Sponsor

27 ตุลาคม 2553

Harmonica Club Webboard - มีบอร์ดสำหรับชาว Harmonica แล้วคร้าบบ

สวัสดีคร้าบ เพื่อนๆชาวฮาร์โมนิก้า ประการศข่าวสักหน่อย

ประกาศคร้าบ ประกาศ! ตอนนี้มีบอร์ดสำหรับชาว Harmonica และ Melodion แล้วครับ ไว้สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใครสงสัยอะไรก็ถามไว้ได้เลยครับ เข้าไปที่

======================

http://jazzy.pantown.com

แล้วดูแถบเมนูทางซ้าย คลิก Harmonica Club

ชาวเมโลเดี้ย คลิกที่ Melodion Club

และร่วมพบปะพูดคุยกับชาวฮาร์ปได้ที่

Facebook - Harmonica-Club-Thailand

======================

เข้าไปร่วมสนทนากันได้ครับ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีคนเข้าไปเท่าไหร่ ชาว Harmonica เราคงยังน้อยอยู่ ชวนๆกันมานะครับ สังคมฮาร์โมฯ ของเราจะได้ใกล้ชิดกันมาขึ้น

แล้วเจอกันครับ

04 ตุลาคม 2553

Harmonica History - ประวัติฮาร์โมนิก้า


ครั้งนี้เรามาพักการซ้อม Harmonica กันซักบทความนึงดีกว่า แล้วมาประดับความรู้เกี่ยวกับประวัติของ Harmonica ที่หลายๆคนถามถึงกันหน่อย จะได้รู้ความเป็นมาต่างๆของเครื่องดนตรีที่เรารักและเล่นอยู่เป็นประจำกันครับผม Harmonica หรือรู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น Blues Harp, Mississippi saxophone, Mouth Organ หรือภาษาไทยเรียกว่า หีบเพลงปาก ฮาร์โมนิกาจัดอยู่ในประเภทเครื่อง Wood Wind หรือเครื่องลมไม้ เล่นด้วยวิธีการ เป่าและดูด สมัยโบราณเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนที่ประเทศจีน มีการสร้างเครื่องดนตรีที่ใช้โลหะมาทำเป็นลิ้นเสียงใช้เป่าและดูดเพื่อให้เกิดเสียงดนตรีแบบเดียวกับฮาร์โมนิกาปัจจุบัน จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของฮาร์โมนิกาที่เก่าแก่ที่สุด

ประวัติฮาร์โมนิกาในปัจจุบันนั้นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1821 หรือ พ.ศ.2364 โดยคริสเตียน ไฟรดริช บุสชมานน์ วัย 16 ปี เป็นผู้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ประดิษฐ์กรรมทางดนตรีของเขา ซึ่งเขาเรียกว่า ออร่า(Aura หรือ Aeolina? หรือ Mund-Aeoline?) บุชมานน์ อธิบายแก่พี่ชายของเขาว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นเครื่องดนตรีพิเศษ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงแค่ 4 นิ้ว แต่ให้เสียงดนตรีได้ถึง 20 ตัวโน้ต จากนั้นเขาเริ่มออกแบบฮาร์โมนิกา และก็มีผู้นำไปปรับแต่งและพัฒนาออกมาอีกมากมาย นักประดิษฐ์เครื่องดนตรีชาวโบฮีเมียนนามว่า "ริชเตอร์" เป็นผู้ที่ทำการพัฒนาครั้งสำคัญที่สุดในการออกแบบฮาร์โมนิกายุคใหม่


ราวๆปี 1829 เขาได้พัฒนาความหลากหลายของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ช่อง 20 ลิ้นเสียง และรูปแบบการเรียงโน้ตของฮาร์โมนิกา เรียกว่า Richter-Tuned หรือ การตั้งเสียงแบบริชเตอร์ เป็นมาตรฐานมาถึงปัจจุบัน ในปี 1857 ประวัติของฮาร์โมนิกาได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อช่างนาฬิกาชาวเยอรมัน แมตทิสซา ฮอห์เนอร์ หันเหสู่อุตสาหกรรมผลิตฮาร์โมนิกาชนิดเต็มรูปแบบซึ่งเขาคิดไม่ผิด เพราะในปีนั้นเพียงปีเดียวเขาสามารถผลิตเครื่องดนตรีออกมาถึง 650 ชิ้น หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็มีงานให้คนในท้องถิ่นทำ และก็พัฒนาสินค้าให้เป็นที่รู้จัก


ฮอห์เนอร์นำฮาร์โมนิกาเข้าสู่อเมริกาเหนือในปี 1862 ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทของเขาขึ้นไปยืนอยู่ในสถานะผู้นำในการผลิตฮาร์โมนิกา ในปี 1887 ฮอห์เนอร์ผลิตฮาร์โมนิกามากกว่า 1ล้านชิ้น และทุกวันนี้เขาก็ได้ผลิตฮาร์โมนิกาที่แตกต่างกันออกมามากกว่า 90 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดนั้นทำให้ผู้เล่นมีอิสระในการเลือกใช้กับแนวดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรี Classic, Jazz, Blues, Pop, หรือ Rock ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์โมนิก้าก็มีหลากหลายยี่ห้อ ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงก็ เช่น Hohner, Suzuki, Lee Oskar, Easttop, เป็นต้น

อ้างอิง
หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

03 ตุลาคม 2553

Nokia Tune - เสียงริงโทนที่คุ้นหู

สัวสดีคร้าบช่วงนี้ร้อนๆฝนๆยังไงก็รักษาตัวกันทุกๆคนนะครับ จะได้เล่น Harmonica กันอย่างสบายใจกันถ้วนหน้า
แล้วเป็นไงกันบ้างกับแบบฝึกหัดครั้งก่อน ครั้งนี้เป็นทำนองเพลงง่ายๆขำๆ แต่คุ้นหู นั่นก็คือ Nokia Tune เสียงริงโทนของโนเกีย ฮ่าๆๆ หลายคนคุ้นหูกับเสียงนี้ครับ แต่เห็นโน้ตแล้วอาจจะยังนึกไม่ออก ลองเล่นดูครับ แล้วจะร้องอ๋อ กันเลยทีเดียว


คลิ๊กที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

ครั้งนี้ก็เท่านี้ก่อน ไว้เจอกับแบบฝึกหัดหน้า
ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีนะครับ
สวัสดีครับ ^_^

01 ตุลาคม 2553

Kenny G - Forever in Love

สวัสดีครับ กลับมาอย่างรวดเร็ว ผมไม่พล่ามมากล่ะคราวนี้ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
หลังจากฝึก Bending แล้วลองมาซ้อมด้วยเพลงนี้กันครับ Forever in Love ของ Kenny G นักเป่า Saxopone ระดับโลกที่เล่น Saxophone ได้หวานจับจิต เราก็เอามาเล่นใน Harmonica Version กันครับ

เพลงนี้มี Bending ช่องที่ 3 ดูดเป็นตัว ลา(A) ที่ห้อง 18 เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเองครับ ฝึกสนุกๆขำๆ ครับ

ผมก็ทำโน้ตมาแค่ทำลองหลักๆของเพลงเท่านั้นนะครับ ท่อนอื่นๆที่เป็นลีลาของ Kenny G ก็ต้องลองฟัง ลองเล่นดูครับ
เข้าไปฟังเพลงนี้ได้ที่
 

ปล. โน้ตและคอร์ดผมแปลงเป็นคีย์ C ไว้เผื่อให้ง่ายต่อการอ่านและเล่น แต่เพลงต้นฉบับเป็นคีย์ F ถ้าต้องการให้ตรงกับคีย์ต้นฉบับก็ใช้ Harmonica คีย์ F ครับ


คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่


ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีนะครับ
^ ^


Bending & Chord Guide - แนะนำการเบนด์เสียง และคอร์ดฮาร์โมนิก้า

สวัสดีครับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ห่างหายไปนานครับกับการอัพบล๊อก เพราะยังสรุปแนวการ Bending ได้ยากมากครับ
ครั้งนี้ก็เลยควบ 2 บทเรียน การเบนด์เสียง กับการเป่าคอร์ด กันเลยครับผม

ผมเคยทำเรื่อง คอร์ด ไว้ที่เว็บเก่า https://jazzy.pantown.com ไว้แล้วครั้งนึง ตามลิ้งค์ไปศึกษาต่อได้เลยนะครับผม

