ในสมัยเด็กๆผมได้พบกับรหัสมอร์สในหนังสือเล่มหนึ่ง จากนั้นผมกับเพื่อนจึงเอารหัสมอร์สมาใช้เขียนเป็นจดหมายลับคุยกันสนุกๆในวัยเด็กด้วยการเทียบสระเป็นภาษาไทยกันเอง เขียนเป็นภาษาคาราโอเกะ ซึ่งไม่ตรงตามมาตราฐาน
รหัสมอร์สไทย เพราะไม่รู้จะค้นหาจากที่ไหนในสมัยนั้น
รหัสมอร์สเป็นรหัสแทนตัวอักษรที่กำหมดเป็นมาตราฐานโดยใช้เสียงสั้นและยาว (นิยมออกเสียงว่า Dit (ดิต หรือ .) และ Dah (ดาห์ หรือ -)) ประกอบกันไปมาเพื่อแทนตัวอักษร แต่เดิมรหัสมอร์สใช้สื่อสารทางไกลด้วยเสียงผ่านสายไฟและคลื่นวิทยุ ในยุคก่อนที่จะมีระบบส่งเป็นเสียงพูด ก็ต้องเขียนข้อความแล้วฝากเจ้าหน้าต้นทางที่เคาะรหัสมอร์ส ตู๊ดๆ ไปถึงเจ้าหน้าที่ปลายทางให้ถอดรหัส แล้วเขาจะพิมพ์ลงบนกระดาษ เรียกว่าโทรเลข เอาไปส่งให้ผู้รับที่บ้านต่อไป นับเป็นจดหมายด่วนในสมัยก่อน ทั้งยังมีการประยุกต์ใช้แบบอื่นๆอีก เช่น ใช้ไฟกระพริบ สั้น-ยาว แบบที่กองทัพเรือนิยมใช้ และอื่นๆแล้วแต่จะปรับใช้
ในภาพยนตร์มักจะชอบทำให้เห็นว่ารหัสมอร์สสามารถส่งได้ด้วยการเคาะท่อเป็นเสียง แก๊งๆ เอาจริงๆ มันทำไม่ได้ครับ เพราะเสียงเคาะมันจะฟังเป็นเสียงสั้น-ยาวยาก จะส่งรหัสมอร์สได้ต้องทำสัญญาณเป็น 2 อย่างให้ได้ หากจะใช้เสียงเคาะท่อก็อาจจะใช้เป็น เคาะ(แทน Dit)-ขูด(แทน Dah) แบบนี้ก็จะสามารถใช้ได้ เป็นต้น
ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปมาก รหัสมอร์สอาจจะดูล้าสมัย แต่อันที่จริง มันไม่ได้ล้าสมัยเลย มันยังคงเป็นทักษะที่สำคัญ ปัจจุบันนี้รหัสมอร์สยังคงถูกใช้กันอยู่ในหมู่นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก(แชทกันด้วยรหัสมอร์ส) มันเป็นรูปแบบการสื่อสารทางไกลอะนาล๊อคที่เรียบง่าย แม้จะมีสัญญาณรบกวนจำนวณมาก รหัสมอร์สก็ยังแทรกผ่านสัญญาณรบกวนต่างๆได้ ใช้สื่อสารได้ดี และยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน ไม่แน่ว่าการฝึกรหัสมอร์สอาจช่วยชีวิตของคุณได้ในวันใดวันหนึ่ง อย่างเรื่องของทหารเหล่านี้
ย้อนไปปี 1965 ในช่วงสงครามเวียดนาม นักบินสหรัฐฯ เจเรเมียห์ เดนตัน ถูกจับและโดนทารุณอยู่ในค่ายกักกันที่เวียดนาม วันหนึ่งเขาถูกบังคับให้แถลงข่าวโฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์ โดยเขาพูดหน้ากล้องว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แต่เขาได้กระพริบตาเป็นรหัสมอร์สว่า
Torture คือ
โดนทรมาน
ข้อความเข้ารหัสของเขาเป็นการยืนยันเป็นครั้งแรกว่ามีการทรมารเชลยศึกในค่ายกองกำลังเวียดนามเหนือ ทำให้แนวทางในทำสงครามเวียดนามต้องปรับเปลี่ยน ท้ายที่สุดเขาก็ได้กลับสหรัฐฯ
