Sponsor

27 มกราคม 2560

ทงซู 通書 - หนังสือที่ทุกบ้านต้องมี ตำรารวมภูมิปัญญาโบราณจีน

ทงซู ฉบับประเทศไทย

ทงซู 通書 (ถองซู่ ทงจือ ท่งซื่อ แล้วแต่สำเนียง) คือ คัมภีร์ว่าด้วยการดำเนินชีวิต ทง 通 แปลว่า ผ่านทะลุ ปลอดโปร่ง รู้แจ้งแทงตลอด ซู 書 แปลว่า หนังสือ ทงซูเป็นหนังสือกึ่งปฏิทินจีนที่รวมศาสตร์เกือบทุกแขนงที่สำคัญต่อชีวิตประจำวัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนอาจารย์ผู้คอยชี้แนะแนวทางปฏิบัติตนและครอบครัว โดยผสมผสานคำสอนทั้ง 3 หลักของลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า พุทธศาสนาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ในทงซูฉบับประเทศไทยนั้นมีทั้งภาษาไทยและจีนในเล่มเดียวกัน
ทงซูเป็นหนังสือที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนานหลายพันปี นับได้ว่าเป็นหนังสือที่ขายดีและมีผู้อ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งของโลก ประวัติความเป็นมาได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ชูเก็งของราชสำนักจีนว่า ก่อนคริสตกาล 2,256 ปี องค์จักรพรรดิ เหยา ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเสนาบดีตระกูล ซิ และ โห ให้เป็นผู้จัดทำปฏิทินและบันทึกวงโคจรของดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้า เพื่อทำนายสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละฤดูกาล เพื่อเผยแพร่ให้แก่ราษฎรและเกษตรกรทราบล่วงหน้า เมื่อได้รับพระราชโองการรับรองเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศและทำการเผยแพร่จัดพิมพ์แจกจ่ายแก่บุคคลสำคัญ ทงซูนั้นเปรียบเสมือนคัมภีร์แห่งองค์จักรพรรดิ เป็นดั่งสารตราตั้งเพื่อนำไปแจกจ่ายยังหัวเมืองต่างๆ
ในทงซูได้รวบรวมคำสอนทั้ง 3 หลักของ ขงจื้อ พุทธ เต๋า เข้าด้วยกัน แยกเป็นศาสตร์สาขา ศีลธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม สังคม หน้าที่พลเมือง หน้าที่สามีภรรยา การเลือกคู่ การครองเรือน การเป็นมารดา ความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูล ญาติมิตร แซ่ ความรู้เรื่องสุขภาพขั้นพื้นฐาน การทำนาย การดูฤกษ์ดูยาม คำถามของบรรพชน ความรู้เรื่องดวงดาวโหราศาสตร์ประยุกต์ ฯลฯ หลักแนวความคิดของปรัชญาจีนโบราณที่สะท้อนในคัมภีร์ทงซูก็คือ การประยุกต์ปรัชญาหยิน-หยาง ทงซูจึงเปรียบเสมือนการศึกษานอกโรงเรียนของคนในสมัยก่อน สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ที่บ้าน

