Sponsor

17 พฤศจิกายน 2565

ทำความรู้จักกับการเรียงโน้ตและการตั้งเสียงของฮาร์โมนิก้าแบบต่างๆ


สวัสดีครับชาวบูลส์ฮาร์ปทุกท่าน ห่างหายไปนานกับบทความฮาร์โมนิก้า เดี๋ยวนี้ฮาร์ปมีหลากหลายขึ้นมาก เรามารู้จักกับเรื่องการเรียงโน้ตและการตั้งเสียงของฮาร์ปกันดีกว่าครับ จะได้ซื้อฮาร์ปได้ตามวัตถุประสงค์และแนวการเล่นของตัวเอง ซึ่งในที่นี้จะกล่างถึงเฉพาะฮาร์ป Diatonic (ไดอะโทนิค) นะครับ เอาล่ะ เข้าเรื่องกันเลยครับ

Easttop T008K
ไม่ได้ระบุอะไรเป็นพิเศษ
จึงเป็นการเรียงโน้ตมาตราฐาน Richter
การเรียงโน้ตของฮาร์โมนิก้า
การเรียงโน้ตมาตราฐานของฮาร์ปเรียกกันว่า Richter Tuning (ริชเตอร์ จูนนิ่ง) พัฒนาโดย Joseph Richter (โจเซฟ ริชเตอร์) ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นมาตราฐานของฮาร์ปเกือบทุกชนิดในปัจจุบัน โดยใช้โน้ตในบันไดเสียง Major (เมเจอร์) เป็นหลัก

ตัวอย่าง Richter Tuning คีย์ C

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
-----------------------------
เป่า: |C |E |G |C |E |G |C |E |G |C |
ดูด : |D |G |B |D |F |A |B |D |F |A |
-----------------------------

การเรียงโน้ตนอกเหนือจากนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียงโน้ตตามบันไดเสียงต่างๆ เช่น Natural minor Tuning, Harmonic minor Tuning, ฯลฯ ซึ่งโน้ตเหล่านี้ก็เรียงโน้ตไปตามลำดับของบันไดเสียงตามโครงสร้าง Richter Tuning ถ้าต้องการเล่นบันไดเสียงเหล่านี้ก็ต้องเลือกดูบันไดเสียงที่ต้องการให้ดีครับ

ตัวอย่าง Natural minor Tuning คีย์ Cm

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
-----------------------------
เป่า: |C |Eb|G |C |Eb|G |C |Eb|G |C |
ดูด : |D |G |Bb|D |F |A |Bb|D |F |Ab|
-----------------------------

ตัวอย่าง Harmonic minor Tuning คีย์ Cm

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
-----------------------------
เป่า: |C |Eb|G |C |Eb|G |C |Eb|G |C |
ดูด : |D |G |B |D |F |Ab |B |D |F |Ab|
-----------------------------

จะเห็นว่าเป็นการเรียงโน้ตตามบันไดเสียงต่างๆโดยใช้โครงสร้างแบบ Richter Tuning นั่นเอง

มีระบุว่า Paddy ไว้บนฮาร์ปและกล่อง

ยังมีการเรียงโน้ตอื่นๆที่ควรจะรู้จักไว้อีกสักหน่อยครับ
Paddy หรือ Paddy Richter Tuning เป็นการเรียงโน้ตที่พัฒนาโดย Brendan Power เพื่อให้เล่นเพลงพื้นเมืองไอริช(traditional Irish)ได้ง่ายขึ้น โดยมีความแตกต่างอยู่ที่ช่องที่ 3 โน้ตเป่าแค่ตัวเดียว

ตัวอย่าง Paddy Richter Tuning คีย์ C

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
-----------------------------
เป่า: |C |E |A |C |E |G |C |E |G |C |
ดูด : |D |G |B |D |F |A |B |D |F |A |
-----------------------------

Marine Band 364/24 12 ช่อง
มีการเรียงโน้ตแบบ Richter Tuning
และ Solo Tuning
Solo Tuning มักจะเป็นฮาร์ป 12 ช่องขึ้นไป ตั้งเสียงเหมือนฮาร์ป Chromatic ตอนที่ยังไม่ได้กดปุ่ม เล่นโน้ตหลักๆได้ 3 Octave ครบทุกตัวโดยไม่ต้องเบนดิ้ง (แต่ฮาร์ป 12 ช่องส่วนใหญ่จะตั้งเสียงแบบ Richter Tuning ดังนั้นต้องดูรายละเอียดให้ดี)

ตัวอย่าง Solo Tuning คีย์ C

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12
-----------------------------
เป่า: |C |E |G |C |C |E |G |C |C |E |G |C |
ดูด : |D |F |A |B |D |F |A |B |D |F |A |B |
-----------------------------

