Sponsor

06 พฤศจิกายน 2559

Battle card game - เกมการ์ดแม่ทัพ

Battle card game - เกมการ์ดแม่ทัพ

ผมสนใจนำไพ่ป๊อกธรรมมาเล่นเป็นเกมแนววางแผนมานานแล้ว เอาไว้เล่นแทนหมากรุกในยามที่ไม่มีชุดหมาก ครั้งก่อนได้เคยเสนอเกม War - เกมไพ่สงคราม แนวเล่นสนุกได้ไม่ต้องขบคิดมาก แต่เกมนั้นเป็นเกมที่ใช้ดวงเข้าว่าอย่างเดียว อาจไม่สะใจสำหรับคอแนววางแผน ผมจึงคิดจะประยุกต์ไพ่ให้สามารถเล่นเกมแนววางแผนขึ้นมา จึงได้เอากติกาของ Stratego ในเวอร์ชั่นการ์ดมาปรับใช้เล่นกับไพ่ป๊อกธรรมดา ให้เล่นได้สนุกและท้าทายความจำของผู้เล่น ถ้าใครรู้จักเกม Stratego ที่เป็นเกมกระดานจะรู้เลยว่าเกมนี้ท้าทายความจำมากทีเดียว(ขอยกไปพูดถึงเกมนี้ท้ายบทความนะครับ) 
เกมนี้เกี่ยวกับการตัดสินใจในการจัดแนวรบและใช้สกิลของการ์ดแต่ละใบให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดแนวรบมาประจัญหน้ากัน เป็นเกมที่สนุกและน่าจะถูกใจคอเกมแนววางแผนแน่นอนไม่มากก็น้อย การ์ดสำเร็จรูปหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับ ใช้ไพ่ป๊อกธรรมดาเพียงสำรับเดียวเท่านั้นก็สามารถเล่นได้แล้ว ผมขอเรียกเกมนี้ว่า Battle card game - เกมการ์ดแม่ทัพ
เอาละทุกท่าน ได้เวลาจัดแนวรบกันแล้ว เริ่มกันเลยครับ ;)

อุปกรณ์
ไพ่ป๊อกมาตราฐาน 1 สำรับ และมี Joker 2 ใบ (ถ้าไม่มีให้เอา K ออก 2 ใบ)
ผู้เล่น 2 คน
*หมายเหุต ถ้ามี Joker จะเล่นสนุกและท้าทายกว่า

เป้าหมายในการเล่น
จับตัว Joker ของอีกฝ่ายได้ก่อนชนะ (หรือ K กรณีไม่มี Joker)

สกิลพิเศษของไพ่แต่ละใบ
มารู้จักไพ่แต่ละใบกันก่อนว่ามีแต้มเท่าไหร่และมีสกิลอะไรบ้าง
  • ไพ่ J Q และ K (แต่จะยกเว้น K กรณีใช้แทน Joker) เป็นกับระเบิด (Mine) ใช้โจมตีไม่ได้ แต่ถ้าไพ่ใบไหนโจมตีมาที่กับระเบิด ไพ่ใบนั้นตาย กับระเบิดยังอยู่ต่อ แต่กับระเบิดแพ้ไพ่แต้ม 3 (นักกู้ระเบิด : กับระเบิดโดนกู้)
  • ไพ่ 4-10 เป็นไพ่ทหารไม่มีสกิล ใช้แต้มสู้อย่างเดียว แต้มสูงกว่าชนะ ถึงจะไม่มีอะไรพิเศษแต่มารู้จักยศของไพ่แต่ละใบกันหน่อยดีกว่า จะช่วยให้สนุกกับเกมมากขึ้นครับ
    • ไพ่ 10 จอมพล (Marshal) มีแต้มต่อสู้สูงสุด แต่แพ้ไพ่ A (สายลับ : โดนสายลับลอบสังหาร)
    • ไพ่ 9 พลเอก (General) 
    • ไพ่ 8 พันเอก (Colonel)
    • ไพ่ 7 พันตรี (Major)
    • ไพ่ 6 ร้อยเอก (Captain)
    • ไพ่ 5 ร้อยโท (Lieutenant)
    • ไพ่ 4 สิบเอก (Sergeant)
  • ไพ่ 3 นักกู้ระเบิด (Miner) มีแต้มเท่ากับ 3 มีสกิลกู้ระเบิดได้(โจมตีระเบิดได้) 
  • ไพ่ 2 ผู้สังเกตุการณ์ (Scout) มีแต้มเท่ากับ 2 มีสกิลขอดูการ์ดฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ในแนวรบได้ 2 ใบ
  • ไพ่ A สายลับ (Spy) แต้มเท่ากับ 1 มีสกิลดูการ์ดทั้งหมดบนมือฝ่ายตรงข้ามได้ และสามารถลอบสังหาร ไพ่ 10 ได้ (เมื่อสั่ง A โจมตี ไพ่ 10)
  • ไพ่ Joker (หรือ K กรณีไม่มี Joker) ผู้บัญชาการสูงสุด แต้มเท่ากับ 0 ใช้โจมตีไม่ได้ มีสกิลเก็บไพ่ฝ่ายเราทั้งหมดที่อยู่ในแนวรบและบนมือ(ยกเว้นไพ่ที่ตายแล้ว)เข้ากอง สับแล้วจั่วใหม่ 8 ใบ เลือกวางบนแนวรบ 5 ใบ เหมือนตอนเริ่มเกม แล้วจบเทิร์น เป็นการ์ดเปลี่ยนแนวรบ แต่ถ้าการ์ดนี้โดนโจมตีจะถือว่าแพ้ทันที
สกิลสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อไพ่ใบนั้นอยู่ในแนวรบเท่านั้น และสามารถใช้ได้ทุกเทิร์นไม่มีหมดสกิล
แบ่งไพ่ออกเป็นสองสี

