Sponsor

17 เมษายน 2562

Thai Teeline Shorthand - ชวเลขไทยแบบทีไลน์


The Teeline Alphabet
เพื่อนๆเคยสนใจอยากจะเพิ่มความเร็วในการจดเลคเชอร์บ้างมั้ย? หรืออยากจะฝึกเขียนเขียนเร็วๆ หรือสร้างรหัสในการเขียนบันทึกของตัวเอง? ถ้าเพื่อนๆเคยมีความคิดแบบนี้มาก่อนล่ะก็ เพื่อนๆไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะมีนักปราชญ์คิดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณนู่นเลยล่ะ ซึ่งเขาได้คิดเทคนิคการจดบันทึกแบบเร็วขึ้นและได้รับการพัฒนาไปทั่วโลกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภาษาไทยเรียกว่า ชวเลข อ่านว่า เชา-วะ-เลก หรือ Shorthand ในภาษาอังกฤษ หมายถึง วิธีการเขียนข้อความอย่างย่อด้วยสัญลักษณ์ เพื่อเพิ่มความเร็วในการเขียนหรือการจดบันทึก เมื่อเทียบกับการเขียนปกติธรรมดา ซึ่งปัจจุบันนิยมกันอยู่ 2 แบบคือ
ปิทแมน(Pitman) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย นายเซอร์ไอแซค ปิทแมน  ในปี ค.ศ. 1837
เกรกก์(Gregg) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย นายโรเบิร์ต เกรกก์  ในปี ค.ศ. 1888
ซึ่งแบบ Gregg ได้รับความนิยมมากที่สุด มีชวเลขทั้งภาษาอังกฤษและไทย ทั้ง 2 แบบ ยังคงใช้บันทึกกันอยู่ในรัฐสภาไทยแม้จะมีเครื่องบันทึกเสียงแล้วก็ตาม เพื่ออนุรักษ์ชวเลขไทยเอาไว้ครับ สมัยก่อนเนี่ยฅนที่เรียนเอกบัญชีหรือเลขานุการ นอกจากจะเรียนพิมพ์ดีดสัมผัสแล้ว ยังต้องเรียนชวเลขควบคู่ไปด้วยครับ จนมีคำกล่าวว่า ถ้าพิมพ์สัมผัสได้ก็เรียนชวเลขได้ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าได้จริงรึเปล่า มันยากนะ ๕๕๕บวก -_-"

The Teeline a-z
แต่บทความนี้เราจะพูดถึงชวเลขอีกแบบหนึ่งที่ฉันชอบเป็นพิเศษเพราะจำง่าย คือ
ทีไลน์(Teeline) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นโดย นายเจมส์ ฮิลล์ ในปี ค.ศ. 1968
น่าจะใหม่ที่สุดในบรรดาชวเลขทั้งหมดครับ เป็นที่นิยมทั่วไปในหมู่นักข่าวหรือนักเขียนที่ต้องจดบันทึกคำสัมภาษณ์ เท่าที่ฉันค้นหาดู Teeline มีแต่ภาษาอังกฤษยังไม่มีใครเทียบเป็นภาษาไทย ฉันจึงทำการเทียบโดยใช้หลักการเดียวกันกับชวเลขไทยแบบเกรกก์ผสมการเทียบสระแบบปัจจุบัน ทำไว้เป็นต้นแบบ(Demo) ยังไม่ได้ลงลายละเอียดลึกๆนะครับ เผื่อใครสนใจจะได้นำไปต่อยอดต่อไปให้สมบูรณ์ได้เร็วยิ่งขึ้น
ก่อนที่จะเขียนทีไลน์ภาษาไทย ให้จำของภาษาอังกฤษก่อน จะช่วยให้จำง่ายขึ้น แล้วค่อยมาดูภาษาไทยทีหลัง จะเข้าใจง่ายขึ้นครับ
[การเขียน Teeline ภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นชื่อเฉพาะที่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ จะเขียน // เอาไว้ใต้ตัวอักษรนั้นเพื่อบอกว่าเป็นตัวพิมพ์ใหญ่]

ย ญ ใช้ y ของ Teeline ภาษาอังกฤษ
อ ใช้ o

ฤ ใช้ รอึ(rueฺ), ฦ ใช้ ลอึ(lueฺ)
ฤๅ ใช้ รอือ(rue), ฦๅ ใช้ ลอือ(lue)

