Sponsor

17 เมษายน 2567

การใช้ไพ่ป๊อกในการตอบคำถามประเภท "ใช่" หรือ "ไม่"

https://funandgames.org/solitaire-card-game/

บทความนี้นำมาจาก https://pantip.com/topic/39996116 เนื่องจากเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า จึงขออนุญาติเจ้าของบทความนำมาลงสำรองไว้ไม่ให้สูญหายมาไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ขอบพระคุณมากกครับ

เคล็ดวิชาอ่านไพ่ป๊อกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจช่วยเพื่อน ๆ ได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเวลาคับขัน เพราะไพ่ป๊อกหาซื้อได้ง่ายและมีราคาไม่แพง จึงถือเป็น "ไพ่สามัญประจำบ้าน" แบบหนึ่ง
วิธีจะรู้ว่าสิ่งที่เราหวังนั้นจะสมหวังหรือไม่ ให้เปิดไพ่ 3 ใบดูว่าไพ่ออกมาเป็นลางดีหรือลางร้าย โดยแปลไพ่ตามนี้ครับ
หลักการคือ สีแดงดี สีดำไม่ดี

โพแดง เป็นลางดีมาก โดยเฉพาะ 9 โพแดงถือเป็นลางดีที่สุด
ข้าวหลามตัด เป็นลางดีเล็ก ๆ แต่แห้งแล้ง
♣️ ดอกจิก เป็นลางร้ายเล็ก ๆ แต่สามารถต่อรองได้
♠️ โพดำ เป็นลางร้ายมาก โดยเฉพาะ 9 โพดำถือเป็นลางร้ายที่สุด

ถ้าไพ่ที่ออกมาหนักไปทางลางร้าย คำตอบคือ NO ถ้าหนักไปทางลางดีก็ YES ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา

จะสังเกตเห็นว่าในกรณีนี้เราจะไม่สนใจค่าตัวเลขของไพ่นะครับ ดูแต่ดอกของมันอย่างเดียว (ยกเว้น 9 โพแดงกับ 9 โพดำ)
ไพ่โพแดงมีสัญลักษณ์เป็นรูปหัวใจ แสดงถึงความสุขที่เราได้รับเมื่อสมหวังจึงเป็นลางดีมาก ไพ่ข้าวหลามตัดเปรียบเสมือนเงินหรือของมีค่า เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ แต่ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ จึงเป็นลางดีในด้านการเงิน แต่ในด้านความรักความสัมพันธ์จะไม่ชัดเจน ไพ่ดอกจิกเป็นตัวแทนของการทำงานหนัก ถึงแม้จะเป็นลางร้าย แต่ก็ยังพอแก้ไขได้ด้วยความพยายาม ส่วนไพ่โพดำเป็นตัวแทนของความมืดมน และชะตากรรมที่ยากจะแก้ไขจึงนับเป็นลางร้ายที่สุด
อนึ่ง ที่ผมนำมาสอนในวันนี้เป็นตำราของฝรั่งเศส และใช้กับไพ่ป๊อกเท่านั้นนะครับ ถ้าฝั่งเยอรมันหรือรัสเซียเขาจะอ่านอีกแบบหนึ่งครับ ดังนั้นถ้าไปเจอคนที่อ่านต่างไปจากนี้ก็อย่าไปหาว่าเขาอ่านผิดเนอะ

ตัวอย่าง:

จะได้คบกันกับ xx หรือเปล่า?
♦♦♣️ อาจจะได้ แต่ไม่ชัดเจนนัก ต้องอาศัยความพยายามเข้าช่วยหน่อย

พรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่?
→ ♠️♦️♥ น่าจะตกแค่ตอนเช้า

