Sponsor

03 พฤศจิกายน 2554

Harmonica Basic Chord Guide - แนะนำการเล่นคอร์ดเบื้องต้นของฮาร์โมนิก้า

สวัสดีครับเพื่อนๆ ครั้งนี้ประเทศไทยโดนธรรมชาติน้ำท่วมหนัก ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องและญาติพี่น้องของทุกๆคนนะครับ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจและผ่านพ้นภัยธรรมชาติครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง

เนื้อหาในคราวนี้ได้ทำเรื่องคอร์ดเบื้องต้นอีกครั้งนึง เนื่องจากข้อมูลเดิมที่เคยเขียนไว้ใน https://jazzy.pantown.com/ นั้นหายไปครับ และก็เป็นจังหวะดีที่จะแก้ไขเนื้อหาใหม่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น(อันหลังนี้พูดให้ดูดีครับ ฮา) ไปดูกันเลยดีกว่าครับ

หมายเหตุ
123 หมายถึง เป่าช่องที่ 1, 2 และ3 พร้อมกัน
-1-2-3 หมายถึง ดูดช่องที่ 1, 2 และ3 พร้อมกัน
bb หมายถึง เบ้นดิ้งโน้ตลงหนึ่งเสียง

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่
C=โด D=เร E=มี F=ฟา G=โซ,ซอล A=ลา B=ที

Harmonica ที่ใช้คือ 10 ช่อง คีย์ C จะได้เสียงคอร์ดตรงกับเครื่องดนตรีมาตราฐานแล้วครับ เพื่อนๆสามารถเทียบชื่อคอร์ดและช่อง ก็สามารถนำไปเล่นได้เลยครับ โดยตำแหน่งที่นิยมเล่นผมได้ทำตัวหนาไว้ให้แล้วครับ


หมายเหตุ บทความต่อจากนี้อาจทำให้ปวดหัวจนถึงขั้นนอนซมได้! ใครสนใจศึกษาก็สามารถอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ควรเตรียมยาแก้ปวดไว้ด้วยนะครับ (ฮา)หากไม่ต้องการปวดหัวจากการอ่านบทความต่อจากนี้ก็สามารถข้ามไปที่แบบฝึกหัดท้ายบทได้เลยครับ (ฮา)
============================

ทีนี้เรามาลงลึกเกี่ยวกับคอร์ดกันอีกสักนิดครับเพื่อความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์เองได้ต่อไปครับ
คอร์ดในทางดนตรีหมายถึงกลุ่มโน้ตตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป อย่างเช่น คอร์ด C ก็จะมีโน้ต C E G (โด มี โซ) เป็นกลุ่มโน้ตที่เล่นออกมาประสานเสียงกัน (รายชื่อโน้ตในคอร์ดได้ให้ไว้แล้วในตารางครับ)
โดยตัวคอร์ดนั้นไม่ได้สนใจว่าโน้ตไหนจะสูงหรือจะต่ำ เพียงแค่ขอให้มีโน้ตตามสูตรก็เพียงพอ เช่น จะเล่นคอร์ด C เป็น CEG, EGC, GCE หรือจะสลับกันยังไงก็ได้ครับ ก็ยังถือเป็นคอร์ด C อยู่นั่นเอง(ถ้าอยากรู้ว่าหาโน้ตในคอร์ดยังไง ต้องศึกษาสูตรคอร์ดครับ ซึ่งค่อยข้างลงไปลึกพอสมควร ยังไม่ขอพูดถึงในที่นี้นะครับถ้าสนใจสามารถศึกษาได้จาก ทฤษฎีดนตรี ครับ) อย่างเช่นกีต้าร์ 6 สาย เวลาเล่นคอร์ด C กีต้าร์ก็จะเล่นโน้ต C E G C E G สายละโน้ตจนครบทุกสายเสียงสูงต่ำต่างกันไป ในคอร์ด C ก็มีโน้ตเท่านี้แหละครับ ให้ดีดคอร์ด C ทีละเส้นเสียงที่ได้ก็ไม่พ้นโน้ต โด มี โซ ครับ ไม่ว่าจะมีกีสิบสายก็เล่นคอร์ด C แค่ 3 โน้ตนี้ครับ ถ้าเป็นวงโยทวาธิตก็แบ่งโน้ตกันเป่าครับจะเล่นกี่เสียงสูงต่ำยังไงก็ได้ของให้มีโน้ตตามนี้เท่านั้นเอง
แล้วคราวนี้เพื่อนๆอาจจะเห็นว่าถ้าคอร์ดคือการเล่น 3 โน้ตประสานกันแล้วในตารางคอร์ดนั้นมีบางคอร์ดที่เล่นแค่ 1-2 โน้ต หมายความว่าอย่างไร? ใน Harmonica นั้นบางคอร์ดเราไม่สามารถเล่นให้สมบูรณ์ได้ครับเพราะติดข้อจำกัดเรื่องการเป่า-ดูด อย่างเช่นคอร์ด F = F A C เราสามารถดูดช่อง 5 และ 6 ได้ซึ่งเป็นตัว F กับ A แต่เราไม่สามารถเป่าโน้ต C ไปพร้อมๆกันได้(เป่าพร้อมดูดไม่ได้) หากต้องเล่นเสียงประสานก็จำเป็นต้องตัดบางโน้ตออกไปครับ บางครั้งถ้าโน้ตหลักที่เป็นชื่อคอร์ด(Root)ไม่สามารถประสานเสียงไปพร้อมกับโน้ตอื่นได้บางทีก็เล่นแต่โน้ตRootอย่างเดียวก็ได้ครับ เช่น Am = A C E โน้ต C E สามารถเป่าเล่นพร้อมกันได้ แต่โน้ตหลักคือโน้ต A เล่นพร้อมกันไม่ได้ซะด้วยสิเพราะเป็นโน้ตดูด ก็ต้องเลือกครับว่าจะเล่น A ตัวเดียว หรือจะเล่นแค่ C E โดยไม่มีโน้นหลัก ถ้าเล่นรวมวงมักจะมีเครื่องดนตรีอื่นที่เล่นโน้ตหลักอยู่แล้ว(อย่างกีต้าร์ หรือเบส) เราอาจจะตัดโน้ตหลักได้ แต่ถ้าเล่นคนเดียวก็เลือกเอาได้ครับจะประสานเสียงหรือจะเล่นโน้ตหลักแค่ตัวเดียว แบบไหนก็ได้ครับ ยังมีอีกวิธีครับคือการเล่นแบบกระจายโน้ตหรือภาษาดนตรีเรียก Arpeggio(อาร์เปจิโอ้) ด้วยวิธีนี้ทุกเครื่องดนตรีก็สามารถเล่นคอร์ดได้ไม่ว่าจะเป็น Saxophone, Trumpet, Violin ฯลฯ ก็คือเล่นโน้ตในคอร์ดทีละตัวเลยครับ(คล้ายๆการเกากีตาร์) มีในแบบฝึกท้ายบทความครับ

