Sponsor

31 กรกฎาคม 2565

อารมณ์ที่ไม่ปกติอาจไม่ได้เกิดจากใจที่อ่อนแอก็ได้ ภาค 2

Photo by Lisa: https://www.pexels.com/photo/silhouette-of-person-holding-flower-2379722/

จากบทความก่อนที่คุยกันถึงเรื่องอารมณ์ที่ไม่ปกติอาจไม่ได้เกิดจากใจที่อ่อนแอแต่อาจเป็นเพราะอวัยวะภายในไม่สมดุล ทำให้ผมนึกถึงตำราพิชัยสงครามซุนจื่อที่พูดถึงคุณสมบัติของแม่ทัพในบที่ 1 ที่ว่ามี 5 ประการ คือ ปัญญา สัจจะ เมตตา กล้าหาญ เข้มงวด
หากว่ากันตามหลักปรัชญาจีน ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นจิตวิญญาณ(神)ที่อยู่ในอวัยวะตันภายในทั้ง 5 เมื่อนำมาเทียบกับหลักปรัชญาจีนก็จะอธิบายได้ดังนี้

ปัญญา อยู่ในหัวใจ ถ้าหัวใจสมดุลจะมีปัญญาดี เลือดไหลเวียนไปใช้สมองได้เต็มสูบ
สัจจะ อยู่ในไต มันคือความมุ่งมั่นที่คิดอย่างไรพูดอย่างไรก็จะทำให้ได้อย่างนั้น เป็นความศัทธาในตัวเอง
เมตตา อยู่ในม้าม มันคือความรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
กล้าหาญ อยู่ในปอด ถ้าปอดสมดุลก็จะมีความซาบซึ้งกล้าที่จะปกป้องสิ่งที่รัก
เข้มงวด อยู่ในตับ มันคือวินัย คนที่ตับสมดุลดีจะเป็นคนมีวินัย

ถ้าอวัยวะเหล่านั้นเสียสมดุลหยินหยาง จะเป็นไปตามจุดอ่อนของแม่ทัพ 5 ประการในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ บทที่ 8 คือ กล้าตาย กลัวตาย โกรธง่าย สัตย์ซื่อ รักราษฎร์
หากว่ากันตามหลักปรัชญาจีน ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นมุมกลับของจิตวิญญาณ(神)ในอวัยวะทั้ง 5 ที่เสียสมดุล เมื่อนำมาเทียบกับปรัชญาจีนก็จะอธิบายได้ดังนี้

กล้าตาย ถ้าปอดเสียสมดุล ก็อาจจะใช้แต่ความซาบซึ้ง คิดแต่จะตอบแทนคุณจนตัวตาย ไม่คิดหน้าคิดหลัง
กลัวตาย ถ้าหัวใจเสียสมดุล ก็อาจจะใช้ปัญญาฟุ้งซ่านมากเกินไปจนตัดสินใจไม่ได้ คิดคำนวนสาระตะจนไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย
โกรธง่าย ถ้าตับเสียสมดุล ก็อาจจะทำให้เข้มงวดสุดโต่ง อะไรไม่ได้ดั่งใจนิดหน่อยก็โกรธจนขาดสติ
สัตย์ซื่อ ถ้าไตเสียสมดุล ก็อาจจะทำให้ถือสัจจะมากจนสุดโต่ง จนกลัวนู่นกลัวนี่ไปหมด ไม่กล้าทำอะไรเลย
รักราษฎร์ ถ้าม้ามเสียสมดุล ก็จะเมตตามากเกินไปกังวลมากเกินไปจนสุดโต่ง ไม่เป็นอันทำการอะไรเลย

