Sponsor

14 กรกฎาคม 2566

ฮาร์โมนิก้า ดูดช่อง 2 แล้วเสียงไม่ออก หรือเล่นฮาร์โมนิก้าแล้วเสียงบี้ แก้ไขอย่างไร?

https://www.wallpaperflare.com/united-states-grass-valley-harmonica-lost-and-found-urban-wallpaper-ebzao

หลายคนที่มาปรึกษาผมมีปัญหาเล่นฮาร์ปแล้วเสียงบี้ และถ้ามีปัญหานี้ก็มักจะมีปัญหาการดูดช่องที่ 2 แล้วเสียงไม่ออกร่วมด้วย เกิดจากอะไรและจะแก้ไขยังไงมาดูกันครับ
ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก การใช้ลมที่ไม่ถูกต้อง การอัดลมที่แรงเกินไปหรือใช้ปริมาณลมมากเกินไปครับ ส่วนใหญ่เกิดจากบีบช่องลมในปากให้แคบแล้วเป่าอัด หรือเกิดจากการกระแทกกระชากลมอย่างรุนแรง ลมที่อัดเข้าสู่ลิ้นเสียงมากเกินไปนี้จะฟังเหมือนเกือบจะเบนด์แต่ก็ไม่เบนด์ ทำให้เสียงบี้และเบี้ยวแทน เสียงเลยไม่ค่อยออก และอาจทำให้ฮาร์ปเสียงเพี้ยน(พัง)เร็วเกิดควรด้วยครับ

วิธีแก้ ให้ฝึกการใช้ลมอย่างถูกต้อง ด้วยการเป่า/ดูดจากกระบังลมหรือท้อง ให้ช่องคอบริเวณโคนลิ้นเปิดกว้างเหมือนตอนถอนหายใจ ให้การเป่า/ดูด เป็นการหายใจออก/หายใจเข้า ไม่เค้นลม ไม่ต้องอัดเหมือนนกหวีด ช่องในปากไม่ต้องบีบจนแคบ ผ่อนคลายให้มีพื้นที่บ้าง ตอนเล่นก็แค่ให้ลมผ่านอย่างราบรื่นเข้าไปในฮาร์ปก็พอ เป็นการประหยัดลมไปในตัว ทำให้เล่นได้สบายขึ้น
หากยังคุมลมไม่ค่อยได้ ให้ลองทำแบบนี้ควบคู่ไปด้วยเป็นการชั่วคราว คือ เมื่อเล่นช่องที่เสียงบี้หรือเสียงไม่ออก ให้ผ่อนลมออกทางจมูกตอนเป่า และให้สูดลมเข้าทางจมูกตอนดูด การทำแบบนี้จะทำให้ปริมาณลมที่ผ่านทางปากน้อยลงและบางลง เสียงจะเริ่มปกติขึ้น และให้สังเกตการผ่านของลม เมื่อจับความรู้สึกได้แล้วก็ไม่ต้องใช้วิธีนี้แล้ว ให้คุมลมเองแบบที่จับความรู้สึกนั้นได้

ใครมีปัญหาเล่นแล้วเสียงบี้ หรือดูดช่องที่ 2 แล้วเสียงไม่ออก ก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ
หวังว่าคงจะช่วยได้นะครับ

ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ
สวัสดีครับ😇

แถม
วิธีเล่น ฮาร์โมนิก้า สำหรับผู้เริ่มต้น https://cutt.ly/jazzylj-harmonica

11 กรกฎาคม 2566

The Longest Day March sheet music - โน้ตเพลง เดอะ ลองเกสท์ เดย์ มาร์ช

The Longest Day (1962)
https://www.flickr.com/photos/89093669@N00/13090384125

The Longest Day March เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง The Longest Day ในปี 1962 เกี่ยวกับการยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ที่นอร์มังดี
ทราบมาว่าเพลงนี้นิยมเล่นในวงโยธวาทิตบ้านเราด้วย ก็เอาโน้ตมาให้เพื่อนๆได้ลองเล่นกันดูครับ

https://musescore.com/user/5382926/scores/3552326


อ้างอิง

03 กรกฎาคม 2566

Dungeon Solitaire Tomb of Four Kings - เกมไพ่ตะลุยดันเจี้ยน สุสานแห่งจตุกษัตรา

https://boardgamegeek.com/image/2959185/dungeon-solitaire-tomb-four-kings

Dungeon Solitaire Tomb of Four Kings เกมไพ่ตะลุยดันเจี้ยน สุสานแห่งจตุกษัตรา เป็นเกมไพ่เล่นคนเดียวที่คิดค้นโดย Matthew Lowes ซึ่งบทความข้างล่างนี้ผมแปลจาก Rules book ต้นฉบับของเกมนี้ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ อย่างไรก็ขอให้สนุกกับการผจญภัยใน เกมตะลุยดันเจี้ยน สุสานแห่งจตุกษัตรา กันได้เลยครับ

=======

Dungeon Solitaire Tomb of Four Kings
เกมไพ่ตะลุยดันเจี้ยน สุสานแห่งจตุกษัตรา

เกมการ์ดแฟนตาซี
Written & illustrated by Matthew Lowes
Translated by Kanokkiat Harirakhansa
เขียนและภาพประกอบโดย แมทธิว โลว์ส
แปลและเรียบเรียงโดย กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา
Thai Edition 2023

