Sponsor

06 มีนาคม 2567

สมุนไพรกับการบำรุงร่างกายและล้างพิษ

ภาพถ่ายโดย Anna Pou : https://www.pexels.com/th-th/photo/8329284/

แพทย์แผนโบราณ บางครั้งคนไข้สองคนมีอาการเหมือนกันแต่อาจใช่วิธีการหรือสมุนไพรที่รักษาต่างกัน บางคนอาการต่างกันแต่อาจใช้วิธีการหรือสมุนไพรที่รักษาเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้นอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล การรักษาแบบองค์รวมแบบแพทย์แผนโบราณนั้น อาการเดียวกันอาจไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการหรือตัวยาเดียวกันเสมอไป ต้องดูเป็นรายๆไปถึงต้นเหตุที่โดนกระทบจนมีอาการ ไม่ใช่ดูแค่ที่อาการหรือโรค จึงไม่สามารถบอกวิธีรักษาจากอาการและฟันธงได้อย่างตายตัว จึงจะเห็นว่าแพทย์แผนโบราณจำเป็นต้องแมะชีพจร ดูตา ดูลิ้น ดมกลิ่น ฟังเสียงพูด เพราะบางครั้งแต่ละคนอาจจะมีอาการที่แตกต่างกันแต่เกิดจากสาเหตุเดียวกัน นั่นขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดอ่อนแอเป็นพิเศษ ส่วนนั้นก็จะได้รับผลกระทบก่อน เช่น คนนึงผมร่วง อีกคนปวดเข่า และอีกคนหูอื้อ อาการที่แตกต่างกันของ 3 คนนี้ อาจจะเกิดจากสภาวะไตพร่องเหมือนกันก็ได้ แต่ไปปะทุแสดงออกในจุดที่ต่างกันซึ่งอยู่ในสังกัดของไต ก็อาจจะรักษาด้วยสมุนไพรชุดเดียวกันได้หรือคนไข้อ่อนเพลียเหมือนกัน แต่คนหนึ่งสาเหตุอาจเกิดจากชี่ม้ามพร่อง อีกคนอาจเกิดจากไตพร่องก็ได้ ดังนั้น จึงไม่อาจใช้วิธีการหรือสมุนไพรเดียวกันในการรักษาอาการอ่อนเพลียนี้ได้
และด้วยเหตุผลนี้เช่นกันที่ทำให้ยาแผนโบราณมักจะถูกล้อเลียนว่าเป็นยาผีบอก เพราะว่าใช้รักษาได้หลายอาการ แต่จริงๆแล้วอาการที่เขียนไว้เหล่านั้นเป็นแค่อาการภายนอกที่แสดงออกจากต้นเหตุเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วสมุนไพรจะไปบำรุงและรักษาอวัยวะต้นเหตุภายในที่เสียสมดุล เมื่อสมดุลปกติดีแล้ว อาการต่างๆก็จะหายไปนั่นเอง แต่ต้องถูกสาเหตุไม่ใช่แค่ถูกอาการ เพราะอาการเดียวกันอาจจะมีสาเหตุต่างกัน ดังนั้นอาจจะใช้สมุนไพรเดียวกันไม่ได้ ตรงจุดนี้ต้องไปตรวจสุขภาพกับแพทย์แผนโบราณเท่านั้น

สำหรับวัคซีนโควิด คาดว่าคงมีผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่มีอาการข้างเคียงปรากฎให้เห็น แต่บางคนก็มีอาการข้างเคียงชัดเจน ซึ่งอาการข้างเคียงก็อาจจะแตกต่างกันไปได้ หากใช้ปรัชญาข้างต้นในการวิเคราะห์จุดนี้ ก็แสดงว่าอาการต่างๆขึ้นอยู่กับจุดถูกกระทบ อวัยวะส่วนใดอ่อนแอเป็นพิเศษ หรือสมดุลส่วนใดเสียจนถึงระดับส่งผล อาการก็จะปะทุในสังกัดต่างๆของส่วนนั้นก่อน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน เพราะแต่ละคนมีจุดที่แข็งแรงและอ่อนแอต่างกัน ดังนั้นสาเหตุภายในก็จะต่างกันด้วย จึงยากที่จะบอกได้อย่างตายตัวว่าต้องทำอย่างไรจึงจะกลับสู่ปกติ ส่วนการรักษาเฉพาะตามอาการนั้นไม่ได้ช่วยรักษาในภาพรวมหรือต้นเหตุแต่อย่างใด อาการอาจหายได้เหมือนพ่นยาชา แต่ถ้าสาเหตุยังไม่หายก็ยังคงไม่กลับสู่ปกติ พอหายชาก็จะมีอาการอีก แต่ใช้การทำให้ชาร่วมด้วยก็ดี จะได้หายเจ็บปวด แต่ไม่ควรหยุดแค่ตรงนั้น ควรรักษาที่ต้นเหตุด้วยจะได้หายเจ็บเพราะไม่มีแผลจริงๆ ไม่ใช่แค่หายเจ็บเพราะแค่พ่นยาชา