จะได้เงินคืนหรือไม่?
♦♦♦ โอกาสมีสูงที่จะได้เงินคืน

นอกจากนี้ บางตำราจะใช้ไพ่ Joker 2 ใบร่วมด้วย โดย Red Joker หมายถึงไพ่ยังไม่สามารถตอบตอนนี้ได้ ให้ถามใหม่วันหลัง ส่วน Black Joker หมายถึงคำถามไม่เหมาะสม หรือไม่มีประโยชน์ที่จะรู้ (ถ้า Joker ในสำรับที่เพื่อน ๆ มีนั้นไม่แยกสีมาให้ ให้ใช้ปากกา Permanent แต้มสีทำสัญลักษณ์เอาไว้นะครับ)

05 เมษายน 2567

อาหารสำรองฉุกเฉินแบบทำเองได้ที่บ้าน : ฮาร์ดแทค(Hardtack)สูตรอาหารสำรองฉุกเฉินที่ถูกลืม

ฮาร์ดแทค ปี 1862 ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้จากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ที่ฟลอริดา ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เพนซาโคล (Pensacola Museum of History) Hardtack มีฉายาว่า Worm castles (ปราสาทหนอน) เนื่องจากการจัดเก็บที่ไม่ดีทำให้แมลงระบาด เมื่อแช่น้ำแล้วหนอนก็ลอยขึ้นมา จึงได้ฉายานั้นมา ซึ่งเหล่าทหารก็ตักหนอนทิ้งแล้วกินต่อ หรือนี่อาจเป็นการเสริมโปรตีนแบบเนียนๆ อิอิ

สองบทความก่อนได้พูดถึงอาหารสำรองฉุกเฉินที่หาซื้อได้[อาหารสำรองฉุกเฉินหาซื้อง่ายราคาย่อมเยาว์ และ อาหารสำรองฉุกเฉินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน] และเพื่อให้ควรถ้วนกระบวนความ มาสายทำเองบ้าง คราวนี้เเรามาดูวิธีการทำอาหารสำรองแบบดั้งเดิมที่ทำเองได้ง่ายๆที่บ้านกันครับ สำหรับนักเตรียมพร้อมสาย DIY ที่ชอบทำเอง

ฮาร์ดแทค(Hardtack เสบียงแข็ง) มีอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมปังกันตาย(Survival Bread) ใช้เป็นอาหารฉุกเฉินที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โรมัน และช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกาก็ใช้ นิยมเก็บไว้เป็นเสบียงสำรองในหมู่นักเดินเรือสมัยก่อนด้วย รวมถึงตอนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบอเมริกาก็เช่นกัน ฮาร์ดแทคใช้เป็นเสบียงมาตรฐานสำหรับกองทัพหลายแห่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากเก็บรักษาได้นานเป็นปีๆ หากเก็บดีๆ(สูญญากาศ)ก็อาจเก็บได้ตลอดไป ปัจจุบันนี้รัสเซียก็ยังจัดฮาร์ดแทคไว้ในเสบียงของกองทัพ เรียกว่า galeta (галета) ที่ญี่ปุ่นก็จัดฮาร์ดแทคอยู่ในชุดเสบียงภัยพิบัติ และในกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น(Rikujō Jieitai 陸上自衛隊 ) เรียกว่า Kanpan (乾パン) หรือ ขนมปังแห้ง

แต่ฮาร์ดแทคนั้นก็แข็งเป็นหินเลยทีเดียว จึงควรแช่น้ำ(หรือนม ฯลฯ) 15 นาที ก่อนกิน แต่อย่าถามหาความอร่อย ๕๕๕

#วัตถุดิบ
  1. แป้งอเนกประสงค์ (All Purpose Flour) 2 ถ้วยตวง (อย่าใช้แป้ง Self-Rising Flour เพราะมีผงฝู)
  2. น้ำ 1 ถ้วยตวง
  3. เกลือ 2 ช้อนชา (นี่คือตัวช่วยถนอมอาหารและเพิ่มรสชาติ)
*หมายเหตุ เป็นสูตรโดยประมาณ สามารถปรับส่วนได้ตามสมควร