Revised Edition
ฉบับปรับปรุง

Copyright (c) 2015 Matthew Lowes
All Rights Reserved

ML

บทนำ
สุสานแห่งจตุกษัตรา เป็นเกมการ์ดแฟนตาซีผจญภัย ซึ่งในแต่ละเทิร์น ขณะที่คุณสำรวจดันเจี้ยนอันมืดมิด คุณจะต้องปราบสัตว์ประหลาด ปลดกับดัก และไขประตู ระหว่างทางคุณเก็บสมบัติ เพิ่มทักษะ หรือแม้แต่ใช้เวทมนตร์ แต่ความตายกำลังรอคอยผู้ที่อยู่ในที่แห่งนี้นานเกินไป และหากคบเพลิงของคุณมอดดับลง คุณจะหลงทางอยู่ในดันเจี้ยนแห่งนี้ไปตลอดกาล เป้าหมายคือค้นหาเครื่องรางสุสานของบูรพกษัตริย์ทั้งสี่ รวบรวมสมบัติให้ได้มากที่สุด และกลับออกมาแบบเป็นๆ [เสมือนเกม NetHack ในเว่อร์ชั่นของไพ่ดีๆนี่เองแล]

การ์ดต่างๆ
2-10♠     มอนสเตอร์
2-10    กับดัก/สมบัติ
2-10   ประตูล๊อค
J♠         ท่าไม้ตาย (Go Berserk)
J♦         ปลดกับดัก
J♣         กุญแจผี
J         หลบหลีก
Q          พรแห่งเทพเจ้า
K          เครื่องรางสุสาน
A          คบเพลิงที่ดับแล้ว
Joker    ม้วนคัมภีร์แห่งแสง
2-10   พลังชีวิต

ตำแหน่งการวางการ์ด
ตำหน่งการวางการ์ดคือแผนผังมาตราฐานของเกมนี้ ส่วนบนเป็นตำแหน่งพื้นที่สำหรับวางคบเพลิงที่ดับแล้ว(A)เมื่อจั่วได้ ส่วนกลางเป็นพื้นที่สำหรับดันเจี้ยน แต่ละเทิร์นที่ลึกลงไปในดันเจี้ยนจะเป็นการเล่นจากซ้ายไปขวา แถวแนวนอนนี้จะเรียกว่าการตะลุยดันเจี้ยน(delve) การกลับขึ้นมาจากส่วนลึกของดันเจี้ยนขึ้นมาข้างบนจะเป็นการตะลุยดันเจี้ยนจากขวามาซ้าย โดยหนึ่งเทิร์นสำหรับแต่ละเทิร์นของการตะลุยดันเจี้ยนยกเว้นจุดย้อนกลับ ส่วนใต้ของพื้นที่วางดันเจี้ยน จากซ้ายไปขวาคือตำแหน่งกองการ์ดทิ้ง ไพ่นับพลังชีวิต และของที่เก็บในสัมภาระ(hand) เช่น สมบัติ เครื่องรางสุสาน(tomb hoards) การ์ดความสามารถ(skill) และม้วนคัมภีร์เวทมนตร์

แผนผังการวางการ์ดมาตราฐานของเกมนี้

การจัดเกม
ใช้ไพ่มาตราฐาน 52 ใบ และ Joker 1 ใบ นำเอาการ์ด 2-10♥ ออกมาเรียงตามลำดับตัวเลข หงายหน้าไพ่ โดยให้ตัวเลข 10 อยู่บนสุด เอาไว้นับแต้มพลังชีวิต สับไพ่ที่เหลือแล้ววางคว่ำหน้าเป็นกองกลาง แล้วเริ่มจั่วการ์ดจากใบบน

สิ่งที่ต้องเผชิญหน้าและสมบัติ
เกมนี้แบ่งเป็นเทิร์น แต่ละเทิร์น ให้คุณเล่นตามลำดับการ์ดในพื้นที่ของดันเจี้ยน เทิร์นปัจจุบันแสดงถึงสิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้าในขณะที่คุณสำรวจดันเจี้ยนอันกว้างใหญ่แห่งนี้ ให้เรียงการ์ดเป็นชั้นๆเหลื่อมกันในแถวแนวตั้งขณะที่เทิร์นนั้นยังดำเนินไป เมื่อเทิร์นนั้นจบลง กองการ์ดทั้งหมดนั้นจะคว่ำหน้าลงก่อนที่จะไปยังเทิร์นถัดไป  แต่ละเทิร์นเริ่มด้วยการจั่วการ์ดจากกองกลางไปจนกว่าการ์ดเผชิญหน้า(encounter)จะโผล่ขึ้นมา

2-10♠ , ♦ , และ ♣ เป็นทั้งการ์ดเผชิญหน้าและการ์ดปฏิบัติการ(action) ขึ้นอยู่กับว่าอะไรโผล่ขึ้นมาก่อนหลัง การ์ดที่จั่วได้ก่อนเป็นอันแรกในเทิร์นนั้นเป็นการ์ดเผชิญหน้าสำหรับเทิร์นั้น ใบที่จั่วได้หลังจากนั้นเป็นการ์ดปฏิบัติการ การชนะการเผชิญหน้านั้น การ์ดปฏิบัติการต้องมีค่าเท่ากับหรือมากกว่าการ์ดเผชิญหน้า สำหรับการ์ดเผชิญหน้า ดอกไพ่เป็นตัวกำหนดว่าเป็นการเผชิญหน้าชนิดใด คือ ♠ = มอนสเตอร์; ♦ = กับดักที่ซ่อนสมบัติ; ♣ = ประตูล๊อค สำหรับการ์ดปฏิบัติการนั้น แต้มของหน้าไพ่มีความสำคัญที่สุดเมื่อทำการเปรียบเทียบกับการ์ดเผชิญหน้า

ระหว่างเทิร์น คุณต้องจั่วการ์ดจากกองกลางหรือกองสัมภาระจนกว่าการเผชิญหน้าจะจบลง ในทันทีที่จั่วได้คบเพลิง(A)ให้วางไว้ข้างบนดันเจี้ยน และเก็บการ์ดความสามารถ(J)ใดๆก็ตามไว้ในสัมภาระ พรแห่งเทพเจ้า(Q)เมื่อจั่วได้นั้นจะถือว่าชนะการ์ดเผชิญหน้าแบบอัตโนมัติ ถ้าจั่วได้พรแห่งเทพเจ้าก่อนจะเจอการ์ดเผชิญหน้า ก็ให้จั่วต่อไปจนกว่าการ์ดเผชิญหน้าจะโผล่ออกมา จากนั้นถือว่าจบเทิร์น เครื่องรางสุสาน(K)และม้วนคัมภีร์แห่งแสง(Jk) จะถูกวางไว้ในเทิร์นเหมือนกับสมบัติ และการ์ดอื่นที่เล่น การ์ดความสามารถ(J)ที่เป็นดอกเดียวกับการ์ดเผชิญหน้าสามารถจั่วจากสัมภาระเพื่อชนะการเผชิญหน้าได้

