เต๋าเต๋อจิง บทที่ 55
ผู้เต็มเปี่ยมด้วยคุณความดี
คล้ายกับเด็กทารก
แมลงมีพิษไม่ต่อยกัด
สัตว์ร้ายไม่จู่จับ
นกร้ายไม่จิกตี
กระดูกของทารกนั้นอ่อน
กล้ามเนื้อนุ่มนิ่ม
แต่ถ้าจับฉวยสิ่งใด
ก็ยึดไว้แน่น
ไม่รู้ถึงความสัมพันธ์ทางเพศ
ระหว่างชายหญิง
แต่อวัยวะเพศของเด็กก็สมบูรณ์
นี่แสดงว่ากำลังของเด็กไม่เสื่อมถอย
ร้องไห้อยู่ตลอดวัน
น้ำเสียงก็ไม่แหบแห้ง
นี่แสดงว่าร่างกายของเด็ก
มีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์
(สำนวนแปลไทยคลาสสิคของคุณ พจนา จันทรสันติ)
《老子》五十五章寫道: 含德之厚,比於赤子。毒蟲不螫,猛獸不據,攫鳥不搏。骨弱筋柔而握固,未知牝牡之合而朘作,精之至也; 終日號而不嗄,和之至也。
เต๋าเต๋อจิง บทที่ 6
มหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ
เป็นมารดาอันมหัศจรรย์
จากทวาราแห่งมารดานี้เอง
ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน
นานแสนนานสืบมา สิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่
มีคุณประโยชน์มากมาย ใช้ได้มิรู้หมดสิ้น
(สำนวนแปลไทยคลาสสิคของคุณ พจนา จันทรสันติ)
《老子》第六章寫道: 穀神不死,是謂玄牝。玄牝之門,是謂天地根。綿綿若存,用之不勤。
จะเห็นว่าในบทที่ 55 รากฐานของความอายุวัฒนะนั้นมาจากลักษณะของทารกที่มีพลังเต็มเปี่ยม "ไม่รู้ถึงความสัมพันธ์ทางเพศ ระหว่างชายหญิง แต่อวัยวะเพศของเด็กก็สมบูรณ์ นี่แสดงว่ากำลังของเด็กไม่เสื่อมถอย" คำแปลที่ว่า "กำลังของเด็กไม่เสื่อมถอย" คำว่า "กำลัง" มาจากคำว่า 精 สารจิง ซึ่งหมายถึง สารแห่งชีวิตที่กักเก็บอยู่ในไต เป็นทุนก่อนกำเนิดซึ่งได้มาจากบิดามารดา เป็นพลังแห่งชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งของสารจิงคืออสุจิของเพศชายและน้ำหล่อลื่นของเพศหญิง ถ้าสารจิงสมบูรณ์สมรรถภาพทางเพศก็สมบูรณ์ ร่างกายก็แข็งแรง ผมดกดำ ฟันแข็งแรง อายุยืนมีกำลังวังชา แต่หากสารจิงพร่องจะทำให้สมองเสื่อม แก่เร็ว ผมร่วง ฟันโยก สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เป็นหมัน บุรุษน้ำกามน้อย สตรีมีบุตรยาก ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งก็คือความชราก่อนวัยอันควรนั่นเอง และถ้าสารจิงหมดก็คือตาย ดังนั้นแนวคิดของเต๋าในสายอายุวัฒนะก็ใช้ลักษณะของทารกเป็นแนวทาง ซึ่งแก่นของแนวคิดก็คือการกักเก็บสารจิงให้เต็มเปี่ยมเหมือนเพิ่งเกิดใหม่นั่นเอง
ทีนี้ในบทที่ 6 ที่ว่า "มหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ" คำว่า "มหิทธานุภาพอันล้ำลึก" มาจาก 穀神(กู่เสิน) ซึ่งแปลตรงตัวว่า "หุบเขาเทพเจ้า" ซึ่ง 神(เสิน) ที่แปลว่าเทพเจ้า ยังมีความหมายถึง จิตใจหรือจิตวิญญาณของมนุษย์ได้ด้วย ซึ่ง เสิน แปรมาจาก ชี่ และ ชี่ แปรมาจาก จิง ดังนั้น 穀神(กู่เสิน) หรือหุบเขาแห่งเสิน(เทพเจ้า) ก็หมายถึง แอ่งกำเนิดของเสิน ซึ่งจุดกำเนิดเริ่มต้นก็มาจากสารจิง(元精) หากกักเก็บจิงเอาไว้ได้อย่างล้ำลึกจะไม่ตาย
