Sponsor

16 มกราคม 2568

ท่ารำมวยของกองทัพจีน - ฝึกการป้องกันตัวด้วยตนเองที่บ้าน

Image by Mohamed Hassan from Pixabay

สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้จะมาแนะนำการฝึกศิลปะการป้องกันตัวที่สามารถฝึกเองได้ที่บ้านผ่านคลิปวิดิโอ เพราะเป็นท่วงท่าที่ไม่ซับซ้อนมากนักและนำไปปรับใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา ตามแนวคิดของกองทัพส่วนใหญ่ที่มักเน้นฝึกได้รวดเร็วและใช้งานได้ทันที ซึ่งท่ารำมวยของกองทัพจีนนี้น่าจะตรงตามแนวคิดนั้นพอดี (ชุดรำมวยนี้น่าจะเป็นท่ารำมวยเก่าชุดหนึ่งของกองทัพจีน คิดว่าอาจเป็นการนำวิชามวยจีนบางสำนักมาย่อให้สั้นเพื่อฝึกทหาร แต่ไม่ทราบว่ามวยอะไร วอนผู้รู้ช่วยแถลงไขในคอมเม้นต์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ) จึงอยากมาแนะนำให้สำหรับผู้ที่สนใจให้ลองนำไปฝึกฝนด้วยตนเองดูครับ ไม่ยาวมากและค่อนข้างครบเครื่องพอสมควร ไม่ว่าจะเพื่อออกกำลังกายหรือฝึกไว้ป้องกันด้วยก็ตาม ฝึกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้พื้นที่น้อย มีทั้งหมด 16 ท่า พร้อมทั้งสาธิตการนำไปใช้จริงบางส่วน งั้นก็ไปเริ่มกันเลยครับ

ท่าที่ 1-8


ท่าที่ 9-16


ขอขอบคุณเจ้าของคลิปสำหรับวิทยาทานอันทรงคุณค่ามา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

สรุปท่ารำมวยของกองทัพจีน
ท่าเตรียม ยืนตรงหน้ามองตรง แบมือไปข้างหน้า และส้นเท้าชิด จากนั้นกำหมดหันหลังมือไปข้างหน้า เท้าชิด และหันหน้า
  1. ปัดป้อง ป้องกันด้านบนและชก
  2. ฟัดและเตะ ชก
  3. ไขว้แขนป้องกันด้านบน จับดึงและเตะ
  4. ทุบ ชกหมัดเหวี่ยงและเข่า
  5. ป้องกัน ถีบออกข้าง
  6. จับ ดึง เตะตัด
  7. ป้องกันด้านบน จับขา
  8. จับ พลิกโยน
  9. ปัดป้อง ชกเสย
  10. คว้าจับ เกี่ยวลง
  11. เตะและคว้าจับข้อมือ
  12. เตะ จับล็อค
  13. ปัดป้อง ชก
  14. คว้าจับ ล็อคข้อมือ
  15. คว้าจับแขน กดคอ
  16. ล็อคแขน กดแขน
กลับมายืนตรงเป็นท่าจบ

หลังจากฝึกรำมวยได้ครบชุดแล้ว แนะนำให้ฝึกกลับด้านด้วยนะครับ คือ เมื่อฝึกด้านขวาแล้วก็ควรฝึกด้านซ้ายด้วย จะได้ถนัดทั้งสองด้าน

ทำไมต้องรำมวย?
ในการฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวนั้นแค่ฝึกท่าชกเตะต่อยให้คล่องๆโดยไม่ต้องรำมวยก็ได้ครับ หากฝึกจนชำนาญเป็นระเบียบแล้วก็ย่อมมีทักษะอย่างแน่อน ซึ่งยังไงก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไม่ว่าจะรำมวยหรือไม่รำมวย ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมต้องรำมวยด้วยล่ะ?

