Sponsor

13 ธันวาคม 2565

การเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญจิตใจ

Photo by Pixabay: https://www.pexels.com/photo/red-and-white-flower-on-music-note-164948/

ดนตรีนั้นส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ได้ คำว่า ดนตรี ในภาษาจีนโบราณเขียนว่า 樂 ส่วนคำว่า ยารักษาโรค เขียนว่า 藥 จะเห็นว่าคำว่า ยารักษาโรค นั้นแค่เติมสัญลักษณ์ 艹 ที่หมายถึง หญ้าสมุนไพร เอาไว้บนคำว่า ดนตรี เท่านั้นเอง แสดงให้เห็นว่าในทางปรัชญาจีนถือว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค และปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพยท์ก็ได้ค้นพบแล้วว่าดนตรีสามารถช่วยรักษาความเจ็บป่วยได้จริงๆ

เครื่องดนตรีนั้นหากจะมองว่าเป็นเพียงแหล่งกำเนิดเสียงก็ย่อมได้ สามารถเอาไปสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้ทำอะไร เช่น นักปกครองใช้เพื่อพิธีการ ชาวบ้านใช้เพื่อความรื่นเริง เป็นต้น แต่เครื่องดนตรียังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบำเพ็ญจิตใจได้ด้วย เช่น พระธิเบตเคาะขันธิเบตเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนา ชาวฮินดูสวดมนตรา เช่น โอม เพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาด้วยเช่นกัน เหมือนหลักการของความถี่บำบัด

t.ly/UL-m
ในการบรรเลงดนตรีนั้น นอกจากขณะบรรเลงจะต้องใช้สมาธิแล้ว โน้ตเพลงที่เหมาะสมยังสามารถช่วยให้จิตใจสงบ ลดอัตตาตัวตน ยกระดับจิตวิญญาณ เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับการดำรงอยู่ได้ แต่ว่า แล้วเราจะเล่นเพลงอะไรดีล่ะเพื่อขัดเกลาตนเอง? โดยส่วนตัวข้าพเจ้ารู้สึกว่าโน้ตเพลงประเภท Hymn (ฮีมน์), Christmas (คริสต์มาส), และ Gospel (กอสเปล), ฯลฯ ซึ่งเป็นเพลงทางศาสนาที่ใช้ในการร้องเพลงสวดโดยเหล่านักบวช โน้ตและท่วงทำนองจึงอาจสอดคล้องกับความสงบของจิตใจได้ ทำให้รู้สึกว่าเหมาะควรอยู่เหมือนกันที่จะนำมาบรรเลงในแนวทางของการบำเพ็ญตน แต่เพลงทั่วไปที่ตนเองชื่นชอบก็อาจจะนำมาบรรเลงในแนวทางนี้ได้ บางที มันอาจขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์หรือท่าทีในการบรรเลงมากกว่าแนวเพลง บางที มันอาจเป็นเพลงที่บรรเลงออกมากจากส่วนลึกภายในจิตใจของตนเองก็ได้
การบรรเลงดนตรีในแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการโชว์ความเก่งกาจเพื่อข่มใคร แต่เป็นการบรรเลงเพื่อเน้นขัดเกลาจิตใจตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร และหากมีใครได้ฟังแล้วก็รู้สึกสงบไปด้วยก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่หากไม่มีก็ไม่เป็นไร เหมือนดอกไม้ที่ผลิบานจากภายในของมัน ไม่ว่าจะมีคนชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะมีคนชื่นชมหรือไม่ชื่นชม มันก็ยังคงผลิบานอย่างที่มันเป็น แม้จะอยู่กลางป่าลึกที่ไม่มีใครเห็น มันไม่ได้ผลิดอกเพราะได้รับคำชมและมันไม่ได้หยุดผลิดอกเพราะไม่ได้รับคำชม มันก็ยังคงผลิดอกอย่างเบิกบานต่อไป เพราะนั่นคือการตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเอง

ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องดนตรีที่สามารถใช้ขัดเกลาจิตใจได้เท่านั้น การกระทำที่สร้างสรรค์ทุกอย่างหรือการงานทั้งหลายสามารถใช้ในบำเพ็ญตนนี้ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การเดินจงกรม, การรำมวย, การทำโยคะ, การเต้น, การเขียนบทกวี, การขับขานร้องเพลง, วาดภาพ, ฯลฯ จะใช้อะไรก็ขึ้นอยู่กับตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคน ต่างคนต่างต้องค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง อาจไม่จำเป็นต้องแค่สิ่งเดียว หลายสิ่งก็ได้ แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสม อย่าได้พลาดการตระหนักรู้ในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ และที่เหลือก็อยู่ที่เจตนาว่าจะใช้มันเป็นเครื่องมือไปสู่อะไร ไม่มีผิดมีถูก ไม่มีอะไรดีกว่าหรือด้อยกว่า ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการข่มทับ ดอกบัวไม่จำเป็นต้องข่มดอกกุหลาบ ดอกกุหลาบไม่จำเป็นต้องข่มดอกบัว เพราะมันเอามาแทนกันไม่ได้ บัวไม่อาจผลิดอกเป็นดอกกุหลาบ กุหลาบไม่อาจผลิดอกเป็นดอกบัว ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง ไม่มีใครพิเศษกว่าใคร ไม่มีใครเหนือกว่าใครและไม่มีใครด้อยกว่าใคร ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์ในแบบของตน มีเอกลักษณ์ไม่ได้หมายความว่าพิเศษกว่าหรือด้อยกว่า มีเพียงการดำรงอยู่ในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างแท้จริง เพราะแต่ละคนเกิดมาก็เพื่อผลิดอกในแบบที่ตนเองเป็น ไม่ใช่เพื่อผลิดอกในแบบที่ผู้อื่นเป็น


แถม
แจกโน้ตเพลงแนว Hymn ต่างๆ ฟรี ที่ http://openhymnal.org/ มีทั้ง .pdf และ .abc และอื่นๆ หากต้องการนำโน้ตในเว็บนี้มาเปลี่ยนคีย์อย่างรวดเร็ว ให้เอาไฟล์โน้ต .abc หรือโค้ดในไฟล์ใส่เข้าไปที่ https://colinhume.com/Music.aspx แล้วกด Convert จากนั้นกดที่ Change key เพื่อเปลี่ยนคีย์ และดาวน์โหลดออกมาเป็นไฟล์ .pdf รายละเอียดสูงได้ที่ Print (PDF)

เว็บแจกโน้ตแนว Hymn เพิ่มเติม
https://www.pdhymns.com/ <=== เว็บนี้มีโน้ตรูปทรง(Shape note)ให้เลือกด้วย (โน้ตรูปทรงช่วยให้อ่านโน้ตเป็นคีย์ C ได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนคีย์)

คลิปนี้สามารถเปิดซับไทยได้ครับ

Image by VinaConstanze from Pixabay https://pixabay.com/photos/figure-krishna-hinduism-3045554/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น