คำว่า "เป็นมารดาอันมหัศจรรย์" มากจาก 是謂玄牝 คำว่า "มารดาอันมหัศจรรย์" มาจากคำว่า 玄牝 ซึ่ง 玄 แปลว่า ดำมืดลึกลับมหัศจรรย์ และ 牝 แปลว่า เพศเมีย หากเอาแต่ละคำมารวมกันจะหมายถึง สิ่งลึกลับของเพศเมีย ในที่นี้จึงอาจหมายถึง อวัยะเพศหญิง(หรือชายด้วย)
จะไปต่อแบบเร็วๆนะครับ "จากทวาราแห่งมารดานี้เอง" 玄牝之門 "ทวารา" มาจาก 門 คือ "ประตู" ซึ่งก็คือทางเข้าออก
"ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน" 是謂天地根 ฟ้าดิน ฟ้า=เพศชาย ดิน=เพศหญิง เป็นตัวแทนของภาพที่ว่า ฟ้าหลั่งน้ำลงมาสู่ดินจึงกำเนิดชีวิต ดังนั้น ประตูลึกลับนี้จึงเป็นที่พบกันระหว่างเพศชายและหญิง(ฟ้าดิน)
"นานแสนนานสืบมา สิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่" 綿綿若存 คำว่า "นานแสนนานสืบมา" มาจากคำว่า 綿綿 คือ สื่บเนื่องไม่ขาดสาย หมายถึง การกักเก็บจิงอย่างต่อเนื่องให้คงอยู่
"มีคุณประโยชน์มากมาย ใช้ได้มิรู้หมดสิ้น" 用之不勤 ใช้แล้วก็ไม่อ่อนล้า คำว่า ไม่อ่อนล้า มาจาก 不勤 ซึ่ง 勤 อาจแปลได้อีกว่า บ่อยๆ หรือ ขยัน ดังนั้นจึงอาจหมายถึง ในการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิง ไม่ควรบ่อยเกินไป(หรือไม่ควรทำจนเหนื่อยล้า) เพราะจะสูญเสียสารจิง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นทฤษฎี สรุปเป็นพื้นฐานแนวคิดได้ว่า ให้บำรุงและกักเก็บสารจิงเอาไว้ ไม่ควรใช้อย่างสิ้นเปลื้อง ซึ่งในที่นี้หมายถึงไม่ควรปล่อยอสุจิออกมาบ่อย จึงนำไปสู่เทคนิคกามสูตรของจีนที่ฝึกให้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่หลั่งหรือหลั่งเข้าในแทนที่จะหลั่งออกนอก เพื่อดูดซับสารจิงกลับคืน คงความอายุวัฒนะ และต่อยอดไปเป็นเคล็ดวิชาต่างๆมากมาย ซึ่งรายละเอียดตรงนี้และรายละเอียดเพิ่มเติมขอยกเอาไว้ เพราะจะกลายเป็นบทความ 18+ มากเกินไป
ซึ่งนี่ก็เป็นการตีความในด้านที่แสวงหาความอายุวัฒนะจากเพศสัมพันธ์ เป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น ยังมีด้านอื่นอีก เช่น สายสมุนไพร สายเดินลมปราณ เป็นต้น ซึ่งมักใช้ทุกด้านไปพร้อมๆกัน
จากทั้งหมดนี้ผู้อ่านก็น่าจะเริ่มตีความได้เองแล้วต่อไปในระดับหนึ่ง และจะเห็นว่า ในการแปลตำราปรัชญา โดยเฉพาะอภิปรัชญาชั้นสูงนั้น มันมีความหมายแฝงอยู่มาก การแปลแบบถอดความทั่วไปจึงอาจไม่เห็นถึงความหมายแฝงในการตีความนอกสารบบได้ และหนังสือแปลก็ไม่สามารถแปลแบบนอกสารบบได้เพราะต้องแปลตามหลักการตีความมาตราฐาน(ไม่อย่านั้นจะเป็นเรื่องอื่นไป) จึงจำเป็นต้องแปลแบบถอดความโดยตัวมันเอง