การเผชิญหน้าสามารถจบได้หลายทาง ตามกฎสำหรับมอนสเตอร์ กับดัก และประตูล็อค ในการผชิญหน้าแต่ละครั้ง เมื่อจบเทิร์น หากชนะการเผชิญหน้า คุณสามารถเก็บการ์ดสมบัติเข้าสัมภาระได้ สมบัติรวมถึง ♦ ทุกใบที่โผล่ขึ้นมาเป็นการ์ดเผชิญหน้าหรือการ์ดปฏิบัติการ(2-10♦) รวมทั้งเครื่องรางสุสาน(K)และม้วนคัมภีร์แห่งแสง(Jk)ด้วย กองการ์ดที่เหลือให้คว่ำหน้าลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเทิร์นนั้น แต่ถ้าเทิร์นนั้นเป็นสมบัติทั้งหมด จะต้องเหลือการ์ดใบนึงทิ้งไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเทิร์นนั้น

ตะลุยดันเจี้ยน
เริ่มเกมด้วยการจั่วการ์ดจากกองกลางไปวางไว้ที่มุมซ้ายบนของพื้นที่ดันเจี้ยน นี่เป็นเทิร์นแรกของการตะลุยดันเจี้ยน ถ้าจั่วแล้วไม่ใช่การ์ดเผชิญหน้า ก็ให้จั่วการ์ดเพิ่มจนกว่าการ์ดเผชิญหน้าจะโผล่มา จั่วจนกระทั่งการเผชิญหน้าจบลง และถือว่าจบเทิร์น เทิร์นต่อไปจั่วการ์ดขึ้นมาวางไว้ทางขวาของเทิร์นแรก การตะลุยดันเจี้ยนแสดงถึงการเข้าลึกลงไปในดันเจี้ยน เล่นเทิร์นต่อไปจากซ้ายไปขวาจนกว่าคุณจะตัดสินใจหันหลังกลับและล่าถอย

แต้มพลังชีวิต
2-10♥ เรียงกันตามลำดับตัวเลขโดยให้ 10 อยู่บนสุดโดยหงายหน้าขึ้นและวางอยู่ใต้พื้นที่ดันเจี้ยน นี่คือการ์ดพลังชีวิตของคุณ เมื่อคุณถูกโจมตีโดยมอนสเตอร์หรือกับดัก การ์ดแต้มพลังชีวิตจำนวนหนึ่งจะถูกหยิบออกเท่ากับค่าความเสียหาย ความเสียหายคำนวณจากแต้มของการ์ดมอนสเตอร์หรือกับดักลบด้วยแต้มของการ์ดปฏิบัติการ เมื่อ 2♥ ถูกหยิบออก แปลว่าตายและแพ้

สัมภาระ (The Hand)
สัมภาระเป็นที่เก็บการ์ดความสามารถ(J) สมบัติ(2-10♦) เครื่องรางสุสาน(K) และคัมภีร์แห่งแสง(Jk) สัมภาระจะวางหงายหน้าไพ่อยู่ฝั่งข้างล่างขวาของพื้นที่ดันเจี้ยน ความสามารถ สมบัติ และม้วนคัมภีร์แห่งแสง สามารถจั่วจากกองสัมภาระเพื่อส่งผลปฏิบัติการต่างๆได้ ถ้าคุณรอดไปจากดันเจี้ยน พวกสมบัติ เครื่องรางสุสาน และม้วนคัมภีร์แห่งแสงจะเป็นตัวเพิ่มคะแนนตอนจบเกม

คบเพลิง
A ในกองกลางแทนคบเพลิง เมื่อใดก็ตามที่ A โผล่ขึ้นมา ถือว่าคบเพลิงได้ดับลงแล้วและให้วางการ์ด A ไว้ข้างบนของพื้นที่ดันเจี้ยนเพื่อโชว์ว่าคบเพลิงดับไปแล้วกี่อัน ถ้า A อันที่ 4 ถูกจั่วขึ้นมา คุณก็จะหลงทางอยู่ในความมืดมิดแห่งดันเจี้ยนนี้ไปตลอดกาล

ม้วนคัมภีร์แห่งแสง: Joker คือ ม้วนคัมภีร์แห่งแสง ถ้ามันโผล่ขึ้นมา ก็สามารถเก็บม้วนคัมภีร์พร้อมกับสมบัติตอนจบเทิร์นได้ ถ้า A อันที่ 4 โผล่ขึ้นมา คุณจะต้องใช้ม้วนคัมภีร์ทันทีโดยวางไว้ที่พื้นที่คบเพลิงและเอา A สอดไว้ใต้กองกลาง ม้วนคัมภีร์จะใช้ได้เพียงครั้งเดียว ถ้า A อันที่ 4 โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง คุณก็จะหาทางออกไม่ได้ไปตลอดกาล

ความสามารถ
J แทนความสามารถต่างๆ J จะเก็บเมื่อจั่วได้และอาจจะใช้ทันทีหรือเก็บไว้ในกองสัมภาระเพื่อใช้ทีหลังก็ได้ ท่าไม้ตาย(J♠) ใช้ปราบมอนสเตอร์; ปลดกับดัก(J♦) ใช้ปลดกับดัก; กุญแจผี(J♣) ใช้ไขประตู; หลบหลีก(J♥) ใช้ตอนจะเสียแต้มพลังชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย แต่ละความสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