กลับมาในยุคใหม่ที่ใกล้หน่อย ในปี 2010 ที่ประเทศโคลอมเบีย ทหารของรัฐบาลถูกทหารกองโจรจับตัวไปเรียกค่าไถ รัฐบาลรู้ว่ากองโจรมีวิทยุไว้เปิดฟังเพลง รัฐบาลจึงทำแผนการส่งข้อความลับไปยังทหารตัวประกัน ด้วยการแทรกรหัสมอร์สเข้าไปในเพลง พวกกองโจรไม่รู้รหัสมอร์ส แต่ทหารโคลอมเบียส่วนใหญ่รู้รหัสมอร์ส
เพลงนี้ได้แทรกรหัสลับเอาไว้ เริ่มในช่วงนาทีที่ 1:30 (และวนซ้ำอีกเป็นช่วงๆตลอดเพลง) เป็นรหัสมอร์สภาษาสเปนว่า 19 liberados siguen ustedes Ánimo ถอดความได้ประมาณว่า 19 คนได้รับอิสระภาพแล้ว ต่อไปคือคุณ อย่าสิ้นหวัง เป็นสัญญาณให้กำลังใจและบอกเป็นนัยว่ามีความช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ
ลองฟังเพลงนี้กันดูครับ
ในเนื้อเพลงก็มีการชี้นำด้วยเนื้อร้องก่อนเข้าข้อความลับว่า escucha este mensaje hermano แปลประมาณว่า ฟังข้อความนี้นะพี่ชาย
เพลงได้ออกอากาศ และแผนก็ได้ผล ทหารที่ได้รับข้อความหนีออกมาได้และไปสมทบกับกองทัพที่อยู่ใกล้ๆ นำข้อมูลไปช่วยทหารที่เหลือได้สำเร็จ สุดท้ายกองโจรก็ประกาศหยุดยิงในปี 2015
ความสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการส่งรหัสลับเป็นเรื่องน่าทึ่งเสมอ!
เรื่องราวของรหัสมอร์สในทางปฏิบัตินี่ช่างน่าตื่นตาตื่นใจดีเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าการรู้รหัสมอร์สเป็นทักษะที่มีคุณค่าสำหรับผู้รอดชีวิตในครั้งนั้น แต่การเรียนรู้รหัสมอร์สก็ไม่ใช่เรื่อง่าย ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟังรหัสออก การส่งนั้นง่าย แต่การฟังนั้นยาก ถึงอย่างนั้น ก็ไม่น่าจะเกินความพยายามถ้าตั้งใจจริงๆ ในยุคนี้มีสื่อออนไลน์สำหรับฝึกรหัสมอร์สมากมาย ผมขอแนะนำไว้ 2 เว็บนี้ครับ
เรียนการส่งรหัสมอร์สกับ Google https://morse.withgoogle.com/learn/Google ออกแบบฝึกการส่งรหัสมอร์สตัวนี้ได้ดีมาก ช่วยให้จำรหัสได้ง่ายจริงๆ ซึ่งทาง Google ทำ
โครงการนี้ออกมาเพื่อผู้พิการจะได้พิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนได้สะดวกด้วยรหัสมอร์ส และสำหรับผู้สนใจรหัสมอร์สได้เรียนรู้อย่างง่ายๆไปด้วย แต่การพิมพ์รหัสมอร์สด้วยปุ่ม
จุดและ
ขีดแบบนี้ มันสะดวกในการคีย์ข้อมูลก็จริง(ซึ่งก็คือเป้าหมายหลักของ
โครงการนี้) แต่จะไม่เหมือนสัมผัสของวิธีการส่งจริงๆที่ต้องคุมการกดเสียงสั้นเสียงยาวเอาเองด้วยปุ่มเดียว แต่ก็ถือว่าเอาไว้ฝึกจำรหัสมอร์สไปพลางๆก่อนได้ เพราะช่วยให้จำได้ง่ายจริงๆในระบบนี้ อาจฝึกแค่ไม่กี่ครั้งก็จำได้หมดแล้ว
|
ภาพช่วยจำรหัสมอร์สของ Google |
ในการรับส่งด้วยเสียงแบบดั้งเดิม การฝึกรับ(หรือฟัง)ยากกว่ามาก