ในทางแพทย์แผนจีนนั้นจัดลำดับของยาหรือสมุนไพรเอาไว้ 3 ระดับ คือ สมุนไพรชั้นสูง สมุนไพรชั้นกลาง และสมุนไพรชั้นล่าง สมุนไพรชั้นล่างนั้นเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาแบบเจาะจง เฉพาะอาการ และเฉพาะโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นสมุนไพรที่มีพิษสูง ถ้าใช้จนหายโรคแล้วต้องหยุดใช้ ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ใช้ในระยะสั้นๆ และจะไม่ใช้หากไม่จำเป็นจริงๆ ส่วนสมุนไพรชั้นสูงและกลางนั้นมักเป็นสมุนไพรบำรุงร่างกาย ซึ่งใช้รักษาด้วย มักใช้ทั่วไป ใช้รักษาอย่างเป็นองค์รวมด้วยการฟื้นฟูร่างกายให้สมดุล เพื่อให้ร่างกายเยียวยาตัวเองต่อไป จึงควรนับเป็นการเยียวยามากกว่าการรักษา เช่น โสม โต่วต๋ง เขากวางอ่อน ตังเสียม เก๋ากี้ อบเชย ขมิ้น หลินจือ ฯลฯ หากใช้ในการบำรุงทั่วไปก็จะใช้ปริมาณน้อยๆ หรือเป็นส่วนผสมในอาหาร จึงใช้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆ แต่หากใช้ในการเยียวยารักษาก็จะมีการเพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ต้องปรึกษาแพทย์แผนโบราณเท่านั้น

ในการบำรุงร่างกายโดยรวมก็มักจะแนะนำให้ใช้ โสม ซึ่งจะเพิ่มชี่(ทำให้มีพลัง) เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานดีขึ้น และช่วยทำความสะอาดหลอดเลือด แต่โสมจีน(โสมเกาหลี, โสมขาว)นั้นจะมีความเป็นหยาง คือ ร้อน คนที่มีอาการร้อนในหรือเป็นคนขี้ร้อนไม่ควรใช้ คนที่มีอาการร้อนควรจะใช้ โสมอเมริกา แทนเพราะมีความเป็นหยิน คือ เย็น แต่จะมีสรรพคุณอ่อนกว่าโสมจีน (ส่วนโสมแดงนั้นไม่แนะนำสำหรับคนทั่วไปเพราะว่าร้อนจัด ใช้เฉพาะแพทย์สั่งเท่านั้น) โสมควรดื่มตอนกลางวัน ส่วนในการล้างพิษก็มักจะแนะนำ เห็ดหลินจือ บำรุงได้และล้างพิษดี(หลินจือชิ้นสำหรับต้มหรือหลินจือผงแคปซูลก็ได้) เป็นกลางไม่ร้อนไม่เย็น เหล่านี้เป็นแค่คำแนะนำแบบทั่วไปเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ใช้ได้ ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์แผนโบราณ
แม้จะใช้สมุนไพรบำรุงที่ได้รับความเชื่อถือว่าปลอดภัยสูง แต่หากใช้บำรุงอย่างต่อเนื่องทุกวันก็ควรมีช่วงหยุดบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้พัก โดยเฉพาะ หลินจือ หากใช้ต่อเนื่อง 1-3 เดือนก็ควรจะหยุดพัก 1 เดือน และหากล้างพิษหมดแล้วก็อาจดื่มเป็นครั้งคราวเพื่อบำรุงได้(อาจใช้ต่อเนื่องเพื่อล้างพิษปีละครั้งก็พอ เช่น 3 เดือน) ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุด เพราะหากพิษหมดแล้วหลินจือจะไปล้างเอาสารอาหารแทน ดั่งสุภาษิตที่ว่า สิ่งที่ดีมากไปก็ไม่ดี ความสมดุลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
แต่มีข้อห้ามอยู่อย่างหนึ่งในการใช้สมุนไพรบำรุงร่างกายเหล่านี้ก็คือ ห้ามกินสมุนไพรบำรุงในขณะที่เป็นไข้ เพราะสมุนไพรจะไปบำรุงเชื้อโรคด้วย

จะเห็นว่าแพทย์แผนโบราณจะเด่นในด้านรักษาแบบองค์รวม เพื่อให้ร่างกายเยียวยาตัวเองต่อไป หากเป็นอาการเรื้อรังน่ารำคาญที่รู้สึกไม่ปกติหรืออาการไม่รุนแรงมาก ก็จะช่วยได้เป็นอย่างดี เพราะหากเยียวยาได้ถูกต้องร่างกายก็จะฟื้นฟูตัวเอง การเยียวยาต้องใช้เวลา แต่ถ้าอาการรุนแรงมากจนเด่นชัด ตรงจุดนี้แพทย์แผนปัจจุบันจะเด่นมากกว่าและรวดเร็วกว่า จึงควรเลือกเข้ารับการรักษาตามจุดอ่อนจุดแข็งของวิธีการรักษาแต่ละแบบ หรือใช้ร่วมกันก็ยิ่งดีครับ รักษาด้วยและเยียวยาด้วย ได้ทั้งโรคหายและร่างกายก็แข็งแรงครับ

สำคัญที่สุดคือการพักผ่อนให้เพียงพอและกินอาหารที่ดี นั่นคือการรักษาสุขภาพกาย และต้องไม่เครียดและทำจิตใจให้เบิกบาน นั่นคือการรักษาสุขภาพใจ ภายในภายนอก หยินหยาง กายใจ ต้องได้รับการดูแลทั้งคู่อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อมีสมดุลทุกอย่างก็ปกติสุข

มาดูแลสุขภาพกันให้ดีครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้านะครับ
สวัสดีครับ

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น