ท่ารำมวยเป็นท่วงท่าที่ได้รับการกลั่นเนื้อหาสาระมาอย่างครบถ้วนแล้วของกระบวนวิชานั้นๆ จึงได้มาเป็นท่ารำให้ได้เราฝึกฝน ก็เพื่อเป็นการท่องจำแนวคิดหลัก ในไทยเรียกเรียกชุดท่ารำของมวยจีนว่า มวยเส้น คือ ท่ารำที่เป็นเส้นร้อยเรียงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบตามลำดับซึ่งทำไว้ดีแล้ว (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กาตะ (Kata); ภาษาอังกฤษเรียกว่า Form หรือ Kung fu form)
ท่ารำมวยเปรียบเสมือนคัมภีร์ของวิชานั้น การรำมวยเปรียบเสมือนการท่องหรือคัดคัมภีร์เพื่อทบทวนเนื้อหา จึงเป็นส่วนเริ่มต้นที่สำคัญในการเรียนศิลปะการป้องกันตัวของจีน (กังฟู จริงๆคำว่ากังฟู แปลว่า ทักษะที่ได้จากการฝึกฝน แต่ในไทยเราใช้เรียกมวยจีน) เพราะเมื่อเราจำเนื้อหาในคัมภีร์ได้ก็สามารถหยิบทีละกระบวนท่ามาเพื่อฝึก ผสมผสาน หรือประยุกต์ต่อยอดเองสำหรับฝึกเป็นท่าใช้จริงต่อไปได้ ซึ่งท่าทั้งหมดก็หยิบมาจากท่ารำนั่นเอง หรือแม้ไม่ได้หยิบมาแยกฝึกก็ตาม การรำมวยเส้นก็เป็นการทบทวนทุกกระบวนท่าและจัดโครงสร้างที่ถูกต้องไปพร้อมๆกับการยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยก็เป็นการออกกำลังกายที่ได้วิชาติดไม้ติดมือบ้างไม่มากก็น้อย และสามารถส่งต่อวิชาได้โดยไม่ลืมท่วงท่าใด เพราะแก่นของท่วงท่าร้อยเรียงอยู่ในมวยเส้นหมดแล้วนั่นเอง ที่เหลือก็อยู่ที่ผู้รำว่าจะเข้าถึงความหมายของแต่ละท่วงท่าหรือไม่เท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องได้รับการอธิบายโดยผู้สอนว่าแต่ละท่านั้นมีแนวคิดอย่างไร หากรู้พื้นฐานทางปรัชญาตรงนี้แล้วก็สามารถนำไปพลิกแพลงต่อยอดได้หลากหลายไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนท่าใหม่หรือนำไปประยุกต์ใช้กับอาวุธต่างๆ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

ในการเรียนมวยจีนที่เป็นวิชาขึ้นชื่อทั่วไปนั้น มักจะมีท่ารำที่มีลายละเอียดซับซ้อน ดังนั้น ควรจะไปเรียนโดยมีครูผู้สอนแนะนำจะดีที่สุด เพราะจะมีรายละเอียดเรื่องการวางมือวางเท้า โครงสร้าง การก้าวเท้า การหายใจ การส่งแรง การลงน้ำหนักเท้า สมดุลการยืน ฯลฯ ซึ่งละเอียดเกินกว่าท่วงท่าที่เห็น ดูแค่คลิปแล้วทำตามอย่างเดียวไม่เพียงพอ คลิปเหมือนมีไว้ทบทวนสำหรับผู้ที่เคยเรียนมาแล้วมากกว่าครับ

แม้ในท่ารำมวยของกองทัพจีนนี้จะไม่ซับซ้อนมากและเห็นว่าพอที่จะฝึกเองผ่านคลิปได้ก็ตาม (เอาจริงๆก็แอบซับซ้อนอยู่นะ) แต่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าการวางและก้าวเท้าจะมีหลายแบบ อาจเป็นการลงน้ำหนัก 50% หรือขาใดขาหนึ่ง 70% ก็แล้วแต่ท่วงท่า ลองสังเกตและหาสมดุลที่เหมาะสมกับกระบวนท่านั้นๆดูครับ โดยทั่วไปจะลงน้ำหนักถ่ายเทไปมาอยู่ราวๆนี้ครับ

คุณธรรมที่ผู้ฝึกมวยควรมี
ผู้ที่ฝึกการต่อสู้บางครั้งย่อมมีบ้างที่อาจจะร้อนวิชา เหล่าอาจารย์มวยจึงต้องถ่วงดุลด้วยหลักการ ซึ่งได้กล่าวสั่งสอนให้ผู้ฝึกมวยจีนทุกคนถือคุณธรรม 10 ประการ
คุณธรรมภายนอก คือ ถ่อมตน, จริงใจ, มารยาท, มโนสำนึก, สัจจะ (謙誠禮義信) และ คุณธรรมภายใน คือ กล้าหาญ, อดทน, อดกลั้น, พากเพียร, มุ่งมั่น (勇忍恆毅志)
ฝึกมวยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจ หลีกเลี่ยงการต่อสู้และรักษาสันติจนถึงที่สุด หากมิอาจเลี่ยงแล้วจึงจะใช้การต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองและคนที่เรารักให้รอดพ้นอันตราย (มีไว้แต่ไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แต่ไม่มี) มิใช่เพื่อจะเอาชนะคะคานระรานกลั่นแกล้งผู้อื่น การฝึกมวยต้องบ่มเพาะคุณธรรมทั้งกายและใจไปพร้อมกัน หากไร้คุณธรรมก็เป็นแค่คนพาล

ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง
มีความสุข และปลอดภัยตลอดปีนะครับ


แถม


ท่ารำมวยหมัดตั๊กแตนเส้นสั้น

BJJ พื้นฐาน สำหรับการป้องกันตัวในท่านอน

อ้างอิง

11 มกราคม 2568

รหัสผ่านที่ซับซ้อนแข็งแกร่งจริงหรือ?

t.ly/qRKCl

แนวคิดที่แพร่หลายว่ารหัสผ่านที่ยิ่งซับซ้อนจะยิ่งแข็งแกร่งและเจาะยาก คือต้องมีตัวเลข ตัวอักษรเล็ก-ใหญ่ และสัญลักษณ์พิเศษ ซึ่งเป็นแนวจาก NIST (National Institute of Standards and Technology สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) ในสมัยปี 2003 ได้ออกมาเป็นนโยบายแนะนำเป็นแนวทาง หลายองค์กรหรือเว็บไซต์ก็บังคับให้คิดรหัสผ่านโดยต้องมีตัวเลข ตัวอักษรเล็ก-ใหญ่ และสัญลักษณ์พิเศษ อยู่ในรหัสผ่านด้วย ซึ่งสร้างความยุ่งยากและจำยาก (ยังไม่นับเรื่องนโยบายการบังคับเปลี่ยนรหัสทุกๆ 90 วันอีกนะ ซึ่งในทางปฏิบัติผู้คนมักจะเปลี่ยนไม่ต่างจากเดิมหรือเปลี่ยนแค่ตัวเดียว วุ่นวายแต่ได้ผลน้อย)

จนกระทั่งปี 2017 ทาง NIST ก็ได้ทราบว่าการบังคับให้มีตัวเลข ตัวอักษรเล็ก-ใหญ่ และสัญลักษณ์พิเศษ อยู่ในรหัสผ่านนั้น เป็นการสร้างข้อจำกัดให้รูปแบบของรหัสผ่าน แทนที่จะแข็งแกร่งขึ้นเพราะซับซ้อนแต่กลับทำให้ถูกเจาะได้ง่ายขึ้นจากโปรแกรมแบบ Brute force (เดาดิบๆทีละตัวอักษรไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอในทุกความเป็นไปได้)
จากนั้นปี 2020 NIST จึงได้ออกนโยบายใหม่ แทนที่จะแนะนำให้ใช้รหัสที่ซับซ้อนแบบนั้น NIST แนะนำให้ใช้คำที่จำง่ายๆหลายๆคำแทน เพราะรหัสผ่านที่ซับซ้อนแต่ถูกกำหนดรูปแบบเอาไว้จะอ่อนแอ แต่ความยาวของรหัสผ่านจากคำง่ายๆหลายๆคำที่เป็นอิสระย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่าจึงสร้างความแข็งแกร่งได้มากกว่า (ยิ่งถ้าได้จากการสุ่มยิ่งดี แนะนำบทความ Diceware - เทคนิคการตั้งรหัสผ่านแบบจำง่ายแต่แกะยากโดยใช้ลูกเต๋า) และจะบังคับให้เปลี่ยนรหัสผ่านเฉพาะเมื่อเกิดการละเมิดความปลอดภัยบางประการเท่านั้น ไม่ใช่ทุกๆ 90 วันเหมือนมาตราฐานเก่า

รหัสที่ซับซ้อน
ซับซ้อนแค่สำหรับมนุษย์
แต่ไม่ใช่สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์

รหัสที่ซับซ้อนอาจจะรู้สึกว่าจำยากสำหรับมนุษย์ (ยิ่งให้จำยาวๆก็น่าจะยากขึ้นไปอีกเพราะต้องจำทีละตัว) แต่ง่ายสำหรับโปรแกรมเพราะมันมองเป็นแค่อักขระตัวหนึ่งที่ต้องเดาไปเรื่อยๆตามลำดับเท่านั้น ส่วนรหัสผ่านจากคำหลายคำที่มีความหมายจะจำง่ายกว่าสำหรับมนุษย์จะให้จำสัก 4-6 คำก็อาจจะพอไหว(เพราะไม่ต้องจำทีละตัวอักษร แต่จำเป็นภาพความหมาย) แต่ยากสำหรับโปรแกรมเพราะมันไม่รู้ความหมายทำได้เพียงเดาดิบๆไปเรื่อยทีละตัวเหมือนเดิม ยิ่งยาวก็ยิ่งต้องเดานานขึ้น

