Sponsor

16 มกราคม 2568

ท่ารำมวยของกองทัพจีน - ฝึกการป้องกันตัวด้วยตนเองที่บ้าน

Image by Mohamed Hassan from Pixabay

สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้จะมาแนะนำการฝึกศิลปะการป้องกันตัวที่สามารถฝึกเองได้ที่บ้านผ่านคลิปวิดิโอ เพราะเป็นท่วงท่าที่ไม่ซับซ้อนมากนักและนำไปปรับใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา ตามแนวคิดของกองทัพส่วนใหญ่ที่มักเน้นฝึกได้รวดเร็วและใช้งานได้ทันที ซึ่งท่ารำมวยของกองทัพจีนนี้น่าจะตรงตามแนวคิดนั้นพอดี (ชุดรำมวยนี้น่าจะเป็นท่ารำมวยเก่าชุดหนึ่งของกองทัพจีน คิดว่าอาจเป็นการนำวิชามวยจีนบางสำนักมาย่อให้สั้นเพื่อฝึกทหาร แต่ไม่ทราบว่ามวยอะไร วอนผู้รู้ช่วยแถลงไขในคอมเม้นต์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ) จึงอยากมาแนะนำให้สำหรับผู้ที่สนใจให้ลองนำไปฝึกฝนด้วยตนเองดูครับ ไม่ยาวมากและค่อนข้างครบเครื่องพอสมควร ไม่ว่าจะเพื่อออกกำลังกายหรือฝึกไว้ป้องกันด้วยก็ตาม ฝึกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้พื้นที่น้อย มีทั้งหมด 16 ท่า พร้อมทั้งสาธิตการนำไปใช้จริงบางส่วน งั้นก็ไปเริ่มกันเลยครับ

ท่าที่ 1-8


ท่าที่ 9-16


ขอขอบคุณเจ้าของคลิปสำหรับวิทยาทานอันทรงคุณค่ามา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

สรุปท่ารำมวยของกองทัพจีน
ท่าเตรียม ยืนตรงหน้ามองตรง แบมือไปข้างหน้า และส้นเท้าชิด จากนั้นกำหมดหันหลังมือไปข้างหน้า เท้าชิด และหันหน้า
  1. ปัดป้อง ป้องกันด้านบนและชก
  2. ฟัดและเตะ ชก
  3. ไขว้แขนป้องกันด้านบน จับดึงและเตะ
  4. ทุบ ชกหมัดเหวี่ยงและเข่า
  5. ป้องกัน ถีบออกข้าง
  6. จับ ดึง เตะตัด
  7. ป้องกันด้านบน จับขา
  8. จับ พลิกโยน
  9. ปัดป้อง ชกเสย
  10. คว้าจับ เกี่ยวลง
  11. เตะและคว้าจับข้อมือ
  12. เตะ จับล็อค
  13. ปัดป้อง ชก
  14. คว้าจับ ล็อคข้อมือ
  15. คว้าจับแขน กดคอ
  16. ล็อคแขน กดแขน
กลับมายืนตรงเป็นท่าจบ

หลังจากฝึกรำมวยได้ครบชุดแล้ว แนะนำให้ฝึกกลับด้านด้วยนะครับ คือ เมื่อฝึกด้านขวาแล้วก็ควรฝึกด้านซ้ายด้วย จะได้ถนัดทั้งสองด้าน

ทำไมต้องรำมวย?
ในการฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวนั้นแค่ฝึกท่าชกเตะต่อยให้คล่องๆโดยไม่ต้องรำมวยก็ได้ครับ หากฝึกจนชำนาญเป็นระเบียบแล้วก็ย่อมมีทักษะอย่างแน่อน ซึ่งยังไงก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไม่ว่าจะรำมวยหรือไม่รำมวย ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมต้องรำมวยด้วยล่ะ?