ลิ้งค์การ Bending Note เป็นการสนทนาระหว่างผมกับคุณ shinethai จึงเอาลิ้งมาให้ได้ลองเข้าไปอ่านดู น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่กำลังฝึก Bending บ้างล่ะนะครับ
ยังไงก็ลองหา VDO ใน Youtube มาดูไว้ด้วยก็ดีนะครับ ถ้าใครฟังภาษาต่างประเทศออกล่ะก็น่าจะเข้าใจไวขึ้น
Bending Harmonica คลิ๊กเลย>>> http://www.pantown.com/board.php?id=11555&area=&name=board5&topic=43&action=view (ลิ้งเก่าไม่ได้อัพเดทและเซิร์ฟอาจปิดไปแล้วครับ) หรือ https://jazzylj.blogspot.com/2013/02/basic-bending-overblow-harmonica.html

ส่วน Basic Chord Guide ก็เล่นง่ายๆ ฝึกง่ายๆครับ แต่ประเด็นสำคัญคือลองทำความเข้าใจเรื่องการสร้างคอร์ดดูนะครับ จะได้รู้ว่าจะ้ใช้โน้ตอะไรบ้างเวลาเจอคอร์ดที่ไม่เคยเห็น
Basic Chord Guide คลิ๊กเลย>>> http://www.pantown.com/board.php?id=11555&area=&name=board5&topic=36&action=view (ลิ้งเก่าไม่ได้อัพเดทและเซิร์ฟอาจปิดไปแล้วครับ) หรือ https://jazzylj.blogspot.com/2011/11/harmonica-basic-chord-guide.html

การฝึก Bending ถ้าขยันๆ ฝึกทุกๆวัน วันละไม่ต้องนานหรอกครับ แต่พยายามจับประ้เด็นของมันให้ได้ โดยทั่วไปก็ประมาณ 1 เดือน ก็ Bending ได้แล้วครับ เหลือแต่ฝึกให้คล่องๆ แต่บางคนได้ลองเล่นแล้ว บังเอิญจับจุดได้ Bending ได้ในครั้งแรกเลยก็มีครับ ถ้าใครยังไม่ได้ก็ไม่ต้องน้อยใจ ค่อยๆฝึก สนุกๆกับมันไปเรื่อยๆครับ(กว่าผมจะ Bending ได้ก็ตั้งเดือนแนะครับ ฮ่าๆ )

หากได้ประโยชน์จากบทความนี้
แล้วอยากจะเลี้ยงน้ำชา ข้าวผัด หรือมอบสินน้ำใจเป็นค่าครู
สามารถสนับสนุนได้ที่

ธนาคารกรุงไทย
9090619704
กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจนะครับ
ขอบคุณครับ🙏😇

ไว้เจอกับครั้งหน้าครับ จะมาพร้อมแบบฝึกหัดเพราะๆให้ฝึก Bending กับพอขำๆ(ไม่กี่โน้ต) ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ
^ ^


25 กรกฎาคม 2553

Auld Lang Syne - โน้ตเพลงสามัคคีชุมนุม

สวัสดีครับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ฯลฯ ช่วงนี้ห่างหายไปนานครับไม่ค่อยได้มีเวลามาเขียนบล๊อกเลย ฮ่าๆ แต่ช่วงนี้พอว่างแล้วล่ะครับ
ก็เลยนำโน้ตเพลง Auld Lang Syne มาตามสัญญาครับ

Auld Lang Syne หรือที่บ้านเราเอามาแปลงเป็นเพลง สามัคคีชุมนุม นั่นเองครับ
เพลงนี้เป็นเพลงที่น่าจะคุ้นหูชาวโลกทุกคนเลยนะผมว่า และ
เป็นเพลงที่ไพเราะจับจิตจริงๆครับ

พยายามฝึกจากช้าๆ ให้สามารถเลื่อนตำแหน่งช่องให้ตรงเสียง และเป่า-ดูดได้ทันกับจังหวะเพลง
ว่างๆลองศึกษาทฤษฎีดนตรีไว้ด้วยนะครับ จะมีแบบฝึกหัดมากมายให้หาฝึกได้ครับ
วันนี้เท่านี้ก่อนครับ ไว้เจอกันใหม่กับแบบฝึกหัดหน้าครับ

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่


ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีกันทุกๆวันเลยนะครับ
สวัสดีครับ ^-^

16 มีนาคม 2553

ช่องเป่า Diatonic Harmonica ระยะห่างแบบต่างๆ

สวัสดีครับเพื่อนๆ ครั้งนี้มาคุยกันถึงเรื่องระยะของช่องเป่า Diatonic Harmonica กันครับ
เรื่องระยะของช่องเป่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไหร่ แต่มีความสำคัญมากในระดับนึงเหมือนกันครับในเรื่องความคล่องตัว

คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่

ระยะห่างของช่องเป่ามีอยู่ 3 แบบที่ผมเคยเจอ
1. แบบช่องห่าง
2. แบบช่องห่างปลานกลาง
3. แบบช่องชิด

ดูรูปประกอบนะครับ(จากบนลงล่างตามลำดับ)
*ชื่อพวกนี้ผมตั้งเองนะครับ ไม่ได้เป็นสากลแต่อย่างใด

==================================

แบบช่องห่าง ก็อย่างที่เห็นในรูปครับ ช่องเป่าจะอยู่ห่างกันแบบชัดเจน ตัวกั้นช่องจะหนา แบบนี้การเล่น Sigle Note หรือเล่นโน้ตเสียงเดี่ยว จะเล่นง่าย ลมจะไม่รั่วไปช่องอื่น และ Harmonica รุ่น Original หลายๆรุ่นจะเป็นมีระยะห่างแบบนี้ซะส่วนใหญ่ครับ หรือถ้าเป็นแบบช่องเต็ม(ไม่มีขอบบนล่าง)ก็จะมีระยะห่างแบบนี้เช่นกัน(ในรูปคือ MarineBand)

แบบช่องห่างปลานกลาง จากที่เห็นในรูปช่องจะเข้าใกล้กันขึ้นมาอีกนิด มีคุณสมบัติเด่นแบบเดียวกับ ช่องห่าง ครับเพราะเท่าที่เล่นรู้สึกถึงความต่างเพียงนิดเดียวตรงการเลื่อนเท่านั้น ส่วนการทำปากเป่า Single Note ก็เหมือนกันครับ เรียกได้ว่ารู้สึกไม่ต่างกันครับ แต่ถ้าลองมองให้ชัดๆจะเห็นว่าช่องใกล้กันเข้ามาอีกนิด ตัวกั้นบางลงนิดหน่อย ที่ไม่ใช่ทรงดั้งเดิมส่วนใหญ่จะเป็นแบบช่องห่างปลานกลางครับ

แบบช่องชิด อันนี้เห็นชัดเจนครับ ชิดกันเห็นๆ ทั้งรูปปาก และการเลื่อน เปลี่ยนหมดครับ ถ้าใครที่เคยเล่น 2 แบบบนมาก่อนแล้วเจอแบบนี้จะเจอเหตุการณ์ เลื่อนผิดช่อง, เป่า Sigle Note รั่วกระจายครับ(อันนี้เจอมากับตัว) แต่ข้อดีที่ผมเจอคือไม่ต้องเลื่อน Harmonica มากเพราะช่องมันใกล้กัน น่าจะทำให้เล่นแบบเร็วๆได้ดี(มั้ง?)ครับ ที่เคยเห็นก็เป็นบางรุ่นของ Hohner

==================================

เพื่อนๆอาจจะงงๆว่าระยะช่องเป่าเนี่ยมันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ คือสำหรับผมแล้วมันสำคัญมากเลยครับ
เนื่อง Diatonic Harmonica ตัวแรกผมใช้ Easy Rider ซึ่งเป็นช่องห่างปลานกลาง แล้วตอนที่ผมต้องการจะเปลี่ยน Harmonica ตัวใหม่ซึ่งตอนนั้นไม่รู้เรื่องระยะช่องเป่า ไปได้แบบ ช่องชิด มาครับ แทบต้องฝึกใหม่เลย ระยะการเลื่อนก็เปลี่ยน ที่เคยเป่า Sigle Note ได้ ลมก็รั่วไปช่องข้างๆด้วย เซ็งตามระเบียบครับ