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ารหัสผ่านที่ซับซ้อนจะแข็งแกร่งนั้นถูกพิสูจแล้วว่าไม่เป็นความจริง รหัสที่ยาวกว่าต่างหากที่แข็งแกร่งกว่า (จะซับซ้อนและยาวด้วยก็ได้ แต่ความยาวคือคีย์หลักของความแข็งแกร่ง)
จนถึงตอนนี้บางเว็บไซต์ก็ยังคงบังคับตามระบบเก่าอยู่ แต่ก็มีบางเว็บไซต์ก็ยกเลิกการบังคับแล้ว ซึ่งควรจะพิจารณายกเลิกบังคับทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย

สรุป
จากงานวิจัยใหม่ (จริงๆก็ไม่ใหม่แล้วนะ) คือ ไม่ควรบังคับในการตั้งรหัสผ่านว่าต้องมีอะไรบ้าง เพราะมันจะเกิดเป็นรูปแบบที่จำกัดและเดาง่ายด้วยโปรแกรม จึงควรให้อิสระหรือกำหนดแค่ความยาวขั้นต่ำของรหัสผ่านก็พอครับ

แฮ็กรหัส Wifi อย่างง่ายด้วย Kali Linux
https://coady.tech/hacking-wi-fi-with-kali-linux/

แถม
บางคนเมื่อรู้แนวคิดตรงนี้ที่ว่าควรใช้ประโยคยาวๆก็อาจเลือกใช้เนื้อเพลงที่ชอบหรือเนื้อหาจากหนังสือที่ชอบมาตั้งเป็นรหัสผ่าน ซึ่งไม่แนะนำนะครับ มันยาวจริง แต่อย่าลืมว่าโปรแกรมเจาะรหัสสมัยนี้นอกจากจะ Brute force แล้ว ก็มักจะศึกษาพฤติกรรมของเหยื่อผ่านโซลเซียลก่อน และเอาโพสต่างๆของเรามาเป็นฐานข้อมูลในการเดาด้วย ดังนั้น การเลือกรหัสผ่านเองจึงอาจถูกคาดเดาได้ในเชิงพฤติกรรมได้ ดังนั้น ทาง EFF (the Electronic Frontier Foundation) จึงแนะนำให้ใช้ชุดคำที่ได้จากการสุ่ม เช่น ระบบ Diceware - เทคนิคการตั้งรหัสผ่านแบบจำง่ายแต่แกะยากโดยใช้ลูกเต๋า มาใช้เป็นรหัสผ่านจะดีที่สุด เพราะไม่สามารถคาดการณ์เชิงพฤติกรรมได้ เพราะเกิดจากการสุ่มล้วนๆ คำต่างๆมีความหมาย ไม่ต้องจำทีละตัวอักษร จึงทำให้จำได้ง่ายกว่าแม้จะถูกสุ่มมาก็ตาม

อ้างอิง
https://pages.nist.gov/800-63-3/sp800-63-3.html
https://www.engadget.com/2017-08-08-nist-new-password-guidelines.html
https://www.wsj.com/articles/the-man-who-wrote-those-password-rules-has-a-new-tip-n3v-r-m1-d-1502124118
https://auth0.com/blog/dont-pass-on-the-new-nist-password-guidelines/

07 มกราคม 2568

ระบบสร้างรหัสผ่านแบบสุ่มด้วยเหรียญ


จากบทความ Diceware - เทคนิคการตั้งรหัสผ่านแบบจำง่ายแต่แกะยากโดยใช้ลูกเต๋า (แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม) ซึ่งเป็นระบบสร้างรหัสผ่านแบบสุ่มด้วยลูกเต๋าที่ให้ความปลอดภัยได้สูงมาก ซึ่งเป็นระบบที่ EFF (the Electronic Frontier Foundation) แนะนำให้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างรหัสผ่านส่วนตัวเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด และสอดคล้องกับแนวทางของ NIST (National Institute of Standards and Technology มาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) ในปัจจุบัน

