ห้องสิน เป็นพงศาวดารในช่วยสมัยของปลายราชวงศ์ซางสู่การก่อตั้งราชวงศ์โจว เป็นเรื่องราวในช่วง 1,600 ปีก่อน ค.ศ. อยู่ในช่วงยุคสำริดของจีน เพิ่งพ้นช่วงยุคหินใหม่มาไม่นาน ยังไม่มีเหล็กใช้
ในยุคปลายราชวงศ์ซางติวอ๋อง ปล่อยตัวไปกับการร่ำสุรานารี ละเลยศีลธรรมจรรยา ละทิ้งราชกิจการเมือง ถึงขนาดจัดการร่วมเพศหมู่เป็นประจำเพื่อให้ผู้คนมามั่วสุมกระทำลามกต่างๆร่วมกัน ทั้งยังมักประพันธ์เพลงกลอนหยาบช้าอนาจาร ชอบสั่งฆ่าคนด้วยวิธีการอันทารุณเพื่อความบรรเทิง เช่น จับนาบเสาทองแดงร้อน จับโยนบ่องู ฯลฯ เก็บภาษีเกณฑ์แรงประชาชนมากมายเพื่อไปสร้างวังหลวงอย่างหรูหรา ความเสเพลนี้ นำไปสู่การโค่นล้มโดยราชวงศ์โจว
ในเรื่องได้พูดถึงกองทัพสองฝ่ายต่อสู้กัน โดยฝ่ายราชวงศ์โจวมีเหล่าเทวดามาช่วย ฝ่ายราชวงศ์ซางมีสัตว์มีฤทธิ์หรือปิศาจมาช่วย เมื่อตีความแล้วน่าจะเป็นการเปรียบเปรยถึงระดับจิตของคน ที่ฝ่ายนึงมาด้วยจิตใจเหมือนเทวดาอยากช่วยมนุษย์ แต่อีกฝ่ายเป็นเหมือนเดรัจฉานที่หิวอำนาจเท่านั้น แต่เรื่องระดับจิตก็ไม่เกี่ยวกับความสามารถ เพราะสัตว์มีฤทธิ์ก็ยังฆ่าเทวดาได้ เทวดาแพ้และตายเป็นเบือเหมือนกัน ทั้งยังเป็นการบอกว่าคนศีลเสมอกันก็ย่อมอยู่ด้วยกัน เมืองของราชวงศ์ซางมีปิศาจมามีอำนาจบริหารบ้านเมืองก็มีแต่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่เป็นสุขเลย คนดีถูกฆ่าบ้างขับไล่บ้าง อยู่ไม่ได้จนต้องลี้ภัยไปเมืองของราชวงศ์โจว ราชวงศ์โจวจึงมีเทวดามากมาย ส่วนราชวงศ์ซางจึงเหลือแต่สัตว์ที่คอยสอพลอ จึงต้องฝ่ายแพ้ไปในที่สุด ศึกนี้ราชวงศ์ชางพ่ายแพ้ราบคาบ
เนื่องจากเป็นยุคสำริด อาวุธที่ใช้เช่น กระบองเหล็ก ก็น่าจะเป็นสำริดหรือไม่ก็ทองแดง กระบองหยกนี่ก็เป็นหิน ซึ่งน่าจะมีจริง เพราะชนเผ่าเมารีของนิวซีแลนด์ก็ใช้กระบองหยกเป็นอาวุธด้วย ในเรื่องยังมีศิลาวิเศษที่ใช้ทิ้งใส่กัน นั่นก็น่าจะเป็นการปาก้อนหินใส่กันนั่นเอง เป็นการทำสงครามด้วยอาวุธที่ดั้งเดิมมากๆ ยังไม่นับไสยเวทย์ที่ทำใส่กันในการสงครามอีกมากมายที่เป็นเรื่องเล่าขานเพราะไม่มีใครรู้ว่าอีกฝ่ายทำได้อย่างไร
การอ่านพงศาวดารจีน เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่า ซึ่งเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์ นอกจากจะได้เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แล้ว มันยังถูกเขียนขึ้นบนพื้นฐานทางปรัชญาอีกด้วย เนื้อหาจะเป็นเรื่องจริงแค่ไหนจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรก การได้เห็นความผันแปรของสรรพสิ่งที่ย้ำเตือนอยู่ในพงศาวดารเหล่านี้ต่างหากคือประโยชน์ เป็นการได้เรียนรู้แบบซึมซับจากกรณีศึกษา การได้เห็นวิสัยทัศน์ระยะยาวนับสิบปี ร้อยปี พันปี เหมือนคนที่มีสายตาผ่านยุคสมัยมานับพันปีจากการศึกษาพงศาวดารจีน ซึ่งเป็นได้ไปยากในช่วงชีวิตคนหนึ่งที่จะเห็นได้เอง คนต้นเรื่องไม่มีใครได้เห็นบั้นปลาย แต่คนที่อ่านได้เห็นทั้งหมด มันช่วยให้คิดเชื่อมโยงการกระทำตั้งแต่ต้นจนปลายได้ จึงทำให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างใกล้ คิดได้ทั้งระยะสั้นและยาว นับประสาอะไรหากได้อ่านพงศาวดารทั้งหมด 5,000 ปี อีกเล่า! การได้อ่านด้วยสายตาแห่งการศึกษาไปเรื่อยๆ จะเห็นวงรอบของการผันแปรที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องราวทั้งหมดก็เหมือนเล่าเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาแค่เปลี่ยนฉากและตัวละคร แต่การได้อ่านถึงแก่นเดิมโดยเปลี่ยนกรณีศึกษาไปเรื่อยๆนี่แหละจะทำให้องค์ความรู้เหล่านี้ซึมซับเข้าไปอยู่ในระบบความเข้าใจเองได้โดยอัตโนมัติในหลายมิติ จนเป็นสัญชาตญาณ
ไม่แน่ว่าถึงจุดนึง ท่านอาจจะเห็นอนาคตที่กำลังวนซ้ำกลับมาเกิดขึ้นก็ได้ แล้วเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม
=======
ติดตามเพจห้องสมุดตามใจกันไว้ให้ดีครับ ช่วงนี้จะนำเอาแก่นความคิดจากพงศาวดารจีนมาลงให้ได้อ่านและขบคิดกันไปเรื่อยๆครับ
ขอบคุณมากครับ
=======
อ่านห้องสินออนไลน์ https://vajirayana.org/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99
https://www.pxfuel.com/en/free-photo-qxwwn |
=======
อ่านห้องสินออนไลน์ https://vajirayana.org/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99
รายชื่อพงศาวดารจีนตามลำดับราชวงศ์กษัตริย์จีน(ตามเนื้อเรื่อง)ที่ได้รับการแปลเป็นไทยแล้ว