ถ้าเพิ่งหัดผมแนะนำให้ใช้ช่องห่าง(หรือห่างปลานกลาง)
เพราะจะเล่น Sigle Note ได้ง่ายกว่า
และมีให้เลือกหลายรุ่นกว่า
เพราะน่าจะเป็นแบบ Original


หลังจากนั้นก็เลยตามล่าหา MarineBand ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นต้นตำรับของ Harmonica มาดูหน่อยซิ ซึ่งเป็นแบบช่องห่าง หลังจากได้เล่นก็ให้ความรู้สึกการเล่นไม่ต่างจากแบบช่องห่างปลานกลางเท่าไหร่
จึงรู้ว่าส่วนตัวถนัดแบบช่องห่างมากกว่าครับ(เพราะเคยเล่นแบบช่องห่างปลานกลางมาก่อน พอมาเจอช่องห่างจึงไม่รู้สึกแตกต่าง แต่กับช่องชิดไม่เหมือนกันครับ)

อันนี้ก็แล้วแต่ถนัดครับ

หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตุระยะช่องเป่ามาตั้งแต่เจอเรื่องครั้งนี้แหละครับ
ก็มาแชร์เป็นประสบการณ์ให้เพื่อนๆครับ เวลาเลือก Harmonica อย่างลืมสังเกตุว่าระยะช่องเป็นแบบที่ตัวเองคุ้นเคยรึเปล่า ถ้าต้องการลองเล่นหลายๆแบบก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าต้องการระยะช่องที่คุ้นเคยก็ลองเทียบให้ชัดเจนนะครับ


เท่านี้ก่อนไว้เจอกันใหม่
สวัสดีครับ ^_^

13 มีนาคม 2553

Suzuki Harmonica Easy Rider(EZR-20) Review - มารู้จัก Suzuki Harmonica Easy Rider กันเถอะ

สวัสดีครับ(ไม่ได้มาอัพบล๊อกซะนานเลย) ช่วงนี้หลายๆคนคงสอบเสร็จกันแล้ว และหลายๆคนคงรับปริณญากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ยินดีด้วยและขอให้ทุกๆคนประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้นะครับ

เอาล่ะเข้าเรื่องกันเลย ครั้งนี้มา Review Harmonica ของ Suzuki รุ่น Easy Rider(EZR-20) ซึ่งเป็น Harmonica รุ่นที่ถูกที่สุดของ Suzuki เรามาดูกันดีกว่าว่าน่าสนใจแค่ไหน



---------------------------------------


ซื้อง่าย, เล่นสบาย
จากทั้งหมด EASY RIDER เป็น Harmonica ที่ทุกระดับฝีมือใฝ่ฝัน
ด้วยการผลิตที่มีคุณภาพ, ใช้ต้นแบบเดียวกับของมือโปร
ซึ่งให้เสียงที่ยอดเยี่ยมและลงตัว.
Reeds ทำจากทองเหลืองตั้งเสียงด้วยระบบเลเซอร์
สามารถ Bend เสียงได้ง่าย และให้เสียงที่หนาฯ


จากโฆษณาในเว็บของ Suzukimusic แปลไม่เก่งมากนะครับ(คร่าวๆ) ผิดพลาดยังไงช่วยแก้ไขด้วยนะครับ


---------------------------------------




กล่อง-
EZR ตัวที่อยู่ในรูปผมซื้อมาได้ประมาณเกือบ 10 ปีแล้ว ราคา 2xx บาท ล่าสุดผมไปเช็คราคาของรุ่นนี้ก็ยังเท่าเดิมครับ
ตัวกล่องทำจากกระดาษแข็ง(กล่องเยินหมดแล้วครับ แปะเทปใสทั่วกล่อง)


บอดี้-
บอดี้ช่องเป่า(comb)เป็นพลาสติก ระยะช่องเป่าเป็นแบบห่างปลานกลาง (ระยะช่องเป่าที่ผมเคยเจอมี 3 แบบครับ คือ แบบช่องห่าง, ช่องห่างปลานกลาง และช่องชิด ส่วนตัวผมถนัดแบบช่องห่างกับปลานกลาง เดี๋ยวครั้งหน้าทำ Reviwe เรื่องระยะช่องเป่าอีกทีครับ) แบบช่องเป่าห่างปลานกลางผมเจอแต่ EZR นี่แหละครับ เพราะรุ่นอื่นๆที่ดูๆ จะเป็นแบบ ช่องห่าง หรือไม่ก็ ช่องชิด เลย (พอกลับไปสังเกตดูดีๆ รู้สึกว่า ฮาร์ปส่วนใหญ่เป็นแบบช่องห่างปลานกลางมากกว่า ยกเว้นพวกทรงคลาสสิคมักจะเป็นช่องห่าง ส่วนแบบช่องชิดจะมีไม่มาก)

ซึ่งระยะช่องของ EZR นั่นทำให้เล่น Single โน้ตได้ง่าย เพราะช่องเป่าที่มีระยะห่างพอสมควร(ถ้าเป็นแบบช่องห่างจะสบายขึ้นอีกครับ อิอิ) แต่ว่าช่องปลานกลาง กับช่องห่าง การเป่าไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ครับ จะต่างตรงระยะการเลื่อน Harmonica ช่องห่างจะเลื่อนมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งหากเปลี่ยนไปเล่นช่องห่างก็ปรับตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น(แต่ถ้าเป็นช่องชิดรูปปาก/การเลื่อนจะเปลี่ยนไปเล็กน้อยเพราะช่องใกล้กันมาก) ส่วนการเล่นพร้อมหลายโน้ตก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการเล่น Harmonica อยู่แล้ว

และที่ไปเห็นมา Cover Plate มีแบบเป็นสีๆด้วย ที่เห็นก็มี แดง, ดำ และไม่ลงสี อันนี้ก็แล้วแต่ชอบนะครับ แต่ส่วนตัวผมชอบแบบไม่ลงสีมากกว่า เพราะกลัวสีมันลอก เหอะๆ


ทดสอบเสียง-
จากการลองเป่า EZR นั้น จะให้เสียงที่ ชัดเจน, หนา, แต่เสียงจะออกแข็งๆทื่อๆ และไม่แน่น มันจะมีความกลวงๆอยู่ภายในเสียง กินลมพอสมควร
การเล่นเทคนิค เรื่องการ Bend เสียงก็ทำได้ไม่ยากนัก และเสียงตอน Bend ก็หนาสมคำโฆษณาครับ แต่ Overblow ไม่ได้เลย


สรุป-
โดยรวมแล้ว EZR ให้เสียงที่ดังในระดับนึง แต่จะใช้ลมหน่อยก็ไม่ใช้ปัญหาอะไร ซึ่งผมว่าเหมาะสำหรับทุกๆคนครับ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นที่อยากลองเล่นดูก่อน ด้วยราคาที่ถูกและทน จะพาไปสมบุกสมบันได้ทุกสถานการณ์ แต่ตัวกล่องซึ่งทำด้วยกระดาษไม่ค่อยแจ่มเท่าไหร่ครับ ถ้าสนใจรุ่นนี้ผมว่าเปลี่ยนไปใส่กล่องอื่น หรือใส่ซองพลาสติกดีกว่าครับ ไม่งั้นต้องแปะเทปใสทั่วกล่องแบบผม ฮ่าๆ
แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ความชอบ และหูของแต่ละคนล่ะครับว่าชอบรูปทรง และเสียงมากแค่ไหน แต่ถ้าเพิ่งเริ่มหัดเล่นหรือต้องการ Diatonic Harmonica ที่คุ้มค่าคุ้มราคา และเล่นง่าย EZR เป็นทางเลือกที่ผมแนะนำครับ


จบแล้วครับ การ Review ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับเนี่ย วกวนยังไง หรือไม่ได้เจาะประเด็นตรงไหนก็ขออภัยด้วยครับ

และต้องออกตัวก่อน(เหมือนบทความก่อนๆ) Review ครั้งนี้ผมก็ไม่ได้ค่าโฆษณานะครับ แต่อย่างเคย...ถ้าทางบริษัทอยากจะเลี้ยวข้าวผมเหมือนที่ขอไว้ในบทความก่อน ไม่เอาแล้วนะครับ ครั้งนี้ขอเป็นพิซซ่าถาดใหญ่สักถาดก็พอครับ ฮ่าๆ
ไว้เจอกันบทความหน้าครับ ขอให้มีความสุข มีรอยยิ้มกันทุกๆท่านนะครับ

