Sponsor

18 เมษายน 2560

พิชัยสงครามซุนจื่อ บทวิเคราะห์ ภาค 3 จุดอ่อนห้าประการ


ในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อบทที่ 8 เก้าการเปลี่ยนแปลง 九變 คำว่า 九 เก้า ถูกใช้ในความหมายว่าหลากหลาย และ 變 การเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์และการปรับตัวที่ต่างกันออกไป บทนี้จึงเป็นการกล่าวถึง สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย ซึ่งในตำราได้แจกแจงและให้คำอธิบายไว้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา แต่ในส่วนท่อนสุดท้ายที่กล่าวถึง แม่ทัพมีห้าภยันตราย ซึ่งเราเรียกกันว่า จุดอ่อนห้าประการของแม่ทัพ นั้นคือการเปลี่ยนแปลงของอะไร บทความนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ

ฉะนั้น แม่ทัพมีห้าภยันตราย
สู้ตายอาจถูกฆ่า
กลัวตายอาจถูกจับ
โกรธง่ายอาจถูกข่ม
สัตย์ซื่ออาจถูกหยาม
รักราษฎร์อาจถูกกวน
(จากตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ)

เมื่อลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าจุดอ่อนของแม่ทัพเกิดจากจุดแข็งของแม่ทัพนั่นเอง! ยังจำจุดแข็งของแม่ทัพได้มั้ยครับ ในบทที่หนึ่ง คือ ปัญญา สัจจะ เมตตา กล้าหาญ เข้มงวด
จับคู่ได้ดังนี้ครับ
สู้ตาย เพราะ กล้าหาญมากสุดโต่ง ทำให้บ้าบิ่นและถูกฆ่าได้
กลัวตาย เพราะ ปัญญามากสุดโต่ง จนไม่กล้าเสี่ยงอะไรเลย(มีปัญญาไม่มีความกล้า)
โกรธง่าย เพราะ เข้มงวดมากสุดโต่ง อะไรที่ผิดไปจากระเบียบแบบแผนจะทำให้คนเข้มงวดโกรธได้ง่ายมาก
สัตย์ซื่อ เพราะ สัจจะมากสุดโต่ง จนกลัวเสียชื่อเสียงจึงอาจถูกหยามได้
รักราษฎร์ เพราะ เมตตามากสุดโต่ง จึงถูกก่อกวนได้

จะเห็นว่าจุดแข็งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นจุดอ่อนได้หากมีไม่ครบหรือมีมากเกินไป! จุดแข็งมีไม่ครบก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ มีมากไปก็ไม่ได้ ต้องมีอย่างสมดุลทั้งห้าประการเท่านั้นจึงจะเป็นแม่ทัพที่ดีตามหลักของซุนวูนั่นเอง แต่คุณสมบัติเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวการณ์รอบตัวอีกด้วย และแต่ละคุณสมบัติก็มีจุดเด่นด้อยต่างกันไป จึงต้องเลือกใช้จุดอ่อนจุดแข็งให้ตรงตามสภาวการณ์ที่ต่างกันด้วยนั่นเอง บทที่ 8 เป็นบทที่สั้นที่สุดในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ แต่มีความสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้บทอื่นเลยทีเดียวล่ะครับ
ฉะนั้น ไม่อาจไม่พินิจพิเคราะห์ ;)

บทความนี้เท่านี้ก่อน
ขอให้เพลิดเพลินกับตำราพิชัยสงครามซุนจื่อนะครับ
สวัสดีครับ ^_^


บทวิเคราะห์นี้เป็นการศึกษาจากเอกสารต่างๆและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง หากผิดพลาดประการใดใคร่ขออภัยและขอน้อมรับคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ด้วยความยินดียิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น