Sponsor

02 เมษายน 2560

พิชัยสงครามซุนจื่อ บทวิเคราะห์ ภาค 2 คุยเฟื่องเรื่องปิงฝ่า


ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ ภาษาจีนเรียกว่า ซุนจื่อปิงฝ่า 孫子兵法 คำว่า ปิงฝ่า 兵法 แปลตรงตัวว่า ทหารกฎ จึงแปลเป็น พิชัยสงคราม หรือ กลยุทธ์ เขียนโดย ซุนวู 孫武 มานับสองพันกว่าปีมาแล้วในสมัยชุนชิวก่อนยุกสามก๊กเกือบพันปี ในภาษาอังกฤษเรียก The Art of War จะหมายถึงตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อเป็นหลักครับ
ได้รับการแปลเป็นภาษาตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1782 เป็นการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยบาทหลวงฌอง โชแซฟท์ มารี อามีโอต์ (Jean Joseph Marie Amiot) นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต จนถึงปัจจุบันนี้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมายทั่งโลก และยังคงมีการตีความและแปลใหม่อยู่ตลอด แม้ในภาษาจีนเองก็แปลจากจีนโบราณเป็นสำนวนจีนปัจจุบันด้วยเช่นกัน และมีการตีความต่างๆกันไป ในฉบับคลาสสิคฉบับภาษาอังกฤษจะเป็นของ Lionel Giles และอีกฉบับที่ใหม่กว่าเป็นของ Gary Gagliardi ซึ่งได้แปลคำต่อคำและตีความใหม่จากภาษาจีนโบราณ ของไทยเราเองก็มีการแปลออกมาหลายสำนวนเช่นกันที่คลาสสิคสุดจะเป็นสำนวนของคุณบุญศักดิ์ แสงระวี

宋忠厚书法3
รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย
ในฉบับโบราณที่ถูกค้นพบจากหลายแหล่งมีบางคำที่ต่างกันไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วมีเนื้อหาเดียวกัน แม้ว่าใช้ต้นฉบับภาษาจีนโบราณเหมือนกัน แต่การแปลความของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกแปลออกมาไม่เหมือนกัน เนื่องจากคัมภีร์จีนโบราณเขียนอย่างสั้นกระชับแต่กินความมาก ด้วยการประหยัดถ้อยคำของคนโบราณนี้เอง ไม่ว่าจะเพราะเพื่อความสวยงามในการอ่านและเขียนก็ตาม รวมถึงคำที่ใช้ก็คนละความหมายกับปัจจุบัน ทั้งยังมีความหมายกว้างมาก คัมภีร์โบราณจึงต้องอ่านและตีความหลายตลบ นอกจากจะตีความในแง่ของภาษาแล้ว อาจยังต้องตีความหมายแฝงและรูปลักษณ์ของตัวอักษรอีกด้วย อ่านรอบแรกกับรอบสองได้ประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกแบบดูจะเข้าท่าทั้งนั้นครับ จึงไม่มีการแปลความใดที่ถูกที่สุดเพียงแบบเดียว ทุกแบบถูกต้องหมด อยู่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร ทีนี้มาดูความแตกต่างของตำราพิชัยสงครามซุนจื่อตะวันตกและตะวันออกในจุดที่ผมเห็นว่าน่าสนใจกันครับ

ในบทที่ 3 ส่วนที่ว่า
ฉะนั้น การสงครามชั้นยอดพิชิตอุบาย
รองมาพิชิตการทูต
รองมาพิชิตทหาร


ทางตะวันตกแปลว่า
ฉะนั้น การสงครามชั้นยอดทำลายแผนของข้าศึก
รองมาทำให้ข้าศึกแตกแยกพันธมิตร
รองมาจู่โจมกองกำลังของข้าศึก

ผมมองว่าเข้าท่าทั้งคู่ แต่การแปลแบบฝั่งตะวันออกเราจะคล้ายกับพิชัยสงครามของอินเดียที่ว่า การสงคราม หนึ่งใช้ทูต สองใช้ทาน สามใช้ทัณฑ์ ส่วนการแปลของฝั่งตะวันตกเป็นหลักการที่น่าสนใจครับ มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง

ในบทที่ 9 ส่วนที่ว่า
สงครามไม่ใช่สำคัญประโยชน์ด้วยจำนวนมาก
เพียงไร้การผลีผลามบุก
รวมกำลังพอเหมาะ
คาดคะเนข้าศึก
เอาชนะได้เป็นพอ


ทางตะวันตกแปลว่า
ทหารไม่มากพอจะใช้ประโยชน์
แค่ไม่สามารถโจมตีโดยตรง
รวมกำลังที่มีทั้งหมด
เฝ้าระวังข้าศึก
แล้วหาคนมาเพิ่ม

ตรงนี้นับว่าต่างกันพอสมควรที่เดียว ทางฝั่งตะวันออกเราได้ความหมายว่า ไม่ใช่อาศัยแต่จำนวนที่มากกว่า ส่วนตะวันตกได้ความหมายว่า น้อยกว่าก็ให้หาไพร่พลมาเพิ่ม ก็นับว่าเข้าท่าทั้งคู่ครับ ส่วนตัวจากการแปลจากภาษาจีนโบราณแบบตรงไปตรงมาผมว่าได้ความแบบตะวันออกเรามากกว่าครับ แต่การตีความของตะวันตกใช่จะไม่มีเหตุนะครับ เพราะย่อหน้าถัดจากนี้เป็นเรื่องของ ไพร่พลใหม่ที่ยังไม่สนิท จึงนับว่ามีมูลอยู่ไม่น้อยทีเดียว

การแปลความแบบต่างๆ นับว่าน่าสนใจทั้งสิ้นครับ การอ่านซุนจื่อควรอ่านหลายๆสำนวนแปล

จะเห็นว่าตำราพิชัยสงครามซุนจื่อเล่มเดียวกัน แต่คนตะวันตกกับตะวันออกได้อ่านไม่เหมือนกัน แต่ก็เข้าท่าทั้งสองแบบเลยครับ ในฉบับจีนโบราณเองอ่านแต่ละรอบก็ได้รับอะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นทุกครั้งเช่นกัน เป็นการเขียนที่เลือกใช้คำได้สุดยอดมากครับ ดังนั้นแม้ภายนอกของตำราพิชัยสงครามซุนจื่อจะเป็นนิพนธ์ทางการทหาร แต่ก็มีแนวคิดทางปรัชญาแฝงไว้มากมาย นับว่าเป็นการเขียนที่ไม่ธรรมดาจริงๆครับ

คัมภีร์จีนโบราณแทบทุกเล่มจะเขียนออกมาแบบนี้ทั้งหมดครับ เป็นวลีสั้น ๆ  กระชับ เรียบง่าย และกินความมาก ซึ่งกระตุ้นให้ผู้อ่านต้องพิจารณาตีความทำความเข้าใจความหมายให้กว้างไกลลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เข้าใจชีวิตตนเองมากขึ้น เพราะเนื้อหาที่สมบูรณ์ไม่ได้อยู่เพียงในตำราเท่านั้น หากแต่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ด้วย ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าการศึกษาเช่นนี้จะสามารถดึงศักยภาพของแต่ละฅนออกมาได้ครับ

บทความนี้เท่านี้ก่อน
ไว้เจอกันใหม่ครับ
สวัสดีครับ ^_^



อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%8B%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8B%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B9

บทวิเคราะห์นี้เป็นการศึกษาจากเอกสารต่างๆและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง หากผิดพลาดประการใดใคร่ขออภัยและขอน้อมรับคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ด้วยความยินดียิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น