ระบบสร้างรหัสผ่านด้วยการสุ่มเหรียญในบทความนี้ก็เป็นทางเลือกอีกระบบ บางครั้งอาจไม่สะดวกหากต้องคิดรหัสผ่านใหม่นอกสถานที่ เพราะต้องใช้ลูกเต๋าร่วมกับรายการคำศัพท์ หรือบางเว็บไซต์ยังใช้มาตรฐานเก่าที่บังคับให้ต้องมีอักขระพิเศษ ตัวพิมพ์ใหญ่ และตัวเลข รวมอยู่ด้วย (ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ปัจจุบันทราบกันดีแล้วว่าเป็นการเพิ่มข้อจำกัดของรหัสผ่าน ทำให้รหัสผ่านมีความปลอดภัยน้อยลงและเดาได้ง่าย ทางผู้เสนอแนวทางนี้ก็ได้แสดงความเสียใจไปแล้วตั้งแต่ปี 2017) แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะหากต้องการสร้างรหัสแบบสุ่มแท้? ไม่ต้องเป็นห่วง ยังมีระบบสร้างรหัสผ่านแบบสุ่มด้วยเหรียญอยู่ครับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยใช้เพียง
  1. เหรียญ 4 เหรียญ (เหรียญอะไรก็แต่แนะนำให้เป็นขนาดและชนิดเดียวกัน หรือใช้เหรียญเดียวทอยหลายรอบก็ได้)
  2. แป้มพิมพ์คอมพิวเตอร์มาตราฐาน
เราจะใช้หน้าของเหรียญเพื่อสร้างเลขฐานสอง โดยเมื่อทอยเหรียญลงพื้นแล้วให้เหรียญทางซ้ายสุดหรือบนสุดเป็นหลักใหญ่แล้วไล่รองลงมาตามลำดับ  โดย หัว = 1; ก้อย = 0

กระบวนการสร้างรหัสผ่าน
  1. สุ่มกำหนดแถวของแป้นพิมพ์ ทอย 2 เหรียญ: ก้อย-ก้อย (00) = แถวล่างสุด, ก้อย-หัว (01) = แถวถัดขึ้นมา, หัว-ก้อย (10)= แถวรองบนสุด, หัว-หัว (11) แถวบนสุด
  2. สุ่มกำหนดปุ่มในแถว ทอย 4 เหรียญ: จะได้ค่าตั้งแต่ 0 ถึง 15 (ซึ่งแปลงเลขฐานสองเป็นฐานสิบแล้ว) ใช้ตัวเลขนี้เพื่อนับปุ่มในแถวที่เลือก โดยเริ่มจากด้านซ้ายไปขวา และนับปุ่มอักษรแรกเป็น 0
    • หากค่าที่ได้มากกว่าจำนวนปุ่มในแถว ให้ทอยใหม่
    • หากต้องการได้ค่าความสุ่มระดับสูงสุด คุณควรเริ่มใหม่ตั้งแต่ข้อ 1 คือสุ่มแถวใหม่อีกครั้ง แต่ค่าเบี่ยงเบนของความสุ่มก็ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมากนัก หากจะใช้แถวเดิมก็ไม่เป็นไร
  3. สุ่มกำหนดว่าพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์เล็ก (กด Shift หรือไม่) ทอย 1 เหรียญ: เพื่อกำหนดว่าตัวอักษรจะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ (หัว) หรือตัวพิมพ์เล็ก (ก้อย) 
ตัวอย่าง
  1. ทอยครั้งที่ 1: เหรียญทางซ้าย = หัว, เหรียญทางขวา = ก้อย (10): เลือกแถวรองบนสุด (QWERTYUIOP...)
  2. ทอยครั้งที่ 2: เหรียญจากซ้ายไปขวา: หัว-ก้อย-ก้อย-หัว (1001 = 9): เลือกปุ่มลำดับที่ 9 ซึ่งก็คือ P (เริ่มนับ 0 จาก Q)
  3. ทอยครั้งที่ 3: ก้อย (0): ให้ใช้ตัวพิมพ์เล็ก (ไม่ต้องกด Shift): ดังนั้นคือตัว p
แล้วให้ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ความยาวรหัสผ่านพอกับความต้องการ (โดยมาตราฐานแนะนำที่ 10 ตัว หรือ 8-16 ตัวขึ้นไป)

ทีนี้ก็จะได้รหัสผ่านแบบสุ่มเหรียญที่ไร้รูปแบบอันเกิดจากการสุ่มแท้ จึงมีความไม่แน่นอนแบบไร้ระเบียบระดับสูงสุด การสุ่มแท้จึงทำให้เกิดรหัสผ่านที่แข็งแกร่งอย่างมากครับ
หากสงสัยว่าทำไมรหัสที่สร้างจากระบบการสุ่มแท้ถึงได้มีความแข็งแกร่งมากกว่ารหัสที่เลือกด้วยตัวเอง (แม้จะเลือกปนๆไปกันอย่างไม่เจาะจงก็ตาม) สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากบทความนี้ได้ครับ ความแข็งแกร่งของรหัสผ่าน หรือ Diceware - เทคนิคการตั้งรหัสผ่านแบบจำง่ายแต่แกะยากโดยใช้ลูกเต๋า