#วิธีทำ
  1. ผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกัน นวดให้เป็นเนื้อเดียว และแห้งพอสมควร(ไม่เหนียวติดนิ้ว) ถ้าแฉะก็โรยแป้งเพิ่ม
  2. รีดแบนให้หนาครึ่งนิ้วหรือน้อยกว่า(แต่อย่าบางมากเพราะจะแตกหักง่ายตอนพกพา) ตัดเป็นสี่เหลี่ยมไม่เกิน 3x3 นิ้ว แล้วเอาส้อมทิ่มๆให้เป็นรูทะลุระยะเท่าๆกัน เพื่อทำรูระบายความชื้นตอนอบ
  3. วางบนถาดไม่ต้องทาน้ำมัน(น้ำมันจะทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง) อบที่ 190°C นาน 30 นาที แล้วพลิกกลับด้านแล้วอบต่ออีก 30 นาที ถ้าอบด้วยหม้อหุงข้าวอาจใช้เวลาต่างกัน ให้อบจนแห้งเป็นสีน้ำตาลทอง
  4. พักไว้ให้เย็นสนิท แล้วจัดเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดไม่ให้อากาศและความชื้นเข้าไปได้
เสร็จ!

มาลองดูคลิปวิธีทำกันดีกว่า

ปกติแล้วฮาร์ดแทคจะเก็บได้นานหลายปีในสภาพแห้งแข็งเป็นหิน โดยเก็บในที่แห้งและเย็น ห่างจากความชื้นและแสงแดดโดยตรง ควรตรวจสอบฮาร์ดแทคที่เก็บไว้เป็นระยะ หากขึ้นราก็ควรทิ้งไป แล้วทำใหม่

โดยทั่วไปในกรณีฉุกเฉินมักแนะนำให้แบ่งกินอาหารฉุกเฉิน 50-100 กรัม ทุกๆ 12 ช.ม. แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสมควร ขึ้นอยู่กับระดับกิจกรรม สุขภาพ และสถานการณ์ ซึ่งตามหลักแล้วต้องจัดสรรให้ได้อย่างน้อย 3 วัน

#วิธีกินฮาร์ดแทคอย่างสร้างสรรค์
นอกเหนือจากแช่น้ำให้นิ่มแล้วกินเลย บางทีการกินก็ต้องการความสร้างสรรค์เหมือนกัน เพื่อจะได้กินอย่างสนุกสนานขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องมีที่เตรียมอาหารด้วยนะ เช่น พอแช่นิ่มแล้ว ก็เอาไปทอดเนย, ทาเนยถั่ว, ทาแยม, จิ้มนมข้นหวาน, จิ้มน้ำตาล, จิ้มน้ำผึ้ง, โรยเครื่องเทศ, หรือแช่นมเหมือนกินซีเรียล, ทุบเป็นผงใส่นมหรือน้ำหรือซุปทำเป็นโจ๊ก, เอาไปนึ่ง, ฯลฯ ก็สุดแท้แต่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการกินอย่างเอร็ดอร่อย แม้ฮาร์ดแทคจะไม่ใช่อาหารที่อร่อย แต่ก็เป็นอาหารสำรองฉุกเฉินที่ทำเองได้ที่บ้านเพื่อเก็บไว้ ถึงตอนนั้นการมีอาหารสำรองไว้ย่อมดีกว่าไม่มีครับ

อ้างอิง

อาหารสำรองฉุกเฉินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

https://detail.1688.com/offer/662930682500.html
จากโพสก่อนที่ได้พูดถึงอาหารสำรองฉุกเฉินทดแทนในราคาถูก[อาหารสำรองฉุกเฉินหาซื้อง่ายราคาย่อมเยาว์] คราวนี้มาพูดกันต่ออีกสักนิดนึง สำหรับคนที่ต้องการอาหารฉุกเฉินสำเร็จรูปโดยตรง แม้ราคาจะแพงกว่าหน่อยแต่ตรงประเด็นที่สุด เพราะเก็บรักษาได้นาน ให้พลังงานสูง และไม่ฝืดคอ(ประหยัดน้ำดื่ม)

