Hitori หรือ ฮิโตริ (ひとりにしてくれ Hitori ni shite kure; literally "leave me alone") เป็นเกมแนว Logic Puzzle ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย Nikoli เมื่อปี 1990 ผมเล่นแล้วสนุกดีเลยอยากมานำเสนอให้ได้รู้จักกับเกมนี้กันครับ ที่เห็นตัวเลขมากมายชวนตาลายแบบนี้ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนนะครับ เพราะถ้าเพื่อนๆรู้จักเกม Sudoku หรืออยากเล่นแนวเดียวกันนี้ ผมว่าเพื่อนๆอาจชอบ Hitori ด้วยแน่ๆ เพราะมันมีแนวการเล่นที่คล้ายกัน แต่ดูกระทัดรัดกว่า หน้าตาอาจดูเหมือนง่ายๆ แต่แฝงความซับซ้อนเอาไว้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เพื่อนๆที่ชอบท้าทายทางความคิดต้องลองเล่นดูสักตั้ง ว่าแล้วมาดูวิธีเล่นกันเลย
โดยวิธีเล่นก็ง่ายครับ คือ ให้เราขจัดตัวเลขซ้ำใน แนวตั้ง และ แนวนอน ออก ให้เหลือเลขใดใดแค่ตัวเดียวในแต่ละแนว จะด้วยการขีดฆ่า แรเงา หรือถมดำ ฯลฯ ก็แล้วแต่ โดยกติกามีอยู่ว่า
- ช่องที่ถมดำแล้ว ในด้านทั้ง 4(คือ บน-ล่าง-ซ้าย-ขวา) ห้ามถมดำอีก พูดง่ายๆคือ ห้ามถมดำในช่องที่ติดกันนั่นเอง
- ช่องที่ไม่ได้ถมดำหรือที่เรียกว่า ช่องขาว ต้องไม่ถูกล้อมด้วยช่องดำ คือ จะถมดำล้อมรอบช่องขาวไม่ได้ หรือจะล้อมมุมหรือล้อมกลุ่มช่องขาวจนไม่มีทางออกไม่ได้ คือช่องขาวต้องมีทางเชื่อมต่อกับช่องขาวด้วยกันอย่างน้อยหนึ่งช่อง ห้ามปิดทาง
ลองดูคลิปเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นครับ
ต่อไปคือเทคนิคหลักที่ผมใช้ในการเล่น มีอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ครับ
- ไล่หาในแถวแนวตั้งก่อน เมื่อครบทุกแถวแล้ว ก็ไล่หาในแถวแนวนอน หรือจะทำกลับกันก็ได้แล้วแต่ถนัดครับ
- การหา ตัวมุม คือ หาตัวเลขที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับตัวเลขเดียวกันทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เช่น มีเลข 7 ตัวหนึ่งที่ในแนวตั้งก็มีเลข 7 ซ้ำ ในแนวนอนของมันก็มีเลข 7 ซ้ำ ดังนั้น 7 ตัวที่เป็นจุดเชื่อมต่อทั้งในแนวตั้งและแนวนอนคือตัวมุม ให้ถมดำตัวมุมไว้ก่อนเลยครับ มีโอกาสถูกต้องสูงมาก แต่ก็ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของกระดานนั้นๆด้วย
- หากมีซ้ำแต่ไม่มีตัวมุม เราต้องถมดำตัวใดตัวหนึ่ง ให้ทำการอ่านหมาก(ผมเรียกอย่างนี้นะ 555+) คือ ให้ดูตัวเลขทั้ง 4 ด้านของตัวที่เราจะถมดำทีละด้าน(คือช่อง บน-ล่าง-ซ้าย-ขวา ที่ติดกัน) ดูว่าช่องที่ติดกันนั้น ในแนวของมันมีเลขซ้ำหรือไม่ ทำอย่างนี้ที่ละด้าน ถ้าทั้ง 4 ด้านไม่มีเลขซ้ำในแนวของมันเลย ช่องที่เราคิดจะถมดำก็ถือว่าถมได้เลย มีโอกาสถูกต้องสูงมากครับ แต่ต้องดูให้ละเอียดจริงๆ ที่ต้องอ่านหมากก็เพราะว่าถ้าเราถมดำไปแล้วช่องที่ติดกันทั้ง 4 ด้าน จะถมดำอีกไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเช็คให้แน่ในว่าจะไม่มีการถมดำในช่องทั้ง 4 นั่นเองครับ
เป็นเกมที่ต้องอาศัยการช่างสังเกตผสมกับการอ่านหมาก และที่มักลืมคือข้อที่ว่า ห้ามล้อมช่องขาวจนมิดไม่มีทางออก ตรงนี้ผมว่ามันคล้ายๆกับ Sudoku ผสมหมากล้อม ที่ต้องขจัดตัวปลอมออกไปโดยไม่ปิดลมหายใจที่เป็นทางออกของช่องขาวที่เราต้องการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่แท้จริง เกมนี้ไม่ได้มีรูปแบบจบที่ตายตัว อาจเล่นจบได้ในรูปแบบที่ต่างกันได้ แต่มันจะคล้ายๆกัน อาจต่างกันแค่บางช่อง
Hitori เป็นเกมที่มีขนาดไม่แน่นอน มักเล่นกันตั้งแต่ 5x5 ไปจนถึง 16x16 แต่ขนาดมาตราฐานที่นิยมที่สุดอยู่ที่ 8x8 ซึ่งก็ใหญ่พอที่จะชวนตาลายได้แล้วล่ะครับ 555+ สามารถหาแอปโหลดมาเล่นได้ ค้นหาด้วยคำว่า Hitori มีให้เลือกพอสมควรครับ
อีกช่องทางคือแอปเล่นบนมือถือ Simon Tatham's Puzzles เป็นแอปเล็กๆที่มีเกมให้เล่นถึง 39 Puzzles โดยในแอปนี้ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อเลี่ยงลิขสิทธิ์โดยเปลี่ยน Hitori เป็น Singles, KenKen เป็น Keen, Sudoku เป็น Solo ฯลฯ เป็นต้นครับ และเกมมี Puzzle อีกมากมายให้เลือกเล่นในขนาดไฟล์ไม่ถึง 10 MB แอปนี้มีให้ลงในคอมฯที่ใช้ Linux ด้วยครับ หรือระบบปฏิบัติการอื่นๆก็สามารถเข้าไปเล่น Hitori (หรือ Singles ในเว็บนี้) หรือเล่นผ่านหน้าเว็บโดยตรงได้ที่ https://www.chiark.greenend.org.uk/~sgtatham/puzzles/js/singles.html
ในบ้านเราเกม Hitori ไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือน Sudoku และ Kakuro แต่ก็นับว่าเป็นเกมที่น่าเล่นและสนุกชวนปวดหัวได้อีกมากอีกเกมหนึ่งที่ควรหามาเล่นกันไว้ยามว่าง ใช้เวลาเล่นไม่นาน เพื่อฝึกฝนลับสมองให้แหลมคมอยู่ตลอดเวลา และควรช่วยกันเชิญชวนผู้สูงอายุให้มาลองเล่นเกม Puzzle แนวนี้กันดู เพื่อช่วยให้สมองแข็งแรงอยู่เสมอ
สุดท้ายนี้ขอให้สนุกกับการเล่น Hitori นะครับ
สวัสดีครับ ^-^
เฉลย |
เพิ่มเติม
https://en.wikipedia.org/wiki/Hitori
http://nikoli.co.jp/en/puzzles/hitori.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น