ระบบสุ่มเหรียญก็เป็นวิธีที่สะดวกอีกวิธีหนึ่งและได้รหัสผ่านอันแข็งแกร่งเทียบเท่ากับการใช้ระบบ Diceware แต่หากใช้ระบบ Diceware ได้จะดีที่สุด เนื่องจากเป็นคำๆ ซึ่งยาวกว่าแต่จำได้ง่ายกว่า และเป็นมาตราฐานสูงที่แนะนำในระดับสากลครับ หรืออาจใช้ผสมผสานกันก็ได้ครับ


แถม
เว็บไซต์อันดับสถิติรหัสผ่านที่ใช้กันเยอะและเจาะง่ายทั่วโลก มีอันดับเฉพาะสำหรับแต่ระประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย https://nordpass.com/most-common-passwords-list/

หากไม่สะดวกทอยเหรียญจริงแนะนำให้ทอยเหรียญผ่านเว็บ https://www.random.org/coins/ ซึ่งเป็นเว็บแบบสุ่มแท้ (True random จากสัญญาณรบกวนในบรรยากาศ ซึ่งไม่ใช่จากการสุ่มเทียมที่คำนวณด้วยโปรแกรม หรือให้มันสุ่มรหัสผ่านให้เลยก็ได้ที่ https://www.random.org/passwords/) พอจะเทียบเท่าได้กับการทอยเหรียญจริงอยู่ครับ แต่ถ้าทอยเหรียญเองจะเป็นการสุ่มแท้ที่ดีที่สุดครับ

เพราะปัญหาของการสุ่มคือ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือการสุ่ม...

ศึกษาเพิ่มเติม

03 มกราคม 2568

PulseEffects เพิ่มคุณภาพเสียงให้ Linux ด้วย Crystalizer


เดิมเคยเขียนบทความเรื่อง การเพิ่มคุณภาพเสียงบน Linux ซึ่งเป็นการปรับแต่งเชิงลึกด้วยระบบ Text แต่ครั้งนี้จะมาแนะนำวิธีที่ง่ายดายกว่านั้นด้วยการใช้โปรแกรม PulseEffects (สำหรับ PulseAudio หรือ EasyEffects สำหรับ PipeWire) ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรีสำหรับปรับแต่งเสียงบน Linux เพื่อเพิ่มคุณภาพเสียง เสมือนได้การ์ดเสียงใหม่กันเลยทีเดียว (ว่าไปนั่น ๕๕๕)
โดยเฉพาะฟังชั่นตัวชูโรงที่ชื่อว่า Crystalizer ซึ่งได้จำลองเทคโนโลยี Crystalizer ของการ์ดเสียง Creative Sound Blaster X-Fi อันโด่งดัง (สมัย X-Fi เพิ่งออกใหม่ๆคือดังมากๆ) มาให้ใช้กันฟรีๆโดยไม่ต้องมีการ์ดเสียง X-Fi ซึ่งเทคโนโลยีนี้เดิมอ้างว่าสามารถปรับปรุงคุณภาพเสียงที่ถูกบีบอัดให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นได้ เสียงออกมาจะมีช่วงไดนามิกที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น และให้เสียงที่ชัดใสกว่าเดิม

