Sponsor

08 กันยายน 2565

คนที่มีความสุขจะพร่ำบ่นกับตัวเองหน้ากระจกว่า "ฉันมีความสุข" จริงๆหรือ?

หนังสือแนวพัฒนาตนเองในยุคหนึ่ง นิยมบอกให้ผู้คนพูดกับตัวเองว่า "ฉันมีความสุข" "ฉันเป็นคนพิเศษ" "ฉันมีความมั่นใจในตัวเอง" ฯลฯ หรืออะไรทำนองนี้ แน่นอนว่า มันย่อมเป็นเรื่องดีที่ผู้คนจะพูดสิ่งดีๆกับตัวเองมากกว่าสิ่งไม่ดี แต่หากมองอีกมุม คนที่มีความสุข เขาจะพร่ำบ่นกับตัวเองหน้ากระจกว่า "ฉันมีความสุข" จริงๆหรือ?

เราก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นไปตามกระแสของการพัฒนาตัวเองในยุคนั้นเหมือนกัน เคยคุยถึงเรื่องแบบนี้บ่อย ทุกวันนี้ถ้าดูในสื่อต่างๆ มีแต่คนสวยๆหล่อๆดีๆเก่งๆมากมาย จนเรารู้สึกเหมือนสิ่งเหล่านั้นเป็นปกติของสังคม ทั้งที่เมื่อคิดอีกที คุณคิดว่าคนที่โคตรเก่ง โคตรสวยหล่อ มีกี่%ในโลก? อาจแค่ 1% สื่อย่อมต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นที่สุด ความปกติธรรมดา 99% เขาคงไม่เอาออกสื่อหรอก หรือไม่จริง? และเมื่อเราเห็น 1% นั้นในสื่อบ่อยๆ เราก็รู้สึกราวกับว่าทั้งหมดต้องเป็นอย่างนั้น และมีแค่เราคนเดียวที่ผิดปกติเพราะไม่ได้เป็นอย่างนั้น บางครั้งเราก็ลืมฉุกคิดในเรื่องนี้ จนทำให้เราไม่มีความสุข

การสอนให้ผู้คนบอกว่าตัวเองพิเศษ มันจะมีความพิเศษอยู่ 2 ทาง คือ โคตรเทพ กับ โคตรห่วย ทั้ง 2 อย่างนี้พิเศษ และสื่อก็จะนำเสนอ ดูได้จากข่าว ถ้าเก่งไม่ได้ ก็ทำคอนเท้นท์เหี้ยๆไปเลย โด่งดังเหมือนกัน ถ้า 99% พยายามทำอย่างหลัง สังคมคงจะวุ่นวายพิลึก

ก็เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่มีความสุขนั่นแหละ เราถึงได้พร่ำบ่นพยายามสะกดจิตตัวเองว่าเรามีความสุขไม่ใช่หรอ?
เราเป็นแค่ 99% เป็นแค่คนธรรมดาคนนึง ที่ไม่ได้พิเศษ

บางที วิธีที่ดีกว่า ไม่ใช่การพร่ำบอกตัวเองว่ามีความสุข แต่อาจเป็นการยอมรับทุกความรู้สึกของตัวเอง ไม่ใช่การพร่ำบอกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ แต่อาจเป็นการยอมรับความเป็นเช่นนี้ของตัวเอง
แค่ยอมรับและดื่มด่ำกับความรู้สึกเหล่านั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเป็นมนุษย์ทั้งหมด สิ่งที่มีแต่มนุษย์ที่สามารถรู้สึกทั้งหมดนี้ได้ตามการปรุงแต่งของกาย หากเราปิดกั้นไม่ยอมรับรู้บางอารมณ์ในกายมนุษย์สามัญที่ต้องพบเจอเป็นธรรมดา เพราะแค่เราไม่ชอบ การได้เป็นมนุษย์ก็ไม่อาจสมบูรณ์
คุณอาจเป็น 99% เหมือนเรา เป็นคนธรรมดา เป็นคนที่ห่วยคนนึง เรายอมรับมันว่าตอนนี้เราเป็นอย่างนี้ และเราจะทำให้ตัวเองห่วยน้อยลงทุกวัน เป็นคนธรรมดาๆที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นๆ
บางที คนที่พิเศษจริงๆ ก็อาจผลัดดันตัวเองด้วยความรู้สึกเช่นนี้ จึงเก่งขึ้นในทุกวันก็ได้

อันที่จริง การเป็นคนพิเศษหรือธรรมดา ก็ยังอยู่ในทวิภาวะของเส้นส่วนสุดทั้งสองข้าง ถึงที่สุดแล้ว เราควรจะอยู่เหนือเส้นส่วนสุดทั้งสองข้างนี้ คือ ไม่ต้องพิเศษหรือธรรมดา แค่เป็นเช่นนั้นเอง ยอมรับอย่างที่เป็น แล้วเป็นอย่างที่จะเป็น โดยไม่ต้องแปะป้ายอะไรให้ตัวเองอีกต่อไป

สังคมที่มีคุณธรรม,
จะไม่โหยหาคุณธรรม;
สังคมที่ไร้คุณธรรม,
จะโหยหาคุณธรรม;
สังคมที่พร่ำสอนคุณธรรม,
ป่าวประกาศราวกับว่ามีคุณธรรมนักหนา,
คือสังคมที่ไร้คุณธรรม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น