พรแห่งเทพเจ้า (Divine Favors)
Q เป็นพรแห่งเทพเจ้าจากเทพธิดา ใช้เพื่อชนะทุกการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้น ถ้า Q โผล่ขึ้นมาก่อนการ์ดเผชิญหน้าก็ให้จั่วต่อไป เมื่อใดที่การ์ดเผชิญหน้าโผล่ขึ้นมาผู้เล่นก็จะชนะโดยอัตโนมัติ ถ้า Q 2 ใบโผล่ขึ้นมาในเทิร์นเดียวกัน ก็ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นนอกจากได้รับพรมากเป็นพิเศษในการเผชิญหน้า พรแห่งเทพเจ้าใช้ได้เพียงครั้งเดียว และคว่ำหน้าไพ่ลงในกองนั้นเมื่อจบเทิร์น

มอนสเตอร์
การเผชิญหน้ากับ 2-10♠ คือมอนสเตอร์ผู้พิทักษ์ดันเจี้ยน การ์ดปฏิบัติการจะปราบมอนสเตอร์ได้ต้องมีแต้มเท่ากันหรือมากกว่าการ์ดมอนสเตอร์ ถ้าการ์ดปฏิบัติการมีแต้มน้อยกว่ามอนสเตอร์ คุณก็จะได้รับความเสียหายเท่ากับแต้มของมอนสเตอร์ลบกับแต้มของการ์ดปฏิบัติการ การชนะการเผชิญหน้า คุณต้องจั่วการ์ดต่อไป รับค่าความเสียหายตามที่กำหนด จนกว่าคุณจะปราบมอนสเตอร์ได้ ไม่ว่าจะด้วย การ์ดปฏิบัติการ พรแห่งเทพเจ้า หรือ ท่าไม้ตาย(J♠) เมื่อคุณปราบมอนสเตอร์แล้ว ก็เก็บสมบัติและจบเทิร์น

ทิ้งสมบัติ (Treasure Drop): ถ้าคุณคิดว่าไม่สามารถเอาชนะมอนสเตอร์ได้ คุณยังมีโอกาสหนีด้วยการทิ้งการ์ดสมบัติหนึ่งใบจากสัมภาระไว้ในเทิร์นนั้น มอนสเตอร์ชอบสมบัติและทำให้มันวอกแวกได้ง่าย ซึ่งเปิดโอกาสให้คุณได้หนี ระหว่างเผชิญหน้ากับมอนสเตอร์ แทนที่จะจั่วการ์ดใบอื่นคุณสามารถทิ้งสมบัติได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณจั่วการ์ดผลของมันจะเกิดขึ้นทันที ในการทิ้งการ์ดสมบัติจะต้องมีแต้มเท่ากันหรือมากกว่าการ์ดมอนสเตอร์ (K = 10, Jk = 6) นี่เป็นการจบการเผชิญหน้า แต่การ์ดสมบัติที่คุณทิ้งจะสูญหายและไม่สามารถเก็บสมบัติได้จากเทิร์นั้น

กับดัก
การเผชิญหน้ากับ 2-10♦ คือกับดักสมบัติ คุณมีเพียงโอกาสเดียวในการผ่านกับดัก ไม่ว่าจะด้วย พรแห่งเทพเจ้า ปลดกับดัก(J♦) หรือ การ์ดปฏิบัติการใบเดียว ถ้าผ่านกับดักแล้ว เทิร์นนั้นก็จบและคุณสามารถเก็บสมบัติได้ แต่ ถ้าในเทิร์นนั้นมีแค่สมบัติอย่างเดียว คุณต้องเหลือการ์ดสมบัติทิ้งไว้ใบนึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเทิร์นนั้น ถ้าไม่ผ่านกับดัก คุณจะเสียแต้มพลังชีวิตเท่ากับแต้มกับดักลบด้วยแต้มการ์ดปฏิบัติการ เมื่อเทิร์นนี้จบลง และไม่มีการเก็บสัมบัติ การ์ดสมบัติที่โชว์อยู่จะต้องถูกคว่ำหน้าลงในกองนั้นพร้อมกับที่เหลือของเทิร์น

ประตู
การเผชิญหน้ากับ 2-10♣ คือประตูล็อค คุณสามารถเล่นการ์ดปฏิบัติการได้เพียงหนึ่งใบเมื่อพยายามเปิดประตู ถ้าประตูเปิดไม่ว่าจะด้วย การ์ดปฏิบัติการใบนึง พรแห่งเทพเจ้า หรือกุญแจผี(J♣) เทิร์นนั้นก็จบและคุณสามารถเก็บสมบัติในนั้นได้ ถ้าการ์ดปฏิบัติการล้มเหลว คุณยังสามารถใช้กุญแจผีได้ทันทีเพื่อเปิดประตู มิฉะนั้น คุณต้องทิ้งการ์ดจำนวนหนึ่งจากกองกลางเท่ากับแต้มของประตูลบแต้มการ์ดปฏิบัติการ

การ์ดทิ้ง (Discards): กองทิ้งถูกกำหนดไว้ทางด้านซ้ายของคุณใต้พื้นที่ดันเจี้ยน อย่าลืมสังเกตดูการ์ดที่จะจั่วทิ้งแต่ละใบและถ้าจั่วได้ A ก็ให้ใช้การ์ดนั้นตามกฎ[แต่ก็นับเป็นหนึ่งในการ์ดทิ้งด้วย] จากนั้นวางการ์ดทิ้งคว่ำหน้าลง การ์ดเหล่านี้จะไม่ถูกใช้อีก การ์ดทิ้งคือออกจากการเล่นไปเลย จบเทิร์น จะไม่มีการเก็บสมบัติหากประตูยังคงล็อคอยู่ สมบัติใดใดที่โผล่ขึ้นมาจะต้องคว่ำหน้าลงในกองพร้อมกับที่เหลือของเทิร์น

