Sponsor

08 สิงหาคม 2566

การเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญจิตใจ ภาค 2

Photo by Rubenstein Rebello: https://www.pexels.com/photo/wristwatch-placed-near-open-book-5022345/

จากบทความเดิมการเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญจิตใจ สำหรับบทความนี้เป็นภาคสอง ซึ่งอยากจะชวนคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งครับ

เมื่อสืบสาวลึกไปในอดีตโบราณประมาณสองสามพันปีก่อน แนวคิดในการเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญจิตใจหรือฝึกสมาธิก็มีอยู่แล้วในประเทศจีน เหล่านักพรตนักปราชญ์มักจะมีเครื่องดนตรีติดตัวเสมอ อาจใช้เพื่อทำพิธีปัดเป่าโรคร้ายภยัตรายหรือบำเพ็ญภาวนาตามแต่วาระ ซึ่งการบรรเลงดนตรีในสมัยโบราณเพื่อการบำเพ็ญนั้น หลังจากที่ร่ำเรียนโน้ตและเทคนิคการเล่นจนเชี่ยวชาญ รวมถึงบทเพลงมาตราฐาน เมื่อต้องการบำเพ็ญ นักพรตมักจะบรรเลงออกมาจากอารมณ์ความรู้สึก โดยไม่ต้องเล่นตามเพลงใดใด แค่เล่นออกมาจากจิตใจ ณ ขณะนั้น เป็นการเล่นแบบด้นสด โดยใช้เครื่องดนตรีและเทคนิคที่ร่ำเรียนมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกผ่านเสียงดนตรี เมื่อเวลาผ่านไป บางบทเพลงที่บรมครูบรรเลงออกมาเหล่านั้นก็ได้รับการรวบรวมบันทึกเป็นโน้ต และนับถือเป็นเพลงมาตราฐานเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
จะเห็นว่า แต่เดิมเครื่องดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก(ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น) แต่เป็นแบบไม่ต้องเล่นตามเพลงใดใด คือเล่นแบบด้นสด เป็นการใช้เสียงดนตรีแสดงออกแทนคำพูด ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกในใจออกมาในรูปแบบของเสียงดนตรี ดีใจก็บรรเลงออกมา โกรธเกรี้ยวก็บรรเลงออกมา ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการบรรยายทิวทัศน์ สภาพแวดล้อม ความคิด ปรัชญา ฯลฯ ก็มีการบรรเลงผ่านเสียงดนตรีด้วยเช่นกัน เมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกแสดงออกมาเป็นรูปธรรมในแบบหนึ่ง ในที่นี้คือเสียงดนตรี จากการได้แสดงตัวตนนี้ เราก็ใช้สิ่งนั้นทำความเข้าถึงจิตใจของตนเอง ผ่อนคลาย และให้การบรรเลงดนตรีเป็นการบำเพ็ญจิตใจไปพร้อมๆกัน ให้ดนตรีคือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบำเพ็ญภาวนา เป็นดนตรีบำบัดจิตใจ ดนตรีทำให้มีความสุขได้เพียงลำพัง
ซึ่งอันที่จริงอาจเป็นประโยชน์ได้สองทาง คือทั้งทางผู้บรรเลงและผู้ฟัง มีเรื่องเล่าของจีนโบราณเล่าขานกันมาดังนี้

ยุคชุนซิว (ปีที่ ๗๗๐ – ๒๒๑ ก่อน ค.ศ.) โป๋หยา ชาวรัฐฉู่ ผู้ชำนาญการบรรเลงกู่ฉิน วันหนึ่งดีดกู่ฉินให้จงจื่อฉีฟัง จงจื่อฉีฟังแล้วพูดว่า ท่วงทำนองเพลงกู่ฉินของท่านทำให้เรานึกถึงความยิ่งใหญ่ของภูเขาไท่ซาน โป๋หยาก็บรรเลงกู่ฉินต่อไปอีกท่อน พอบรรเลงจบจงจื่อฉีพูดว่า ท่วงทำนองเพลงที่ท่านเพิ่งบรรเลงจบไปนั้นราวกับสายน้ำไหล จากนั้นโป๋หยาและจงจื่อฉีจึงกลายเป็นเพื่อนที่สนิทที่รู้ใจ และเข้าใจกันทุกเรื่องเพราะไม่ว่าโป๋หยาจะบรรเลงเพลงใด จงจื่อฉีก็จะเข้าใจว่าในบทเพลงนั้นเป็นการบรรยายสิ่งใด วันหนึ่งเมื่อโป๋หยาทราบว่าจงจื่อฉีเสียชีวิต เขาโศกเศร้าเสียใจมากแล้วพูดว่า เมื่อในโลกนี้ไม่มีใครอีกแล้วที่จะเข้าใจบทเพลงของเรา แล้วไยจะต้องดีดฉินอีกต่อไป และแล้วโป๋หยาก็ทำลายกู่ฉินของเขาจนแหลกละเอียด ไม่ยอมเล่นกู่ฉินตลอดชีวิต
เพลงที่กล่าวไว้ในเรื่องเล่านั้นถูกบันทึกโน้ตกู่ฉินไว้ ชื่อเพลงว่า เขาสูงน้ำไหล 高山流水