สวัสดีครับ ^_^

06 มกราคม 2553

Music Basic for Harmonica - โน้ตเพลงเบื้องต้นสำหรับฮาร์โมนิก้า

สวัสดีครับ หลังจากแบบฝึกแรกคือการไล่สเกล C Scale แล้วเพื่อนๆคงฝึกกันคนคล่องแล้ว(ถ้ายังกลับไปฝึกให้คล่อยซะก่อน อิอิ) และเราได้เวลาฝึกเล่นเป็นเพลงกันแล้ว โย่ๆ

เอาล่ะ...ครั้งนี้เป็นแบบฝึกหัดสนุกๆง่ายๆ เพลงที่เราคุ้นหูกันอยู่แล้ว คือเพลง Jingle bell และ Skip to my lou สองเพลงนี้ใช้ย่านเสียงกลางถึงต่ำ(ที่ได้ฝึกกันมา) พยายามเล่นให้เป็นเสียงเดี่ยวเพียวๆให้ได้ จะเป็นการฝึกให้เราแม่นตำแหน่งโน้ตได้มากขึ้น แล้วเราจะเลือกใช้โน้ตได้โดยไม่ผิดตำแหน่งไป

คำแนะนำ
ให้ฝึกเล่นจากช้าๆ ช้ามากๆ เพื่อให้เราจำทางของเพลงและเปลี่ยนตำแหน่งได้ทันไม่ผิดพลาด เมื่อชำนาญก็ค่อยเร็วขึ้นเรื่อยๆจนความเร็วเท่าเพลงจริง(หรือเอามันส์ก็ให้เร็วกว่านั้นอีก ฮ่าๆ)


คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่



เมื่อเล่นจนคล่องทางแล้ว ก็ลองเอาไปเล่นในช่วงเสียงสูงก็ได้ ฝึกทางเสียงสูงไปในตัวด้วยครับ
และฝึกเป่า C Scale ช่วงเสียงสูงไว้ด้วยนะครับ แบบฝึกหัดหน้าจะเล่นช่วงเสียงสูงกันครับ ^_^

ถ้ามีเวลาว่างเพื่อนๆลองศึกษาเรื่องทฤษฎีโน้ต-ดนตรีเพิ่มเติม จะมีแบบฝึกหัดอะไรให้ฝึกอีกมากมายครับ
ครั้งนี้คงเท่านี้ก่อน เจอกับคราวหน้า

ขอให้มีความสุขกันการเล่นดนตรี สวัสดีครับ
 

04 มกราคม 2553

Harmonica for Beginner - วิธีเล่น ฮาร์โมนิก้า สำหรับผู้เริ่มต้น

สวัสดีปีใหม่ครับทุกคน คิดดีทำดีขอให้เจอเรื่องดีๆกันทุกคนนะครับ

ปีใหม่นี้บางคนอยากได้เครื่องดนตรีชิ้นใหม่ แต่ยังไม่มีโอกาสเพราะงบประมาณจำกัดจำเขี่ย ฮ่าๆๆ
เซ็งๆเลยค้นหาเรื่องการเล่น ฮาร์โมนิก้า(Harmonica) ที่หลายคนเรียก เม้าออแกน(mouth organ) หรือหีบเพลงปาก ฯลฯ แล้วแต่จะเรียกกัน

Harmonica นั้นเล่นง่าย ใครๆก็เล่นได้ครับ แค่ลองงมๆ เป่าๆดูดๆ ก็พอจะจำเสียงได้ไม่ยาก ที่สำคัญอยากเล่นเพลงไหนก็ฮัมเพลงให้จำได้ก่อน ก็จะเล่นเพลงนั้นได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากพูดถึงเว็บที่สอนเป็นเรื่องเป็นราวในภาคภาษาไทยก็ยังน้อยอยู่ ไอ้เราก็พอจะเล่นเป็นบ้างล่ะ ถึงจะยังไม่เก่งกาจก็เหอะ ก็น่าจะแนะนำเพื่อนๆมือใหม่ที่สนใจได้บ้างล่ะครับ และด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ไพเราะ(และพกพาสะดวก)ของมันทำให้ใครหลายๆคนอยากจะเล่นให้เป็น
ก่อนหน้านี้เคยมีเว็บบอร์ดของคุณลุงน้ำชาได้เปิดบอร์ดให้ชาว Harmonica ได้เข้าไป สอน ไปเสวนากัน ผมก็เข้าไปเสวนาบ้างและสอนบ้าง แต่ต่อนี้บอร์ดได้ปิดไปแล้ว เสียดายครับ เนื้อหาที่เคยสอนไว้ก็หายไปหมด แต่ก็ต้องเข้าใจล่ะครับ เปิดเซิร์ฟมันต้องใช้งบประมาณอ่านะ...
ไหนๆก็ไหนๆ ในบล๊อกนี้ ผมก็จะลงเรื่องการเล่น Harmonica ไว้เท่าที่จะสามารถล่ะกันนะครับ

เริ่มกันเลย!

Harmonica มีหลายชนิด แต่ที่นิยมในประเทศไทยมีอยู่ 2 แบบหลักๆ

1. Diatonic (ไดอะโทนิก) ที่นิยมจะมี 10 ช่อง ช่องละ 2 โน้ต เป่าโน้ตนึง ดูดก็ได้อีกโน้ต ให้เสียงโดดเด่นชัดเจน มีครบทุกคีย์ให้เลือกเล่น
2. Tremolo (เทรโมโล่) มีช่องเป่าตั้งแต่ 10 กว่าช่องจนถึง 24 ช่อง มีช่องล่ะ 1 โน้ต สลับกันไประหว่างช่องเป่ากับดูด ให้เสียงเหมือนเล่นประสานพร้อมกัน 2 คน และเสียงสั่นๆเป็นลูกคอ(Tremolo) เพราะเป็นลิ้นเสียงคู่ ส่วนใหญ่จะเป็นคีย์ C แต่ก็อาจมีคีย์ C# และ G ให้เห็นอยู่บ้าง (เดี๋ยวนี้ยี่ห้อจีนมีครบทุกคีย์ให้เลือกสรรแล้ว)
แบบ Termolo จะหาง่ายมากในประเทศไทย แต่โดยสากลนิยมแล้วมักจะใช้แบบ Diatonic 10 ช่อง เพราะมันเล็กกว่าพกง่าย(เพราะ 1 ช่องมี 2 เสียง) สามารถเล่นได้เร็วกว่า(ไม่ต้องเลื่อนมาก) และสามารถเล่นคอร์ดได้ด้วย Diatonic 10 ช่อง ก็ไม่ได้หาซื้อยากซะทีเดียว เข้าร้านดนตรีก็จะเจอครับ (เรื่องแนะนำการซื้อ Harmonica เดี๋ยวคุยกันอีกทีท้ายบทความนะครับ)

ก็แนะนำให้ใช้แบบ Diatonic เป็นหลักครับ และถ้าเล่น Tremolo ได้ด้วยก็ดีครับ

ส่วนตัวผมก็ชอบเล่นแบบ Diatonic แบบฝึกและ Tab ที่ใช้ในบล๊อกนี้ก็จะเป็นแบบของ Diatonic ถ้าใครใช้ Tremolo ก็ดูโน้ตแล้วเทียบจาก Chart นะครับ (แบบอื่นๆดูที่ http://216.92.190.81/notation_charts.html หรือ https://csj-concierge.com/suzukimusic/uploads/products_pdf/13/5bee70fd289e213.pdf)

Diatonic Chart

Termolo Chart

C=โด D=เร E=มี F=ฟา G=โซ,ซอล A=ลา B=ที



การถือ Harmonica ก็ไม่มีอะไรมากครับ ถือให้สบายๆไม่ต้องเกร็งก็พอครับ แต่โดยสากลก็จะมีรูปแบบการถือเพื่อเอาไว้เล่นเสียง Wah Wah หรือเทคนิคอื่นๆอีก

การเป่าก็ไม่ยากอะไร ทำปากจู๋เหมือนดูดน้ำจากหลอด แล้วเป่าหรือดูดให้ตรงช่องนั้นๆเท่านั้นเอง รูปปากต้องไม่เล็กมากเกินไปจะได้ไม่เกร็ง และให้ริมฝีปากลึกเข้าไปอย่างน้อยครึ่งนึงของตัวฮาร์ปจะเล่นสบายครับ