เตรียมการเล่น
แบ่งไพ่เป็นสองกอง ดอกสีดำ และ ดอกสีแดง
ใส่ Joker ลงไปฝ่ายละ 1 ใบ
สับไพ่ และจั่วจากกองของตัวเองคนละ 8 ใบ
ฝ่ายสีดำเริ่มก่อน ฝ่ายสีแดงที่เริ่มทีหลัง
เลือกไพ่วางเป็นแนวรบ วางคว่ำไว้คนละ 5 ใบ โดยห้ามให้อีกฝ่ายเห็นหน้าไพ่
จัดแนวรบ 5 ใบ ถือในมือ 3 ใบ

วิธีการเล่น
  • ฝ่ายดำเริ่มก่อน
    • ถ้าต้องการโจมตี ให้เลือกไพ่ในแนวรบของตน 1 ใบ แล้วเปิดไพ่เพื่อโจมตีการ์ดฝ่ายตรงข้าม ใบไหนก็ได้ เปิดหน้าไพ่ที่โดนโจมตี ไพ่ไหนแต้มสูงกว่าชนะ ถ้าแต้มเท่ากันตายทั้งคู่ ถ้าโจมตีโดนระเบิดก็ตายเอง(ยกเว้นไพ่ 3) ไพ่ที่ตายนำไปวางในสุสาน
    • ถ้าไม่ต้องการโจมตี สามารถเลือกไพ่ใช้สกิลได้ 1 ใบ ต้องเปิดไพ่ที่ใช้สกิลให้อีกฝ่ายเห็น
    • คว่ำหน้าไพ่ที่เหลือใบคืนทุกใบ
    • ถ้าแนวรบมีไพ่ตายไป เลือการ์ดจากมือเติมลงไปในแนวรบให้เต็ม 5 ใบ
    • จั่วไพ่ ให้ในมือมี 3 ใบ จบเทิร์น
  •  เทิร์นฝ่ายแดง ให้โจมตีหรือใช้สกิลจากไพ่ที่เหลืออยู่ในแนวรบ(แม้แนวรบบางช่องจะว่างจากการโดนโจมตีจากฝ่ายดำในเทิร์นก่อนก็ตาม)
    • แล้วจึงค่อยเติมไพ่ลงแนวรบ และจั่วไพ่ให้มี 3 ใบในมือ และจบเทิร์น ตามลำดับขั้นตอนเดียวกัน
  • ทั้งสองฝ่ายสามารถเปิดดูการ์ดของตัวเองได้ตลอดเวลา
  • ห้ามเปลี่ยนตำแหน่งไพ่
  • เล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ฝ่ายที่ชนะคือ ฝ่ายที่สามารถจับ Joker ของฝ่ายตรงข้ามได้ หรือ จนกระทั่งอีกฝ่ายไม่ไม่มีไพ่ที่จะโจมตีหรือใช้สกิลได้อีก(เพราะเหลือแต่กับระเบิดและ Joker)