การล่าถอย
แต่ละเทิร์นเล่นจากซ้ายไปขวาในขณะที่คุณตะลุยลึกเข้าไปในดันเจี้ยน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณต้องหันกลับและล่าถอยหากคุณหวังว่าจะเอาชีวิตรอด เมื่อการตะลุยดันเจี้ยนเทิร์นใหม่เริ่มต้นขึ้นจะต้องเล่นให้จบเทิร์น แต่คุณสามารถตัดสินใจหันกลับได้หลังจากตะลุยดันเจี้ยนในเทิร์นนั้นจบแล้ว การตัดสินใจเริ่มการล่าถอยหรือตะลุยต่อไปจะต้องทำก่อนที่การ์ดใบแรกของเทิร์นถัดไปจะถูกเปิดขึ้นมา เทิร์นแรกของการล่าถอยจะวางไว้บรรทัดล่างโดยถัดมาทางซ้ายจากเทิร์นสุดท้ายที่เพิ่งตะลุยไป เพื่อไม่ให้เทิร์นใดอยู่ข้างใต้จุดย้อนกลับ เทิร์นล่าถอยจะเล่นเหมือนกับเทิร์นตะลุย แต่จะเล่นจากขวาไปซ้ายที่บรรทัดล่างของเทิร์นตะลุย เมื่อคุณจบเทิร์นล่าถอยที่อยู่ข้างใต้เทิร์นหนึ่งของเทิร์นตะลุย โดยไม่ตายหรือหลงทางในความมืด คุณก็ได้ออกมาจากดันเจี้ยนทั้งที่ยังมีชีวิต

คะแนนตอนจบเกม
ถ้าคุณออกจากดันเจี้ยนทั้งที่ยังมีชีวิตได้ รวมถึงสัมภาระทั้งหมด การ์ด K แต่ละใบมีค่า 10 การ์ด 2-10♦ มีค่าตามแต้มหน้าไพ่ ม้วนคัมภีร์แห่งแสงมีค่า 6 ถ้ามันอยู่ในสัมภาระของคุณ แต้มรวมอาจถึง 100 แต้มก็เป็นไปได้ คะแนนจะถูกทำเครื่องหมายด้วยตัวเลขสองตัวแบ่งด้วยเครื่องหมายทับ: จำนวนของ K / แต้มรวม ถ้าคุณได้ K 4 ใบ และรอดกลับขึ้นมาได้ ถือว่าคุณชนะเกมไปเลย โดยไม่ต้องสนใจแต้ม คูณแต้มรวมด้วย 100 เพื่อคำนวณมูลค่าสมบัติของคุณเป็นทองคำ

การแข่งขัน
เมื่อเล่นแบบเก็บแต้ม มีความท้าทายหลายอย่างให้เลือก ในการเริ่มต้น เพียงแค่เล่นเพื่อเอาชีวิตรอดพร้อมกับสมบัติให้ได้มากที่สุด ในไม่ช้าคุณจะต้องการดูว่าคุณจะสามารถหาเครื่องรางสุสานทั้งสี่และชนะเกมนี้ได้หรือไม่ มันไม่ง่าย เช่นเดียวกับเกมไพ่เล่นคนเดียว(solitaire)ส่วนใหญ่ ที่มีโชคเข้ามาเกี่ยวข้อง และคุณจะชนะเป็นบางครั้งเท่านั้น แม้ว่าคุณจะเล่นการ์ดอย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม เมื่อคุณต้องการความท้าทายเพิ่มขึ้น ให้เล่นโดยใช้แต้มรวมจากสามเกม ห้าเกม หรือ สิบเกม นี่เป็นแรงจูงใจในการเล่น แม้ว่าคุณจะไม่สามารถรวบรวมเครื่องรางสุสานได้ทั้งหมดหรือได้คะแนนสูงสุดในเกมปัจจุบัน ก็ยังมีเกมหน้าให้แก้มือ

หากคุณเป็นนักพนัน [ไม่แนะนำให้เล่นพนันนะครับ] คุณสามารถแข่งกับคนอื่นโดยใช้เงินแทนแต้ม คนที่ได้แต้มรวมสูงสุดคือผู้ชนะ แต้มของผู้ชนะลบแต้มของผู้แพ้เป็นเงินเดิมพันที่ต้องจ่าย แต่ถ้าผู้แพ้มี K ครบทั้ง 4 ใบ เงินเดิมพันเป็นอันยกเลิก คุณวางเดิมพันได้ แต่ให้รักษามิตรภาพไว้ด้วย

จิตนาการในการเล่น
เกมตะลุยดันเจี้ยนสามารถเล่นเป็นเกมไพ่ธรรมดาๆก็ได้ แต่อาจจะเพิ่มความสนุกมากขึ้นถ้าคุณจิตนาการบรรยากาศของเกมขึ้นมา ลองนึกภาพคุณยืนอยู่หน้าทางเข้าของสุสานแห่งจตุกษัตราในตำนาน ขณะที่คุณตะลุยดันเจี้ยนลึกลงไป ลองจินตนาการถึงเขาวงกตอันมืดมิดที่แผ่กิ่งก้านสาขาของดันเจี้ยนรอบๆตัวคุณ และนึกภาพการต่อสู้แต่ละครั้ง ลูกศรพิษแต่ละดอกหรือกับดักมรณะ ประตูฉาบทองหรือประตูไม้เนื้อแข็งแต่ละบาน สร้างภาพเหตุการณ์ขณะที่คุณกำลังทำการต่อสู้ มองด้วยความสนเท่ห์กับเครื่องรางสุสานอันเก่าแก่ และปลื้มปิติไปกับพรแห่งเทพเจ้าจากเทพธิดา รู้สึกถึงความพึงพอใจในการได้รับความสามารถและนำความสามารถไปใช้ได้เป็นอย่างดี รับรู้ถึงอันตรายรอบด้านจากทุกๆซอกหลืบ กลิ่นของความตาย และความสยดสยองอันน่าสะพรึงกลัวหากคบเพลิงเล่มสุดท้ายของคุณมอดดับลง ลองจินตนาการทั้งหมดนี้แล้วความสนุกจะเป็นของคุณ มันไม่สำคัญเลยว่าจะหาสมบัติได้มากมายแค่ไหน เพียงแค่ออกจากดันเจี้ยนได้อย่างปลอดภัยก็พอแล้ว