และบางคำก็แปลไม่ได้แต่ก็พอจะถอดความได้ ดังนั้น การมีหนังสือที่แปลแบบ คำต่อคำ หรือกึ่งคำต่อคำ ของคำต้นฉบับมาเทียบด้วยหลังจากอ่านแบบแปลถอดความแล้ว จึงชวนให้ตีความในเชิงลึกได้มากขึ้น มากกว่าฉากหน้าที่เห็น(ในการอ่านหนังสือแปลจึงควรอ่านหลายๆสำนวนแปลหากมีโอกาส) และบางทีต้องเชื่อมโยงการตีความซ้อนการตีความเข้าไปอีก เช่น การถ่ายเทซึมซับสารจิงจากการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงนั้น อาจมองเป็นการศึกที่ใช้การหลอกล่อให้อีกฝ่ายถ่ายเทสารจิงออกมาให้มากกว่าเพื่อตัวเองจะได้เปรียบในการซึมซับสารจิง เป็นต้น นั่นคือเหตุที่เต๋าสายอายุวัฒนะมีการฝึกมีเพศสัมพันธ์แบบไม่หลั่ง เพื่อดูดซับกลับคืน และซึมซับน้ำหล่อลื่นจากฝ่ายหญิงอย่างเดียว เพื่อความเป็นอายุวัฒนะ เป็นต้น นั่นคือกลอุบายของฝ่ายชาย โอเค ไปไกลแล้ว เรากลับมาที่การศึกก่อน ๕๕๕ จากจุดนี้เราก็ใช้การตีความนี้เป็นพิชัยสงครามได้อีกเช่นกันนั่นเอง
หนังสือเต๋าเต๋อจิง นอกจากปรัชญาเต๋าเพียวๆแบบที่มีฉบับแปลไทยออกมานั้น ยังสามารถตีความนอกสารบบเป็นตำราอายุวัฒนะ ตำราพิชัยสงคราม ตำราการปกครอง ตำราการแพทย์ ตำราการเล่นแร่แปรธาตุ ฯลฯ และอื่นๆอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับการตีความ และหนังสืออภิปรัชญายังมีอีกหลายเล่มที่นิยมเอามาตีความนอกสารบบ เช่น อี้จิง, ตำพิชัยสงครามซุนจื่อ, ตำราพิชัยสงครามสามสิบหกกลยุทธ์ เป็นต้น
จากที่เขียนมายาวเหยียดขนาดนี้(ไม่รู้จะมีใครอ่านจบมั้ย อิอิ) จะเห็นเลยว่า ทำไมหนังสือแปลจึงไม่อธิบายออกมาในลักษณะนี้ เพราะมันต้องใช้ความพยายามสูงมากทั้งคนแปลและคนอ่าน แค่แปลถอดความตามปกติก็ยากแล้วเพราะเป็นภาษาโบราณ การชี้ให้เห็นความหมายนอกสารบบนั้นยากยิ่งกว่า เพราะมันจะตีความไปเป็นอะไรก็ได้ เหมือนหนังสือที่มีความหมายซ้อนอยู่หลายชั้น อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว จึงไม่อาจชี้ได้หมด เพราะจะทำให้งงว่าตกลงมันเรื่องอะไรกันแน่ และมันจะกลายเป็นหนังสือตีความไปแทน เพราะแน่นอนว่า ตำราเต๋าเต๋อจิงย่อมมีความหมายแท้จริงของมันตามหลักการอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่านั้นคือความหมายตามสารบบ แต่อย่าให้เป็นการผูกขาดการตีความ เพราะการตีความนอกสารบบนั้นก็มีการใช้ประโยชน์อยู่จริงในหลายๆกลุ่มเช่นกัน จนกลายเป็น ชี่กง การแพทย์ และอื่นๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความหมายมาตราฐานตามหลักการได้ แต่ก็อาจใช้ประโยชน์ได้ และก็มีการพัฒนาเป็นตำรากามสูตรของจีน ทั้งการเล่นแร่แปรธาตุภายในและภายนอกเพื่อความอายุวัฒนะ และอื่นๆ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากพื้นฐานเดียวกัน
