ภาพจากตำรา 九字護身法 (คาถากันตัวเก้าอักษร) ปี 1881 อ่านจากขวาไปซ้าย https://t.ly/FpI9a |
ประสานอิน ที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันนี้น่าจะมาจากคำว่า 九字印 (Kuji-in; คุจิอิง -ญี่ปุ่น, จิ่วจื้ออิ้น -จีนกลาง) แปลว่า เก้าอักขระลัญจกร คือการทำท่ามือเก้าแบบ ซึ่งการทำท่ามือแบบนี้เรียกกันว่า มุทรา (Mudra) หรือ โยคะนิ้ว มีท่วงท่ามากมาย ซึ่งท่ามือทั้งเก้านี้ เล่ากันว่าเกิดมาจากลัทธิเต๋า ที่ได้รับอิทธิพลโยคะนิ้วจากอินเดียอีกทีนึง แล้วก่อเกิดเป็นท่านิ้วทั้งเก้า เก้าอักขระนี้เดิมเป็นคาถาป้องกันตัวประกอบไปด้วย
臨兵闘者皆陳裂在前
ลิ๋น ปิง โต้ว เจ่อ เจีย เจิ้น เลี่ย ไจ้ เชี๋ยน (สวดแบบจีนกลาง)
ริน โป โต ชา ไก จิน เร็ตส์ ไซ เซ็น (สวดแบบญี่ปุ่น)
นักรบ[แห่งเบื้องบน]ที่ลงมาล้วนจัดขบวนทัพอยู่เบื้องหน้า[ซึ่งเป็นกองหน้าให้ข้าฯ]
ประโยคนี้ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์เต๋า เป่าผู่จื่อ 抱朴子 รจนาโดย เก่อหง 葛洪 โดยมีคำต่างกันเล็กน้อยแต่ให้ความหมายใกล้เคียงกัน (บางก็บอกว่านี่คือบทสวดแบบจีน) คือ
臨兵鬭者,皆陣列前行。
ลิ๋น ปิง โต้ว เจ่อ, เจีย เจิ้น เลี่ย เชี๋ยน ซิ๋ง.
นักยุทธ์[แห่งเบื้องบน]ที่ลงมา, ล้วนจัดขบวนแถวเดินทัพเบื้องหน้า[ซึ่งเป็นกองหน้าให้ข้าฯ].
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทอธิฐานในคัมภีร์ แต่เดิมใช้ปลุกใจทหารก่อนออกรบเพื่อชัยชนะ ต่อมาถูกนำไปใช้เป็นมนตราปราบมารขับไล่สิ่งชั่วร้าย ซึ่งว่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ภายหลังใช้สวดเพื่อป้องกันภยันตราย ชนะการต่อสู้ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ฟื้นฟูร่างกาย เพิ่มพลังให้กับจิตวิญญาณ
ที่แปลมานี้เป็นการแปลแบบกลางๆตามบริบท จริงๆเรื่องความหมายของคำเหล่านี้ถูกตีความไปมากมาย แปลได้หลากแบบหลายบริบท จัดหมวดเป็นหยินหยาง จัดเป็นดาวนพเคราะห์ ฯลฯ และอะไรอีกหลายอย่าง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในศาสตร์ต่างๆตามแต่จะตีความ
โดยมนตร์ทั้งเก้าคำเชื่อมโยงกับท่ามือดังนี้
臨 (ลิ๋น; ริน [มองลงมาจากเบื้องบน]) วัชระลัญจกร: ไม่หวั่นไหวเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ การรักษาจิตใจให้ไม่หวั่นไหวและไม่สับสน และเสริมร่างกายให้แข็งแกร่ง
兵 (ปิง; โป [ทหาร]) มหาวัชระลัญจกร: ยืนอายุและย้อนวัยเสริมความมีชีวิตชีวา
闘 (โต้ว; โต [การต่อสู้]) พาหิระราชสีห์ลัญจกร: กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ส่งเสริมความมุ่งมั่นเมื่อเจอความยากลำบากติดขัด
者 (เจ่อ; ชา [ผู้นั้น]) อันตรราชสีห์ลัญจกร: ควบคุมร่างกายของตัวเองและร่างกายของผู้อื่นได้อย่างอิสระ
皆 (เจีย; ไก [ล้วน]) พาหิระพันธะลัญจกร: รู้ใจและควบคุมใจของผู้คน
陳 (เจิ้น; จิน [จัดขบวน]) อันตรพันธะลัญจกร: รวบรวมความนิยมชมชอบและความเคารพ
裂 (เลี่ย; เร็ตส์ [แถว]) ปัญญามุฐิลัญจกร: ใจแห่งการช่วยเหลือผู้อื่น
在 (ไจ้; ไซ [อยู่]) ตะวันวัฏฏะลัญจกร: สามารถใช้พลังพิเศษได้อย่างอิสระมากขึ้น