เรามาดูเนื้อหาในทงซูอย่างคร่าวๆกันครับว่ามีอะไรบ้าง

บทแรกว่าด้วยการทำนายฤดูใบไม้ผลิ(เป็นสัญลักษณ์คล้ายพิธีแรกนาขวัญของไทยเรา) รูปเด็กเลี้ยงโคชื่อ เม็งชาน เด็กเลี้ยงโคจะจูงโคในลักษณะต่างๆ การแต่งตัวและรายละเอียดจะเปลี่ยนแปลงทุกปี เพื่อบ่งลักษณะสภาพอากาศในปีนั้นๆ ถ้าเด็กใส่รองเท้าแสดงว่าน้ำฝนมาก ดินแฉะ ถ้าเด็กยืนเท้าเปล่าแสดงว่าดินแห้ง ถ้าเด็กใส่หมวกแสดงว่าแดดจัด ถ้าเด็กไม่ใส่หมวกแต่แขวนข้างหลังแสดงว่าอากาศเย็นสบาย ปริมาณข้าวมากน้อยให้สังเกตรวงข้าวตอนบน ปรากฏการณ์ของฤดูกาลจะเกิดจากการสังเกตของบรรพบุรุษจนเป็นความรู้จากประสบการณ์เบื้องต้น
(และในบทสุดท้ายของเล่มจะเป็นรูปเด็กเลี้ยงโคของปีต่อไป)
ลักษณะทางโหราศาสตร์ ว่าด้วยการทำนายลักษณะดวงชะตา ตามฤกษ์/ยาม/ทางโหราศาสตร์ วัน เดือน ปี เกิด ในรอบ 100 ปี
การตรวจดูดวงชะตา ตามคำทำนาย 12 กิ่งขั้วดิน-ราศีจากปีชวดถึงปีกุน
ตารางเปรียบเทียบ วัน เดือน ปีจีน กับปฏิทินฝรั่งสากล ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา
24 ช่วง และวงจรของสุริยคติ
วิธีเขียนคำว่าอายุยืน 100 วิธี เขียนอักษรจีนแบบศิลป์
กลอนคำทำนาย ของปราชญ์ หลุยส์ โป เวิน 
โคลง 4 บทขององค์จักรพรรดิเหลืองอึ้งตี่(หวงตี้)
การเทียบเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-ลง ตามสุริยคติทั้ง 24 ช่วงของปี
ยันต์-คาถากันปีศาจ/เฉียง เทียน ซือ เพื่อติดไว้บนผนังตามบ้านหรือบ่อน้ำ ยันต์กันร้อยแปดภัยอันตราย
กลุ่มดาวนักษัตร 28 กลุ่ม
กับการทำนายโชคชะตาดี-ร้าย

ลางสังหรณ์ที่บ่งเหตุการณ์ล่วงหน้า จากสถิติที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆจนกลายเป็นลางที่บอกเหตุที่คนจีนได้สังเกตบันทึกไว้เตือนลูกหลาน เช่น หนังตากระตุก หูอื้อดัง ใบหูร้อน การจาม สุนัขเห่า นกร้อง ฯลฯ
อิทธิพลของธาตุทั้ง 5 ที่มีต่ออุปนิสัยใจคอของเด็กแรกเกิดรวม 26 ด่านต้องห้าม ด่านยมบาล/ด่านผูกพันจากฟ้า/ด่านสี่ฤดู ด่านพระสงฆ์/ด่านโซ่ทอง ฯลฯ
เทพผู้พิทักษ์คุ้มกันเด็กตามอายุ อิทธิพลของดาวเคราะห์ทั้ง 9 ที่มีต่อคน และกล่าวถึงวิธีการแก้เคล็ด สะเดาะเคราะห์ สำหรับหญิงและชาย
ยันต์ต่างๆ ช่วยปกป้องทารกในครรภ์ และช่วยเสริมให้ทารกพัฒนาครบ 9 เดือน
และอื่นๆอีกมากมาย เช่น สุภาษิตโบราณจีน ฯลฯ

มองโดยภาพรวมนับได้ว่าเป็นหนังสือสรรพวิชาที่รวมวิชาต่างๆไว้มากมายเทียบได้กับตำราพรหมชาติของไทย ชาวตะวันตกเรียกทงซูว่าเป็น Collected Writings หรือ Everything Book (แปลว่า หนังสือที่รวมทุกอย่าง) กันเลยทีเดียวครับ เป็นหนังสือรวมภูมิปัญญาของบรรพชนชาวจีนเอาไว้ให้ศึกษาได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ มีมานับแต่โบราณกาล ปราญช์ในอดีตย่อมต้องเคยศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากทงซูกันมาแล้วทั้งสิ้น

ทงซูออกฉบับใหม่ทุกปีครับ เท่าที่สังเกตุคร่าวๆรู้สึกว่าจะต่างกันแค่บทแรกๆและบทท้ายๆที่เกี่ยวกับปฏิทินประจำปี และส่วนปฏิทิน X00 ปีจะมีการเพิ่มปีล่วงหน้า(พร้อมเอาปีเก่าเกินออก)ทุกๆXXปี ส่วนเนื้อหาของตำราอื่นๆในเล่มน่าจะเหมือนกันทุกปี(อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ ผู้รู้โปรดชี้แนะ) เป็นหนังสือภูมิปัญญาโบราณอีกเล่มหนึ่งที่ควรอ่านและเก็บรักษาไว้เป็นอย่างยิ่งครับ
สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเซ่นไหว้ของจีน หรือสั่งออนไลน์ก็มีสะดวกดีเหมือนกันครับ ชี้เป้า ทงซู https://shope.ee/6AJgO6ZiT3