https://boardgamegeek.com/image/4056675/dungeon-solitaire-tomb-four-kings

=======

ก็จบไปแล้วกับการแปล Rules book เกม Dungeon Solitaire Tomb of Four Kings ตะลุยดันเจี้ยน สุสานแห่งจตุกษัตรา หากต้องการอ่านตัวอย่างการเล่นก็สามารถเข้าไปอ่านในส่วนท้ายของคู่มือต้นฉบับได้เลยที่ https://matthewlowes.files.wordpress.com/2016/01/dungeon-solitaire-tofk.pdf

ขอขอบคุณผู้สร้างเกมมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

แถม
ในส่วนของการตะลุยกับการล่าถอย อธิบายเพิ่มอย่างนี้ครับ คือ เทิร์นตะลุยจะเล่นจากซ้ายไปขวา ทีนี้พอจะล่าถอยก็ให้ขึ้นบรรทัดใหม่ข้างใต้เทิร์นตะลุยแล้วก็เล่นจากขวามาซ้าย โดยให้วางการ์ดเผชิญหน้าให้ตรงตามการ์ดข้างบนด้วย (ยกเว้นการใบสุดท้ายของบรรทัดบน จะไม่มีใบใดอยู่ข้างใต้ จะเริ่มวางถัดไปทางซ้ายใบนึง) พอจบเทิร์นที่อยู่ตรงกับเทิร์นแรกของบรรทัดบน ก็ถือว่าออกมาจากดันเจี้ยนได้สำเร็จ ประมาณนี้ครับ ลองย้อนกลับไปดูรูปของแผนผังและทำความเข้าใจตรง Turn 7, Turn 8, และ Current Turn ดูครับ

คู่มือช่วยมือช่วยเล่นอย่างย่อ เพื่อใช้ทำความเข้าใจและทบทวนการ์ดต่างๆอย่างรวดเร็วขณะเล่น

https://boardgamegeek.com/filepage/161760/player-aid-card-double-sided

ยังมีเกมไพ่ที่น่าสนใจอีกมากมายซึ่งรวมรวมไว้ที่บทความไพ่เล่นเกมอะไรได้บ้าง ลองเข้าไปหาเกมอื่นๆมาเล่นสนุกๆด้วยไพ่สำรับเดียวกันได้เลยครับ

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

02 กรกฎาคม 2566

Royal Assassin - นักฆ่าแห่งวังหลวง

https://boardgamegeek.com/image/2826416/royal-assassin

Royal Assassin นักฆ่าแห่งวังหลวง เป็นเกมไพ่เล่นคนเดียว มีระบบเกมที่น่าสนใจ และสนุก นานๆทีจะเจอเกมที่ให้ Joker มีบทบาทกับเขาบ้าง และเป็นบทเด่นซะด้วย ระบบของเกมนี้ถูกนำไปปรับใช้กับอีกหลายเกม เช่น เกม Lübeck เป็นต้น โอเค งั้น เรามาเริ่มกันเลยล่ะกันครับ

=======

Royal Assassin
นักฆ่าแห่งวังหลวง
By Mark R. Brown
Translated by Kanokkiat Harirakhansa
แปลและเรียบเรียงโดย กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

เนื้อเรื่อง
กษัตริย์บิดาของท่านได้รวมแคว้นเล็กๆสี่แคว้นเข้าด้วยกันเป็นราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ตอนนี้กษัตริย์บิดาท่านสวรรคตแล้ว อดีตตระกูลเจ้าแคว้นเหล่านั้นกำลังวางแผนที่จะแย่งชิงบัลลังก์ที่เป็นความชอบธรรมของท่าน ท่านมีจำนวนน้อยกว่า แต่ในการต่อสู้เพื่อจะเอาชนะตระกูลเหล่านั้น ท่านมีพันธมิตรที่ทรงพลัง ซึ่งก็คือ จำอวดหลวงของท่าน โจ๊กเกอร์ นั่นเอง ผู้เป็นสหายและที่ปรึกษาของบิดาท่านซึ่งมักจะเป็นมากกว่าที่เขาดูเหมือนจะเป็นเสมอ เขามีทักษะสูงในการวางอุบายในราชสำนัก และสามารถช่วยทำให้ตระกูลเหล่านั้นต่อต้านกันเองเพื่อที่ท่านจะรักษาบัลลังก์ของท่านไว้ได้ เขาเป็นอาวุธลับ เป็นนักฆ่าแห่งวังหลวง!

การจัดเกม
ใช้ไพ่มาตราฐาน 52 ใบ กับ Joker 1 ใบ
ไพ่ตัวเลข 2-10 จะมีแต้มตามเลขหน้าไพ่, A=11
ไพ่หน้าคน(ราชวงศ์) J=11, Q=12, K=13
  • นำ Joker ออกมาวางหงายหน้าไพ่เอาไว้ แล้วสับไพ่ที่เหลือ จากนั้นก็วางสำรับไพ่คว่ำหน้าไว้บนโต๊ะ เป็นกองกลาง
  • เปิดไพ่จากกองกลางครั้งละใบ ถ้าเจอการ์ดตัวเลข(รวมถึง A) ให้วางโดยหงายหน้าไพ่วางไว้อีกส่วนหนึ่งเป็นกองสำรอง หากจั่วได้ไพ่หน้าคน ให้วางเปิดหน้าไพ่ไว้กลางโต๊ะ โดยเรียงเป็นชุดตามดอกไพ่
  • หากมีไพ่หน้าคนวางอยู่กลางโต๊ะแล้ว หากตาต่อไปจั่วกองกลางได้ไพ่ตัวเลข(ไม่รวม A) ถ้าเลขนั้น เท่ากับ หรือ น้อยกว่า จำนวนไพ่หน้าคนที่วางเปิดหน้าไพ่อยู่ ถือว่าจัดเกมเสร็จแล้ว เมื่อจัดเกมเสร็จตรงกลางโต๊ะจะมีไพ่หน้าคนตั้งแต่ 2-10 ใบ