前 (เชี๋ยน; เซ็น [เบื้องหน้า]) เร้นลักษณ์ลัญจกร: พุทธภูมิ เข้าใกล้ภูมิธรรมแห่งอภิมนุษย์
วิธีทำคือ ทำลัญจกรทีละท่าและสวดมนตราทีละคำตามลำดับ หรือจะทำท่าใดท่าหนึ่งที่ต้องการค้างไว้ก็ได้ ซึ่งแต่ละท่าก็มีสรรพคุณแตกต่างกันไป แต่โดยรวมก็ใช้ในการทำสมาธิและบำรุงสุขภาพได้
ตามหลักของแพทย์แผนจีนนั้น บนฝ่ามือและนิ้วมีจุดสะท้อนอวัยวะภายในจำนวนมาก นอกจากการนวดกดจุดฝ่ามือและนิ้ว หรือหมุนลูกติ้งแล้ว การทำโยคะนิ้วก็ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มอัตราการฟื้นฟูอวัยวะภายในได้
นินจาเองก็นำท่าทั้งเก้าท่าเหล่านี้มาใช้ เพื่อรับมือกับความกดดันในขณะซุ่มซ่อนทำภารกิจลับ ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ร่วมกับการกำหนดลมหายใจ ทำให้จิตใจสงบและเฉียบคม
โดยท่าประสานอินทั้งเก้านี้มีการบีบรัดข้อนิ้วในหลายส่วน ถ้าตามหลักการกดจุดแล้ว การกดจุดบริเวณนิ้วมือหรือดึงข้อนิ้วมือเบาๆทุกนิ้วจะช่วยลดความกระวนกระวาย ความตื่นตระหนกตกใจ ทำบ่อยๆใช้แก้อาการตกใจง่าย แก้อารมณ์แปรปรวนง่าย แก้อาการประสาทไวเกินควร ลดความหวาดหวั่น แก้ปัสสาวะรดที่นอนได้
โอเค ไหนๆก็ไหนๆแล้ว งั้นมาฝึกการทำเก้าอักขระลัญจกรกันดีกว่า แนะนำว่าให้ดูคลิปและเปรียบเทียบกับภาพจากตำราข้างบนด้วยนะครับ(ดูจากขวามาซ้าย)จะได้เข้าใจลักษณะมือตรงต้นฉบับมากขึ้น
แถม
https://t.ly/NRw3V |
九字切り (Kujigiri; คุจิงิริ -ญี่ปุ่น, จิ่วจื้อเชี่ย -จีน) แปลว่า การตัดเก้าอักขระ เป็นการสร้างตาข่ายอาคมขึ้นเบื้องหน้าเพื่อป้องกันตัวเองจากสิ่งชั่วร้ายด้วยคาถากันตัวเก้าอักษร
วิธีทำคือ ให้ใช้มือซ้ายขวากำมือแล้วเหยียดนิ้วชี้กับนิ้วกลางติดกัน(เสมือนกระบี่)แล้วให้นิ้วมือขวาสวมเข้าไปที่มือซ้ายเหมือนกระบี่เสียบอยู่ในฝัก (อสิลัญจกร ดูภาพข้างล่างประกอบ) จากนั้นดึงกระบี่ออกจากฝัก แล้วใช้กระบี่ตัดอากาศเบื้องหน้า เริ่มจากแนวนอน(วาดจากซ้ายไปขวา)สลับตามด้วยแนวตั้ง(วาดจากบนลงล่าง) แล้วตัดสลับขยับเป็นตาข่ายเบื้องหน้าตามในรูป ซึ่งในการตัดทีละครั้งก็สวดคาถาทีละคำ ก็จะได้ตาข่ายอาคมเก้าเส้น แนวนอนห้าแนวตั้งสี่
เมื่อตัดเก้าอักขระแล้วจะเกิดบาเรียอาคมรอบตัวเพื่อป้องกันภยันตรายจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายรวมถึงคำสาป บ้างก็ว่ากันว่าอาคมนี้ป้องกันทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้เข้ามา ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี เป็นการปิดกั้นพลังชี่จากภายนอกทั้งหมด อยู่ในอาคมนิรภัย ดั้งนั้นเมื่อต้องการยุติการใช้พลังของตาข่ายอาคมแล้วก็ต้องทำการเรียกคืนอาคม ด้วยการสวมกระบี่เข้าฝัก
แต่ในการตัดเก้าอักขระนั้นอาจมีบทสวดเสริมในการเริ่มและเรียกคืนอาคมที่แต่ต่างกันตามแต่สำนัก โปรดศึกษาให้ดีก่อนที่จะใช้
การตัดเก้าอักขระ 九字切り Kujigiri คุจิงิริ ภาพจากตำรา 九字護身法 (คาถากันตัวเก้าอักษร) ปี 1881 https://t.ly/FpI9a |
อ้างอิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น