ตัวอย่าง Richter Tuning 12 ช่อง คีย์ C

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12
-----------------------------
เป่า: |C |E |G |C |E |G |C |E |G |C |E |G |
ดูด : |D |G |B |D |F |A |B |D |F |A |B |D |
-----------------------------

Lucky 13
เพิ่ม Low key 3 ช่องแรก
ช่องที่เหลือเหมือนปกติ
Lucky 13 Richter Tuning การเรียงโน้ตนี้พัฒนาโดย Brendan Power เป็นฮาร์ป 13 ช่อง โดยเพิ่มช่อง 1, 2, 3, ที่เป็น Low key เสียงต่ำพิเศษมาอีกชุดหนึ่ง(โน้ตเดียวกับช่อง 1 2 3 แต่เสียงต่ำกว่า) ส่วนช่องที่เหลือเหมือนฮาร์ป 10 ช่องมาตราฐาน รวมเป็น 13 ช่อง ทำให้เล่นโน้ตได้กว้างถึง 4 Octave ได้ยินว่ากำลังมีความพยายามผลักดันให้เป็นมาตราฐานทางเลือกของใหม่ของฮาร์ปด้วย (อารมณ์เหมือนกีต้าร์ 7 สาย ที่เพิ่มสายเสียงต่ำมาอีกเส้นนึง อะไรทำนองนั้น) เท่าที่ทราบมาตอนนี้มีเพียงยี่ห้อ Easttop เท่านั้นที่ผลิตฮาร์ปรุ่นนี้ตามที่ Brendan เสนอ ถ้าสนใจก็ต้องดูให้ดี เพราะ Lucky 13 มีการเรียงโน้ตหลายแบบมาก อย่างน้อยก็ 7 แบบเลยล่ะครับ Richter, Diminished, Paddy, Power-Bender, Power-Chromatic, Power-Draw, Solo ถ้าต้องการที่เหมือนกับฮาร์ปมาตราฐานก็ต้องดูที่เป็น Lucky 13 Richter ก็จะเป็น Richter Tuning ตามมาตราฐานครับ(ตามตัวอย่างข้างล่าง) ซึ่งเป็นมาตราฐานที่ Brendan Power กำลังผลักดัน แม้จะเป็น 13 ช่อง แต่ไม่ได้นับถึง 13 แต่จะนับเป็น 1, 2, 3, 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 โดยใช้เลขซ้ำช่อง 1 2 3 สองรอบ โดยรอบแรกจะมีแต้มข้างล่าง เพื่อบอกว่าโน้ตเหมือนกับช่อง 1 2 3 แต่เสียงต่ำกว่านั่นเอง

ตัวอย่าง Lucky 13 Richter Tuning คีย์ C

1, 2, 3, 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
-----------------------------
เป่า: |C |E |G |C |E |G |C |E |G |C |E |G |C |
ดูด : |D |G |B |D |G |B |D |F |A |B |D |F |A |
-----------------------------

นี่แค่ส่วนหนึ่งในการเรียงโน้ตของฮาร์ปเท่านั้น ยังมีอีกหลายแบบมากมาย ดังนั้น ถ้าจะเลือกฮาร์ปก็ต้องดูดีๆว่ามันเป็น Tuning แบบไหน อยากได้แบบไหน บันไดเสียงอะไร ถ้าไม่ได้ระบุอะไรเอาไว้มักจะเป็น Richter Tuning มาตราฐานสากลครับ

=======

การตั้งเสียงของฮาร์โมนิก้า
เรื่องการเรียงโน้ตก็จบไปแล้ว ยังมีเรื่องตั้งเสียงโน้ตอีก 2 แบบที่ใช้ในการตั้งเสียงฮาร์ป คือ Just Intonation และ Equal Temperament

Just Intonation เป็นการตั้งเสียงแบบเน้นความกลมกลืนของความถี่เสียงตามธรรมชาติครับ สมมติว่าเป็นเปียโน ถ้าตั้งเสียงเปียโนให้กลมกล่อมในคีย์ C มันก็จะกลมกล่อมในคีย์ C เท่านั้นครับ แต่ถ้าเล่นเพลงอื่นที่ต้องเปลี่ยนคีย์ ก็ต้องตั้งเสียงกันใหม่หมดทั้งหลังเพื่อความกลมกลืนของความถี่เสียงในคีย์นั้นๆ (เป็นการตั้งเสียงแบบดั้งเดิม)
สำหรับฮาร์ปแล้ว 1 ตัวจะมีคีย์เดียว ดังนั้นการตั้งเสียงให้กลมกลืนแบบ Just Intonation จึงไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่อเปลี่ยนคีย์ก็เปลี่ยนฮาร์ปครับ ฮาร์ปทั่วไปจึงตั้งเสียงแบบ Just Intonation เป็นมาตราฐานครับ