และยังมีฟังชั่นปรับปรุงคุณภาพเสียงอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น
  • EQ เอาไว้ปรับแต่งย่านเสียงเพื่อชดเชยความถี่ที่หายไปให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมหรือตามใจชอบได้เลย มีหลายย่านให้ปรับแต่งได้อย่างละเอียดมากๆ
  • Limiter จำกัดระดับเสียงให้ไม่ดังเกินระดับที่จำกัดไว้ จะได้ไม่ตกใจกับเสียงตูมตอนที่ลืมปรับโวลลุ่มลง
  • Loudness Compensator ช่วยชดเชยความถี่เสียงที่อาจสูญหายไปในระดับเสียงเบา โดยเพิ่มเสียงในย่านเบสและแหลมเพื่อให้เสียงมีความสมดุลและชัดเจนขึ้นในทุกระดับความดัง เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้งานลำโพงขนาดเล็กหรือฟังเพลงในระดับเสียงเบา
  • Auto Gain ช่วยตรวจจับเสียงเบาๆโดยอัตโนมัติ เช่น เสียงกระซิบ แล้วจะปรับให้เสียงเบาๆนั้นดังขึ้นโดยไม่ทำให้เสียงอื่นๆดังขึ้นไปด้วย
  • Reverberation เพื่อจำลองเสียงสามมิติอย่างง่าย เลือกขนาด Room หรือปรับแต่งได้ตามต้องการ
  • Bass Enhancer เพิ่มความแน่นของเสียงด้วยการเพิ่ม Harmonic ของเสียงเข้าไป เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเสียงที่แน่นขึ้น หรืออาจเป็นตัวช่วยที่ดีผู้ที่ใช้ลำโพงเล็กๆและต้องการเสียงที่แน่นกว่าเดิม
  • Convolver สามารถจำลองระบบประมวลผลเสียงต่างๆได้ เช่น Dolby Digital, Dolby Pro Logic II, Creative CMSS-3D, DTS, etc. ซึ่งระบบเหล่านี้จะสร้างเสียงรอบทิศทาง (Virtual surround) จากระบบสเตอริโอได้ (ใช่ครับ จะมีเสียงมาจากข้างหลังได้ทั้งที่มีแค่ลำโพงหรือหูฟังสเตอริโอ หากเป็นลำโพงต้องจัดวางลำโพงทั้งสองให้ขนานกันและมีระยะห่างของจุดนั่งเท่ากับระยะห่างของลำโพงจะได้ตำแหน่งที่ดีที่สุด) หรือจำลองระบบเสียงอื่นๆ เช่น Creative Sound Blaster X-Fi MB3, Tube TrueSound (แอมป์หลอดสุญญากาศ) เป็นต้น แต่ต้องใช้กำลังภายในเพื่อศึกษาและหาไฟล์ .irs ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้นะครับ หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองว่าตัวไหนมีคุณภาพอย่างไร แต่จะกล่าวถึงวิธีการใช้พอสังเขปดังนี้ เมื่อได้ไฟล์ .irs มาแล้วให้ไปที่ Home จากนั้นไปที่ .var/app/com.github.wwmm.pulseeffects/config/PulseEffects/irs แล้ววางไฟล์ .irs ไว้ในนั้น จากนั้นเมื่อจะใช้งานก็เพียงเข้าฟังชั่น Convolver แล้วกดที่รูปลูกคลื่นที่ฝั่งขวา แล้วเลือกตัวประมวลผลเสียงที่ต้องการได้เลย (ซึ่งกิน CPU เพิ่มขึ้นพอสมควรทีเดียว)
  • Crystalizer ช่วยฟื้นฟูช่วงไดนามิกและแอทแทคของเสียงที่ถูกลดทอนจากการบีบอัด เพื่อเพิ่มละเอียดที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาโดยผ่านการวิเคราะห์ทางดิจิทัล ทำให้เสียงมีความคมชัดใสมากขึ้น อิ่มขึ้น และอาจฟังดูมีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น ซึ่งค่าปรับแต่งปริยายก็ใช้ได้เป็นอย่างดี แต่หากยังไม่ชอบใจก็สามารถปรับแต่งเองได้อย่างอิสระตามสไตล์ Linux (การเปิด Aggressive Mode จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น แต่อาจทำให้เสียงไม่เป็นธรรมชาติในบางกรณี แนะนำว่าไม่เปิดดีกว่า)
  • และอื่นๆอีกมากมายลองไปเล่นกันดูครับ ปรับแต่งได้ทั้งฝั่ง Output และ Input ซึ่งหากออกเวอร์ชั่นใหม่ๆก็อาจจะเพิ่มฟังชั่นขึ้นมาอีกเรื่อยๆ
วิธีติดตั้งก็เพียงเข้าไปที่ Software Manager แล้วค้นหาชื่อ PulseEffects แล้วติดตั้งตามระบบได้เลย เป็นอันเรียบร้อย จากนั้นเปิดโปรแกรมขึ้นมาก็พร้อมใช้งานได้แล้วล่ะครับ

วิธีใช้ก็เพียงติ๊กถูกหน้าชื่อฟังชั่นที่ต้องการ โปรแกรมก็จะทำงานอยู่เบื้องหลังให้ทันที หากต้องการปรับแต่งก็เพียงคลิกที่ชื่อฟังชั่นนั้นๆก็สามารถเข้าไปปรับแต่งได้ตามต้องการ

*หมายเหตุ* บางเครื่องเมื่อเปิดเครื่องมาใหม่โปรแกรมไม่รันอัตโนมัติ ดูวิธีตั้งค่าให้รันอัตโนมัติเมื่อเปิดเครื่องทุกครั้งได้ที่ส่วนแถมท้ายบทความครับ