จะเห็นว่าจุดแข็งกับจุดอ่อนมาจากสิ่งเดียวกันได้ หากจุดแข็งเสียสมดุลก็กลายเป็นจุดอ่อน และเรื่องนี้ก็ยังแสดงให้เป็นถึง อวัยวะที่ข้องกับอารมณ์ความรู้สึก คนเราอาจปรับเปลี่ยนทัศนคติได้ แต่เรื่องอารมณ์ บางที มันอาจเป็นเรื่องของร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ แต่แน่นอนว่าจิตใจย่อมส่งผลต่ออารมณ์ด้วยเช่นกัน อวัยวะเสียสมดุลทำให้อารมณ์เสียสมดุล และอารมณ์ที่เสียสมดุลก็ทำให้อวัยวะเสียสมดุลไปอีก และเป็นวงจรอุบาทจนส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ

โดยตามหลักปรัชญาจีนพื้นฐานแล้วอารมณ์ที่กระทบอวัยวะ(ให้เสียสมดุล)และอวัยวะ(ที่เสียสมดุล)กระทบต่ออารมณ์ คือ

โกรธ<=>ตับ
ดีใจและตกใจ<=>หัวใจ
ครุ่นคิดกังวล<=>ม้าม
เศร้าโศกและเศร้าซึ้ง<=>ปอด
กลัว<=>ไต

อารมณ์อาจเกิดจากอวัยวะมากกว่าที่คิดก็ได้ และเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ถ้ามันจะเกิดขึ้นมันก็จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ บางครั้งหากมีอะไรมากระทบในทางจิตใจย่อมเกิดอาการไปตามนั้นๆแล้วก็ดับไปเอง หากไม่ให้มันครอบงำจนหน้ามืดก็อาจรู้เห็นการเกิดดับของมัน เป็นเวทนาของสังขาร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ส่วนจิตใจก็เป็นอย่างที่มันเป็น ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นเราจะเลือกทำอย่างไร ที่แน่ๆคือไม่ควรกดข่มและไม่ควรแสร้งเป็นไม่สนใจ เพราะอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นเพื่อบอกอะไรบางอย่างกับเรา ไม่ได้ให้เราปล่อยให้มันครอบงำจนหน้ามืด แต่ให้เรารับฟังมันเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง อาจเป็นปัญหาในร่างกายหรือปัญหาตรงหน้า ซึ่งอันดับแรกเราต้องรับรู้ถึงมันและยอมรับมันอย่างที่มันเป็น นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็เป็นการการบำรุงอวัยวะภายใน ดูแลร่างกายและจิตใจ ซึ่งสามารถทำได้จาก อาหาร อากาศ และออกกำลังกาย รวมถึงสมุนไพรด้วย ที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักหยินหยางและห้าธาตุของร่างกาย
ร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่งของธาตุต่างๆตามธรรมชาติมารวมตัวกัน สุขภาพจะดีได้ก็เกิดจากสมดุลของการปรุงแต่งนั้นๆตามปัจจัยที่รับเข้ามาในร่างกายและจิตใจ เราเป็นผู้ดูแลร่างกาย ก็ปรับปรุงบำรุงปรุงแต่งให้เป็นไปตามปัจจัย ไม่ใช่ตามปราถนาหรือตามใจ แต่ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของปัจจัยแห่งกายมนุษย์อย่างถูกต้องเหมาะสม แล้วทุกอย่างก็จะดำเนินไปในทางสมดุลหรือสายกลางตามจริงในแบบที่มันควรจะเป็นตามธรรมชาติของกายนี้
หากพูดให้ครบถ้วน ย่อมไม่ใช่แค่อวัยวะที่ต้องบำรุง อารมณ์ก็ต้องปรับปรุงด้วยเช่นกัน จากความความเข้าใจ ความรู้ และทัศนคติ เพราะมันเป็นวงจรย้อนกลับไปกระทบอวัยวะได้ การดูแลจึงต้องเป็นแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆกัน ซึ่งนั่นคงเป็นสิ่งที่ทุกคนทำอยู่แล้ว แต่เรื่องอวัยวะที่เสียสมดุลที่ส่งผลต่ออารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่แทบไม่ได้กล่าวถึงเลย กล่าวถึงเพียงสมองส่วนอารมณ์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงอวัยวะที่อาจเป็นตัวเข้าถึงสมองส่วนอารมณ์นั้น หลายคนจึงอาจไม่รู้ และอาจคิดว่าอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะใจอ่อนแอ จริงๆแล้วมันอาจเป็นแค่อวัยวะเสียสมดุลก็ได้ อาจไม่มีใครจิตใจอ่อนแอ เพราะหากอวัยวะเสียสมดุล ผลทางอารมณ์แบบนั้นก็จะเกิดขึ้นของมันเองตามธรรมชาติ ห้ามไม่ได้ และไม่ควรห้ามด้วย ในทางจิตใจเราทำได้เพียงตระหนักรู้ถึงมัน(มันแค่เป็นอย่างนั้นให้เราสัมผัสถึง) ในทางร่างกายเราทำได้เพียงบำรุงดูแล ที่เหลือก็ใช้ชีวิตเพื่อเยี่ยมเยียนโลกใบนี้
และเรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า คนเราแต่ละคนย่อมมีสันดานไม่เหมือนกันตามพื้นฐานการกักเก็บความสมดุลของร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น อย่าพยายามเปลี่ยนใครและอย่าฝืนตัวเอง เพราะไม่มีใครเปลี่ยนได้หรือฝืนได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนจะเป็นตัวเองได้แท้จริง ก็ขึ้นอยู่กับสมดุลทั้งภายในและภายนอกของตัวเขาเอง