Gold Melody
ตั้งเสียงแบบ Equal
Equal Temperament จะเป็นการตั้งเสียงตามหลักการสมัยใหม่ที่กำหนดความถี่ตายตัวของโน้ต(ด้วยการแบ่งความถี่ออกมาในสัดส่วนที่เท่าๆกัน) โดยไม่สนใจความกลมกล่อมเมื่อเล่นคอร์ด(หรือเล่นเสียงประสาน) เพื่อความเป๊ะของความถี่ มาตราฐานนี้ทำให้เครื่องดนตรีที่กำหนดลิ่มโน้ตแบบตายตัว เช่น เปียโน ฯลฯ สะดวกในการเล่นคีย์อื่นๆโดยไม่ต้องตั้งเสียงใหม่ทั้งหลัง การตั้งเสียงแบบนี้จึงเน้นไปที่การตั้งความถี่โน้ตให้ตรงหลักการที่กำหนดไว้อย่างตายตัว
สำหรับฮาร์ปการตั้งเสียงแบบนี้ทำให้เล่นเมโลดี้ได้ดี เหมาะสำหรับนักโซโล่ เสียงจะโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่เล่นคอร์ดจะไม่เหมาะ เสียงจะแปร่งนิดๆ แต่ไม่ใช่ว่าเล่นคอร์ดไม่ได้นะครับ เล่นได้ แต่เสียงจะไม่กลมกล่อมเท่าฮาร์ปมาตราฐานที่เล่นคอร์ดก็ได้โซโล่ก็ดี ฮาร์ปที่ตั้งเสียงแบบ Equal Temperament ได้แก่ Hohner Golden Melody, Suzuki Olive เป็นต้น

การตั้งเสียงแบบทั้งสองอย่างนี้โน้ตก็ตรงทั้งคู่นะครับ จะต่างกันที่บางความถี่เพียงเล็กน้อย เล่นโน้ตเดี่ยวๆจะไม่ค่อยส่งผล จะส่งผลเมื่อเล่นหลายโน้ตพร้อมกัน(เล่นคอร์ด)


สรุป
ฮาร์ปโดยทั่วไปถ้าไม่ระบุอะไรเป็พิเศษก็จะเรียงโน้ตแบบ Richter Tuning และตั้งเสียงแบบ Just Intonation ซึ่งเป็นมาตราฐานของฮาร์ปอยู่แล้วครับ แต่การตั้งเสียงแบบ Equal Temperament ก็ไม่ระบุอะไรเช่นกันแต่จะมีบอกในเว็บไซต์ของผู้ผลิตในหน้าข้อมูลฮาร์ปรุ่นนั้นๆครับ

=======
แถม

A440 บน Marine Band รุ่นเดิม
ใครที่เคยใช้ Hohner Marine Band รุ่นก่อน(ที่ยังทาเคลือบสี) คงเคยสังเกตุเห็นรอยปั้ม A440 บนฮาร์ปกันมาบ้าง รอยปั้มนี้บอกว่าเป็นการจูนเสียงโดยใช้ความถี่หลักคือ A(ลา) ที่ความถี่ 440Hz และเทียบไปจนครบทุกโน้ตโดยใช้ตัว ลา 440Hz เป็นหลัก
แต่ว่าปัจจุบันมาตราฐานการจูนเครื่องดนตรีที่กำหนดเสียงตายตัวจะเทียบไว้ที่ A442 เช่น Electric Keyboard, Melodian, Vibraphone, Electric Piano เป็นต้น และวงออร์เคสตราทั่วโลกในปัจจุบัน 99% ตั้งที่ความถี่นี้(แต่เยอรมันนิยมที่ A443 (?)) ทำให้มีแรงกดดันในการตั้งเสียงฮาร์ปกันใหม่ เท่าที่ผมได้ลองเทียบเสียงดู ฮาร์ปในปัจจุบันน่าจะเป็นมาตราฐานใหม่คือ A442 กันหมดแล้วครับ และเท่าที่เห็น Hohner Marine Band ปัจจุบันก็ไม่มีรอยปั้มว่า A440 แล้ว
ดังนั้น หากเล่นร่วมกับวงดนตรีที่เป็นเครื่องสายที่ปรับเสียงได้ เช่น กีต้าร์ เป็นต้น ก็ควรแนะนำให้นักกีต้าร์ตั้งค่าเครื่อง(หรือแอพ)ตั้งเสียงเป็น A442 ด้วย เพื่อให้ความถี่ตรงกัน เพราะเครื่องตั้งเสียงทั่วไปยังตั้งค่าปริยาย(Default)เป็น A440 อยู่ครับ
อันที่จริง แม้ว่าความถี่จะต่างกันเล็กน้อยแต่ยังสามารถเล่นร่วมกันได้ครับ เสียงอาจจะแปร่งไปบ้างเท่านั้น แค่เล็กน้อยจนสังเกตได้ยาก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรปรับให้ตรงกันจะดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น