สุดท้ายนี้สวัสดีวันตรุษจีนครับ ^_^
เฮง เฮง เฮง


แถม
ตามธรรมเนียมแล้วประชาชนนิยมซื้อหาทงซู 1 เดือนล่วงหน้าอย่างช้าก่อนตรุษจีน หนังสือนี้จะถูกห่อและเก็บวางไว้บนหิ้งที่สูงอย่างดี การวางทงซูไว้ในที่ต่ำหรือที่ไม่เหมาะสมถือเป็นการลบหลู่ ในวันตรุษจีนหลังการรับประทานเลี้ยงอาหารและไหว้บรรพบุรุษแล้ว เมื่อทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า จะมีพิธีการเก็บทงซูฉบับปีที่แล้วลงจากหิ้งเหนือประตูเอกของบ้าน และมีการอัญเชิญทงซูฉบับใหม่ขึ้นแทนที่ผูกด้วยด้ายแดง มือของผู้อัญเชิญต้องล้างให้สะอาดและจิตสงบ ทงซูเล่มใหม่จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนอาจารย์ผู้คอยชี้แนะแนวทางปฏิบัติตนและครอบครัวตลอดปีที่จะมาถึง ทั้งยังเป็นที่ปรึกษายามมีปัญหาทั้งทางกายและจิตใจ ทงซูเล่มเก่าจะถูกเก็บไว้ทำพิธีระลึกบุญคุณรวมกันในวันเชงเม้ง อันเป็นประเพณีกราบไหว้บรรพบุรุษต่อไป

เพิ่มเติม

อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000170515
https://www.chinesecalendaronline.com/ ปฏิทินจีนออนไลน์(ภาษาอังกฤษ) มีรายละเอียดหลักๆพอสมควร บางส่วนไม่ตรงกับน่ำเอี้ยงไทย
https://www.calendar2u.com/almanac-chinese-lunar-calendar/ แอพปฏิทินจีน หน้าตาเหมือนปฏิทินฉีกรายวัน ข้อมูลละเอียดดี บางส่วนไม่ตรงกับน่ำเอี้ยงไทย
https://play.google.com/store/apps/details?id=oms.mmc.app.almanac.copy.gm.wnl&hl=en_US&gl=US แอพปฏิทินจีน มีทั้งหน้ารายเดือนและรายวัน ข้อมูลละเอียดมาก บางส่วนไม่ตรงกับน่ำเอี้ยงไทย แต่เป็นตัวที่ดีที่สุดที่เคยใช้เลยครับ

26 มกราคม 2560

ตำราพรหมชาติ - หนังสือรวมภูมิปัญญาโบราณของไทย

พรหมชาติ ฉบับชาวบ้าน

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เห็นมานาน
พรหมชาติ เป็นหนังสือที่รวบรวมตำราโบราณไว้มากมายทั้งไทย จีน อินเดีย ยิปซี ตำราที่รวมไว้มีทั้งโหราศาสตร์ นรลักษณ์ศาสตร์ การปลูกบ้าน การปลูกต้นไม้ การตั้งชื่อ ดูฤกษ์ ดูม้า ดูแมว ดูนก ดูฟ้า ดูฝน ดูเมฆ ดูพื้นที่ ไปจนถึงตำราพิชัยสงครามไทย ฯลฯ และโดยเฉพาะ ตำราโอเรกุรัม(ของยิปซี) ที่นิยมเล่นกันมากของเด็กๆในยุค 80s 90s ก็ต้องมีในท้ายเล่ม ๕๕๕บวก
พรหมชาติ ฉบับชาวบ้าน เล่มนี้ดูเหมือนจะไม่มีจำหน่ายแล้ว เราได้ลองเทียบสารบัญแล้วคล้ายกับ ฉบับหลวง ที่ยังมีขายอยู่ในปัจจุบัน ในเล่มมีเนื้อความต่างกันแต่ก็ให้ความหมายเดียวกัน บางบทก็ต่างตำราต่างเนื้อหากันไปไม่เหมือนกัน
พรหมชาติที่เป็นที่นิยมและยังจำหน่ายอยู่มี 2 ฉบับ คือ ฉบับหลวง และ ฉบับราษฏร์ ตามลำดับ ทั้งสองฉบับในสารบัญช่วงต้นเป็นเรื่องเดียวกัน คาดว่าคงต่างตำรา ต่อจากนั้นก็จะต่างเรื่องต่างตำรา น่าสนใจทั้งสองฉบับ และยังมีฉบับอื่นๆอีกตามแต่สำนักพิมพ์ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักและหายากแต่ตำราที่รวบรวมไว้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ฉบับชาวบ้าน, ฉบับสมบูรณ์ ฯลฯ เป็นต้น
โดยเฉพาะ ฉบับชาวบ้าน สำนวนที่ใช้จะเป็นคำคล้องจองเป็นส่วนใหญ่ อ่านแล้วก็สุนทรีย์ จึงเป็นเล่มที่น่าอ่านน่าเก็บ แตกต่างจากเล่มอื่นๆ
นับได้ว่าตำราพรหมชาติเป็นหนังสือสรรพวิชาที่รวมวิชาต่างๆไว้มากมายเปรียบได้กับคัมภีร์ทงซู(通書)ของจีน