อันนี้นอกเรื่องนิดนึง หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า บางคนเปลี่ยนอวัยวะภายในแล้วนิสัยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน(อาจมีนิสัยเหมือนเจ้าของเก่าก็ได้) ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่อธิบายไม่ได้ แต่หลักปรัชญาจีนอธิบายได้ ก็ตามนั้นแหละครับ อารมณ์มันเกี่ยวพันธ์กับอวัยวะภายใน เพราะอวัยวะภายในมีจิตวิญญาณ(神)ของมันเองอยู่ และมีวิธีนึกคิดทางอารมณ์ในแบบของมัน โดยที่เราทำอะไรไม่ได้เมื่อมันเกิดขึ้น เราอาจไม่ใช่เจ้าของร่างกาย เป็นเพียงแต่ผู้ดูแลอาศัยเท่านั้น และร่างกายก็เป็นไปในแบบที่มันของมัน เป็นเช่นนั้นเอง ตามปัจจัยที่ปรุงแต่งกันไปของแต่ละคน เราทำได้เพียงดูแลให้ดี รับฟังมัน ใช้เป็นเบาะแส และรู้มัน
หลักปรัชญาโบราณ โดยเฉพาะหลักการแพทย์แผนโบราณ ไม่ใช่ความเชื่อ มันคือวิทยาศาสตร์ มีตรรกะในแบบของมัน เพราะผ่านการทดลองมาแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล(แต่จะได้ผลช้าหรือเร็วนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) เพียงแค่ยุคนั้นไม่มีกล้องส่องและห้องแล็บที่จะบอกได้ว่าสมุนไพรต่างๆมันประกอบไปด้วยสารอะไรบ้าง เขาจึงอธิบายด้วยหยิน(ธาตุเย็น)หยาง(ธาตุร้อน)และห้าธาตุแทน แต่ก็เป็นการทดลองมาแล้วถึงได้รู้ว่ามันจะเย็นหรือร้อน ไม่ใช่มั่วขึ้นมา แต่ไม่ว่าการกล้องส่องหรือแล็บจะบอกว่ามันประกอบด้วยสารอะไรบ้าง มันก็ได้ผลตามแบบของมันได้เหมือนเดิมนั่นแหละ(ซึ่งข้อดีของการตรวจสอบก็คือทำให้นำไปประยุกต์ใช้ได้มากยิ่งขึ้น) และเมื่อมีการทดลองมาแล้วมันก็คือวิทยาศาสตร์แบบหนึ่งที่ใช้คำอธิบายต่างกันเท่านั้นเอง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้หมายถึงยาเคมีหรือยาสมุนไพร แต่หมายถึงกระบวนการทดลองและบันทึกผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น