สำหรับ Diatonic อีกเทคนิคที่ควรฝึกคือ เทคนิค Tongue blocking (ลิ้นอุด) โดยครอบปากไป 3-4 ช่อง แล้วแลบลิ้นไปอุดช่องช่องทางซ้ายให้เหลือแต่ช่องทางขวาช่องเดียว เช่น ครอบปากช่อง 1234 ก็เอาลิ้นอุดช่อง 123 พอเป่าให้เหลือเสียงช่อง 4 อย่างเดียว เป็นต้น เทคนิคลิ้นอุดนี้จะสามารถต่อยอดการเล่นได้หลากหลายต่อไป เช่น เล่นคอร์ดพร้อมเมโลดี้ (Tremolo ก็ควรฝึกเทคนิคนี้เช่นกัน)
สำหรับ Tremolo จะมีอีกเทคนิคที่ควรฝึก คือ เวลาเล่นโน้ตใดใดให้ครอบปากควบไปเลยทีละ 2 ช่อง คือ ควบช่องโน้ต C และ D, E และ F, ฯลฯ เป็นต้น เวลาเป่าก็จะได้โน้ต C เวลาดูดก็ได้โน้ต D นี่เป็นเทคนิคสำหรับ Tremolo ให้สามารถเล่นได้คล้าย Diatonic ทำให้ไม่ต้องเลื่อนมาก เพราะโน้ตเป่าจะไม่ดังตอนดูดและโน้ตดูจะไม่ดังตอนเป่าอยู่แล้ว (เทคนิคนี้ของ Tremolo สามารถผสมกับลิ้นอุดได้ เช่น ครอบปากไป 4-5 ช่อง ใช้ลิ้นอุดช่องทางซ้ายทั้งหมด เหลือ 2 ช่องทางขวา เป็นต้น)

การเป่าและดูดในการเล่น Harmonica ให้พยายามฝึก การเป่าเป็นหายใจออก และการดูดเป็นหายใจเข้า จะได้ไม่หน้ามืดไปซะก่อน และเล่นได้เรื่อยๆ(เป็นการหายใจเข้าออกไปในตัว) คือเล่นโดยใช้ช่วงลำคอ(ไปจนถึงกระบังลมถึงท้อง) ให้ได้โทนเสียงที่หนานุ่มจะคุมเสียงง่าย ถ้าใช้ลมไม่ถูกต้องเสียงจะบี้หรืออาจไม่มีเสียงบางช่อง เช่น โน้ตดูดช่องที่ 2 เป็นต้น

และแน่นอนว่าเบื้องต้นทุกเครื่องดนตรีต้องฝึกไล่สเกลกันก่อน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการจำเสียงโน้ตตามลำดับ
ดูโน้ตจาก Chart จะเห็นว่าจากช่องที่ 4 ถึง 7 จะมีชุด โด-โด้ ครบให้เราฝึกจากช่วงนี้กันก่อนครับ(ช่วงเสียงกลาง)
*หมายเหตุ โน้ตสากลใช้โน้ตที่ทดระดับเสียงลง 1 เท่า

วิธีอ่าน Tab ของ Diatonic
4 = เป่าช่องที่ 4
-4 = ดูดช่องที่ 4

C Scale

โน้ตแบบอื่นๆที่ควรอ่านเป็น
เพื่อเอาไว้อ่านโน้ตเองจากหนังสือโน้ตขลุ่ยหรือโน้ตที่เขียนต่างๆกันไปครับ จะได้อ่านได้ทุกแบบ ไม่ต้องรอให้ใครแปล หรือใช้จดโน้ตแบบรวดเร็วได้ด้วยตัวเอง
เขียนแบบเรียง โด-โด้ นะครับ

โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด'
ด ร ม พ ฟ ซ ล ท ดํ
C D E F G A B C'
1 2 3 4 5 6 7 1'

โด=ด=C=1 เร=ร=D=2 มี=ม=E=3 ฟา=ฟ=F=4 โซ=ซ=G=5 ลา=ล=A=6 ที=ท=B=7 โด'=ดํ=C'=1'

โน้ตเสียงต่ำจะมีจุด(หรือสัญลักษณ์ใดใด)อยู่ข้างล่าง โน้ตเสียงกลางจะไม่มีสัญลักษณ์อยู่บนหรือล่าง โน้ตเสียงสูงจะมีจุด(หรือสัญลักษณ์ใดใด)อยู่ข้างบน



ตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมโน้ตชุดต่ำกับชุดสูงถึงมีโน้ตไม่ครบ โน้ตชุดเสียงต่ำที่ให้มีโน้ต โซ มาสองตัวเพื่อไว้เล่นคอร์ด(Chord)ได้มากกว่า และใช้เล่นแบบ Cross บ้างก็เรียกว่า Blues Harp ทำให้เล่นได้หลากหลายนั่นเอง แต่ไม่ต้องเป็นห่วงครับ พอเราฝึกเล่นถึงระดับนึงแล้วโน้ตที่หายไปเราจะสามารถเล่นได้หมด ด้วยเทคนิคการ Bending note เทคนิคนี้เอาไว้พูดถึงทีหลังครับ ค่อนข้างยาก

เอาล่ะครับให้ฝึกการไล่สเกลแบบ Single note หรือแบบ เสียงเดี่ยว ให้ชำนาญ จนไม่มีเสียงของโน้ตข้างๆเข้ามาปนเลยนะครับ ให้เป็นเสียงเดียวเพียวๆให้ได้(เหมือนเสียงจากขลุ่ย) แล้วก็ให้จำตำแหน่งต่างๆของโน้ตหลักๆได้
คราวนี้ก็มาจำโน้ตทั้ง 10 ช่องกันครับ ลองเล่นดูแล้วจำให้ได้ ฝึกให้คล่อง พื้นฐานสำคัญมากนะครับ ทำให้เราพัฒนาต่อยอดได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องการอ่านโน้ตสากลและความเข้าใจทางดนตรีให้ศึกษาทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมครับ

คำแนะนำการดูแลรักษา Harmonica เบื้องต้น
  • ฮาร์ปโดยทั่วไปที่ช่องเป่าทำจากพลาสติกสามารถนำไปล้างน้ำเปล่าได้ ควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนไม่เย็น เมื่อล้างแล้วก็สะบัดน้ำออกจากช่องเป่า ใช้ผ้าเช็ดภายนอก และนำไปตั้งตากลมหน้าพัดลมจนกว่าจะแห้ง(30 นาที+) แล้วค่อยเก็บเข้ากล่อง
  • ถ้าช่องเป่าทำจากไม้หรือโลหะ(บางชนิด)ห้ามล้างน้ำเด็ดขาด ไม้จะบวมแตกและขึ้นราได้ ให้สะบัดน้ำลายออกจากช่องเป่า ใช้ผ้าเช็ดภายนอก(บางคนอาจพ่นแอลกอฮอล์บางๆเพื่อทำความสะอาดภายนอกร่วมด้วย) และตากลมให้แห้ง แล้วค่อยเก็บเข้ากล่อง ฮาร์ปทุกชนิดถ้าไม่อยากล้างน้ำก็สามารถใช้วิธีนี้ได้
  • ฮาร์ปที่เสียงต่ำกว่าคีย์ G เช่น พวกตระกูล Low key ไม่ควรเคาะหรือสะบัดน้ำ เพราะอาจทำให้ลิ้นเสียงเคลื่อน แค่เช็ดแล้วตากลมให้แห้งก็พอ
  • ฮาร์ป Chromatic หรือ Valve หรือรุ่นที่มีกลไกพิเศษต่างจากฮาร์ปปกติ ห้ามล้างน้ำเด็ดขาด แค่เช็ดและตากลมให้แห้งก็พอ แต่ถ้าล้างน้ำไปแล้วจะเป่าไม่ออก ต้องตากลมให้แห้งหลายวัน บางทีอาจต้องแกะออกมาดูแลรักษาตามแต่ละรุ่น
  • ห้ามนำฮาร์ปไปตากแดด แช่น้ำ อยู่ในที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะจะเสียหายได้
  • ควรทำความสะอาดปากและฟันก่อนเล่น เช่น บ้วนปาก หรือแปรงฟัน ฮาร์ปจะได้ไม่เหม็น ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากได้ก็ดีครับ
  • ไม่ควรกินหรือดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่าขณะเล่น เพราะจะทำให้ลิ้นเสียงเหนียวจนติดขัด และมดขึ้น
  • ไม่ควรให้คนอื่นเล่นฮาร์ปของตัวเองและไม่ควรไปขอเล่นฮาร์ปของคนอื่น เครื่องเป่าเป็นเครื่องดนตรีส่วนตัว การมั่วเครื่องจะทำให้ติดโรคได้ เช่น โรคเริม ซึ่งหากติดเริมแล้วจะเป็นไปตลอดชีวิต(ปากจะพองด้วยเม็ดน้ำ เจ็บ คัน เยียวยาได้ แต่รักษาไม่ได้ และยาแพงมาก เมื่ออาการกำเริบจะเล่นฮาร์ปไม่ได้อย่างน้อยครึ่งเดือน และต้องระวังไปติดคนอื่นหรือส่วนอื่นของร่างกายด้วย) และโรคอื่นๆอีกมากมาย โปรดเข้าใจความเป็นส่วนตัวในเรื่องนี้ต่อกันและกันด้วยนะครับ
เอาฮาร์ปพกติดตัวไปทุกที่
เอามาเล่นทุกครั้งที่มีโอกาส
แล้วพบกันบทความหน้าครับ

