ไซอิ๋วกี่ หรือ ซีโหยวจี้(西游记 ; 西遊記) ภาษาอังกฤษเรียก Journey to the West แปลตรงตัวว่า “บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก” หรือที่บ้านเราเรียกสั้นๆว่า “ไซอิ๋ว” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยเอาบันทึกประวัติการเดินทางจริงของพระถังซัมจั๋ง(เสวียนจั้ง, 玄奘) ในไซอิ๋วไม่ใช่ประวัติการเดินทางตามตัวอักษรบันทึก แต่เป็นการแต่งเรื่องราวขึ้นใหม่โดยใช้บันทึกเป็นการอ้างอิง(บันทึกจริงแปลไทยอ่านได้จากหนังสือ “พระถังซัมจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง”)
เป็นวรรณกรรมที่ดูสนุกอ่านสนุกรู้จักกันทุกเพศทุกวัย แต่มีน้อยคนที่จะรู้ถึงปริศนาธรรมที่ซ่อนอยู่ในเรื่องตลอดทั้งเรื่อง ทุกสิ่งที่ถูกพูดถึงมีความหมายทั้งสิ้น ผมจะเล่าให้ฟังสักเล็กน้อยพอเป็นสังเขป ...เริ่มกันเลย
พระถังซัมจั๋ง แทนด้วย ขันติ
ม้าขาว แทนด้วย วิริยะ
เห้งเจีย แทนด้วย ปัญญา แต่เป็นปัญญาที่ยังเถื่อนอยู่ ยังต้องได้รับการขัดเกลา
โป๊ยก่าย แทนด้วย ศีล เป็นศีลที่ยังเถื่อนอยู่เช่นกัน
ซัวเจ๋ง แทนด้วย สมาธิ เป็นสมาธิที่ยังซึ่มกระทื่อโง่งมอยู่
เริ่มตอนที่พระถังซัมจั๋งพาเห้งเจียออกมาจากภูเขาห้ายอดก็แล้วกันครับ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เดินทางไปเจอกับโจร 6 คน จะเข้าทำการปล้นพระถัง เห้งเจียขวางไว้แล้วพูดคุยถามชื่อแซ่ได้ความว่าโจรทั้ง 6 ชื่อ(แปลไทยแล้ว) คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย(ผิวสัมผัส), ใจ เห้งเจียได้ยินดังนั้นก็พูดขึ้นว่า “พวกเจ้าเป็นหลานเหลนของข้านี่เอง เจ้าปล้นอะไรมาได้เอามาแบ่งกับข้าแล้วข้าจะไว้ชีวิตพวกเจ้า” แต่โจรไม่ยอมให้จึงสู้กัน เห้งเจียเลยตีตายหมดเลย พระถังก็ไม่พอใจว่าเห้งเจียโหดร้ายเหลือเกิน ทั้งคู่เลยทะเลาะกันดังลั่นป่า เห้งเจียเลยเหาะหนีไปดื่มชากับพระยาเล่งอ๋องใต้บาดาล
สรุปตรงนี้ก่อน โจรทั้ง 6 นั่นเป็นการเปรียบถึง อายตนะ6 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ(ขอเรียกสั้นๆว่า “อายตนะ” ก็แล้วกัน) อายตนะเป็นที่ใช้รับรู้สิ่งรอบๆตัว ถ้าไม่มีอะไรเข้าไปจัดการแล้ว อายตนะก็เปรียบเสมือนโจรที่คอยปล้นสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส จนหลงติด(อารมณ์6) มามอมเมาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นการฆ่าชีวิตทางธรรม(ฆ่าพระถัง)ได้เลย เพราะมันคือ อวิชา(ความไม่รู้) อายตนะนั้นเป็นลูกหลานของปัญญา(เห้งเจีย) ที่เห้งเจียบอกว่า “ปล้นอะไรได้ ให้มาแบ่งกัน” ก็หมายถึง อายตนะที่ได้รับสิ่งต่างๆ ถ้าเอามาผ่านปัญญากลั่นกรองก่อนจึงจะนำมาเป็นความรู้ได้ จึงจะเกิดประโยชน์ได้ แต่เนื่องจากอายตนะยังเถื่อนอยู่นั่นเอง เห้งเจียจึงต้องตีตายเพื่อปกป้องพระถังเอาไว้ก่อน
