ในสังคมไทยมักเรียกคนที่ไม่ทำตามสังคมหรือมีความแตกต่างว่าเป็นคนต่อต้านสังคม แต่นิยามสากลจริงๆไม่ใช่แบบนั้น บุคคลคนประเภทต่อต้านสังคมจะเป็นคนที่ซ่อนความกลัวต่อผู้อื่นเอาไว้ พวกเขาจะเชื่อว่าพวกเขาจะต้องกดคนอื่นไว้ เป็นคนประเภทที่ต้องการทำให้ผู้อื่นโง่กว่าตัวเอง และพวกเขาจะหวาดกลัวถ้าคนอื่นจะพัฒนาขึ้นจนฉลาดกว่าตัวเขา พวกเขากลัวว่าคนอื่นจะเก่งกว่าตัวเอง เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าแค่นี้เขาก็ยุ่งยากแล้ว ถ้าเกิดคนพัฒนาขึ้นและฉลาดขึ้น พวกเขาต้องลำบากแน่ๆ
ส่วนบุคคลที่เป็นมิตรต่อสังคมเป็นคนที่ชอบแบ่งปันสิ่งดีๆให้แก่ผู้อื่น เพราะพวกเขาคิดว่า ถ้าตัวเขาและคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่สำหรับคนที่ต่อต้านสังคมเขาคิดว่าเขาจะอยู่รอดได้ด้วยการทำให้คนอื่นแพ้เขาและยอมจำนนเท่านั้น
คนทั้งสองประเภทนี้จะมีลักษณะที่ต่างกันที่เห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
1. คนต่อต้านสังคมจะพูดแบบไม่เจาะจง เช่น "พวกเขาพูดกันว่า..." "ทุกคนคิดว่า..."
คนเป็นมิตรต่อสังคมจะพูดแบบเจาะจง เช่น "พระพุทธเจ้ากล่าวว่า..." "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวว่า..." คือจะพยายามให้แหล่งข้อมูลถ้าเป็นไปได้
2. คนต่อต้านสังคมจะชอบพูดถึงข่าวร้าย เป็นพวกชอบกระจายข่าวลือ และใส่สีตีไข่ใส่ร้ายคนอื่น
คนเป็นมิตรต่อสังคมจะกระตือรือร้นที่จะกระจายข่าวดีและมักลังเลที่จะแชร์ข่าวร้ายนอกจากจะสำคัญจริงๆ
3. คนต่อต้านสังคมชอบการวิจารณ์คนอื่นอยู่ตลอด
คนเป็นมิตรต่อสังคมจะชอบให้กำลังใจมากกว่าวิจารณ์
4. คนต่อต้านสังคมเมื่อเกิดปัญหา เช่น รถยางแบนเพราะไปทับตะปู เขาจะโทษคนที่นั่งข้างๆ
คนที่เป็นมิตรต่อสังคมเมื่อเกิดปัญหาเช่นเดียวกันนั้นเขาจะลงไปปะยาง
5. คนต่อต้านสังคมจะเห็นดีกับกิจกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม บ่อยครั้งที่ศิลปิน(ผู้ริเริ่ม)จะตกเป็นเป้าโจมตีของคนพวกนี้ หรือทำลายในคราบของการช่วยเหลือ
คนเป็นมิตรต่อสังคมจะสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ช่วยเหลือสังคม
6. คนต่อต้านสังคมจะขาดสำนึกเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคล มักจะใช้หรือขโมยของผู้อื่นโดยพลการ
คนเป็นมิตรต่อสังคมจะเคารพต่อทรัพสินส่วนบุคคล จะไม่มีการนำทรัพย์สินของผู้อื่นไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
7. คนต่อต้านสังคมไม่เคยสำนึกในพฤติกรรมของตน
คนที่เป็นมิตรต่อสังคมหากชี้ให้เห็นสิ่งที่ถูกต้องเขาก็พร้อมจะพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างง่ายดาย
สรุปสั้นๆได้ว่า คนที่ต่อต้านสังคมคือคนที่จ้องจะทำลาย และ คนที่เป็นมิตรต่อสังคมคือคนที่พยายามจะสร้างสรรค์
การที่จะบอกว่าใครเป็นคนต่อต้านสังคมหรือคนที่เป็นมิตรต่อสังคมนั้นไม่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา จำเป็นต้องดูบริบทมาก ต้องดูทั้งด้านดีและไม่ดีของคนๆนั้นประกอบด้วย เพราะบางครั้งคนเป็นมิตรอาจแสดงพฤติกรรมร้ายๆหากถูกกดดัน และการดูที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวของบุคคลนั้นก็ยังไม่ได้ เพราะคนที่เป็นมิตรต่อสังคมบางครั้งก็ถูกกลั่นแกล้งจากคนต่อต้านสังคม หรือการที่คนนึงมีอำนาจเหนือผู้อื่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนต่อต้านสังคม
แต่ด้วยข้อเท็จจริงเรื่องบุคลิกนี้ก็สามารถทำให้เราแยกแยะได้ เพื่อที่เราจะไม่ทำร้ายบุคคลที่เป็นมิตรต่อสังคม และไม่ละเลยที่จะทำให้คนที่ต่อต้านสังคมหมดสิ้นกำลังที่จะทำร้ายพวกเราที่เหลือ และเพื่อหลีกเลี่ยงคนประเภทนี้เพราะเขาจะคอยดูดพลังชีวิตของคุณและคอยกดคุณอยู่เสมอและจะทำให้คุณวิกลจริต
เมื่อเรามองไปที่เรื่องของการฉ้อราษฏร์บังหลวงของรัฐบาล สงคราม อาชญากรรม ความวิกลจริต ยาเสพติด ความสำส่อนทางเพศและอื่นๆ เรากำลังมองไปที่สังคมที่กำลังจะสูญสิ้น นี่คือผลโดยตรงของการที่บุคคลทั้งหลายล้มเหลวในการประยุกต์ใช้จริยธรรมเพื่อยับยั้งการจ้องทำลายสังคม ซึ่งนำสังคมและบุคคลในสังคมไปสู่ความสิ้นสูญในที่สุด
สรุปได้ว่านิยามคำว่าพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่คนไทยใช้กัน นำมาใช้เพื่อกดให้คนอื่นทำตามคนส่วนใหญ่ ทั้งที่แต่ละคนมีความเป็นตัวเอง มีความชอบที่ต่างออกไป แต่เมื่อใช้นิยามสากลแบบนี้ที่ได้ลงลึกไปถึงเรื่องลักษณะนิสัย โดยไม่ได้มองแบบผิวเผินแค่ภายนอกนั้น จะเห็นได้ชัดเจนและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีความแตกต่างจากผู้อื่นแค่ไหน แต่หากเขาเป็นคนที่สร้างสรรค์เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น เขาก็ไม่ใช่คนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมแต่อย่างใด
บทความนี้ขอเป็นกำลังใจแด่บุคคลผู้แตกต่าง
ที่ตรากตรำเพื่อให้โลกใบนี้หมุนต่อไปอย่างสร้างสรรค์...
อ้างอิง Scientology: A new slant on life