สรุปหลักการเล่นจำง่ายๆคือ ตี-เติม-จั่ว-จบ หมายถึง โจมตีหรือใช้สกิล เติมการ์ดให้เต็มแนวรบ จั่วให้ในมือมี 3 ใบ(ถ้ามี 3 ใบอยู่แล้วก็ไม่ต้องจั่วเพิ่ม) และจบเทิร์น อีกฝ่ายหนึ่งก็เริ่มแบบเดียวกัน คือเริ่มจากโจมตี/ใช้สกิลก่อน(จากไพ่ที่เหลือในแนวรบ) แล้วค่อยเติมไพ่ จั่ว และจบเทิร์น ตามลำดับ
ใน 1 เทิร์นปฏิบัติการได้เพียง 1 ใบ(โจมตีหรือใช้สกิล อย่างใดอย่างหนึ่ง)
ลองดูคลิปเพื่อจะได้เห็นภาพมากขึ้นครับ

แนะนำการเล่นแบบรวบรัด


แนะนำการเล่นแบบละเอียด


การจัดแนวรบให้ดีมีความสำคัญ รวมทั้งการจำตำแหน่งและแต้มไพ่ที่เปิดแล้วของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ คาดเดาไพ่ที่เหลืออยู่ จำนวนระเบิดและทหารที่วางในแนวรบก็สำคัญ เพราะหากไม่มีไพ่ที่จะใช้โจมตี(หรือใช้สกิล)จะแพ้ทันที รวมถึงหากเห็นว่าจำเป็นต้องจัดแนวรบใหม่ทั้งหมด ต้องลงการ์ด Joker เพื่อรอใช้สกิลในเทิร์นหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่พอสมควรเลยล่ะครับ นับเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิด เป็นการเล่นในรูปแบบเกมการ์ดต่อสู้ โดยใช้ไพ่เพียงสำรับเดียวนี่แหละ ไม่ต้องซื้อการ์ดอะไรเพิ่มอีกแล้ว ก็สามารถเล่นสนุกแบบเดียวกันได้เลย (สำหรับการ์ดสำเร็จรูปชื่อว่า Stratego Battle Cards ถ้าเพื่อนๆชอบสามารถหาซื้อได้ มีหลายธรีมให้เลือกเลยทีเดียว แต่ในไทยหายากหน่อยครับ)
โดยหลักการเล่นเกมแนวนี้ให้สนุกจะต้องสมมติว่ากำลังจัดแนวรบและกลยุทธ์ในการรบ ให้มองตัวไพ่เป็นทหาร ใช้จิตนาการณ์ที่มีให้เต็มที่ไปเลยครับแล้วจะสนุกมากๆ ต้องเล่นผสมสานจิตนาการณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะเห็นความเชื่อมโยงในการเลือกใช้กลยุทธ์กับการเลือกใช้ไพ่ตามความสามารถได้
พกไพ่สำหรับเดียวเล่นอะไรได้มากมายครับ ยังมีเกมอื่นๆอีก ลองดูได้ที่บทความ ไพ่เล่นเกมอะไรได้บ้าง?