การเล่น
  • เปิดหน้าไพ่ทีละใบจากกองกลางแล้วนำไว้วางไว้ ณ จุดที่กำหนดให้เป็นที่วางกองสำรอง
  • เมื่อเปิดได้ไพ่หน้าคน ให้วางเรียงแถวตามดอกไพ่
  • เมื่อเปิดได้ไพ่ตัวเลข คุณสามารถใช้โจมตีไพ่หน้าคนที่เกยทับอยู่ข้างบนสุด(ไพ่ที่ต่อลงมาตอนล่าง เรียกว่าผู้ท้าชิง(Pretender))ในแถวของไพ่หน้าดอกไหนก็ได้ที่เป็นดอกคนละสีกับไพ่ตัวเลข[ดอกดำใช้โจมตีแดง ดอกแดงใช้โจมตีดำ] การฆ่าผู้ท้าชิงได้สำเร็จนั้นคุณต้องโจมตีด้วยไพ่หลายใบที่แต้มรวมแล้วเท่ากับหรือมากกว่าแต้มของผู้ท้าชิง
  • เมื่อมีการโจมตี ผู้ท้าชิงสามารถทำการป้องกันได้โดยหยิบไพ่ที่อยู่บนสุดจากกองสำรองที่เป็นดอกเดียวกันกับไพ่ผู้ท้าชิงเท่านั้น [ถ้าไม่มีดอกเดียวกันก็ใช้ไม่ได้] ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆตราบเท่าที่แต้มรวมของไพ่ป้องกันน้อยกว่าหรือเท่ากับไพ่โจมตี
  • การเปิดการโจมตีจะต้องเริ่มจากไพ่ที่จั่วจากกองกลางเสมอ และสามารถโจมตีต่อเนื่องได้ด้วยการใช้ไพ่บนสุดจากกองสำรอง แต่ถ้าไม่มีไพ่ให้ใช้โจมตีต่อ ผู้ท้าชิงสามารถใช้ไพ่บนสุดของกองสำรองเป็นการ์ดป้องกันได้ก่อน
  • คุณสามารถโจมตีแถวของไพ่หน้าด้วยดอกไพ่สีตรงข้ามได้ครั้งละหนึ่งดอกเท่านั้น [เช่น ถ้าคุณโจมตีหัวใจด้วยดอกจิก คุณก็จะไม่สามารถโจมตีหัวใจด้วยโพดำได้ คือใช้ดอกไหนโจมตีแล้วก็ต้องใช้ดอกนั้นโจมตีต่อเท่านั้น] และก็ไม่สามารถโจมตีสองแถวด้วยดอกเดียวกันได้ [เช่น คุณไม่สามารถโจมตีแถวของ หัวใจ และ หลามตัด ทั้งสองแถวนั้นด้วยดอกจิกได้]
  • เมื่อผู้ท้าชิงถูกฆ่า ทั้งไพ่ผู้ท้าชิง ไพ่โจมตี และไพ่ป้องกัน จะถูกหยิบออกคว่ำหน้าลงในกองทิ้ง ไพ่หน้าและไพ่โจมตีหรือไพ่ป้องกันใดๆก็ตามที่ถูกเกยทับอยู่(ไพ่ที่อยู่ตอนบน)จะยังคงอยู่และใบหน้าที่เกยทับอยู่ที่เผยออกมา(ไพ่หน้าอะไรก็ตาม)ก็กลายเป็นผู้ท้าชิงรายใหม่ของดอกไพ่นั้น
  • เมื่อไรก็ตามที่การรวมกันของไพ่โจมตีและป้องกันที่ทับบนผู้ท้าชิงมีแต้มเท่ากัน หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ผลรงมทั้งหมดของไพ่ป้องกันมากกว่าผลรวมของไพ่โจมตี ไพ่ทั้งหมดเหล่านั้นให้หยิบไปวางที่กองทิ้ง
  • ถ้าไพ่เลขที่เปิดขึ้นมาจากกองกลางไม่สามารถใช้โจมตีได้ ให้วางไว้ที่กองสำรอง
  • ถ้าผู้ท้าชิงกำลังอยูภายใต้การโจมตี แล้วจั่วจากกองกลางได้ไพ่หน้าใบหม่ที่เป็นดอกเดียวกัน ให้วางไพ่หน้าใบใหม่นั้นต่อทับลงไปในแถวนั้นเลยและถือว่าเป็นการขัดขวางการโจมตีไปในตัว และไพ่หน้าใบใหม่นั้นก็กลายเป็นผู้ท้าชิงคนใหม่  ซึ่งผู้ท้าชิงคนใหม่ต้องถูกฆ่าก่อนจึงจะทำการโจมตีผู้ท้าชิงคนก่อนต่อจากเดิมได้

The Joker
  • เมื่อใดที่คุณทำการโจมตีผู้ท้าชิงในแถวที่มีไพ่หน้ามากกว่า 1 ใบ คุณสามารถวาง Joke (นักฆ่าราชสำนัก) กำหนดไว้เหนือแถวของดอกนั้น (ถ้า Joker ยังไม่เคยถูกนำมาใช้) ถ้าผู้ท้าชิงในแถวนั้นถูกฆ่า ไพ่หน้าทั้งหมดในแถวนั้นก็ตายหมดทั้งแถว ไพ่ Joker หากกำหนดลงแถวไหนแล้วจะไม่สามารถย้ายไปแถวอื่นได้จนกว่าแถวนั้นจะตายหมดก่อน