ในการบำเพ็ญภาวนาผ่านการเล่นดนตรีของจีนนั้นมีธรรมเนียมอยู่ว่า ก่อนจะบรรเลงกู่ฉินต้องอาบน้ำ แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องล้างมือให้สะอาด เมื่อจะบรรเลงกู่ฉินต้องเลือกดูผู้ฟังด้วย หากว่าไม่มีผู้เข้าใจหรือสามารถซาบซึ้งในเสียง ก็ให้บรรเลงคนเดียว ท่ามกลางสายลมเย็น ใต้เงาจันทร์ ในป่าสน หรือท่ามกลางภูเขา
ก็อาจลองนำไปปรับใช้กันดูครับ

การเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญ บางทีอาจไม่จำเป็นต้องใช้เพลงเฉพาะทางเหมือนที่กล่าวไว้ในบทความก่อนก็ได้ หรือบางทีก็อาจจำเป็นในระดับหนึ่งเพื่อเป็นเพลงมาตราฐานที่ควรฝึกฝีมือ แต่เมื่อย้อนกลับไปถึงราก การบรรเลงด้นสดจากจิตวิญญานเพื่อแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมานั้นอาจคือรากของการเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญก็ได้ แล้วการเล่นทบทวนเพื่อบรรเลงซ้ำค่อยตามมาในภายหลัง และการจะบรรเลงโดยสื่ออารมณ์ให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้นั้นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างมาก
ความย้อนแย้งของดนตรีหรือศิลปะคือ เราจำเป็นต้องเรียนพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโน้ต เทคนิค และบทเพลงมาตราฐาน หากไม่ยอมฝึกพื้นฐานเหล่านี้ก็จะไปต่อถึงศิลปะชั้นสูงไม่ได้ แต่เมื่อเราฝึกฝนเรียนรู้จนเชี่ยวชาญแล้ว ก็ต้องลืมสิ่งเหล่านั้นไปให้หมด หากยังยึดติดสิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นได้เพียงผู้เชี่ยวชาญ ไม่อาจเป็นศิลปินได้ ให้เทคนิคเหล่านั้นซึมซับเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา แล้วจากนั้นก็บรรเลงออกมาจากจิตวิญญาณ ขัดเกลาอัตตา จนสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาได้ในที่สุด

