Sponsor

30 ตุลาคม 2564

การประยุกต์ใช้การอ่านหมากในชีวิตประจำวัน

หมากล้อม (圍棋; Weiqi, 囲碁; Igo, 바둑; Baduk, Go game)

เราอาจเคยได้ยินสุภาษิตจีนว่า หมากรุกยังต้องคิด; หมากชีวิตจะไม่คิดได้อย่างไร. คำกล่าวนี้บ้างก็ว่า ขงเบ้งพูด บ้างก็ว่าพระจี้กงพูด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสุภาษิตนี้เป็นวลีที่น่าคิด และมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันแน่ๆ ว่าแต่แล้วจะใช้อย่างไรล่ะ?
ตอนเล่นหมากกระดาน ไม่ว่าจะเป็นหมากรุกหรือหมากล้อม เราจะถูกสอนให้รู้จักอ่านหมากล่วงหน้า และนำหลักคิดในการอ่านหมากมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่ว่าจะประยุกต์อย่างไรล่ะ? ในชีวิตจริงเราจะอ่านหมากคิดล่วงหน้าอย่างไรได้บ้าง? มันไม่เหมือนกับบทกระดานที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวนะ?

มันทำได้ครับ โดยให้เริ่มจากเรื่องง่ายๆก่อน

ตัวอย่างเช่น ก่อนที่เราจะทำอะไร ให้คิดถึงเป้าหมายที่ต้องการและคิดลำดับที่ที่ต้องทำขี้นมาก่อน เช่น จะกินขนม(เป้าหมาย) ให้เรามีสติรู้ตัว คิดลำดับการเปิดซองขนม ตั้งแต่ เดินไปหยิบขนม หยิบกรรไกร จะใช้เครื่องทุ่นแรงอะไรได้บ้าง? จะตัดเปิดซองที่ไหน? จะนั่งกินตรงไหน?
จากนั้นก็ทำไปตามกระบวนการที่คิด หากมีปัญหาอะไรระหว่างทางก็คิดกระบวนการและวิธีการแก้ปัญหาใหม่ต่อไปเรื่อยๆตามการเรียนรู้

หรืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจ หากเทียบกับการทำครัวอาจจะเห็นภาพได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะทำอาหารสักเมนู แทนที่จะไปเปิดกระทะใส่น้ำมันตั้งไฟทันที แล้วค่อยวิ่งวุ่นหาวัตถุดิบ ก็ให้เป็นเปลี่ยน คิดกระบวนการขึ้นมาก่อนว่า เมนูนี้ต้องใช้อะไรบ้าง แล้วไปเตรียมมาให้ครบถ้วนก่อน วางไว้ให้พร้อม แล้วจึงค่อยตั้งกระทะและเริ่มทำ

ง่ายๆอย่างนี้แหละครับ แต่ส่วนใหญ่มักจะลืมทำ

สรุปได้ว่า การอ่านหมากในชีวิตประจำวัน คือ การมีสติในสิ่งที่ทำ คิดก่อนทำ และทำไปอย่างรู้ตัว และมีกระบวนการมีลำดับเหมือนลำดับการอ่านหมาก คิดถึงเป้าหมายที่ต้องการก่อนแล้วย้อนกลับมาคิดลำดับกระบวนการว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร การฝึกอ่านหมากในชีวิตประจำวันก็ขึ้นเหมือนการฝึกอ่านหมากกระดานครับ คือ แรกๆอาจจะหลงๆลืมๆผิดๆถูกๆ แต่หลังจากนั้นการอ่านหมากจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆในตัวของมันเอง
ถ้ามองดีๆจะเห็นว่าสิ่งนี้ใกล้เคียวกับการวิปัสสนามากเลยที่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกสิ่งที่กำลังทำอยู่ และเป็นการคิดในแบบอิทัปปัจจยาที่เป็นไปตามลำดับความความเป็นจริงตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น

การเคลื่อนไหวจึงจะสูญเสียทรัพยากรน้อยที่สุดตามกระบวนการที่เราคิด(ขึ้นอยู่กับว่าเราชำนาญในวิธีการนั้นมากน้อยแค่ไหน) แต่ย่อมดีกว่าดุ่มๆทำไปโดยไม่คิดหน้าคิดหลังว่าจะทำอย่างไรหรือรอบตัวมีอะไรใช้ทุ่นแรงได้บ้าง แม้ในชีวิตจริงเราอาจจะดุ่มๆทำไปก็ไม่มีผลอะไรตามมามากนัก(แค่อาจวุ่นวายสักหน่อย เสียเวลาสักนิด)ต่างจากหมากกระดานที่จะแพ้หรือชนะชัดเจน แต่หากเราฝึกคิด ฝึกอ่านหมากในชีวิตประจำวัน ฝึกให้เป็นนิสัย คิดก่อนทำ คือ คิดจนตลอดจนจบกระบวนการหนึ่งๆ ก็นับว่าเราได้ประโยชน์ที่หมากกระดานสอนเราให้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้วล่ะครับ

ส่วนตัวเรามองว่า การเล่นหมากกระดานหรือบอร์ดเกมต่างๆ เป็นการจำลองความคิด ฝึกให้เราได้หัดคิดจากเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อฝึกสมอง ฝึกความคิดในการอ่านหมาก และฝึกจิตใจในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะต้องเจอขึ้นในชีวิตจริง การเล่นหมากกระดานให้เก่งเป็นยอดฝีมือก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่แม้จะไม่มีเวลาเล่นมากนักหรือเล่นไม่เก่งก็ไม่เป็นไร มันก็ยังฝึกให้เราได้คิดอย่างรอบคอบและพัฒนาระบบความคิดจนดีกว่าเดิมแน่นอน การเจอปัญหาจำลองบนกระดานทั้งทางความคิดและจิตใจเสียก่อนย่อมเป็นเรื่องดี ก็เหมือนการเข้ายิมออกกำลังกายให้แข็งแรงอย่างปลอดภัยของวิทยาศาสตร์การกีฬา ดีกว่าต้องมาเจอในชีวิตจริงอย่างไม่คาดคิดแน่นอนครับ

นี่ก็เป็นทัศนะคติของผมในเรื่องนี้ หวังว่าแนวคิดนี้เหล่านี้คงจะเป็นตัวอย่างง่ายๆให้ท่านนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และขอให้ท่านมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ดั่งหวังนะครับ
สวัสดีครับ ^_^

=======

ควรจะยกจึงเคลื่อนพล ดูกำลังตนกำลังท่าน
อย่าห้าวหาญ ถือกำลังแต่ผู้เดียว
-พิชัยสงครามหานซิ่น

=======

เป็นประโยชน์ก็เคลื่อน
ไม่เป็นประโยชน์ก็หยุด

=======

หมากรุกไทย (Makruk)


หมากรุกจีน (象棋; Xiangqi)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น