หรือถ้าต้องการเล่นคอร์ดที่ไม่มีอยู่ในคีย์ เช่น คอร์ด Cm = C Eb G ในฮาร์ปคีย์ C ไม่มีโน้ต Eb ให้เล่น ตรงจุดนี้จำเป็นต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า Tongue Blocking ใช้ลิ้นอุดเพื่อเล่นแค่โน้ต C G โดยอุดช่อง E เอาไว้ (หรือจะเล่นแค่โน้ตRoot คือ C ตัวเดียวก็ได้) บางครั้งก็เล่น Cต่ำ และ Cสูง พร้อมกันโดยลิ้นอุดช่องอื่นๆให้หมด เทคนิคเล่นคู่สูงต่ำ(คู่8) สามารถประยุกต์เล่นได้ทุกคอร์ดครับ วิธีนี้ทำให้สามารถเล่นคอร์ดที่ไม่มีในคีย์ได้ด้วย ดูที่ Tongue Blocking Harmonica - เทคนิคการเล่นโน้ตคู่ หรือถ้ารู้จักวิธีใช้คอร์ดแทนก็สามารถใช้ตารางข้างต้นเล่นคอร์ดอื่นๆได้อีกมากมาย ซึ่งวิธีการใช้คอร์ดแทนให้ศึกษาทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมครับ

หากเป็นฮาร์ปคีย์อื่นๆก็ให้ทดชื่อคอร์ดไปตามบันไดเสียงของคีย์นั้นๆได้เลย ส่วนตำแหน่งการเล่นของลำดับคอร์ดนั้นเหมือนกัน หรือให้ง่าย แนะนำว่า ควรแปลงชื่อคอร์ดคีย์นั้นๆให้เป็นคีย์ C แล้วค่อยเอาคีย์นั้นๆมาเล่นโดยสมมุติว่าเป็นคีย์ C (เรียกว่าแนวคิด Moved Do หรือ โดเคลื่อนที่)จะสะดวกกว่าครับ จะได้ไม่ต้องจำชื่อคอร์ดเยอะ เพราะถ้าเจอชื่อซ้ำจะงง หรือจำชื่อคอร์ดเป็นลำดับแบบเลขโรมัน คือ I ii iii IV V vi vii ตามลำดับจากซ้ายไปขวาแทนลงในตารางคอร์ดไปเลยก็สะดวกไปอีกแบบ ซึ่งตัว I ก็คือ คอร์ดแรกของคีย์นั้นๆ คอร์ดที่เหลือก็ไปตามลำดับบันไดเสียง อันที่จริงก็ไม่ต่างจากการแปลงเป็นคีย์ C เพราะคอร์ด I ในคีย์ C ก็คือ C และคอร์ดต่อไปก็ไปตามลำดับเหมือนในตาราง ถ้าเป็นคีย์ G คอร์ด I ก็คือ คอร์ด G และคอร์ดต่อไปก็ไปตามลำดับของบันไดเสียง G ซึ่งคอร์ด G หรือคอร์ด I ของฮาร์ปคีย์ G ก็เล่นตำแหน่งเดียวกับคอร์ด C ในตารางนั้นเอง(เพราะเป็นคอร์ดที่ 1 หรือ I ของคีย์) และคอร์ดลำดับถัดไปก็ใช้ตำแหน่งเดียวกันกับในตาราง มันก็จะดูงงๆหน่อยเพราะในคีย์ C ก็มีคอร์ด G และในคีย์ G ก็มีคอร์ด G ชื่อคอร์ดซ้ำกันแต่คนละตำแหน่งการเล่น นี่แหละครับ คือเหตุผลที่ควรแปลงคอร์ดที่จะเล่นให้เป็นคีย์ C ก่อนแล้วค่อยเอาฮาร์ปคีย์ G มาเล่นโดยสมมติว่ามันคือคีย์ C แล้วเสียงที่ออกมาจะตรงกับคีย์ G เองโดยที่เราในเล่นตำแหน่งเดียวกันนั่นเองครับ ด้วยวิธีนี้ทำให้เราสามารถเล่นฮาร์ปได้ทั้ง 12 คีย์ โดยจำแค่คีย์ C อย่างเดียว ดูวิธีการเปลี่ยนคีย์ได้ที่ การเปลี่ยนคีย์เพลงอย่างง่าย

============================


เริ่มมึนกันฤยังครับ ผมรู้สึกว่าจะเริ่มเยอะจนตาลายซะแล้วสิครับ(ฮา) ข้อมูลข้างต้นนั้นเป็นที่มาของตำแหน่งคอร์ดต่างๆบน Harmonica ครับ แต่ถ้าอ่านแล้วมึนก็ไม่ต้องสนมันก็ได้ครับ(ฮา) เล่นตามโน้ตในคอร์ดกับตารางที่แนบมาก็สามารถเล่นคอร์ดได้แล้วครับ

พักจากความมึนมาที่แบบฝึกหัดกันดีกว่าครับ แบบฝึกครั้งนี้เป็นลักษณะของการเล่นชุดคอร์ดมาตราฐาน 12 bar Blues แบบ Cross Harp ครับ ซึ่งเป็นการเล่นไขว้คีย์ โดยจะเอาฮาร์โมนิก้าคีย์ C มาเล่นคีย์ G ครับ ซึ่งจะลงรายละเอียดในบทความหน้านะครับ วันนี้มาเล่นคอร์ดกับฮาร์โมนิก้าคู่กาย ผ่อนคลายเพิ่มพลังใจแล้วค่อยลุยปัญหากันต่อไปครับ
สวัสดีครับ ^_^

พอเข้าใจทางคอร์ดแล้วก็คิดจังหวะเองได้ตามใจชอบเลยครับ แบบง่ายๆคือใช้จังหวะกลอง หรือลองดูแบบฝึกจังหวะริธึ่มฮาร์ปแล้วเอาไปใช้กันได้เลย หรือจะเล่นทำนองพร้อมคอร์ดด้วยฮาร์ปตัวเดียวก็ทำได้

เล่นแบบควบคอร์ด

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

เล่นแบบกระจายโน้ต(Apegio)
คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

หากได้ประโยชน์จากบทความนี้
แล้วอยากจะเลี้ยงน้ำชา ข้าวผัด หรือมอบสินน้ำใจเป็นค่าครู
สามารถสนับสนุนได้ที่

ธนาคารกรุงไทย
9090619704
กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจนะครับ
ขอบคุณครับ🙏😇

ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ ^_^

แถม
มาลองฟังจังหวะการเล่นคอร์ดจากนักเล่นคอร์ดฮาร์ป(Chord harmonica)โดยตรงกันครับ แล้วลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ชื่อและจังหวะมาตราฐานของแนวเพลงต่างๆ

Cr. หน้าที่ 9-10 ของเอกสารการเล่น Chord Harmonica โดย Walter “Wally” Peterman จาก https://drive.google.com/file/d/15LGeGbebSC1d1i-HOtFF7r_Yt3T_lMY9/view

แนวคิดเบื้องต้นสำหรับการเล่นกับฮาร์ป 10 ช่อง