การที่พระถัง(ขันติ) กับเห้งเจีย(ปัญญา) ต้องทะเลาะกันก็เพราะว่า ขันติ มักไม่ค่อยใช้ปัญญา เอะอะก็จะอดทนอดกลั้นอย่างเดียว ทน ทน ทน ทนอย่างเดียวไม่คิดแก้ปัญหาด้วยปัญญาเลย ทำให้ขันติที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาจึงไม่ลงรอยกับปัญญาที่ยังเถื่อนอยู่นั่นเอง เมื่อขันตินำหน้า ปัญญาจึงหลบไปจิบชาใต้บาลซะเลยไงล่ะ
แต่หลังจากนั้นเจ้าแม่กวนอิม(เมตตา)ก็ได้มาเตือนพระถังว่า “ถ้าไม่มีเห้งเจีย(ปัญญา)จะไปไม่ถึงไซที(นิพาน)” จึงมอบ “เสื้อคลุม และห่วงมงคล” แล้วจึงบอกว่าจะไปตามเห้งเจียกลับมา
เสื้อคลุม หมายถึง การเฝ้าดูจิตอยู่ตลอด ส่วนมงคล 3 ห่วงแทน ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัน อนัตตา เมื่อเอามามัดรวมกันเป็นห่วงเดียวจะเป็น “สูญตา” เป็นห่วงกลมๆไว้ครอบหัวปัญญา เมื่อไหร่ที่ปัญญามันดื้อ มันคิดว่ามันเป็นเจ้าเหนือทุกอย่างยึดติดสิ่งต่างๆ ก็ให้ใช้ ไตรลักษณ์ นี่แหละคอยคุม คอยเฝ้าดูจิต จะได้ไม่ยึดติดเป็นอัตตาตัวตน(จะได้ใช้กันตามประโยชน์ใช้สอยด้วยปัญญา)
นี่เป็นการ “จับแก่น” ของวรรณกรรมเรื่องนี้ และการ “จับแก่น” นี้สามารถใช้ได้กับทุกสิ่งรอบตัวครับ เราจะนำสิ่งต่างๆมาเป็นความรู้ และรู้ถึงความนัยได้ นอกจากสนุกแล้วยังสามารถจับสาระได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย จึงลองอ่าน เรียนรู้ สิ่งต่างๆรอบๆตัวแบบ “จับแก่น” ดูแล้วคุณจะได้อะไรมากกว่าที่เคยเห็น แต่การจะ “จับแก่น” ได้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้การเชื่อมโยงจากการเรียนรู้จากคนที่ “จับแก่น” เป็นมาก่อน เช่นการอ่านหนังสือดีๆเพื่อยกระดับความคิดเป็นต้นครับ อย่างเรื่องที่นำมาเล่านี้ ท่าน “เขมานันถะ” เขียนไว้ในหนังสือ “ลิงจอมโจก” สามารถหามาอ่านกันได้ซึ่งอธิบายเรื่องไซอิ๋วไว้อย่างละเอียด แต่ผมขอแนะนำว่าให้อ่าน “ไซอิ๋วฉบับเต็ม” ให้จบก่อนครับ เพื่อความลึกซึ้งและสามารถร่วม “จับแก่น” ไปได้ด้วยตนเองต่อไปครับ
เรื่องราวก็ประมาณนี้แลครับ ต่อมั้ยครับ ดูถ้าจะยาวมากแล้ว ๕๕๕บวก ไว้ถ้าสนใจอย่างไรช่วยเม้นบอกกันหน่อยครับ แล้วผมจะย่อยใหัฟังต่อนะครับ ขอบคุณครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น