Sponsor

03 มกราคม 2566

เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับ Mode - การเรียกตำแหน่ง Position ของ Harmonica


ฮาร์โมนิก้าโดยทั่วไปจะเรียงโน้ตเป็น Major scale ซึ่งเป็นบันไดเสียงหลักของดนตรีสากลในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นบันไดเสียงที่เรียกว่า Mode ได้ทั้งหมด 7 Mode 7 คีย์ โดยการเปลี่ยน Root ในโน้ตไดอะโทนิค(Diatonic)ของบันไดเสียง ซึ่ง Mode ทั้ง 7 นั้น โดยปกติจะเรียงกันตามลำดับ 1-7 ดังนี้
เมื่อเทียบโดยการเปลี่ยน Root ในโน้ตไดอะโทนิคของคีย์ C
  1. C Ionian (ซี ไอโอเนียน)
  2. D Dorian (ดี ดอเรียน)
  3. E Phrygian (อี ฟรีเจี้ยน)
  4. F Lydian (เอฟ ลีเดี้ยน)
  5. G Mixolydian (จี มิกโซลีเดี้ยน)
  6. A Aeolian (เอ เอโอเนียน)
  7. B Locrian (บี โลเครียน)
ส่วนการเรียกลำดับตำแหน่งของฮาร์โมนิก้านั้นจะเรียงลำดับไม่เหมือนกันครับ ซึ่งจะมีการเรียกดังนี้
เมื่อเทียบโดยใช้ฮาร์โมนิก้าคีย์ C

1st position = C Ionian (หรือ C Major หรือ C straight harp นิยมใช้เล่นกันโดยทั่วไป)
2nd position = G Mixolydian (หรือ G cross harp เป็น G Major ประเภทหนึ่ง นิยมใช้สูงสุดในแนวฮาร์โมนิก้า Blues)
3rd position = D Dorian (หรือ D minor Blues เป็น D minor ประเภทหนึ่ง)
4th position = A Aeolian (หรือ A minor)
5th position = E Phrygian (เป็น E minor ประเภทหนึ่ง)
6th position = B Locrian (เป็น B minor ประเภทหนึ่ง)
12th position = F Lydian (เป็น F Major ประเภทหนึ่ง)

เป็นการเรียงลำดับที่แตกต่างกันจากเครื่องดนตรีอื่นทั้งหมด และ Position สุดท้ายที่เรียกว่า ตำแหน่งที่ 12 ไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด เขาเรียกกันอย่างนี้จริงๆครับ ดูๆแล้วทั้งหมดนี้น่าจะใช้ลำดับตำแหน่งจาก Circle of fifth ครับ

ฮาร์ป 1 คีย์ สามารถใช้โน้ตหลักที่มีเล่นได้ 7 คีย์ในแบบของ Mode ทีนี้เวลาเราได้ยินนักฮาร์ปมืออาชีพพูดถึง Position ต่างๆ ก็จะเข้าใจตรงกันได้ว่าหมายถึง Mode อะไร ซึ่งที่ฮาร์ปใช้กันบ่อยๆและคุ้ยเคยคือ 1st position, 2nd position, และ 4th position โดยฮาร์ปแนวบูลส์จะเล่น 2nd position เป็นหลักซึ่งก็คือ Mixolydian นั่นเอง

ลำดับก็จะงงๆหน่อยเพราะไม่เรียงลำดับ Mode อย่างที่คุ้นเคยกันในทฤษฎีดนตรี ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ถ้าเรียกด้วยชื่อ Mode ไปเลยน่าจะเข้าใจง่ายกว่าครับ แต่อันนี้ก็รู้ไว้ใช่ว่าฯครับ ซึ่งเป็นการเรียกในระบบของฮาร์โมนิก้านั่นเอง


แถม
พื้นอารมณ์(Mood)ของแต่ละ Mode จาก C diatonic
เอาไว้เป็นแนวคิดเบื้องต้นในการทำความเข้าใจคาแร็กเตอร์ของแต่ละ Mode แบบทั่วไป (ในวงเล็บคือคอร์ด Root และคอร์ด Dominant (คอร์ดที่นิยมใช้ก่อนกลับไปหา Root) ของ Mode นั้นๆ)

Ionian สดใส แบบมีความสุข, ร่าเริง (C / G)
Dorian หม่น แบบมีความหวาน, ไม่แน่นอน (Dm6 / Am)
Phrygian หม่น แบบมีความคาดหวัง, แปลกใหม่ (Em / Bdim)
Lydian สดใส แบบมีความลึกลับ, เคลิ้มฝัน (Fmaj7#11 / C)
Mixolydian สดใส แบบมีความขรึม, ค้นหา (G / Dm)
Aeolian หม่น แบบมีความเศร้าซึ้ง, โรแมนติก (Am / Em)
Locrian หม่น แบบมีความบาดหมาง, ตึงเครียด (Bdim / F)

เป็นพื้นอารมณ์ของ Mode แบบทั่วๆไป แต่ไม่ตายตัว เอาไว้เป็นไอเดียคร่าวๆ เพราะการเล่นแบบช้าเร็ว ดังเบา ฯลฯ ก็สามารถสร้างอารมณ์ให้แตกต่างออกไปได้อีกมากมายไม่รู้จบ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ปัจจุบันนี้ Mode ต่างๆไม่ค่อยได้ใช้เป็นหลักกันสักเท่าไหร่ครับ มันเป็นบันไดเสียงแบบโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีคอร์ดและการเปลี่ยนคีย์ต่างๆแบบในปัจจุบัน เขาจึงใช้วิธีการเปลี่ยนลำดับของโน้ตแทน แต่เดิมชื่อ Mode มีมากกว่า 7 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 7 ที่ยังคงใช้เรียกกันอยู่ ปัจจุบันนี้ Mode ที่นิยมใช้มากที่สุดมีอยู่ 2 Mode ก็คือ Ionian mode หรือ Major scale และ Aeolian mode หรือ Minor scale เป็นหลัก แต่ก็มีนักดนตรีมืออาชีพหลายคนที่เอา Mode ต่างๆมาใช้เพื่อสร้างโทนให้แปลกใหม่และมีสีสรรมากขึ้น สำหรับนักฮาร์โมนิก้าที่ชอบใช้ฮาร์ปคีย์เดียวและเล่นเพลงแต่งเองตามใจ หากต้องการสร้างอารมณ์ที่หลากหลาย การเลือกใช้ Mode ก็ตอบโจทย์ตรงตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ Mode

สำหรับคนที่อยากศึกษาเจาะลึกเรื่อง Mode ลองดูคลิปชุดนี้ครับ เขาทำออกมาได้ละเอียดดีมากๆครับ ขอพระขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
https://en.wikibooks.org/wiki/Harmonica/Positions

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น