Sponsor

20 เมษายน 2561

Easy Transposition - การเปลี่ยนคีย์เพลงอย่างง่าย

สวัสดีครับ บทความนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องที่ถูกถามมาบ่อยที่สุด คือ ถ้าเครื่องดนตรีที่เราเล่นไม่มีโน้ต #,b แล้วเราจะเล่นมันยังไง!? ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า ไม่มีก็เล่นไม่ได้สิคร้าบ แต่... แต่เราสามารถเล่นเพลงนั้นได้ ด้วยการเปลี่ยนคีย์ให้อยู่ในคีย์ C ครับ ;)

เครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะมีข้อจำกัดเรื่องโน้ตของมันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีพกพาที่ถูกกำหนดคีย์ตายตัวมาแล้ว อย่างเช่น ฮาร์โมนิก้า คาลิมบา ฯลฯ กระทั่งนักร้องเองแต่ละคนก็มีคีย์เสียงเฉพาะ ที่ใช้ร้องได้สบายที่สุด การเปลี่ยนคีย์จึงจำเป็น เพื่อให้สามารถเล่นเพลงนั้นๆได้หรือร่วมวงได้นั่นเอง เมื่อเปลี่ยนคีย์แล้ว เพลงที่เราเล่นก็ยังคงฟังเหมือนเดิมทุกอย่าง ยกเว้นแต่ความถี่เสียงที่เปลี่ยนไป เหมือนให้ผู้ชายร้องเพลงผู้หญิง หรือ ให้ผู้หญิงร้องเพลงผู้ชาย ประมาณนั้นล่ะครับ เอาล่ะ พล่ามเยอะแล้ว งั้นเราไปดูวิธีการเปลี่ยนคีย์อย่างง่ายๆกันเลยดีกว่าครับ

สำหรับเครื่องดนตรีที่ไม่มีโน้ต #,b ให้เปลี่ยนเพลงต้นฉบับเป็นคีย์ C ให้หมดทุกเพลง เทคนิคนี้ฮาร์โมนิก้าควรทำอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราเล่นเพลงนั้นๆด้วยฮาร์ปคีย์ C ได้แล้ว เมื่อจะเปลี่ยนคีย์ก็แค่เปลี่ยนฮาร์ปตามคีย์ที่ต้องการ ความถี่เสียงก็จะเปลี่ยนไปเองโดยที่เรายังคงเล่นช่องเดิมเหมือนเดิม

โอเค อันดับแรก ให้เราดูก่อนว่าเพลงต้นฉบับนั้นน่ะ มันเป็นคีย์อะไร ถ้าเป็นโน้ตสากลบรรทัดห้าเส้นก็ดูไม่ยาก แต่ถ้าเป็นโน้ตตัวอักษรหรือตัวเลข อันนี้ต้องใช้ความชำนาญสักหน่อย ลองจับหลักจากตารางคีย์นะครับ เมื่อเรามีโน้ตอยู่แล้วจะบอกได้ง่ายเลยว่าเพลงนั้นคีย์อะไร โดยใช้หลักจากทฤษฎีดนตรีนั่นเอง(ลองศึกษาเพิ่มเติมดูครับ)

การอ่านโน้ตตัวอักษรและตัวเลข
C=โด D=เร E=มี F=ฟา G=โซ,ซอล A=ลา B=ที
ด ร ม พ ฟ ซ ล ท ดํ
C D E F G A B C'
1 2 3 4 5 6 7 1'