พรหมชาตินับเป็นหนังสือรวมภูมิปัญญาโบราณที่ควรรักษาไว้อย่างยิ่ง

ริเริ่มสิ่งใหม่
สืบทอดสิ่งเก่า
มิขัดแย้ง
มิขัดแย้ง

หนังสือพรหมชาติหาซื้อได้ที่ไหน? อาจหาได้ตามร้านหนังสือบางร้าน แต่ส่วนใหญ่มักจะเห็นตามแผงหนังสือในงานวัดหรืองานประจำปีเสียมากกว่า หรือสั่งซื้อตามร้านในอินเตอร์เน็ตจะสะดวกกว่าครับ

อ่านออนไลน์
ตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง
ตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์

ตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง

แถม

รูปยักษ์ที่อยู่บนปกเราคิดว่าน่าจะเป็น พิเภก ปราชญ์แห่งกรุงลงกา น้องของทศกัณฐ์ ผู้ที่คอยย้ำเตือนทศกัณฐ์ถึงคุณธรรมจนตัวเองถูกขับไล่ออกจากกรุงลงกาจึงมาเข้าร่วมกับพระรามในท้ายที่สุด

07 มกราคม 2560

คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นของปรมาจารย์ตั๋กม้อ

เคล็ดวิชาเปลี่ยนเส้นเอ็นเป็นชื่อที่ได้ยินบ่อยในนิยายกำลังภายใน จอมยุทธ์ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี คัมภีร์โบราณนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 1,400 ปี นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดสืบต่อกันมา
ว่ากันถึงประวัติของคัมภีร์เล่มนี้เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ.1070 ซื่งตรงกับรัชสมัยราชวงศ์เหลียง พระสังฆปรินายกโพธิธรรมชาวอินเดีย หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ต๋าโม๋ หรือ ตั๊กม้อ ได้เดินทางมายังประเทศจีน และปักหลักเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่นั้นเป็นเวลาหลายสิบปี ครั้งหนึ่งในระหว่างการเทศนา และการทำสมาธิท่านพบพระสงฆ์หลายรูปมีสุขภาพอ่อนแอและบางรูปถึงกับนอนหลับไปด้วยความเมื่อยล้าอ่อนเพลีย ดังนั้นท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ จึงได้คิดค้นท่าบริหารร่างกายสำหรับพระสงฆ์ในตอนเช้าเพื่อส่งเสริมสุขภาพและบันทึกไว้เป็นคัมภีร์

ตอนนี้ทาง สสส. ได้นำมาเผยแพร่ด้วยชื่อใหม่ว่า แกว่งแขนบำบัดโรค หรือ แกว่งแขนลดพุง ซึ่งก็คือเคล็ดวิชาเปลี่ยนเส้นเอ็นของปรมาจารย์ตั๋กม้อนี่เองครับ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกดร่างกายยืดหยุ่นทำงานได้ไม่ติดขัด เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้สะดวก

ปีใหม่นี้ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกายสุภาพจิตที่แข็งแรง
มาฝึกเคล็ดวิชาเปลี่ยนเส้นเอ็นกันเถอะ!



หลักการอย่างย่อ
ให้กางขาเท่ากับความกว้างของหัวไหล่ ปล่อยแขนลงธรรมชาติ หันอุ้มมือไปข้างหลัง แล้วแกว่งไปข้างหลังหนัก(องศามาก) ปล่อยแขนมาข้างหน้าเบา(องศาน้อย)
รายละเอียดอื่นๆลองดูในคัมภีร์หรือรูปข้างล่างได้เลยครับ ;)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://health.kapook.com/view61732.html


แถม
สำหรับผู้ที่สนใจกระบวนท่าอื่นๆ  易筋經 - อี้จินจิง คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น 8 กระบวนท่า

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก สสส.
http://www.thaihealth.or.th/Content/31695-%E2%80%98%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%A7-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%99%E2%80%99%20%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%A7.html