ตำราเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญ ตำราที่คิดค้นโดยขงเบ้ง
การเสี่ยงทายของจีนเดิมมีการเสี่ยงทายด้วย 6 เหรียญเพื่อให้เกี่ยวข้องกับ
อี้จิง ซึ่งมักใช้กับเรื่องใหญ่และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตีความ เพราะการตีความที่ความยากและให้คำตอบอย่างกว้างๆไม่ชัดเจนนัก ออกไปทางศีลธรรมมากกว่าคำทำนาย ภายหลังจึงได้มีการคิดค้นการเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญขึ้น เพื่อให้ทำนายในเรื่องทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน
ว่ากันว่า ผู้คิดค้นวิธีการเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญคือขงเบ้งจอมปราชญ์แห่งสามก๊กนั่นเอง ซึ่ง 5 เหรียญคือ ธาตุทั้งห้า ไม้ ไฟ ดิน ทอง น้ำ เป็นเรื่องใกล้ชิดกับทางโลกในการดำเนินชีวิตมากกว่า
ตำราการเสี่ยงทายด้วย 6 เหรียญ ไม่ถูกรวบรวมไว้ในตำรา
ทงซูประเทศไทย แต่คุ้นๆว่ามีในตำรา
ทงซูของฮ่องกงหรือไต้หวัน แต่การเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญมีในตำรา
ทงซูประเทศไทย ทั้งฉบับภาษาจีนและแปลไทยอยู่ภายในเล่มด้วย เป็นโศลกสวยงาม อยู่หน้าถัดจากภาษาจีนไปนิดนึง ซึ่งแปลเนื้อหาออกมาอย่างสรุปย่อๆ รวบส่วนที่เป็นรายละเอียงลงไปในโศลกทีเดียวเลยอย่างกระชับ
การเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญ จากตำรา
ทงซูมี 32 ลักษณะ คำทำนายเป็นโศลก 4 บาท แนบรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การงาน, การเดินทาง, การค้าขาย, การฟ้องร้อง, การป่วยไข้, หาของหายคนหาย ฯลฯ ว่าจะดีร้ายประการใด ซึ่งในส่วนรายละเอียดนี้จะเป็นตัวอักษรเล็กๆข้างๆโศลกภาษาจีนของแต่ละบท
วิธีทำนาย
(หากต้องการความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดตามพิธี ให้จุดธูปหรือกำยานแล้วถือเหรียญไว้วนรอบเพื่อรมควันธูป) ให้ใช้สองมือกำเหรียญทั้งหมดเอาไว้ ทำสมาธิ ภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วันเดือนปีและเวลาที่เสี่ยงทาย แล้วถามเรื่องที่ข้องใจ จากนั้น
ทอย 5 เหรียญลงบนโต๊ะ
ให้เรียงเหรียญตามลำดับจากเหรียญใกล้ตัวแล้วต่อขึ้นไปจนครบ 5 เหรียญ ก็จะได้รูปแบบหัวก้อยเรียงตามตำราแบบใดแบบหนึ่ง ให้เปิดดูบทนั้นๆได้เลยตามรูปแบบเหรียญในตำราที่ตรงกัน
ถ้าอ่านภาษาจีนโบราณได้ก็ลองอ่านดูคำทำนายได้เลยครับ สำหรับคนที่อ่านตัวเลขภาษาจีนได้แต่อ่านภาษาจีนโบราณไม่ออก ก็ให้ดูเลขลำดับที่ของบท แล้วเปิดอ่านในส่วนแปลไทยของลำดับนั้นได้เลย สำหรับคนที่อ่านตัวเลขภาษาจีนไม่ออกก็ให้นับลำดับบท โดยนับรูปแบบเหรียญตั้งแต่รูปแรก(หัว-หัว-หัว-หัว-หัว)ไปจนถึงรูปแบบที่ตรงกับของเรา โดยนับจากขวามาซ้าย นับได้อันดับที่เท่าไหร่ก็เปิดอ่านคำทำนายในส่วนแปลไทยของลำดับนั้นได้เลย
คำแนะนำ
ไม่ควรถามคำถามเดิมซ้ำในวันเดียวกัน ไม่ควรถามเกิน 3 คำถามในวันเดียวกัน ไม่ควรถามว่าสิ่งที่ต้องการนั้นจะได้หรือไม่ได้ แต่ควรถามว่าสิ่งที่ต้องการหรือที่อยากรู้นั้นจะเป็นอย่างไร ควรตีความคำทำนายไปในทางของเรื่องที่ถามเพียงอย่างเดียว ไม่ควรตีความออกไปเรื่องอื่น
ควรตระหนักไว้ว่า "คำทำนาย" ไม่ใช่ "คำลิขิต" เมื่อเรารู้อนาคตจากคำทำนายว่าเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไรแล้ว ก็ขอให้นำคำทำนายนั้นไปใช้วางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านั้นให้ดีที่สุด หากคำทำนายดีก็จะดียิ่งๆขึ้นไป หากคำทำนายร้ายก็จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ ด้วยวิธีนี้ย่อมเป็นการใช้ประโยชน์จากการทำนายได้สูงสุดครับ
แค่ใช้ตำราการเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญตำรานี้ตำราเดียวใน
ทงซูก็คุ้มแล้วครับ(มีตำราทำนายง่ายๆอีกตำรา อยู่ใน
ทงซูเหมือนกันคือตำรา
จับยามทำนายนิมิตร ก็เป็นตำราทำนายง่ายๆจากเรื่องที่เกิดในปัจจุบันทันด่วน) เหมาะสำหรับมีไว้เป็นซินแสประจำบ้านได้ ไว้เป็นที่ปรึกษาเมื่อมีปัญหาทั้งกายและใจ รับคำแนะนำได้ด้วยตัวเองเลย แนะนำว่าทุกบ้านควรมี
ทงซูติดบ้านไว้สักเล่มครับ
ปกติบ้านคนจีนที่เคร่งครัดมากๆจะเปลี่ยน
ทงซูใหม่ทุกปีครับ เนื้อหาส่วนที่แตกต่างกันจะมีเฉพาะส่วนต้นกับส่วนท้ายเล่มที่เกี่ยวกับปฏิทินประจำปี ส่วนตำราต่างๆภายในเล่มจะเหมือนเดิม และตำราการเสี่ยงทายด้วย 5 เหรียญก็มีเหมือนกันทุกเล่ม ถ้า
ซื้อเล่มใหม่ได้ก็ดีจะได้ดูฤกษ์ยามในปฏิทินของปีนั้นๆได้ด้วย แต่ถ้าไม่อยากซื้อเองก็อาจขอเล่มเก่าๆของปีก่อนๆจากคนที่มีก็ได้ครับ
=======
ทงซู เป็นตำรารวมภูมิปัญญาต่างๆของจีน มีมายาวนานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการดูฤกษ์ยาม ปฎิทิน เขียนยันต์ และสุภาษิตต่างๆ เอาไว้เรียนหนังสือด้วยตนเอง บ้านคนจีนน่าจะคุ้นเคย หากเปรียบกับของไทยก็คล้ายๆ
ตำราพรหมชาติ