เท่าที่ผมได้ลองใช้ โดยเฉพาะ Crystalizer ต้องบอกว่ายังไม่เหมือนกับ Crystalizer ของ Creative Sound Blaster X-Fi ซะทีเดียว แต่ก็นับว่าทำออกมาได้ดีมาก เป็นทางเลือกที่แนะนำสำหรับชาว Linux เพราะทำให้คุณภาพเสียงส่วนใหญ่ดีขึ้นได้จริง แต่จะมากน้อยแค่ไหนหรืออย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลแล้วล่ะครับ เพราะซอร์ฟแวร์ปรับแต่งเสียงอาจทำให้บางคนก็รู้สึกว่ามันหลอกหูก็จะไม่ชอบ แต่บางคนก็รู้สึกว่าทำให้เสียงเพราะขึ้นก็จะชอบ ก็นานาจิตตังครับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ใช้การ์ดเสียงหรือลำโพงเล็กๆคุณภาพธรรมดาๆ ตัวปรับแต่งเสียงนี้ก็อาจช่วยยกระดับเสียงให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย หรือเสียงที่มิกซ์แบบ Loudness war (ซึ่งมักเจอได้บ่อย อธิบายสั้นๆ คือ เป็นการมิกซ์เสียงแบบดังเกินไปมาตั้งแต่ต้นฉบับ เพื่อให้เสียงดังแข่งกับเพลงอื่น เพราะเมื่อเปิดเพลงต่อกันเพลงที่มิกซ์เสียงดังกว่าจะเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้มากกว่า ทำให้ค่ายเพลงแข่งกันมิกซ์ให้ดังขึ้นเรื่อยๆ จนยอดคลื่นเสียงถูกคลิป ทำให้เสียงขาดไดนามิก จึงเรียกว่า สงครามเสียงดัง หรือ Loudness war) Crystalizer ก็ช่วยคืนไดนามิกขึ้นมาได้ แต่สำหรับผู้ที่ใช้ไฟล์เสียงคุณภาพสูง การ์ดเสียงชั้นดี และลำโพงเทพอยู่แล้ว การปรับแต่งเสียงด้วยซอร์ฟแวร์ก็อาจไม่จำเป็นก็ได้ครับ แต่ไม่ว่าอย่างไร PulseEffects ก็คุ้มค่า ครบเครื่อง ที่สำคัญคือฟรี จะลองสักหน่อยก็คงไม่เสียหายอะไร จึงเอามาแนะนำให้เพื่อนๆไปลองเล่นกันดูครับ

ในการฟังเครื่องเสียง สิ่งสำคัญคือต้องฟังแล้วรู้สึกสบายหูที่สุด แสดงว่านั่นเหมาะกับเราที่สุดแล้วครับ แต่ถ้าฟังไปสัก 2-3 เพลงแล้วหูล้าๆเหนื่อยๆ แบบนั้นแสดงว่าระบบเสียงนั้นไม่เหมาะกับเราครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการฟังเพลงครับ


แถม
เมื่อติดตั้งแล้วบางระบบ PulseEffects จะไม่รันอัตโนมัติ หากต้องไปเปิดโปรแกรมเองทุกครั้งที่เปิดเครื่องใหม่ซึ่งไม่สะดวกแน่ สำหรับ Zorin OS หรือ Linux Ubuntu base ให้ทำตามนี้ครับ
  1. เข้า PulseEffects กดตรงขีดสี่ขีดบริเวณมุมขวาบนเพื่อเข้าไปตั้งค่า
  2. เลือก Start Service at Login จากนั้นก็รีสตาร์ต เท่านี้บางเครื่องก็อาจจะรันเองแล้ว แต่บางเครื่องก็ไม่ (ส่วนใหญ่จะไม่) หากไม่ ก็ให้ทำตามวิธีการต่อไป
  3. เข้าไปใน Home เปิดให้โชว์ไฟล์ที่ซ่อนอยู่ (Show Hidden Files) แล้วเข้าไปในโฟลเดอร์ตามนี้ .var/app/com.github.wwmm.pulseeffects/config/autostart
  4. ก๊อปไฟล์ pulseeffects-service.desktop ไปวางไว้ที่ .config/autostart ซึ่งอยู่ใน Home เหมือนกัน
  5. จากนั้นเข้าไปในไฟล์ pulseeffects-service.desktop ด้วยโปรแกรมแก้ไขข้อความ
  6. แก้จาก Exec=pulseeffects --gapplication-service เป็น Exec=/usr/bin/flatpak run --branch=stable --arch=x86_64 --command=pulseeffects com.github.wwmm.pulseeffects --gapplication-service
ก็เป็นอันเสร็จสิ้น จากนี้เมื่อเปิดเครื่อง PulseEffects ก็พร้อมทำงานอยู่เบื้องหลังทันทีครับ

อ้างอิง