ส่วนตัวชอบการตีความและการเชื่อมโยงที่หลากหลาย และชอบอ่านการตีความแปลกๆของคนอื่นด้วย ผมไม่ถือว่าถูกหรือผิดแบบตายตัวแบบที่ว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นอย่างอื่นผิด ผมไม่ถืออย่างนั้นครับ เพราะมันแค่การตีความ ซึ่งทุกคนควรมีอิสระตามประสบการณ์ของตน
ในการอ่านหนังสือ อ่านแล้วตีความเพื่อใช้ประโยชน์ อย่าไปติดกับความหมายของคำอย่างตายตัวเพียงอย่างเดียว ลองอ่านเพื่อเชื่อมโยงแก่น เชื่อมโยงความหมาย ตีความให้หลากหลาย เอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องต่างๆให้กว้างขวาง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความสนุกที่ได้จากการอ่าน เหมือนเล่นเกม Puzzle อ่านเล่มเดียวกันแต่อาจได้ประโยชน์มากกว่ากันก็ได้ แต่ที่แน่ๆคืออ่านสนุกแน่นอน อ่านไปคิดไป ดังนั้นลองตีความกันดูนะครับ ที่เหลือก็ใช้หลักกาลามสูตร
บทความนี้ก็ถือว่าผมเขียนให้อ่านกันสนุกๆจากที่ได้เก็บเล็กผสมน้อยกันมาก็แล้วกันนะครับ ความรู้ของผมยังแค่หางอึ่ง ยังต้องศึกษาอีกมากครับ ซึ่งหากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
t.ly/9V5A |
เคล็ดวิชาในห้องนอน(房中術) มีข้อห้ามของการมีเพศสัมพันธ์เอาไว้ดังนี้
- เมื่ออารมณ์ไม่สมดุล
- เมื่อเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- หลังจากกินอิ่มหรือเมามาย
- พึงระวังขณะเจ็บป่วย
- ตามสรีรวิทยาของฝ่ายหญิง เช่น การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร (ร่วมถึง มีประจำเดือน, ให้นมบุตร, ฯลฯ)
ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความสมดุลของชี่เลือดและความแข็งแรงของร่างกาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ เพราะช่วงนั้นร่างกายอ่อนแอเกินไป และต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย เพราะแนวคิดการมีเพศสัมพันธ์ในแบบจีนโบราณนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อสืบพันธุ์หรือความสนุกเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อสุขภาพด้วยนั่นเอง เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมทั้งกายและใจ การถ่ายเทหยินหยางจะไม่ประสบผล
อ้างอิง
https://baike.baidu.hk/item/%E6%88%BF%E4%B8%AD%E8%A1%93/1567235
https://zh.wikipedia.org/zh-hant/%E6%88%BF%E4%B8%AD%E6%9C%AF
http://www.sookjai.com/index.php?topic=36136.0
https://mgronline.com/china/detail/9480000051386
https://zhuanlan.zhihu.com/p/44556804
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น