นิพนธ์พจน์ลัทธิมาร์กซ(คู่มือศึกษาค้นคว้าลัทธิมาร์กซพื้นฐาน) แม้ปกจะบอกว่าเป็นหนังสือพื้นฐาน แต่ผมคิดว่าเล่มนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่เริ่มศึกษาเท่าไหร่ ควรจะศึกษาจากเล่มอื่นมาก่อนที่จะอ่านเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมโวหารจากบทความต่างๆของผู้นำทางความคิดของลัทธิมาร์กซ โดยบทแรกจะเป็นบทความของเหมาเจ๋อตงที่เขียนยกย่องลัทธิมาร์กซ ส่วนที่เหลือก็เป็นโวหารของ คาร์ล มาร์กซ, เฟรเดอริค เองเกลส์, วลาดิมีร์ เลนิน, โจเซฟ สตาลิน
ในความรู้สึกของผม โวหารของมาร์กซ์นั่นเฉียบคม ของเองเกลส์ลุ่มลึก ของเลนินเฉียบแหลม และของสตาลินห้าวหาญ ในภาคผนวกท้ายเล่มก็มีประวัติอย่างย่อของทั้งสี่ท่านนี้ด้วย
สรุปว่าเล่มนี้ไม่เหมาะกับผู้เริ่มต้นศึกษาที่อยากจะเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของลัทธิมาร์กซนะครับ
หนังสือที่แนะนำให้อ่านก่อนคือ
รู้รากมาร์กซิสม์ (Introducing Marxism)
เป็นหนังสือแนะนำลัทธิมาร์กซในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนที่เข้าใจง่าย เห็นภาพรวมที่ชัดเจน ผมแนะนำให้เป็นเล่มแรกที่ควรอ่านเพื่อเข้าใจที่มาของแนวคิดและทฤษฎีของมาร์กซ
ทำไมควรอ่าน คาร์ล มาร์กซ์ : Karl Marx
นอกจากแนะนำให้รู้จักมาร์กซและแนวคิดของเขาแล้ว ท้ายเล่มยังมีงานแปลบทความขนาดสั้นของมาร์กซ 2 บทความ คือ
คำนำบทวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง และ
แรงงานรับจ้างและทุน
มาร์กซ : ความรู้ฉบับพกพา (Marx: A Very Short Introduction)
กล่าวถึงชีวประวัติมาร์กซและแนวคิดของมาร์กซอย่างต่อเนื่องช่วยให้เข้าใจบริบทของมาร์กซในยุคสมัยนั้นได้ดีขึ้น ปัจจุบันในฉบับภาษาอังกฤษหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย Oxford University Press
ว่าด้วยทุน (ฉบับย่อ) คำบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง เล่มนี้เป็นการย่องานเขียนที่ยิ่งใหญ่ของมาร์กซทั้งสามเล่ม
Das Kapital ให้สั้นกระชับเข้าใจง่ายในเล่มเดียว เป็นหนังสือที่กล่าวถึงทุนนิยมในสมัยของมาร์กในรูปแบบของเศษรฐศาสตร์การเมือง
ฉบับเต็มของหนังสือเล่มนี้มีแปลออกมาแล้วโดยผู้แปลเดียวกัน จัดพิมพ์แล้ว 2 เล่ม ส่วนเล่มที่ 3 แปลไม่เสร็จสมบูรณ์
(แต่แนบมาเป็นแผ่น CD ในเล่ม 2) แต่นับว่าค่อนข้างอ่านยากครับ
ส่วนตัวแนะนำให้อ่านฉบับย่ออย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว นอกจากว่าจะอยากเก็บงานฉบับสมบูรณ์เอาไว้อ้างอิง
กล่าวโดยสั้นๆถึงแนวคิดและผลงานของมาร์กซ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยการทำงานของทุนนิยม
เป็นเนื้อหาที่เจาะลึกถึงข้อดีข้อเสียของทุนนิยมในสมัยของมาร์กซ เกี่ยวกับเงินตรา แรงงาน และทุน ที่ยังคงอมตะมาจนถึงปัจจุบัน
(ซึ่งทางคอมมิวนิสต์นำปรัชญาของมาร์กซมาใช้อีกที)
กลับมาที่หนังสือ
นิพนธ์พจน์ลัทธิมาร์กซ ก็ควรมีไว้ประดับชั้นหนังสือด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากหลักการทฤษฎีที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มอื่นๆแล้ว การได้ศึกษาโวหารของผู้นำลัทธิมาร์กซด้วยก็ทำให้เห็นอะไรได้มากขึ้น และเนื่องจากเป็นโวหารที่คัดย่อมาจากบทความต่างๆ ซึ่งบทความเหล่านั้นหาอ่านได้ยากอย่างยิ่งแล้วในฉบับแปลไทย
(บางเล่มถูกจัดเป็นหนังสือต้องห้าม) ดังนั้นบทคัดย่อจากบทความต่างๆในหนังลืมเล่มนี้จึงควรค่าแก่การมีไว้อ่านด้วยเช่นกัน
รักประชาชน เชื่อประชาชน รับใช้ประชาชน
เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน
ประชาชนฆ่าไม่ตายทำลายไม่สิ้น
ประชาชนจงเจริญ!
ในวิกิพีเดียภาษาไทยก็มีข้อมูลที่ละเอียดพอสมควรทีเดียว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ครับ