Sponsor

04 พฤศจิกายน 2561

Tap code - รหัสเคาะ

เมื่อพูดถึงการส่งรหัสเคาะ หลายฅนมักจะนึกถึง Morse code(รหัสมอร์ส)ซึ่งเป็นสัญญาณ . และ - หรือ เสียงสั้นและเสียงยาว แสงสั้นและแสงยาว แม้ในหนังหลายเรื่องชอบเคาะโต๊ะเป็นรหัสมอร์สก็ตามนะครับ แต่ถ้าทำเสียงที่ต่างกันสองเสียงไม่ได้ รหัสมอร์สก็จะใช้ไม่ได้ครับ ในหนังจะโม้ไปนิดนึงก็เรื่องนี้แหละ แต่มีรหัสแบบหนึ่งที่ง่ายกว่ารหัสมอร์สมากและใช้การเคาะเป็นหลัก นั่นคือ Tap code ครับ
Tap code บ้างก็อาจเรียกว่า Knock code หรือ รหัสเคาะ เป็นรหัสที่นิยมใช้ในหมู่นัก Survival เช่นกัน เป็นการส่งรหัสทีละตัวอักษร โดยว่ากันว่าเชลยศึกคิดขึ้นใช้ในการสื่อสารกันระหว่างห้องขัง ซึ่งใช้วิธีการเคาะแท่งเหล็ก ท่อ หรือผนัง

หลักการง่ายๆคือใช้ตาราง 5x5 แล้วใส่ตัวอักษรลงในตารางตามภาพครับ(ตัว C กับตัว K ใช้รวมกัน) จากนั้นก็เคาะพิกัดของตัวอักษร โดยเคาะแนวตั้งก่อน-หยุด-แล้วตามด้วยแนวนอน

เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้เทียบกับตารางครับ
เช่น ต้องการส่งตัว B ก็จะ เคาะหนึ่งครั้ง-หยุด-เคาะสองครั้ง หรือ 1,2 หรือ . ..
ถ้าส่งเป็นคำ เช่น water ก็จะเป็นดังนี้
(W)5,2 (A)1,1 (T)4,4 (E)1,5 (R)4,2
หรือ ..... ..    . .    .... ....    . .....    .... ..
โดยช่วงเว้นของระหว่างตัวอักษรจะหยุดนานกว่าหน่อยนึง
ใช้ X เป็นตัวจบประโยค และใช้ K เป็นการตอบรับ

แน่นอนว่าถ้าส่งเป็นประโยคเต็มๆต้องเคาะนานมาก ดังนั้นเหล่าเชลยศึกจึงคิดค้นคำย่อขึ้น เช่น GN = Good Night (ราตรีสวัสดิ์) หรือ GBU = God bless you (พระเจ้าอวยพร) เป็นต้น (ยุคนี้คำย่อภาษาแชทก็น่าจะใช้ได้ 108 ตัวย่อภาษาอังกฤษ )
นอกจากการเคาะแล้ว ยังส่งเป็นสัญญาญมือแทนการเคาะก็ได้ ด้วยการชูนิ้วบอกพิกัดของตาราง เช่น ส่งตัว B ก็ใช้ ชู 1 นิ้ว แล้วเปลี่ยนเป็น 2 นิ้ว หรือจะใช้สองมือ โดยมือนึงชูนิ้วแนวตั้งอีกมือทำในนิ้วแนวนอน เป็นต้น

ถ้าเทียบกับรหัสมอร์สแล้ว Tap code จำง่ายกว่ามากครับ โดยสร้างตารางขึ้นในใจก็ได้ แล้วใช้เทคนิคช่วยถอดรหัสดังนี้ ถ้าได้ยิน 4 เคาะ ให้ค่อยๆนึกถึง A F L Q ตามการนับแถวแรกแนวตั้ง หลังจากหยุดชั่วคราวแล้วได้ยินอีก 3 เคาะ ก็ให้นับต่อจากตัวอักษรเดิมเป็น Q R และจบที่ S นั่นเองครับ พูดง่ายๆคือ ให้จำแถวตัวอักษร 5 ตัวแรกแนวตั้งให้ได้ ที่เหลือค่อยนับต่อเหมือนท่อง A-Z นั่นเอง

ลองมาฟังตัวอย่างจากคลิปกันดูครับ


ตาราง Tap code ยังสามารถเพิ่มอักษรได้อีกโดยเพิ่มแถวแนวตั้งต่อไปเรื่อยๆ อย่างในคลิปข้างบนที่เพิ่มแถว 6 เข้ามา ซึ่งเป็นอักษรภาษาสวีเดน ในบางครั้งแถวที่ 6 อาจเป็นตัวเลข 1-5 และแถวที่ 7 เป็นตัวเลข 6-0 ก็มีครับ แล้วแต่จะเพิ่มเติมได้เลย ถ้าจะใช้เป็นภาษาไทยก็คงต้องเทียบสระแบบเดียวกับรหัสอื่นๆ
รหัสเหล่านี้สามารถใช้สื่อสารขอความช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติได้ในหลายกรณีที่ไม่สามารถติดต่อด้วยการพูดได้ หรือจะทำเครื่องส่งสัญญาณวิทยุง่ายๆขึ้นมา หรือแม้จะใช้เป็นรหัสลับเล่นกันในครอบครัวเพื่อนฝูงเหมือนในหนังก็ได้ครับ ในซี่รี่ย์เรื่อง The Flash มีตอนที่ Flash ใช้ Tap code สื่อสารด้วยล่ะครับ

แน่นอนว่ารหัสมอร์สนั้นมีจุดเด่นที่ส่งได้กระชับและเร็ว แต่ถ้าเรื่องการฝึกฝน การจำ และการใช้ รหัสเคาะง่ายกว่าและเป็นเร็วกว่ามาก ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพราะอยากเผยแพร่ให้รหัสเคาะหรือ Tap code นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมันจำง่ายกว่ารหัสมอร์สมาก จะเขียนตารางขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ทำได้
และหากรหัสเคาะเป็นที่รู้จักกว้างขวางแล้วล่ะก็ หากเกิดเหตุการณ์ที่เครื่อข่ายสื่อสารอันทันสมัยเกิดล่มหมดด้วยเหตุสุดวิสัยใดใด เราก็ยังสามารถสื่อสารหรือขอความช่วยเหลือแบบ Low tech ได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเสมอไป แค่ชาวบ้านอย่างเรานี่แหละ ก็สามารถเข้าใจรหัสได้เหมือนกัน

https://www.flickr.com/photos/isogloss/2316477358/sizes/h/

หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจนะครับ
ไว้เจอกันบทความหน้า
สวัสดีครับ ^_^



อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Tap_code

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น