หวังว่าเพื่อนๆคงจะสนุกกับเกมนี้นะครับ
แล้วไว้เจอกันบทความหน้า สวัสดีครับ ^_^


แถม
เกม Stratego ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปนั้นรู้จักดีทีเดียว มีการแข่งขันชิงแชมป์ระดับโลกเหมือนการแข่งหมากรุกเลยครับ ต้นตำรับเดิมเป็นเกมกระดาน เล่นคล้ายหมากรุก ใช้กระดาน 10x10 มีตัวหมากฝ่ายละ 40 ตัว ทั้งกระดานก็ 80 ตัว หมากแต่ละตัวมีแต้มเหมือนกับเกมไพ่นี้ ในตอนเริ่มเกมแต่ละฝ่ายสามารถจัดตำแหน่งตัวหมากได้อย่างอิสระ และทุกตัวเดินเหมือนกันหมด คือ เดินได้หนึ่งช่อง บน-ล่าง-ซ้าย-ขวา ยกเว้นตัวที่มีสกิลบางตัวจะเดินได้มากช่องกว่าตัวอื่น บนกระดานบางพื้นที่ก็ไม่สามารถเดินได้ เช่นทะเลสาบ ต้องอ้อมไป ฝ่ายที่ยึดธงของอีกฝ่ายได้ก่อนชนะ เกมนี้ขึ้นหิ้งคลาสสิคไปแล้วครับ มีธรีมออกมามากมายทั้ง ธรีมสงครามโลกครั้งที่สอง ธรีมสงคราม Sci-fi และธรีมสงครามเทพนิยายตะวันตก ที่มีอัศวิน เอลฟ์ มังกร ฯลฯ และธรีมจากภาพยนตร์ต่างๆอีกมากมาย เลือกหาได้ตามชอบเลยล่ะครับ ความเป็นไปได้ของเกมทั้งหมด Stratego อยู่ที่ 10^535 ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าหมากรุกสากล(10^123) หมากรุกญี่ปุ่นโชกิ(10^226) และหมากล้อม(10^360)ซะอีก นับว่าเป็นเกมที่เทียบชั้นกับเกมกระดานคลาสสิคอื่นๆได้เลยล่ะครับ
อันที่จริง ต้นตำรับเกมนี้มาจากเกมคลาสสิคของจีนที่ชื่อว่า 陸戰棋 (Luzhanqi) แปลว่า หมากยุทธภูมิ มีตัวหมากฝ่ายละ 25 ตัว กติกาการเล่นคล้ายกัน แต่ตัวหมากของจีนจะไม่ได้เขียนแต้มลงไปบนหมาก ทำให้ต้องเอาชื่อหมากไปเทียบแต้มจากคู่มืออีกทียุ่งยากพอสมควร(เขียนลงไปเองซะเลย) และบนกระดานมีรายละเอียดที่ต่างกัน
สำหรับเกม Stratego นี้เราสามารถทำเล่นเองได้ ด้วยการนำกระดาษตัดและพับเป็นสามเหลี่ยมเหมือนป้ายชื่อบนโต๊ะในสำนักงาน เขียนแต้มเอาไว้ด้านหลัง(ดูว่าหมากแต้มไหนมีกี่ตัวได้ใน wiki) แล้วทำกระดานก็สามารถทำเล่นเองได้ อาจจะไม่สวยเท่า แต่นับเป็นกิจกรรมภายในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกได้ร่วมกันประดิษฐ์เกมเล่นกันเองภายในบ้าน ถ้ารู้สึกว่าเยอะไปสามารถลดเหลือฝ่ายละ 30 ตัว 20 ตัว หรือ 10 ตัว ก็ได้ตามต้องการครับ(ในการเล่นจริงก็มีการลดตัวหมากเพื่อความรวดเร็วในการเล่นเหมือนกัน) จะจัดแนวรบสำหรับเล่นแบบ 3 คน หรือ 4 คนก็ได้ จะได้เล่นร่วมกันทั้งครอบครัวเลยครับ :D
ทะเลสาบไม่สามารถเดินผ่านได้ ต้องเดินอ้อมไป
สำหรับเกม Stratego มีทั้งแบบกระดาน เป็นแอพใช้เล่นในคอมฯ มือถือ แท๊ปเล็ต หรือแบบการ์ดก็มี ซึ่งการ์ดนี่เองที่ผมนำกติกามาใช้เล่นกับไพ่ป๊อกในบทความนี้ หรือแบบเล่นออนไลน์ก็มี เกมนี้มีการวิเคราะห์และศึกษาการจัดแนวรบและกลยุทธ์การเล่นกันอย่างจริงจัง เหมือนการตั้งป้อมในหมากรุกญี่ปุ่นโชกิกันเลยล่ะครับ ดูการจัดแนวรบมาตราฐานได้จากเว็บนี้ http://www.ultrastratego.com/setups.php ถ้ามีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่แน่ว่าความนิยมอาจจะสูงขึ้นจนได้รับการบรรจุเป็นกีฬาแบบเดียวกับหมากรุกก็เป็นได้ และถือได้ว่าเกมนี้เป็นหมากรุกแบบใหม่ที่มีวิธีเล่นง่ายๆ ไม่ต้องจำตาเดินมากมาย เป็นวิธีเล่นเกมกระดานที่เน้นตัวหมากเยอะๆได้สะดวกดี แต่ความซับซ้อนและการจัดแนวรบนี่ต้องบอกเลยว่า ไม่ธรรมดาจริงๆครับ ;)

Amazon.com: Stratego Board Game: Toys & Games
Stratego ธรีมสงคราม Sci-fi

โฆษณาของ Stratego ทำออกมาได้เจ๋งทีเดียว


อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Stratego
https://cdn.shptrn.com/media/mfg/1725/media_document/9144/7479_BattleGards_RulesEng.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Computer_shogi