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่
บรรทัดบนเป็นโน้ตแบบทดโน้ตลงเพื่อให้ดูง่ายในเบื้องต้น
บรรทัดล่างเป็นการเขียนแบบตรงโน้ตจริงไม่ทดโน้ต

คำแนะนำการเลือกซื้อ Harmonica
ตรงนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆนะครับ
Harmonica เนี่ยทางร้านเขาไม่ค่อยยอมให้เราลองเป่าซักเท่าไหร่ (ก็ต้องเข้าใจเขาล่ะครับมันเครื่องเป่านี่นา อิอิ) เรียกว่าเลือกไม่ค่อยได้ว่างั้นเหอะ(คงดูได้แต่ว่าภายนอกโอเคไม่มีรอยแตกร้าว) บางร้านอาจจะมีที่ปั้มลมสำหรับทดสอบเสียงก็ขอมาลองได้ เพื่อฟังว่าน้ำเสียงเป็นอย่างไร(ชอบมั้ย)และมีเสียงครบทุกช่องมั้ย
ผมก็เลยขอปันประสบการณ์ในการซื้อ Harmonica รุ่นไม่แพงมากมาลองเองก็หลายอันอยู่ แบบที่เล่นสะดวกที่สุดและมืออาชีพชอบใช้จะเป็นแบบ ช่องเป่าอยู่ห่างกันพอสมควร(ดูจากรูปที่ผมเอามาลงนี่แหละครับ ประมาณนั้น)

จากที่ผมลองมาแล้วอยากแนะนำ...
สำหรับคนที่เพิ่งหัดหรืออยากลองดูก่อนแนะนำให้ใช้ Suzuki Easy Rider ราคา 200กว่าบาท คุ้มค่า คุณภาพดี ทนทาน และเล่นง่าย (อ่านรีวิว Suzuki Easy Rider)
หรือถ้าอยากได้รุ่นมาตราฐานเพิ่มงบอีกนิดเป็น Suzuki Harp master ราคา 600กว่าบาท ถือว่าคุณภาพโอเคครับ เป็นรุ่นล่างสุดที่มืออาชีพบางคนเลือกใช้ 
หรือถ้าใครอยากได้ของเทพๆเลย(ซื้อทั้งทีขอดีๆไปเลยว่างั้นเหอะ) แบบที่มืออาชีพส่วนมากนิยมใช้กันทั่วโลกก็ Hohner Marine Band ราคาประมาณ1,000บาท รูปทรงคลาสสิกดั้งเดิมทำจากไม้ อันนี้ล้างน้ำไม่ได้ครับ ไม้จะบวมแตกเอา ของผมขึ้นราไปแล้ว เลยเก็บขึ้นหิ้ง เหอะๆ เสียงดีมาก ใส ก้องกังวาน นุ่ม และใช้ลมน้อยเสียงดังดี
หรือจะเป็น Suzuki Pro master ราคาประมาณ1,000กว่าบาท รูปทรงทันสมัยหน่อยทำด้วยอลูมิเนียมและสแตนเลส เสียงเลยสดใส ใสกิ้ง หวาน และกลมกล่อม Pro master เนี่ยผมยังไม่มีหรอกนะครับ แต่เท่าที่ได้ฟังเสียงมาแล้วใสสุดๆ กำลังอยากได้เลยครับ(ที่บ่นไว้ต้นบทความว่าอยากได้ เหอะๆ)ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับฮาร์ปรุ่นต่างๆที่

ตอนนี้ผมก็ใช้ Harp master เล่นอยู่ซึ่งก็น่าพอใจครับ เสียงหนานุ่มกลมกล่อมดี สามารถใช้เล่นเทคนิค Bending และ Overblow ได้(แต่ Overblow เสียงไม่ค่อยดี) เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการฮาร์ปคู่ใจคุณภาพมาตราฐานสักตัวในราคาที่ไม่แพง แต่ถ้ามีงบแนะนำเป็นรุ่นมืออาชีพไปเลยดีกว่าครับ ราคาจะประมาณ 1,000กว่าบาท รุ่นมืออาชีพส่วนใหญ่จะมีคุณภาพสูงใกล้เคียงกันหมด ใช้เล่นเทคนิคต่างๆได้หมด ต่างกันแค่เอกลักษณ์เสียง วัสดุ และรูปทรง ส่วนรุ่นที่แพงกว่าที่แนะนำมานี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของวัสดุหรูหราที่นำมาผลิตและเอกลักษณ์เสียงที่ต่างกันไปมากกว่าครับ
(จะมีรุ่นมืออาชีพที่น่าสนใจแนะนำเพิ่มเติมอีกในส่วนแถมครับ)

แนะนำให้ซื้อ Key C นะครับ เพราะชุดโน้ตจะเป็น โด-โด้ ถ้าเป็นคีย์อื่นก็จะเรียงโน้ตไม่เหมือนกัน(ฟังคล้ายกันแต่ความถี่ต่างกัน) แต่เบื้องต้นให้เป็น คีย์ C นะครับ

ถ้าเป็น Diatonic ให้บอกที่ร้านดนตรีว่า
"เอาฮาร์โมนิก้า 10 ช่อง คีย์ C"

ถ้าเป็นชนิด Tremolo ก็บอกว่า
"เอาฮาร์โมนิก้า 24 ช่อง คีย์ C"
หรือจะกี่ช่องก็ว่าไป มีตั้งแต่ 13-24 ช่อง

แล้วก็เลือกดูตามงบประมาณ

เมื่อได้ฮาร์ปใหม่มาแล้ว อย่าเพิ่งเป่าดูดเสียงดังมากหรือเบนดิ้งอย่างหนักหน่วง ให้เป่าดูดด้วยความนุ่มนวลตามช่องต่างๆให้ครบทุกช่องประมาณ 5 นาที เพื่อนวดลิ้นเสียง(reed)ให้เข้าที่ก่อน
ฮาร์ปก็เหมือนเครื่องดนตรีอื่นๆที่เสียงอาจจะเพี้ยนเองตามระยะเวลาการใช้งาน แต่หากเล่นรุนแรงหรือเสียงดังเกินไปก็จะเป็นการเร่งให้เสียงเพี้ยนเร็วขึ้นในเวลาไม่กี่เดือน นักฮาร์ปมืออาชีพที่เล่นต่อเนื่องทุกวันต้องอย่างน้อยหกเดือนเสียงถึงอาจจะเริ่มเพี้ยน(ฮาร์ปสมัยนี้อาจนานกว่านั้น) ดังนั้น เพื่อถนอมให้ฮาร์ปให้ใช้ได้ยาวๆ ไม่ควรเป่าอัดรุนแรงหรือดังเกินเหตุ สำหรับมือสมัครเล่นอย่างเราๆก็อาจถนอมให้ใช้ได้นานหลายสิบปีครับ

ยี่ห้อที่แนะนำเนี่ยก็เป็นรุ่นที่หาซื้อไม่ยากตามร้านเครื่องดนตรีทั่วไป จริงๆเรื่องพวกนี้มันก็อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนล่ะครับไม่มีอะไรดีที่สุด เพราะแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็มีเอกลักษณ์เสียงที่แตกต่างกันไป

