมสะดวกในการหาโน้ตเพลงมาเล่นเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครแปล

เกริ่นมายาวละ เอาล่ะเข้าเรื่องกันครับ(ฮา)
คือมันมีโน้ตสากลอีกแบบนึงครับ ที่หัวของตัวโน้ตเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น สามเหลี่ยม, ครึ่งวงกลม, ข้าวหลามตัด, ฯลฯ หัวโน้ตพวกนี้เรียกว่า Shape note เป็นโน้ตที่แต่เดิมออกแบบมาเพื่อใช้อ่านโน้ตสำหรับการร้องเพลง ช่วยให้นักร้องหาระดับเสียงได้ง่าย ผมไปเจอมาแล้วเห็นว่าโน้ตแบบนี้มันก็ช่วยให้นักดนตรีเปลี่ยนคีย์ได้ง่ายด้วย เพราะรูปทรงของมันบอกระดับดีกรีของตัวโน้ต ไม่ว่าจะอยู่ในคีย์อะไรก็ตาม ตัว Root ของคีย์นั้นจะเป็นรูปทรงเดียวกันเสมอ รวมถึงโน้ตตัวอื่นๆด้วย ดังนั้นในโน้ตบรรทัด 5 เส้นที่ใช้โน้ตรูปทรง เราจะสามารถอ่านโน้ตของคีย์ต้นฉบับได้ และแปลงโน้ตเป็นคีย์อื่นได้ทุกคีย์ในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการแปลงโน้ตเป็นคีย์ C ซึ่งเป็นคีย์ที่ควรต้องแปลงสำหรับ Harmonica และ Kalimba เพราะจะสามารถช่วยให้เล่นได้ง่ายเมื่อใช้คีย์อื่นๆ(เนื่องจากรูปแบบการเรียงโน้ตของมัน) หรือสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นคีย์ C ก็สามารถอ่านและเล่นคีย์ C ได้เลยโดยไม่ต้องเขียนโน้ตขึ้นมาใหม่หรือต้องมานั่งทดโน้ตในหัว ผมคิดว่า Shape note เป็นประโยชน์ตรงนี้ด้วยอย่างมากตั้งแต่แรกเห็นเลยครับ งั้นเรามาดูกันว่าหน้าตามันเป็นยังไง

โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด๊

นี่คือ Shape note หรือโน้ตรูปทรง ที่ใช้กันเป็นสากล ให้จำหัวโน้ตทั้ง 7 หัวเหล่านี้ และไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นคีย์อะไร ถ้าเห็นโน้ต หัวสามเหลี่ยมตั้ง เป็นอันว่านั่นคือ Root ของคีย์ ถ้าจะให้เป็นคีย์ C โน้ตหัวสามเหลี่ยมตั้ง ก็คือ โด เสมอ เป็นต้น และรูปทรงอื่นๆก็แทนโน้ตตามภาพข้างต้น แล้วลองอ่านโน้ตเพลงนี้ดูครับ


โน้ตนี้เป็นคีย์ Bb ถ้าอ่านจากบรรทัด 5 เส้นตามปกติ 2 ห้องแรกจะได้โน้ต
เทียบเป็นโน้ตตัวอักษรต่างๆ
ด=โด=C=1, ร=เร=D=2, ม=มี=E=3, ฟ=ฟา=F=4, ซ=โซ=G=5, ล=ลา=A=6, ท=ที=B=7.

| Bb BbBb Bb Bb | Bb BbBb F |~

แต่ถ้าอ่านจากโน้ตสัญลักษณ์จะได้โน้ต
โดยแปลงเป็นคีย์ C

| C CC C C | C CC G |~

เห็นมั้ย!
ถ้าดูเฉพาะหัวโน้ตรูปทรงในโน้ตสากล จะเห็นว่ามันเป็นคีย์ C โดยไม่ต้องนับบรรทัดเลย เหมือนกับว่ามันเขียนไว้ที่หัวโน้ตว่าตัวนี้เป็น โดเรมีฯลฯ ไว้แล้วด้วยรูปทรงของมันนั่นเองครับ และในขณะเดียวกันเราก็อ่านให้เป็นคีย์ต้นฉบับได้ด้วยจากการนับบรรทัดตามปกติ
Shape note มีประโยชน์มากมายทีเดียว และยังสามารถแปลงไปเป็นคีย์อื่นๆได้ด้วย เพียงแค่มองโน้ตสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นระบบ Move Do (โดเคลื่อนที่) ก็จะง่ายในการแปลงเป็นคีย์อื่นๆทุกคีย์ได้ในทันที
แต่น่าเสียดายที่โน้ตรูปทรงไม่ค่อยใช้กันแล้วในปัจจุบัน ส่วนนึงอาจเพราะตาลายสำหรับคนที่ต้องการอ่านโน้ตคีย์ต้นฉบับ ยุ่งยากในการทำ หาโปรแกรมทำยาก และไม่ได้รับความนิยม แต่ก็มีบางเว็บที่ทำโน้ตที่มีทั้งแบบโน้ตสากลแบบปกติและโน้ตรูปทรง เช่นเว็บ https://www.pdhymns.com/ ซึ่งแจกโน้ตเพลงแนว Hymn สามารถดาวโหลดโน้ตเพลงมาเล่นได้ฟรี

เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากจะให้โน้ตรูปทรงกับมานิยมอีกครั้งจังเลยนะครับ มันสะดวกสำหรับเครื่องดนตรีประเภท Diatonic ครับ

บทความนี้ก็เท่านี้ก่อนครับ
ไว้เจอกันใหม่
ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ
สวัสดีครับ ^_^

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น