ท่ารำมวยเป็นท่วงท่าที่ได้รับการกลั่นเนื้อหาสาระมาอย่างครบถ้วนแล้วของกระบวนวิชานั้นๆ จึงได้มาเป็นท่ารำให้ได้เราฝึกฝน ก็เพื่อเป็นการท่องจำแนวคิดหลัก ในไทยเรียกเรียกชุดท่ารำของมวยจีนว่า มวยเส้น คือ ท่ารำที่เป็นเส้นร้อยเรียงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบตามลำดับซึ่งทำไว้ดีแล้ว (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า กาตะ (Kata); ภาษาอังกฤษเรียกว่า Form หรือ Kung fu form)
ท่ารำมวยเปรียบเสมือนคัมภีร์ของวิชานั้น การรำมวยเปรียบเสมือนการท่องหรือคัดคัมภีร์เพื่อทบทวนเนื้อหา จึงเป็นส่วนเริ่มต้นที่สำคัญในการเรียนศิลปะการป้องกันตัวของจีน (กังฟู จริงๆคำว่ากังฟู แปลว่า ทักษะที่ได้จากการฝึกฝน แต่ในไทยเราใช้เรียกมวยจีน) เพราะเมื่อเราจำเนื้อหาในคัมภีร์ได้ก็สามารถหยิบทีละกระบวนท่ามาเพื่อฝึก ผสมผสาน หรือประยุกต์ต่อยอดเองสำหรับฝึกเป็นท่าใช้จริงต่อไปได้ ซึ่งท่าทั้งหมดก็หยิบมาจากท่ารำนั่นเอง หรือแม้ไม่ได้หยิบมาแยกฝึกก็ตาม การรำมวยเส้นก็เป็นการทบทวนทุกกระบวนท่าและจัดโครงสร้างที่ถูกต้องไปพร้อมๆกับการยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยก็เป็นการออกกำลังกายที่ได้วิชาติดไม้ติดมือบ้างไม่มากก็น้อย และสามารถส่งต่อวิชาได้โดยไม่ลืมท่วงท่าใด เพราะแก่นของท่วงท่าร้อยเรียงอยู่ในมวยเส้นหมดแล้วนั่นเอง ที่เหลือก็อยู่ที่ผู้รำว่าจะเข้าถึงความหมายของแต่ละท่วงท่าหรือไม่เท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องได้รับการอธิบายโดยผู้สอนว่าแต่ละท่านั้นมีแนวคิดอย่างไร หากรู้พื้นฐานทางปรัชญาตรงนี้แล้วก็สามารถนำไปพลิกแพลงต่อยอดได้หลากหลายไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนท่าใหม่หรือนำไปประยุกต์ใช้กับอาวุธต่างๆ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

ในการเรียนมวยจีนที่เป็นวิชาขึ้นชื่อทั่วไปนั้น มักจะมีท่ารำที่มีลายละเอียดซับซ้อน ดังนั้น ควรจะไปเรียนโดยมีครูผู้สอนแนะนำจะดีที่สุด เพราะจะมีรายละเอียดเรื่องการวางมือวางเท้า โครงสร้าง การก้าวเท้า การหายใจ การส่งแรง การลงน้ำหนักเท้า สมดุลการยืน ฯลฯ ซึ่งละเอียดเกินกว่าท่วงท่าที่เห็น ดูแค่คลิปแล้วทำตามอย่างเดียวไม่เพียงพอ คลิปเหมือนมีไว้ทบทวนสำหรับผู้ที่เคยเรียนมาแล้วมากกว่าครับ

แม้ในท่ารำมวยของกองทัพจีนนี้จะไม่ซับซ้อนมากและเห็นว่าพอที่จะฝึกเองผ่านคลิปได้ก็ตาม (เอาจริงๆก็แอบซับซ้อนอยู่นะ) แต่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าการวางและก้าวเท้าจะมีหลายแบบ อาจเป็นการลงน้ำหนัก 50% หรือขาใดขาหนึ่ง 70% ก็แล้วแต่ท่วงท่า ลองสังเกตและหาสมดุลที่เหมาะสมกับกระบวนท่านั้นๆดูครับ โดยทั่วไปจะลงน้ำหนักถ่ายเทไปมาอยู่ราวๆนี้ครับ

คุณธรรมที่ผู้ฝึกมวยควรมี
ผู้ที่ฝึกการต่อสู้บางครั้งย่อมมีบ้างที่อาจจะร้อนวิชา เหล่าอาจารย์มวยจึงต้องถ่วงดุลด้วยหลักการ ซึ่งได้กล่าวสั่งสอนให้ผู้ฝึกมวยจีนทุกคนถือคุณธรรม 10 ประการ
คุณธรรมภายนอก คือ ถ่อมตน, จริงใจ, มารยาท, มโนสำนึก, สัจจะ (謙誠禮義信) และ คุณธรรมภายใน คือ กล้าหาญ, อดทน, อดกลั้น, พากเพียร, มุ่งมั่น (勇忍恆毅志)
ฝึกมวยเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจ หลีกเลี่ยงการต่อสู้และรักษาสันติจนถึงที่สุด หากมิอาจเลี่ยงแล้วจึงจะใช้การต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองและคนที่เรารักให้รอดพ้นอันตราย (มีไว้แต่ไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แต่ไม่มี) มิใช่เพื่อจะเอาชนะคะคานระรานกลั่นแกล้งผู้อื่น การฝึกมวยต้องบ่มเพาะคุณธรรมทั้งกายและใจไปพร้อมกัน หากไร้คุณธรรมก็เป็นแค่คนพาล

ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง
มีความสุข และปลอดภัยตลอดปีนะครับ


แถม


ท่ารำมวยหมัดตั๊กแตนเส้นสั้น

BJJ พื้นฐาน สำหรับการป้องกันตัวในท่านอน

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น