การเขียนชวเลขไทยเบื้องต้น คือ เขียนเหมือนภาษาคาราโกะ หนึ่งคำจะเขียนอักษรติดกันไปเลยเหมือนแบบเกรกก์ครับ ยกเว้นบางตัวถ้าเขียนติดกันแล้วจะแยกไม่ออกก็อาจจะเว้นนิดนึงก็ได้ ไม่ตายตัว เช่น tt จะเขียนแยกกันโดยตัวหลังซ้อนเหลื่อมขึ้นข้างบนนิดนึง หรือตัว f ปกติเขียนเป็นแนวตั้งก็จริงครับ แต่สามารถเขียนแบบแนวนอนก็ได้ หรือเขียนกลับด้านก็ได้ขึ้นอยู่กับรูปคำ ส่วนเรื่องวรรณยุกต์ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา ก็เขียนลงไปตามปกติเลยครับ(แต่มืออาชีพมักละไว้ ไม่ใส่)
ในการเขียนชวเลขของมืออาชีพนั้น มักจะเขียนด้วยคำย่อ(เคล็ดลับของชวเลข) ซึ่งจำเป็นต้องท่องจำครับ หากสนใจพวกคำย่อมาตราฐานชวเลข สามารถดูได้จากตำราชวเลขไทยแบบเกรกก์ครับ(ต้องแกะจากแบบเกรกก์เป็นอักษรไทยแล้วค่อยเขียนใหม่เป็นทีไลน์อีกที... สาหัสเอาการ ๕๕๕บวก) ตัวอย่างคำย่อก็เช่น

เงินเดือน = งดน (ngdn)
แปรง = ปแอง (paeng)
กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน = กาบ สวดอี ท ผอู มอี กเอีย ทอุ ท (gab swdi t pu mi gia tu t)
radio = rdio
resist = rsist
turtle = ttl
teeline = tln
magazine = mgzn

งงใช่มั้ยครับ? ฉันก็งง ๕๕๕บวก คำย่อมาตราฐานพวกนี้จำเป็นต้องท่องครับ หลักการย่อก็มีอยู่ครับ(ฉันดูแนวทางการย่อคำจาก Briefhand) สามารถย่อคำเป็นของตัวเองได้ครับ ฉันเคยได้ยินมาว่าผู้ที่เรียนชวเลขและนำไปเขียนส่วนตัวมักจะคิดคำย่อเอง และปรับเทคนิคการเขียนจนเป็นแบบของตนเองได้ พวกสระบางอย่างก็ไม่ตรงไปตรงมา(อย่าง สระอัว ใช้ ua ไม่มี ว.แหวน เฉยเลย) เราอาจเอามาทำให้ง่ายๆสำหรับเราก็ได้ เทคนิคการย่อคำแบบ Briefhand ก็น่าสนใจ เพราะบางครั้งเราอาจใช้เขียนด้วยตัวอักษรปกติซึ่งพิมพ์ได้ด้วย เช่น หญิง=ญ, ชาย=ช แบบที่เรานิยมใช้ก็เป็นการย่อในแนวทางนี้ คำอื่นๆก็ลองย่อดูตามสะดวก เป็นศิลปะที่สนุกดีเหมือนกันครับ แต่การเขียนแบบไก่เขี่ย(ฉันใช้เรียกการเขียนแบบชวเลข ๕๕๕บวก)ซึ่งเป็นการเขียนโดยใช้สัญลักษณ์แบบบริสุทธิ์นี้ ก็เป็นเอกลักษณ์ที่น่าจะรักษาไว้ และเป็นเทคนิคการเขียนสัมผัสแบบรวดเร็ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าชวเลขแบบไหน ทั้งหมดทั้งมวล ก็ต้องฝึกเขียนครับ ซ้อม ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม อย่างเดียวครับ จึงจะสามารถเขียนได้เร็วเท่ากับการพูด
ฉันเองก็ยังไม่ได้ฝึกจริงจัง แต่ชื่นชอบชวเลขมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ แต่ไม่รอดกับแบบอื่นๆเลย จนมาเจอแบบ Teeline นี่แหละ จึงทำให้พอมีความหวังใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง มาหัดไปพร้อมๆกันครับ ลองศึกษาและนำไปประยุกต์กันดู ตำรา Teeline(ภาษาอังกฤษ) ฉบับสมบูรณ์

เทคนิคการจำตัวอักษร Teeline อย่างง่ายๆ


แนวการเขียนเชื่อมตัวอักษรให้เป็นคำ



อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/ชวเลข
http://shorthand-thai.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
http://bpcd478.bpcd.net/mod/resource/index.php?id=1
https://www.thairath.co.th/content/131987
https://en.wikipedia.org/wiki/Teeline_Shorthand
http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/23669
https://www.bbc.com/news/magazine-34603886
https://www.facebook.com/teelineonline/