ที่ผมเล่นมารอบตัวไม่มีใครเล่น Harmonica เลยไม่มีใครแนะนำได้ ตอนนี้มีช่องทางผมก็อยากแนะนำเพื่อนๆล่ะครับ จะได้เอาไว้ตัดสินใจในการซื้อ Harmonica เบื้องต้นล่ะครับ
ถ้ามีอะไรที่เห็นว่าเป็นความรู้เพิ่มเติมผมก็จะมาแก้ไขปรับปรุงบทความนี้อยู่เรื่อยๆครับ

ที่โปรโมทของ Suzuki กับ Hohner เนี่ยผมไม่ได้ค่าโฆษณานะครับ แต่ถ้าทางบริษัททั้งสองจะเลี้ยงข้าวผัดผมสักมื้อก็ยินดีครับ ฮ่าๆ (แอบแซวนิดๆ) ของเขาดีจริงครับ

หากได้ประโยชน์จากบทความนี้
แล้วอยากจะเลี้ยงน้ำชา ข้าวผัด หรือมอบสินน้ำใจเป็นค่าครู
สามารถสนับสนุนได้ที่

ธนาคารกรุงไทย
9090619704
กนกเกียรติ หริรักษ์หรรษา

ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจนะครับ
ขอบคุณครับ🙏😇

ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับ ^_^
มาพบกันได้ที่เพจ Harmonica Club Thailand - คลับคนรักฮาร์โมนิก้า แล้วเจอกันนะครับ ;)


แถม
แนะนำรุ่นมืออาชีพที่น่าสนใจครับ

=======

Suzuki Manji ราคา1,000กว่าบาท ออกแบบสไตล์ดั้งเดิม ลิ้นเสียงทำจากสัมฤทธิ์ ช่องเป่าทำจาก "เรซิ่นผสมผงไม้" โฆษณาว่าให้เสียงเหมือนไม้ แต่ดูแลรักษาง่ายเหมือนพลาสติก
แต่เอาเข้าจริงๆเสียงมันก็ไม่ได้เหมือนไม้หรอกครับ มันก็มีเอกลักษณ์ในแบบของมัน แต่ก็ให้เสียงก้องกังวานดี กล่อมกล่อม ผมชอบนะ เล่นเทคนิคทุกอย่างได้ครบ คุมระดับเสียงได้ดี ถูกใจมาก
เหมาะสำหรับคนที่ชอบฮาร์โมนิก้าดีไซด์แบบดั้งเดิม และไม่อยากมีปัญหาไม้บวมขึ้นรา Manji นี้แหละผมแนะนำเลย

=======

Hohner Special 20 ราคา1,000กว่าบาท เป็นรุ่นบุกเบิกรุ่นแรกของดีไซน์โมเดิร์นในปัจจุบัน ออกแบบมาตั้งแต่ปี 1970 เพื่อชดเชยข้อด้อยของ Hohner Marine Band 1896 Classic ที่ช่องเป่าทำจากไม้ รุ่นนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนของ Marine Band ในเว่อร์ชั่นช่องเป่าพลาสติก จึงตัดปัญหาเรื่องไม้ชื้นขึ้นราไปได้เลย ดูแลรักษาง่ายสไตล์พลาสติก สำหรับคนที่ชอบ Marine Band แต่ติดปัญหาที่ไม้ ก็อาจใช้รุ่นนี้แทนได้ แต่น้ำเสียงจากต่างกันหน่อย เนื่องจากเป็นพลาสติก เสียงจะไปทางหนานุ่มกลมกล่อมมากกว่า ไม่ใสสว่างจ้าเหมือนแบบไม้ แต่ก็ยังใสอยู่ รุ่นนี้ปรับแต่งมาให้เล่นเทคนิคต่างๆได้ครบถ้วนอยู่แล้ว ลิ้นเสียงตอบสนองไว จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจทั้งสำหรับมือใหม่ไปจนถึงมืออาชีพ แนะนำเลยครับ
ผมก็ใช้รุ่นนี้อยู่

=======

Easttop T008K (บางทีก็เรียก 008K) ราคาหลักร้อยปลายๆ ออกแบบสไตล์ดั้งเดิม เป็นยี่ห้อของจีน ราคาหลักร้อยคุณภาพหลักพัน ช่องเป่าทำจาพลาสติก ABS, ลิ้นเสียงทำจากสัมฤทธิ์ ส่วนที่เหลือเป็นทองเหลืองกับสแตนเลส
รุ่นนี้ดูแลรักษาง่ายสบายๆสไตล์พลาสติก เท่าที่ฟังดูลิ้นเสียงตอบสนองดีมาก เสียงดังประหยัดลม ถ้าอยากได้ฮาร์ปดีๆคุ้มค่าคุ้มราคาสักตัวหนึ่ง ตัวนี้ใช้ได้เลย แต่เสียดายว่าตัวครอบส่วนใหญ่จะทาสี(แบบในรูป)และเป็นลวดลายแบบนูน สัมผัสมันอาจจะแปลกๆหน่อย หาแบบไม่ลงสีไม่ค่อยได้ เห็นว่ามีแต่หาซื้อยาก ถ้าเป็นแบบไม่ลงสี(คือเป็นสีเงินเหมือนฮาร์ปปกติ)จะน่าสนใจกว่านี้

=======

ส่วนเรื่องเสียงก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนล่ะครับ ไม่สามารถบอกได้ว่าเสียงรุ่นไหนดีกว่ากัน เพราะฮาร์ปแต่ละรุ่นมีเอกลักษณ์เสียงในแบบของมันเอง ขึ้นอยู่กับวัสดุและอะไรอีกหลายๆอย่าง ต้องลองหารีวิวมาฟังหรือหามาเล่นดูครับ แล้วจะรู้ว่าตัวเองชอบสไตล์เสียงแบบไหนครับ

ถ้ามีรุ่นดีๆที่คุ้มค่าคุ้มราคาผมจะมาแนะนำเพิ่มต่อในส่วนนี้นะครับ คอยติดตามกันได้ หรือมีอะไรสงสัยก็สามารถเม้นต์ถามข้างใต้บทความนี้ หรือจะไปเม้นต์ถามในเพจ Harmonica Club Thailand - คลับคนรักฮาร์โมนิก้า หรือที่เว็บบอร์ด Harmonica Club jazzy.pantown(เซิร์ฟเว่อร์ปิดตัวไปแล้ว) ก็ได้ตามสะดวกเลยนะครับ ถ้าผมแวะไปเห็นและพอจะช่วยตอบได้ก็จะตอบให้ทันทีเลยครับ

ขอให้มีความสุขกับการเล่นดนตรีครับทุกคน ^_^

=======

***แจ้งข่าวดี***
สวัสดีครับ ตอนนี้ผมกลับมารับสอนฮาร์โมนิก้าแล้วนะครับ
ขอบคุณสำหรับหลายๆท่านที่ติดต่อเข้ามาสนใจจะเรียนด้วย
ตอนนี้สะดวกสอนทางออนไลน์แล้วครับ
สอนส่วนตัวสดๆทาง VDO call ผ่าน LINE
วันเวลาเรียนแล้วแต่ตกลงกัน
ดูรายละเอียดหลักสูตรการสอนใต้โปสเตอร์ได้เลยครับ

สนใจติดต่อ ครูอาว

สิ่งที่ต้องเตรียมในการเรียนฮาร์โมนิก้า
  • ฮาร์โมนิก้า ไดอะโทนิก แบบ 10 ช่อง คีย์ C หรือฮาร์โมนิก้าชนิดอื่นๆ เช่น เทรโมโล่, โครมาติก, ซิงเกิ้ล, ไดอะโทนิก 12 หรือ 14 ช่อง, ฯลฯ แต่เน้นว่าควรเป็น คีย์ C นะครับ
  • น้ำเปล่าเอาไว้ล้างปากและดื่มแก้กระหาย
  • ดินสอและกระดาษเผื่อไว้จดการเรียนการสอน
ไว้เจอกันครับ :D