จบเกม
  • ถ้าคุณฆ่าไพ่หน้าที่จั่วมาเปิดอยู่กลางโต๊ะได้จนหมด คุณชนะ (แม้ว่าจะมีไพ่หน้าในกองกลางที่ยังไม่ได้จั่วเหลืออยู่ก็ตาม)
  • ถ้าคุณจั่วไพ่กองกลางจนหมด แต่ไม่สามารถฆ่าไพ่หน้าทั้งหมดได้ คุณแพ้
  • ถ้าคุณแพ้ ผู้ท้าชิงที่อยู่กลางโต๊ะที่แข็งแกร่งที่สุด ระดับสูงที่สุด หรือมีไพ่ที่อยู่เบื้องหลังใหญ่ที่สุด จะเป็นผู้ชนะ และกลายเป็นผู้ครองราชอาณาจักรแทนคุณ ถ้าผู้ท้าชิงที่เหลืออยู่มีแต้มเท่ากันหมด อย่างนั้นละก็ Joker ก็เป็นผู้ครองบัลลังก์

กฎทางเลือก [จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้]
  • เล่นด้วย Joker 2 ใบ โดยใส่ทั้ง 2 ใบลงในกองกลางแล้วสับไพ่ตามปกติ จะใช้ Joker ได้ก็ต่อเมื่อจั่วขึ้นมาได้ [กฎนี้แนะนำ จะได้สะดวก ไม่ต้องคัด Joker ออกมาก่อนเล่น]
  • ระหว่างจัดเกม จะเปิดการ์ดจนกว่าจะได้ไพ่หน้า 4 ใบ หรือจนกว่าจะถึงจำนวนที่กำหนด
  • A มีค่า 11 แต้ม เมื่อใช้ครั้งแรก จากนั้นจะกลายเป็น 1 แต้มทันที
  • ถอดและทิ้งไพ่จากคอลัมน์เมื่อแต้มโจมตีเท่ากับแต้มป้องกันเท่านั้น
  • วางผู้ท้าชิงคนใหม่ต่อท้ายไพ่โจมตีและป้องกันที่มีอยู่แล้วในแถวนั้น
  • เมื่อใช้ Joker แล้วแถวนั้นถูกฆ่า ให้ Joker เข้าสู่กองทิ้งด้วย
  • สามารถเล่นต่อไปได้โดยการพลิกกองสำรองและใช้เป็นกองกลางจนกว่าจะเล่นไม่ได้
จำอวดหลวงผู้เป็นอาวุธลับ นักฆ่าแห่งวังหลวง
https://boardgamegeek.com/image/2965501/royal-assassin

=======

วิธีการเล่น อาจจะดูเหมือนซับซ้อนสักหน่อย แต่ให้ลองทำความเข้าใจช้าๆดูสักสองสามรอบ หรืออาจจะลองเล่นดูเลย ก็พอเข้าใจได้แล้วล่ะครับ เป็นเกมที่สนุกและน่าตื่นเต้นดีทีเดียวล่ะครับ

ขอยกตัวอย่างวิธีการโจมตีและการป้องกันเพิ่มเติม
สมมติว่าเราโจมตีไพ่ Q ซึ่งมีแต้มคือ 12 แต้ม สมมติว่าเราจั่วจากกองกลางได้ไพ่ 7 (ซึ่งเป็นดอกคนละสีกับไพ่ Q) นำมาวางทับต่อจาก Q นั้นได้เลยเป็นการโจมตี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Q=12 ถูกโจมตีด้วย 7  ทำให้ Q=12-7=5 คือเหลือ 5 แต้ม ตาต่อไปเป็นการป้องกัน ให้ดูไพ่บนสุดของกองสำรอง ถ้ามีดอกเดียวกับ Q ก็หยิบออกมาวางทับต่อจากไพ่โจมตีนั้นเลยเป็นการป้องกัน สมมติว่าได้ไพ่ป้องกันเป็นไพ่ 3 เมื่อนำมาวางต่อ ตอนนี้ Q ที่เหลือ 5 แต้ม ก็จะกลายเป็น Q=5+3=8 แต้ม จำง่ายๆว่า ไพ่โจมตีใช้ลบแต้มของผู้ท้าชิง ไพ่ป้องกันใช้บวกแต้มของผู้ท้าชิง(ใช้บวกแต้มได้ต่อเมื่อโดนโจมตีเท่านั้น) เมื่อแต้มเป็น 0 หรือต่ำกว่านั้นก็ถือว่าตาย และถ้าจะโจมตีต่อเนื่องก็ดูไพ่บนสุดของกองสำรองถ้าบังเอิญเป็นไพ่ดอกเดียวกับที่ใช้โจมตีก็โจมตีต่อเนื่องได้ ก็ทำการโจมตี/ป้องกันสลับวนไปจนกว่าจะไม่มีไพ่ในกองสำรองให้โจมตีอีก ก็ให้เริ่มหยิบจากกองกลางอีกครั้ง
ประมาณนั้นครับ ลองวิเคราะห์ดอกไพ่จากรูปประกอบบนสุดดู แล้วก็วิเคราะห์ดอกไพ่เรื่องการโจมตีและการป้องกันด้วย ก็น่าจะพอเข้าใจแล้วครับ

หากอยากอ่านการเล่นและการยกตัวอย่างแบบละเอียด ให้ดูที่นี่ครับ https://thesoloboardgamer.com/royal-assassin/
Rule book ของเกม Royal Assassin สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่ https://www.dropbox.com/s/l9p5ovd9315tayf/Royal%20Assassin%20PocketMod.pdf

ยังมีเกมไพ่น่าสนใจอีกหลายเกมให้เล่นทั้งแบบเล่นคนเดียวและหลายคน ดูสารบัญบทความได้ที่ไพ่เล่นเกมอะไรได้บ้าง?

https://www.wallpaperflare.com/two-joker-playing-cards-deck-bicycle-magic-cards-text-close-up-wallpaper-ahphj

อ้างอิง