ในการฝึกรหัสมอร์สแบบเสียง แนะนำให้เน้นการรับเป็นหลักครับ ขอแนะนำเว็บ https://lcwo.net/ เป็นเว็บเรียนรหัสมอร์สฟรี Opensource ที่เรียบง่าย และมีหลายหลักสูตรให้เลือก หลักสูตรที่นิยมคือ Kock เขาว่าออกแบบมาให้ฝึกรับได้ง่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่สุดแล้วครับ(แต่ก็ยากอยู่ดี ๕๕๕บวก)
โดยหลักการฝึกฟังเบื้องต้นที่อยากแนะนำคือ
- ท่องไว้ว่า การฝึกรหัสมอร์สนั้นสนุก ๕๕๕บวก
- อย่ากดดันตัวเอง เพราะจะทำให้สับสนและเครียด ให้ค่อยๆเป็นค่อยๆไป
- ฝึกจากช้าๆเริ่มจากความเร็วที่ทำได้(Effective Speed) 5 WPM แล้วค่อยๆขยับไปเรื่อยๆจนถึง 15 WPM+
- ฝึกอย่างน้อยวันละครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที
- อย่าฝึกตอนเหนื่อย ง่วง หรือเครียด คือ ถ้าไม่พร้อม ให้พัก
- ให้เรียก . และ - เป็น ดิต(Dit) และ ดาห์(Dah) ไม่ใช่ จุด-ขีด
ในตอนเริ่มต้นเราสงสัยว่าทำไมถึงถูกกำหนดรหัสแบบนี้ด้วย เช่น ทำไมตัว E ต้อง ดิต ทำไมตัว A ต้อง ดิตดาห์ ฯลฯ ทำไมไม่เป็นแบบอื่น เราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม แต่หากให้เดา เราคิดว่าน่าจะใช้แนวทางแบบเดียวกับการเรียงแป้นพิมพ์ คือ กำหนดให้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยมีการขยับน้อยที่สุด(ในการพิมพ์สัมผัส) อย่างเช่น ในภาษาอังกฤษนั้น ตัว E เป็นตัวอักษรที่ใช้บ่อยที่สุด จึงกำหนดเป็น ดิต สั้นๆกันไป และตัวอักษรอื่นๆก็คงคำนวณ % การใช้งานเพื่อกำหนดความยาวในการใช้ส่งตามนี้ ยกเว้นตัวเลขที่มีแนวลำดับชัดเจน
รหัสมอร์สขอความช่วยเหลือสากลที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้วก็คือ SOS หากส่งเป็นรหัสมอร์สก็จะเป็น ... --- ... หรือ ดิดิดิต ดาห์ดาห์ดาห์ ดิดิดิต ไม่ว่าจะส่งสัญญาณด้วยการเป่านกหวีด หรือเปิดปิดไฟฉาย หรือวิธีอื่นๆตามแต่จะสร้างสรรค์
บางครั้งหนังสือที่เราเคยอ่าน ความรู้ที่เคยรู้ เรื่องที่เคยฟัง ฯลฯ โดยไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้นั้น ใครจะไปรู้ บางทีมันอาจช่วยชีวิตเราไว้ได้ในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ความรู้และทักษะ รู้ไว้ฝึกไว้มีแต่ได้กับได้
รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
แถมมีอีกรหัสหนึ่งที่นิยมใช้รองจากรหัสมอร์ส คือ
Tap code - รหัสเคาะ เป็นรหัสที่เข้าใจง่ายกว่า แต่ก็ใช้การเคาะที่มากกว่า นิยมใช้ในหมู่นัก Survival ว่ากันว่าเชลยศึกคิดขึ้นใช้ในการสื่อสารกันระหว่างห้องขัง ในภาพยนตร์บางเรื่องมีการใช้รหัสเคาะคุยผ่านผนังด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นรหัสมอร์ส แต่ที่จริงมันคือ
Tap codeอ้างอิง