Harmonica เป็นเครื่องดนตรีที่พกพาสะดวก ให้เสียงที่ไพเราะ และที่สำคัญราคาถูก
รับสอนตั้งแต่พื้นฐาน จนสามารถเล่นเป็น และอ่านโน้ตได้
[โปรเตอร์ฟอร์มนี้เก่าแก่ตั้งแต่ผมเริ่มเปิดรับสอนครั้งแรกในปี 2010 นำมาปรับปรุงเนื้อหาใหม่นิดหน่อย ตั้งใจคงรูปแบบเดิมไว้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ว่าเป็นเจ้าเก่าเจ้าเดิมครับ อิอิ]

ประสบการณ์ทางดนตรี ผมเคยทำวงดนตรีเล่นกีต้าร์และเบสอยู่หลาย 10 ปี เล่นทรอมโบนในวงโยธวาทิต 3 ปี เป็นผู้สอนอูคูเลเล่ 2 ปี เป็นผู้ช่วยสอนทรอมโบนและร่วมฝึกซ้อมดับเบิ้ลเบสกับวงออเคสตราในระยะเวลาสั้นๆ และทำวงดนตรีแนว Duo Harmonica (ฮาร์โมนิก้าคู่) อยู่ 2 ปี ตลอดช่วงเวลานั้นก็เล่นฮาร์โมนิก้าเป็นการส่วนตัวอยู่เสมอ(ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ) ก็เป็นอีกเครื่องดนตรีนึงที่ชอบมาตลอดนี่ครับ😉
หลังจากไม่ได้ทำวงดนตรี(แยกย้ายกันตามสไตล์ชาวร๊อค) รวมถึงภายหลังที่ป่วยจากการทำงานหนักเกินไปจนต้องออกจากงาน ผมก็เล่นฮาร์โมนิก้าเพื่อความผ่อนคลายและทำสมาธิ ปัจจุบันนี้เพลงที่ผมเล่นมักจะเป็นแนว Hymn หรือ Gospel ที่ชวนให้สงบจนถึงหลับไปเลย ผมจึงอาจไม่มีอะไรโชว์ที่หวือหวามากนัก แต่ผมสามารถเป็นโค้ชและชี้แนะแนวทางให้คุณเล่นฮาร์โมนิก้าด้วยความเข้าใจได้ครับ😇
ผมรับสอนฮาร์โมนิก้ามาสิบกว่าปีแล้วครับ ตั้งแต่ปี 2010 มีหยุดสอนไปพักนึง(ก็หลายปีอยู่นะ) แล้วกลับมาสอนใหม่ ช่วงที่ผมหยุดสอนก็มีคนติดต่อเข้ามาขอเรียนฮาร์โมนิก้าอยู่บ้าง ตอนนี้ผมกลับมารับสอนฮาร์โมนิก้าแล้วนะครับ😊
  • ทัก LINE มานัดวันเวลาเรียนได้ตามแต่ตกลงกันครับ จากนั้นจึงทำการโอนจองวันได้เลย
  • ช่วงเวลานัดเรียนคร่าวๆคือ เริ่มรอบเช้า 10:00 น.; รอบบ่าย 13:00 น.; รอบเย็น 16:00 น. เวลานัดอาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมครับ
  • สามารถแจ้งขอเปลี่ยนวันเรียนได้ก่อนถึงวันนัดนะครับ
  • หากถึงวันนัดแล้วผู้เรียนไม่สะดวกเรียนสามารถนัดชดเชยเป็นวันอื่นได้ภายใน 30 วันนับจากวันนัด เกินกว่านั้นถือว่าสละสิทธิ์ไม่คืนค่าจองนะครับ
หลายปีก่อนผมทำงานจนป่วยจนต้องออกจากงาน และตอนนี้ต้องดูแลสุขภาพหน่อย ดังนั้น คิวสอนต่อเดือนจะจำกัดครับ แต่สามารถติดต่อนัดมาจองวันเวลาไว้ล่วงหน้าได้ ผมจะลงไว้ให้เลยครับ

ฮาร์โมนิก้าเป็นเครื่องดนตรีที่ผู้รักเสียงดนตรีคู่ควร ไม่ว่าจะนำมาบรรเลงเพลินๆ เป็นเพื่อนยามว่าง เป็นเพื่อนยามผ่อนคลาย เป็นเพื่อนยามเดินทาง นำไปเล่นร่วมกับวงดนตรี หรือนำไปแสดงในงานเลี้ยงสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็ได้ เป็นความสามารถพิเศษที่หยิบมาแสดงได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นเครื่องดนตรีฉบับกระเป๋า ควรหามาพกไว้สักอันนะครับ คุณคิดเหมือนกันมั้ย?😉

หลักสูตรในการสอนฮาร์โมนิก้า
[เม้าธ์ออร์แกน, Harmoinca, Mouth Organ]

ชั่วโมงละ 1,000 บาท 500 บาท

  1. สอนพื้นฐานการเล่น ไล่สเกล และการอ่านโน้ต ทั้งโน้ตตัวอักษร โน้ตตัวเลข TAB และโน้ตสากล และหัดเล่นเพลงพื้นฐาน สอนแบบเข้าใจง่าย สามารถอ่านโน้ตสากลพื้นฐานได้ใน 1 นาที สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนลัดระยะสั้น สามารถเลือกเรียนเฉพาะบทเรียนนี้อย่างเดียวได้เลย
  2. สอนโครงสร้างบันไดเสียง Major และ Minor ทำความเข้าใจคีย์ และวิธีหาคีย์จากโน้ต สามารถเปลี่ยนคีย์เพลง และรู้วิธีใช้ฮาร์โมนิก้าทั้ง 12 คีย์
  3. สอนวิธีสร้างคอร์ด ทำความเข้าใจโครงสร้างของคอร์ดแบบต่างๆ และวิธีการเล่นคอร์ดเบื้องต้นด้วยฮาร์โมนิก้า และทฤษฎีดนตรีอื่นๆเพิ่มเติม เช่น Mode เป็นต้น ตามความเหมาะสม
  4. สอนการใช้โน้ตแทนและการใช้คอร์ดแทน เพื่อใช้เล่นแทนโน้ตหรือคอร์ดที่ไม่มีในฮาร์โมนิก้า เช่น พวก #,b เป็นต้น
  5. สอนเทคนิค Bending และ Overbend พื้นฐาน เพื่อให้เล่นโน้ตที่ไม่มีในฮาร์โมนิก้า เช่น #,b ได้
  6. สอนเทคนิคการเล่นโน้ตคู่แบบประสานเสียง
  7. สอนเทคนิคการเล่นคอร์ดกับโน้ตพร้อมกัน
เพลงพื้นฐานจะเรียนควบคู่กันไปกับบทเรียนและทฤษฏีดนตรีตลอดหลักสูตร และอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะครับ
การเรียน 1-2 ครั้งก็เพียงพอที่จะเล่นและต่อยอดเองได้ หากต้องการเรียนให้ครบหลักสูตรอาจต้องเรียนหลายครั้ง และสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนเฉพาะบทเรียนก็สามารถเลือกบทเรียนได้ตามต้องการ
ผมจะสอนแบบคลาสสิค และทำเรื่องยากให้ง่าย ไม่ใช่แค่ให้เล่นได้ แต่เน้นความเข้าใจด้วย ในหลักสูตรนี้เป็นความรู้ที่พื้นฐานที่นักฮาร์โมนิกาควรมี ช่วยประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก สามารถถามข้อสงสัยเกี่ยวกับดนตรีได้โดยตรง การเรียนสดๆนั้นผู้สอนจะปรับแนวทางให้เหมาะสมกับผู้เรียน เสมือนเสื้อตัดที่เข้ารูปกว่า ผู้เรียนสามารถนำพื้นฐานและทฤษฎีดนตรีเหล่านี้ไปหาความรู้เพื่อต่อยอดในสไตล์อื่นๆหรือเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อรากแข็งแรง ผู้เรียนย่อมงอกงามในวิถีทางของตัวเองได้ ผมเชื่อว่าผู้สอนไม่ควรสอนให้ผู้เรียนพึ่งพาผู้สอนตลอดไป แต่ควรสอนให้ผู้เรียนเป็นแสงสว่างให้ตัวเองได้ ผมจะสอนอย่างเต็มที่ครับ บอกเลยว่าคุ้มสุดๆครับ เหมือนได้ฟรีแถมกำไร แล้วเจอกันนะครับ!

*รายละเอียดการสอนต่างๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะอัพเดทในหน้านี้เป็นหลักครับ
ขอบคุณครับ🙏😇
ปรับปรุงเนื้องหาล่าสุด: 12 ส.ค. 2023