อาหารฉุกเฉิน MRE (Meal, Ready-to-Eat อาหารพร้อมกิน) ที่ราคาไม่แพงนัก และน่าสนใจก็คือ
900 压缩干粮 (เสบียงแห้งอัดแท่ง สูตร 900) เป็นอาหารภาคสนามและฉุกเฉินที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน(中国人民解放军) สูตรสำหรับพลเรือน (ถ้าเป็นสูตร 90 จะเป็นสำหรับกองทัพ ซึ่งต่างกันที่ สูตร 90 ผสมนมผง แต่สูตร 900 ไม่ผสมนมผง)

ส่วนผสมของ 900 MRE จะมี แป้งสาลี, ถั่วลิสง, น้ำตาล, กลูโคส, น้ำมันพืช, และเกลือ เป็นวัตถุดิบหลัก นำมาผ่านกรรมวิธีปรุงสุกและอัดแท่ง โดยพัฒนามาจาก สูตร 761 ด้วยการปรับปรุงรสชาติและแพ็คเกจเป็นสูญญากาศ และผสมโสมด้วยเพื่อชูกำลัง อายุการเก็บรักษาได้กว่า 4 ปี โดย 1 ถัง มี 20 ซอง น้ำหนักซองละ 200 กรัม แต่ละซอง มี 4 ชิ้น สามารถแบ่งกินได้ 2-4 มื้อ น้ำหนักชิ้นละ 50 กรัม โดย 1 ชิ้น ให้พลังงาน ~247 กิโลแคลลอรี่
รสชาติเหมือนคุ๊กกี้ กลิ่นเหมือนถั่ว รสสัมผัสเหมือนขนมตุ๊บตั๊บ

และก็อย่างที่รู้กัน อาหารฉุกเฉินส่วนใหญ่เน้นให้พลังงานมากกว่าอย่างอื่น ดังนั้น จึงไม่ควรกินเยอะเกิน เพราะอาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ซึ่งโดยทั่วไปในสภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินจะแนะนำให้กิน 1 ชิ้นทุกๆ 12 ช.ม. แต่สามารถปรับปริมาณและเพิ่มลดระยะเวลาได้ตามสภาวการณ์ เพื่อรอการดำเนินการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉลี่ยคือ 3 วัน

ก็นำมาเล่าให้ฟังเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่สนใจอาหารฉุกเฉินโดยตรงมากกว่าแบบทดแทนอย่างโพสที่แล้วครับ จะได้ตรงเป้าเข้าประเด็นไปเลย

🛒ชี้เป้า

#หมายเหตุ
ต้องมีคำเตือนนิดหน่อยสำหรับอาหารฉุกเฉินอัดแท่งสไตล์นี้ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแป้งสาลีและน้ำตาล ดังนั้น ผู้เป็นเบาหวาน ผู้แพ้กลูเตน แพ้ถั่ว ควรเลี่ยง กรณีที่ต้องกินแค่ MRE อย่างเดียว โดยทั่วไปกองทัพจะกำหนดไม่ให้กินต่อเนื่องเกิน 21 วัน เพราะจะทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน ไม่ท้องเสียก็ท้องผูก ใยอาหารน้อย อาจจะมีสารกันบูดฉ่ำ จุลินทรีย์ในลำไส้ตาย ทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา มันไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพอย่างแน่นอน จึงควรใช้ในกรณีฉุกเฉินแค่ 2-3 วัน และหาทางกลับสู่การกินอาหารปรกติโดยเร็วที่สุด