11 เมษายน 2562

เหนื่อยนักก็พักก่อน

ฌ คาบเรียนวิชาลูกเสือ
"ร้อนมั้ย!” ครูตะโกนถาม
“ไม่ร้อน!” นักเรียนตะโกนตอบ
“เมื่อยมั้ย!” ครูตะโกนถาม
“ไม่เมื่อย!”นักเรียนตะโกนตอบ
“ดี! งั้นยืนต่อไป!” ครูกล่าวพลางหลบใต้ร่มไม้

ตอนนั้นฉันร้อนและเมื่อย แต่จำเป็นต้องตอบไปตามที่ถูกสั่ง ท้ายคาบฉันไปถามครูด้วยความสงสัย
“ครูครับ ทำไมร้อนต้องตอบว่าไม่ร้อนด้วยครับ?”
“มันเป็นการฝึกความอดทน"
ฉันเดินจากมาพร้อมความงุนงง เพราะฉันรู้สึกว่ามันไม่ใช่การฝึกความอดทน แต่มันเป็นการฝึกการโกหก โกหกตัวเองและโกหกฅนอื่น

ในช่วงชีวิต ฉันเห็นสิ่งเหล่านี้มากมายตั้งแต่เล็กจนโต
ถูกครูตี ต้องบอกว่า "ไม่เจ็บ"
ใส่พริกเยอะๆกินโชว์ ต้องบอกว่า "ไม่เผ็ด"
เมื่อดื่มเหล้าขวดแล้วขวดเล่า ต้องบอกว่า "ไม่เมา"
เล่นเกมอดนอน ต้องบอกว่า "ไม่ง่วง"
การตอบแบบนี้เพราะไม่อยากถูกมองว่าอ่อนหรือเพราะไร้ความรู้สึกจริงๆ ฉันก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เรากำลังสอนลูกหลานของเราให้เป็นอะไรอยู่นะ เป็น มนุษย์ที่มีความรู้สึก หรือ หุ่นยนตร์ที่ไร้ความรู้สึก ฉันไม่เข้าใจการสั่งสอนในรูปแบบนี้ เมื่อมีใครบางฅนหลุดบอกว่า "ไม่ไหว" เขาจะถูกตอกย้ำด้วยคำว่า "อ่อนแอ" ทั้งที่แต่ละฅนแตกต่าง
บางครั้งฉันอยากได้ยินการสอนแบบนี้นะ
"ร้อนมั้ย!” ครูตะโกนถาม
“ร้อนครับ!” นักเรียนตะโกนตอบ
“ไหวมั้ย?!” ครูตะโกนถาม
“ไหวครับ!”นักเรียนตะโกนตอบ

อย่างน้อยการถามว่า "ไหวมั้ย?" ก็เป็นการสอนให้ประเมินศักยภาพร่างกาย แล้วผู้สอนจึงทำการประเมินอีกครั้งจากคำตอบ นี่น่าจะเป็นการฝึกความอดทนมากกว่า

เมื่อฉันถูกครูตี ฉันบอกว่า "เจ็บสิ แต่พอทนได้"
เมื่อฉันใส่พริกเยอะๆ ฉันบอกว่า "เผ็ดสิ แต่กำลังดี"

จากเหตุการณ์วันนั้น ฉันจึงคิดว่า ถ้าเหนื่อย ก็ยอมรับว่าเหนื่อยเถอะ พัก แล้วไปต่อ แบบนี้ ความเห็นอกเห็นใจกับเพื่อนมนุษย์ย่อมเกิดขึ้น เพราะเรารับรู้ถึงความรู้สึกจริงๆที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์โดยไม่โกหกตัวเอง ทุกข์สุข เห็นแล้วยอมรับว่ามันกำลังพัดผ่านเข้ามา

รู้มั้ยครับว่า การง่วงแล้วขับ คำว่า "แข็งใจหน่อย" ไม่ได้ช่วยลดอุบัติเหตุ
และการบอกว่าไม่เมา ไม่ได้ทำให้หายเมา

ไม่ไหว ก็พักเถอะครับ แล้วค่อยไปต่อ มันจะไปได้ไกล ไกลกว่าเยอะเลย
ขอให้โชคดีมีสตินะครับ
ด้วยความปราถนาดี

https://pixabay.com/photos/peony-beetle-rose-beetle-paeonie-3429507/