บางที การเล่นดนตรีเพื่อบำเพ็ญภาวนาจิตใจ เพียงแค่เล่นออกมาจากจิตวิญญานอย่างบริสุทธิ์ ด้วยทัศนคติแห่งการภาวนา ทำให้ในห้วงขณะนั้นเป็นการเฉลิมฉลอง ปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมา โดยไม่ต้องสนว่าใครจะมองอย่างไรหรือจะคิดเห็นอย่างไร เพราะความคิดเห็นของคนอื่นที่เรารับมาคืออัตตาของเรา ปล่อยทุกสิ่งให้มันเป็นเช่นที่มันจะเป็น ไหลไปกับสายธารแห่งท่วงทำนองของตนเอง คนที่เข้าใจจะเข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจเขาจะไปหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเขาเองได้ หากไม่มีใครเข้าใจก็จงบรรเลงเพียงลำพัง ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อการบำเพ็ญมิใช่อวดโอ้ แต่หากมีผู้เข้าใจด้วยก็ยินดีที่จักได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ดั่งโป๋หยาและจงจื่อฉี นักดนตรีจึงอยากแบ่งปันสิ่งที่ดนบรรเลงอยู่เสมอ เพื่อเป็นการแบ่งปันแรงบันดาลใจสู่ผู้อื่น
อันที่จริงในการบำเพ็ญภาวนา อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นดนตรีเท่านั้น งานศิลปะต่างๆหรืองานการที่ทำทั้งหลาย ข้อเพียงกระทำอย่างสร้างสรรค์ก็ภาวนาจิตใจได้เช่นกัน นักดนตรีบรรยายผ่านเสียงดนตรี นักวาดบรรยายผ่านภาพ นักเต้นบรรยายผ่านท่วงท่า นักกวีบรรยายผ่านถ้อยคำ สายบู๊ฝึกรำมวยจีน ฯลฯ มันขึ้นอยู่กับท่าทีมิใช่สิ่งที่ทำ การสร้างสรรค์ทั้งหลายที่เป็นการแสดงตัวตนออกมาจากภายใน งานทุกอย่าง ย่อมสามารถนำมาใช้ในการบำเพ็ญภาวนาภายในได้ หากทัศนคติของเราต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ค้นหาเครื่องมือของตนเองให้พบ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี วาดภาพ เขียนกวี การร่ายรำ หมากรุก หมากล้อม หมากกระดาน ไพ่ ฯลฯ อะไรก็ได้ที่ชอบและสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องแค่อย่างเดียว กี่อย่างก็ได้ตามใจต้องการ หรือตามโอกาสอำนวย อย่ามีจิตใจที่ยากจน จงมีจิตใจที่ร่ำรวย ในจิตใจเราสามารถมีได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรต้องต่อต้าน มีแต่การโอบรับและเฉลิมฉลองไปกับชีวิต แล้วจากนั้นฝึกฝนเรียนรู้มัน เพื่อจะได้ใช้เครื่องมือนั้นในการบำเพ็ญจิตใจได้อย่างเต็มที่
แต่สุดท้ายแล้ว เครื่องมือต่างๆก็เป็นเพียงสิ่งภายนอก สิ่งสำคัญที่สุดคือท่าทีหรือทัศนคติภายในตัวตนของเราเอง บางที แค่มีลมหายใจ ก็เพียงพอที่จะบำเพ็ญจิตใจแล้วก็ได้

“เมื่อเข้าใจในเสียงเพลง แล้วไยต้องขึ้นสายเพื่อให้เกิดเสียง”
-เถายวนหมิง (ค.ศ. ๓๖๕-๔๒๗) กวีชื่อดังในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ผู้บรรเลงกู่ฉินไร้สาย

Photo by nicollazzi xiong: https://www.pexels.com/photo/four-rock-formation-668353/
แถม
กู่ฉิน 古琴 แปลว่า พิณโบราณ เป็นเครื่องดนตรีจีนมี 7 สาย นิยมเล่นกันในหมู่ปัญญาชนคนมีความรู้ของจีนโบราณ เนื่องจากเสียงที่ทุ่มต่ำและชวนสงบของมัน จึงไม่ค่อยหวือหวาเหมือนเครื่องดนตรีอื่นๆ ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างที่ต้องการความครื้นเครง ปัจจุบันนี้ก็มีผู้เล่นอยู่บ้างในกลุ่มเล็กๆที่ชื่นชอบปรัชญาและการบำเพ็ญจิตใจ
ในภาษาจีนเครื่องดนตรีที่ถูกเรียกว่า ฉิน 琴 มีหลายประเภท มีประเภทหนึ่งเรียกว่า โข่วฉิน 口琴 แปลว่า พิณปาก ซึ่งก็คือ เม้าธ์ออร์แกน Mouth Organ หรือ Hamonica ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ผมเล่นเป็นการส่วนตัวอยู่เสมอ และอยากชวนเพื่อนๆมาเล่นด้วยกัน มันเป็นเครื่องดนตรีที่เริ่มได้เล่นง่าย เล่นด้วยการควบคุมลมหายใจเข้าออก ขนาดเล็ก พกพาสะดวก ดูแลรักษาง่าย เสียงไพเราะ ราคาไม่แพง อยากให้ทุกคนมีไว้เป็นเครื่องดนตรีประจำตัว สามารถอ่านบทความวิธีเล่นฮาร์โมนิก้าเบื้องต้นของผมได้ที่ https://cutt.ly/jazzylj-harmonica

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น