อาหารสำรองฉุกเฉินหาซื้อง่ายราคาย่อมเยาว์

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Broken-cracker.jpg

อาหารสำรองฉุกเฉินส่วนใหญ่จะทำมาให้เก็บรักษาได้ 1-4 ปี(แล้วแต่ยี่ห้อ) และมักมีราคาแพง แต่ก็ให้พลังงานสูง และกินแล้วไม่ฝืดคอ(ประหยัดน้ำดื่ม) อาหารฉุกเฉินเหล่านี้ใช้ในกรณีเข้าถึงอาหารไม่ได้ตามปกติ เช่น ในช่วงภัยพิบัติ ตั้งแคมป์ เดินป่า ฯลฯ ซึ่งปริมาณขั้นต่ำจะต้องเตรียมไว้ให้พอกินได้ 3 วันเป็นอย่างน้อย สำหรับรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกว่าจะคลี่คลาย

ซึ่งหากต้องการอาหารฉุกเฉินที่ราคาถูก เก็บรักษาได้นานอย่างน้อย 1 ปี รสชาติกลางๆ และกินได้ทันทีไม่ต้องปรุง ก็ต้องมองหาอะไรทั่วไปที่พอจะมีคุณสมบัตินี้ จากที่ศึกษามาสักพัก ตอนนี้เราเห็นว่า Cream cracker หรือที่ไทยเรียกกันว่า แคร็กเก้อร์เค็ม นับว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับอาหารฉุกเฉินราคาถูก รสกลางๆ เก็บได้ 1 ปี แม้ว่าอาจจะต้องดื่มน้ำตามสักหน่อยก็เถอะนะ ๕๕๕ (อาหารฉุกเฉินบางยี่ห้อก็รสชาติคล้ายเอาแคร็กเกอร์บดมาอัดแท่ง)
ส่วนปริมาณที่จะเก็บก็ขึ้นอยู่กับว่าจะกินเท่าไหร่ อาจจะเป็น ~50 กรัม/วัน(ประหยัด) หรือ ~100 กรัม/วัน ซึ่งก็แล้วแต่คนว่าต้องกินมากแค่ไหน(อาจจะคำนวณจากพลังงานต่อวันก็ได้) เมื่อคำนวณปริมาณได้แล้วก็ให้เตรียมไว้สำหรับ 3 วันเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นไปตามหลักการมาตราฐานสำหรับเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติระยะสั้นครับ

จริงๆอาจจะเป็นอาหารแห้งอย่างอื่นก็ได้นะครับที่สามารถกินได้ทันที ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ไม่ต้องปรุง และไม่ต้องดื่มน้ำตามมากเกินไป ก็เหมาะสมกับการเป็นอาหารฉุกเฉินได้เช่นกัน และที่สำคัญควรเก็บรักษาได้นานอย่างน้อย 1 ปีก่อนหมดอายุ ตรงนี้สำคัญครับ

เพื่อนๆนึกถึงอาหารแห้งอะไรที่พอจะตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้บ้างครับ แนะนำกันมาในคอมเม้นต์เพื่อเป็นไอเดียได้เลยครับ
ขอบคุณครับ

🛒ชี้เป้า
  • Cream cracker แคร็กเกอร์เค็ม
  • ถ้าหากไม่ติดขัดเรื่องการเตรียมอาหาร เนยถั่วก็เป็นอีกอย่างที่แนะนำ มันเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ทาบนแคร็กเกอร์ก็ได้ เก็บรักษาได้นานพอกัน (เป็นอาหารฉุกเฉินร่วมสำหรับสัตว์เลี้ยงก็ได้)

แถม
สำหรับคนที่ต้องการอาหารฉุกเฉินสำเร็จรูปโดยเฉพาะ ราคาจะแพงกว่าหน่อยแต่ตรงประเด็น
900 压缩干粮 (เสบียงแห้งอัดแท่ง สูตร 900) เป็นอาหารฉุกเฉินและภาคสนามของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนสำหรับพลเรือน (ถ้าเป็นสูตร 90 จะเป็นสำหรับกองทัพ ซึ่งต่างกันที่ สูตร 90 ผสมนมผง แต่สูตร 900 ไม่ผสมนมผง) ทราบมาว่ามีการผสมโสมด้วย


บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม