Sponsor

05 เมษายน 2567

อาหารสำรองฉุกเฉินแบบทำเองได้ที่บ้าน : ฮาร์ดแทค(Hardtack)สูตรอาหารสำรองฉุกเฉินที่ถูกลืม

ฮาร์ดแทค ปี 1862 ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้จากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ที่ฟลอริดา ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เพนซาโคล (Pensacola Museum of History) Hardtack มีฉายาว่า Worm castles (ปราสาทหนอน) เนื่องจากการจัดเก็บที่ไม่ดีทำให้แมลงระบาด เมื่อแช่น้ำแล้วหนอนก็ลอยขึ้นมา จึงได้ฉายานั้นมา ซึ่งเหล่าทหารก็ตักหนอนทิ้งแล้วกินต่อ หรือนี่อาจเป็นการเสริมโปรตีนแบบเนียนๆ อิอิ

สองบทความก่อนได้พูดถึงอาหารสำรองฉุกเฉินที่หาซื้อได้[อาหารสำรองฉุกเฉินหาซื้อง่ายราคาย่อมเยาว์ และ อาหารสำรองฉุกเฉินของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน] และเพื่อให้ควรถ้วนกระบวนความ มาสายทำเองบ้าง คราวนี้เเรามาดูวิธีการทำอาหารสำรองแบบดั้งเดิมที่ทำเองได้ง่ายๆที่บ้านกันครับ สำหรับนักเตรียมพร้อมสาย DIY ที่ชอบทำเอง

ฮาร์ดแทค(Hardtack เสบียงแข็ง) มีอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมปังกันตาย(Survival Bread) ใช้เป็นอาหารฉุกเฉินที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โรมัน และช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกาก็ใช้ นิยมเก็บไว้เป็นเสบียงสำรองในหมู่นักเดินเรือสมัยก่อนด้วย รวมถึงตอนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบอเมริกาก็เช่นกัน ฮาร์ดแทคใช้เป็นเสบียงมาตรฐานสำหรับกองทัพหลายแห่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากเก็บรักษาได้นานเป็นปีๆ หากเก็บดีๆ(สูญญากาศ)ก็อาจเก็บได้ตลอดไป ปัจจุบันนี้รัสเซียก็ยังจัดฮาร์ดแทคไว้ในเสบียงของกองทัพ เรียกว่า galeta (галета) ที่ญี่ปุ่นก็จัดฮาร์ดแทคอยู่ในชุดเสบียงภัยพิบัติ และในกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น(Rikujō Jieitai 陸上自衛隊 ) เรียกว่า Kanpan (乾パン) หรือ ขนมปังแห้ง

แต่ฮาร์ดแทคนั้นก็แข็งเป็นหินเลยทีเดียว จึงควรแช่น้ำ(หรือนม ฯลฯ) 15 นาที ก่อนกิน แต่อย่าถามหาความอร่อย ๕๕๕

#วัตถุดิบ
  1. แป้งอเนกประสงค์ (All Purpose Flour) 2 ถ้วยตวง (อย่าใช้แป้ง Self-Rising Flour เพราะมีผงฝู)
  2. น้ำ 1 ถ้วยตวง
  3. เกลือ 2 ช้อนชา (นี่คือตัวช่วยถนอมอาหารและเพิ่มรสชาติ)
*หมายเหตุ เป็นสูตรโดยประมาณ สามารถปรับส่วนได้ตามสมควร

#วิธีทำ
  1. ผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกัน นวดให้เป็นเนื้อเดียว และแห้งพอสมควร(ไม่เหนียวติดนิ้ว) ถ้าแฉะก็โรยแป้งเพิ่ม
  2. รีดแบนให้หนาครึ่งนิ้วหรือน้อยกว่า(แต่อย่าบางมากเพราะจะแตกหักง่ายตอนพกพา) ตัดเป็นสี่เหลี่ยมไม่เกิน 3x3 นิ้ว แล้วเอาส้อมทิ่มๆให้เป็นรูทะลุระยะเท่าๆกัน เพื่อทำรูระบายความชื้นตอนอบ
  3. วางบนถาดไม่ต้องทาน้ำมัน(น้ำมันจะทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง) อบที่ 190°C นาน 30 นาที แล้วพลิกกลับด้านแล้วอบต่ออีก 30 นาที ถ้าอบด้วยหม้อหุงข้าวอาจใช้เวลาต่างกัน ให้อบจนแห้งเป็นสีน้ำตาลทอง
  4. พักไว้ให้เย็นสนิท แล้วจัดเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดไม่ให้อากาศและความชื้นเข้าไปได้
เสร็จ!

มาลองดูคลิปวิธีทำกันดีกว่า

ปกติแล้วฮาร์ดแทคจะเก็บได้นานหลายปีในสภาพแห้งแข็งเป็นหิน โดยเก็บในที่แห้งและเย็น ห่างจากความชื้นและแสงแดดโดยตรง ควรตรวจสอบฮาร์ดแทคที่เก็บไว้เป็นระยะ หากขึ้นราก็ควรทิ้งไป แล้วทำใหม่

โดยทั่วไปในกรณีฉุกเฉินมักแนะนำให้แบ่งกินอาหารฉุกเฉิน 50-100 กรัม ทุกๆ 12 ช.ม. แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสมควร ขึ้นอยู่กับระดับกิจกรรม สุขภาพ และสถานการณ์ ซึ่งตามหลักแล้วต้องจัดสรรให้ได้อย่างน้อย 3 วัน

#วิธีกินฮาร์ดแทคอย่างสร้างสรรค์
นอกเหนือจากแช่น้ำให้นิ่มแล้วกินเลย บางทีการกินก็ต้องการความสร้างสรรค์เหมือนกัน เพื่อจะได้กินอย่างสนุกสนานขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องมีที่เตรียมอาหารด้วยนะ เช่น พอแช่นิ่มแล้ว ก็เอาไปทอดเนย, ทาเนยถั่ว, ทาแยม, จิ้มนมข้นหวาน, จิ้มน้ำตาล, จิ้มน้ำผึ้ง, โรยเครื่องเทศ, หรือแช่นมเหมือนกินซีเรียล, ทุบเป็นผงใส่นมหรือน้ำหรือซุปทำเป็นโจ๊ก, เอาไปนึ่ง, ฯลฯ ก็สุดแท้แต่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการกินอย่างเอร็ดอร่อย แม้ฮาร์ดแทคจะไม่ใช่อาหารที่อร่อย แต่ก็เป็นอาหารสำรองฉุกเฉินที่ทำเองได้ที่บ้านเพื่อเก็บไว้ ถึงตอนนั้นการมีอาหารสำรองไว้ย่อมดีกว่าไม่มีครับ

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น