http://www.howtosingsmarter.com/transposition-chart/

เอาเป็นว่าสมมติว่าเรารู้คีย์เพลงต้นฉบับแล้ว เราก็มาเทียบจากตารางข้างต้นกันเลยครับ หากเราต้องการเปลี่ยนจากคีย์ G เป็นคีย์ C ก็ให้เราดูเฉพาะช่องของคีย์ G และ คีย์ C ในตารางเท่านั้นครับ ช่องอื่นไม่ต้องไปสนใจตอนนี้ แล้วเทียบกันแบบช่องต่อช่องเลย โดยดูโน้ตในช่อง I ii iii IV V vi vii ของตารางคีย์ G เทียบกับตารางคีย์ C ถ้าเพลงต้นฉบับมีโน้ต G A B C D E F# G' เทียบกันช่องต่อช่องแบบนี้เลยครับ G=C A=D B=E etc.เรื่อยไปจนจบเพลง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นคีย์ C เรียบร้อยแล้ว โน้ตก็จะเป็น C D E F G A B C' นั่นเอง(เทียบดูแบบในตารางเบลอ)
ตารางเบลอ เน้นคีย์ C และ G ให้เห็นชัดๆ เทียบช่องต่อช่อง


แบบฝึกหัด
ให้เปลี่ยนคีย์เพลง Ode to joy จากคีย์ G เป็นคีย์ C
B B C D D C B A G G A B B A A
(เฉลยข้างล่าง)

เฉลย
Ode to joy - Key C
E E F G G F E D C C D E E D D

แบบฝึกหัดสุดท้าย
อันนี้ไม่เฉลยนะครับ ให้ลองแปลงเองดูครับ
ให้เปลี่ยนคีย์เพลง Amazing Grace จากคีย์ G เป็นคีย์ C
D G B G B A G E D D G B G B A D' B D' B D' B G D E G G E D D G B G B A G

http://recordersupport.weebly.com/amazing-grace.html

การเปลี่ยนคีย์ด้วยตารางนี้ก็จะช่วยให้เปลี่ยนได้ง่ายๆ นำไปเล่นได้เลย สำหรับฮาร์โมินก้าก็สามารถใช้คีย์ที่ตรงกับเพลงมาเล่นโดยสมมติว่ามันเป็นคีย์ C ได้เลย ด้วยวิธีนี้ก็สามารถเล่นฮาร์ปได้ทั้ง 12 คีย์โดยจำโน้ตแค่คีย์ C เท่านั้นเอง และเมื่อเล่นรวมวงก็สามารถปรับเปลี่ยนคีย์ให้ตรงกันทั้งคอร์ดและทำนองได้แล้ว แต่ถ้าต้องการเข้าใจหลักการว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ให้ศึกษาทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมครับ จะสามารถเปลี่ยนคีย์ได้โดยไม่ต้องใช้ตาราง แค่เห็นโน้ตก็คำนวนได้เลยตามสูตรการสร้างบันไดเสียงนั่นเอง

หากได้ประโยชน์จากบทความนี้
แล้วอยากจะเลี้ยงน้ำชา ข้าวผัด หรือมอบสินน้ำใจเป็นค่าครู
สามารถสนับสนุนได้ที่

ธนาคารกรุงไทย
9090619704
กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจนะครับ
ขอบคุณครับ🙏😇

หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย รวมถึงสร้างความมึนงงพอสมควร(ฮา)
งั้นไว้เจอกันบทความหน้า
ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีนะครับ
สวัสดีครับ


แถม
บางครั้งเมื่อเราเจอโน้ต #,b แล้วเล่นมันไม่ได้(เพราะเครื่องที่เล่นไม่มี) ถ้าขี้เกียจเปลี่ยนคีย์บางครั้งนักดนตรีก็จะเล่นด้วยวิธีลักไก่ คือเล่นโน้ตอื่นมันซะเลย ใช้โน้ตแทน โน้ตอะไรก็ได้แถวๆนั้นแหละ หาโน้ตที่เล่นแทนแล้วฟังดูเข้าท่า เข้ากับเพลง หรือไม่เพี้ยนจนเกินไป การลักไก่นี้ไม่กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นโน้ตไหน สูงต่ำ ไม่มีผิดถูก ขอแค่ให้เล่นแล้วลงตัวก็พอครับ หรือถ้าต้องการความแม่นยำแบบฟังเข้าแน่นอนก็ให้ใช้โน้ตที่เป็นเสียงฮาร์โมนิกของโน้ตนั้น หรือโน้ตในคอร์ดของท่อนนั้นมาสักตัวนึง ตรงนี้ก็ลองศึกษาทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมดูครับ

อ้างอิง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น