Sponsor

29 กันยายน 2559

ยิปมันปรมาจารย์มวยหย่งชุน - 咏春拳宗师 -- 叶问

ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Ip Man เมื่อปี 2008 และมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค
หากพูดถึงกังฟูจีน หลายคนคงนึกถึงภาพยนตร์กังฟู ภาพยนตร์กังฟูของหลี่ เสี่ยวหลง(บรู๊ซลี)  ดาราดังแห่งวงการนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ  ในสมัยโบราณ  กังฟูจีนแบ่งออกเป็น “หมัดใต้เตะเหนือ” ทางตอนใต้ออกหมัดอย่างโดดเด่น ทางตอนเหนือเตะอย่างเชี่ยวชาญ  อาจารย์ของหลี่ เสี่ยวหลงก็คือ เย่เวิ่น (叶问 1893-1972 *เย่เวิ่นเป็นชื่อของยิปมันในสำเนียงจีนกลาง) ผู้เป็นตัวแทนการออกหมัดทางใต้ เป็นผู้ผสมผสาน “มวยหย่งชุน”(咏春) เขาเปี่ยมด้วยคุณธรรมการต่อสู้และจริยธรรมอันเป็นที่น่านับถือเป็นแบบอย่างและได้รับยกย่องให้เป็น “ปรมาจารย์แห่งยุคสมัย”

ตั้งใจฝึกฝน จนกลายเป็นปรมาจารย์แห่งมวยหย่งชุน
เย่เวิ่นเดิมชื่อว่า เย่ จี้เวิ่น เกิดในครอบครัวใหญ่ ฐานะร่ำรวย เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับการอบรมสั่งสอนตามแนวคิดของขงจื่ออย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่เยาว์วัย  เย่เวิ่นชื่นชอบศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 7 ขวบเริ่มศึกษามวยหย่งชุนโดยฝากตัวเป็นศิษย์ของเฉิน หวาซุ่น ราชันย์แห่ง “มวยหย่งชุน”  เย่เวิ่น เป็นคนช่างคิดวิเคราะห์ สติปัญญาหลักแหลมและหมั่นฝึกฝน ทำให้เฉิน หวาซุ่นรักลูกศิษย์ที่มีอายุน้อยกว่าเขาถึง 40 ปีคนนี้เป็นอย่างมากตั้งแต่รับเย่เวิ่นเป็นลูกศิษย์ ก็ไม่เคยรับลูกศิษย์คนอื่นอีกเลย เย่เวิ่นนับเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของเฉิน หวาซุ่น

หลังจากอาจารย์ถึงแก่อนิจกรรม เย่เวิ่นก็ติดตามฝึกฝนเพลงมวยร่วมกันกับศิษย์พี่อย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ 15 ปี เย่เวิ่นจึงเดินทางไปศึกษาที่ฮ่องกง เย่เวิ่นจึงได้รู้จักกับเหลียง ปี้ผู้เป็นบุตรชายของเหลียง จ้าน ปรมาจารย์มวยหย่งชุน และติดตามศึกษาเพลงมวยหย่งชุนกับเหลียง ปี้เกือบ 4 ปี  เหลียง ปี้ถ่ายทอดเคล็ดลับเพลงมวยของบิดาให้แก่เย่เวิ่นจนหมดสิ้น ทำให้เพลงมวยของเย่เวิ่นพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด  ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาถึงเมืองฝอซาน เพลงมวยของเย่เวิ่นก็เหนือกว่าศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันเป็นอย่างมาก

ตลอดชีวิตหลายสิบปี เย่เวิ่นได้ฝึกฝน ศึกษาวิเคราะห์มวยหย่งชุนอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการคิดว่าจะทำให้มวยหย่งชุนมีชื่อเสียงกว้างไกลได้อย่างไร เขามักจะประลองฝีมือกับสำนักศิลปะการต่อสู้อื่นๆ เพื่อซึมซับจุดเด่นเอาไว้และผสมผสานเข้ากับมวยหย่งชุน ทำให้ศิลปะมวยหย่งชุนมีชื่อเสียงโด่งดังท่ามกลางสำนักต่างๆ

ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ เน้นการสอนตามสภาพผู้เรียน
ก่อนหน้านี้ มีน้อยคนนักที่ถ่ายทอดมวยหย่งชุน  แต่เย่เวิ่นก็แก้สถานการณ์ดังกล่าวโดยเผยแพร่มวยหย่งชุนที่ฮ่องกงและผลักดันมวยหย่งชุนให้ไปไกลถึงระดับโลก

เย่เวิ่นรับลูกศิษย์ ไม่เคยขึ้นป้ายสำนัก และไม่โฆษณารับสมัครลูกศิษย์ การรับลูกศิษย์ของเขาเข้มงวดมาก “ลูกศิษย์เลือกอาจารย์ที่ดี ว่ายากแล้ว แต่อาจารย์เลือกศิษย์ที่ดีนั้นยากกว่า”เย่เวิ่นสอนอย่างตั้งใจ ให้ความสำคัญกับการฝึกพื้นฐานของผู้เริ่มเรียน เขาไม่เคยทำอะไรอย่างสุกเอาเผากิน  ลูกศิษย์ต้องบรรลุถึงเกณฑ์เป้าหมายที่เย่เวิ่นตั้งเอาไว้ในแต่ละกระบวนท่า ถึงจะเริ่มสอนบทเรียนใหม่  ในฐานะอาจารย์ใหญ่แห่งมวยหย่งชุน เย่เวิ่นยังพยายามดำเนินตามปรัชญา “สอนตามสภาพผู้เรียน” ก่อนการเรียนการสอน เย่เวิ่นมักจะทำความเข้าใจและวิเคราะห์สภาพร่างกาย จิตใจและลักษณะนิสัยที่โดดเด่นของผู้เรียนทุกคนก่อนเสมอ พร้อมทั้งวิเคราะห์ระดับความรู้ การอบรมสั่งสอนที่ผ่านมารวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ และใช้วิธีที่แตกต่างกันในการสอนนักเรียนตามจุดมุ่งหมายของนักเรียนแต่ละคน ทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงสุด

ความพากเพียรเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์หลายปีก็ได้ผลิดอกออกผลงอกงาม แผ่กิ่งก้านสาขา เย่เวิ่นมีลูกศิษย์มากมายในช่วงบั้นปลายชีวิต  ยอดครูมวยหย่งชุนที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายท่านต่างก็มาจากสำนักของเย่เวิ่นทั้งสิ้น  ในช่วงปี ค.ศ.1960-1970 เย่เวิ่นได้เปิด “สำนักมวยหย่งชุน” และ “สำนักศิลปะการต่อสู้จีนเย่เวิ่น” ขึ้นที่ฮ่องกงตามลำดับด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือของลูกศิษย์ทุกคน เพื่อเผยแผ่มวยหย่งชุน พัฒนาและวางรากฐานให้แน่น ซึ่งเป็นการสร้างคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่

ยิปมันกับบรูซลี
รักชาติ รักประชา ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิด
สมัยที่เย่เวิ่นมีชีวิตอยู่นั้น สังคมกำลังประสบกับความไม่สงบสุข เย่เวิ่นเป็นคนที่มีเลือดรักชาติเข้มข้น เขาเคยกู้หน้าและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนคนจีนอยู่หลายครั้ง

ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น หลังจากทหารญี่ปุ่นได้ยึดครองเมืองฝอซาน และได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงกังฟูของเย่เวิ่น ก็อยากเชิญมาเป็นรับตำแหน่งครูสอนศิลปะการต่อสู้ของจีนให้กับกองทัพ แต่เย่เวิ่นที่ยึดมั่นซื่อสัตย์รักชาติมาโดยตลอดกลับตอบปฏิเสธอย่างไม่ลังเล ทำให้ทหารญี่ปุ่นโกรธแค้นมาก จึงสั่งให้ยอดฝีมือด้านการต่อสู้มาประลองกับเย่เวิ่น ฝ่ายตรงข้ามมีรูปร่างกำยำสูงใหญ่ ชิงลงมือต่อสู้ก่อน เย่เวิ่นใช้เพลงมวยหย่งชุนตอบโต้ เพียงไม่นานก็ทำให้คู่ต่อสู้สูญเสียการทรงตัวและพ่ายแพ้ไปในที่สุด  หลังการประลองสิ้นสุดลง เย่เวิ่นกลัวว่าทหารญี่ปุ่นจะโกรธแค้นมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจหลบหนีออกจากเมืองฝอซานชั่วคราว แต่ยังคงให้การช่วยเหลือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ  หลังจากได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านทหารญี่ปุ่น เย่เวิ่นละทิ้งการตั้งสำนักมวยและไม่รับลูกศิษย์ แต่เข้าทำงานที่หน่วยงานอาญาของอำเภอ รับผิดชอบงานด้านรักษาความปลอดภัย

ยิปมันฝึกซ้อมกับหุ่นไม้
ตอนเย่เวิ่นอายุ 70 ปี พละกำลังยังคงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตอนยังหนุ่ม  ในตอนนั้น การรักษาความปลอดภัยในฮ่องกงยังไม่ดีนัก มักจะเกิดการปล้นชิงตามท้องถนน เย่เวิ่นจึงได้ออกตรวจตรายามค่ำคืนเพื่อปกป้องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ทันทีที่พบเห็นนักเลงใช้มีดปล้นชิงทรัพย์คนตามท้องถนน เย่เวิ่นก็จะใช้กระบวนท่าที่รวดเร็วฉับไวเข้าใส่ฝ่ายตรงข้าม โจรก็จะถูกเตะกระเด็นล้มลงไปไกลหลายสิบฟุตในพริบตา  การมีเย่เวิ่นอยู่ ทำให้เขตที่เขารับผิดชอบเป็นเขตที่สงบที่สุดของฮ่องกงด้วยสาเหตุนี้ เย่เวิ่นได้รับการยกย่องจากรัฐบาลฮ่องกงหลายครั้ง และได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น “พลเมืองดีเด่น”

เพลงมวยที่ล้ำลึกและคุณธรรมอันสูงส่งของเย่เวิ่นได้รับการสรรเสริญและเคารพยกย่อง  ในปี ค.ศ. 2000 พิพิธภัณฑ์ศิลปะการต่อสู้เมืองฝอซานได้จัดสร้างห้องนิทรรศการเย่เวิ่นขึ้นเป็นพิเศษ แม้กระทั่งที่มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการสร้าง “พิพิธภัณฑ์เย่เวิ่น” ขึ้น

อธิบายเพิ่มเติม
ช่วงสงครามต่อต้าน* หมายถึง ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ประเทศจีนประกาศสงคราม ต่อต้านการรุกรานของประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเหตุการณ์ที่สะพานหลูโกวเฉียวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1937 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สงครามต่อต้านญี่ปุ่นขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไร้เงื่อนไขต่อกลุ่มประเทศพันธมิตร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 สงครามสิ้นสุดลง ประเทศจีนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

บทความโดย จินซูเหนียน
http://www.cim.chinesecio.com/hbcms/f/article/info?id=926e2f5096084600a1de4cb8c91fcbcb

ฟิมล์ที่ยังหลงเหลือจากการบันทึกภาพยิปมันรำมวยหย่งชุน


Donnie Yen รับบทเป็นยิปมัน

ศึกษาเพิ่มเติม
เกี่ยวกับภาพยนตร์ Ip Man - ปรมจารย์หย่งชุน ยิปมัน
ประวัติมวยหย่งชุน ฉบับ สมบูรณ์
สูงสุดสู่ตกต่ำของมวยตระกูลหย่งชุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น